ThaiPublica > เกาะกระแส > คนขับต้องจำ – คนข้ามต้องรู้ : ถอดบทเรียน “น้องลิ้นจี่” หยุดเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลาย

คนขับต้องจำ – คนข้ามต้องรู้ : ถอดบทเรียน “น้องลิ้นจี่” หยุดเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลาย

10 กรกฎาคม 2019


จากกรณี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นางสาววิลาวัณย์ พุ่มมาลา หรือน้องลิ้นจี่ ถูกรถจักรยานยนต์พุ่งชน ขณะที่เธอกำลังข้ามทางม้าลายบริเวณแยกผังเมือง แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร  จนมีอาการโคม่าหนักและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่มีการเฉี่ยว-ชน ผู้ที่ข้ามทางม้าลาย

โดยตั้งแต่ต้นปีมีเหตุลักษณะเดียวกันนี้เป็นข่าวไปแล้ว 2 กรณี คือ กรณีของน้องใบหม่อน นักเรียนชั้น ม.4 วิทยาลัยนาฎศิลป์ ที่ถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าวิทยาลัยฯ จ.นครปฐม เมื่อวันที่  22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ล่าสุดน้องเสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562  

ตามด้วยกรณีของ นางจันทร์สม ศรีหาวัฒน์ ที่ถูกรถยนต์ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณทางเข้าอาเขต ถนนแก้วนวรัฐ ต.วัดเกต จ.เชียงใหม่ กรณีดังกล่าวโชคดีที่นางจันทร์สมได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้มีผู้ที่โชคดีเช่นนางจันทร์สม บ่อยครั้งที่คนข้ามทางม้าลายต้องจบชีวิตไปเช่นเดียวกับน้องใบหม่อน และน้องลิ้นจี่

ปัญหาเรื้อรังของคนขับและคนข้าม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ผู้ขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ มักไม่ให้ความสำคัญกับทางม้าลาย และสัญญาณไฟคนข้าม สิ่งที่ผู้ข้ามถนนในเขตชุมชนต้องเผชิญบ่อยครั้ง คือ รถยนต์ หรือรถจักยานยนต์ที่ฝ่าสัญญาณไฟคนข้าม และบ่อยครั้งที่ผู้ขับเคารพกฎจราจรหยุดตามสัญญาไฟแม้ไม่มีคนข้าม หรือรอจนสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียวต้องถูกกดดัน เพราะถูกบีบแตรไล่จากรถคันหลัง

เรื่องดังกล่าวคนเดินเท้าเองก็มีส่วนสร้างนิสัยเสียให้กับคนขับ แม้ความผิดจะไม่ได้อยู่ที่คนข้ามถนน แต่ในจุดที่ทางม้าลายมีสัญญาณไฟ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงใจเขาใจเรา คนเดินเท้าเองควรจะรอจนกว่าจะได้รับสัญญาณแจ้งเตือนให้ข้ามแล้วจึงข้าม เพราะหากกดสัญญาณไฟแล้วข้ามไปทันทีเมื่อเห็นถนนโล่ง เมื่อสัญญาณไฟให้ข้ามได้แสดงกลับไม่มีคนข้าม ผู้ใช้ก็รถจะต้องเสียเวลาหยุดรถ ทำให้รถบางคันเลือกที่จะละเลยสัญญาณไฟดังกล่าว

คนสามารถเดินข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย ในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา การข้ามถนนของผู้คนในเขตชุมชนแม้ไม่มีทางม้าลาย แต่คนสามารถข้ามถนนได้ตามปกติ คือ เมื่อดูรถแล้วมีระยะห่างพอที่สามารถข้ามได้ก็สามารถตัดสินใจข้ามได้ทันที โดยรถที่กำลังขับมาจะต้องหยุดให้โดยอัตโนมัติ หรือเมื่อผู้ขับเห็นว่ามีผู้จะข้ามถนนอยู่ในระยะ  50-100 เมตร แม้ผู้ข้ามจะยังไม่ก้าวเท้าแตะพื้นถนนผู้ขับก็จะหยุดรถโดยทันทีเพื่อให้ผู้ข้ามข้ามไปก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักและทราบดีว่า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบอาจต้องชดใช้มหาศาล

ข้ามมาในฝั่งเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นน้อยครั้งในประเทศนี้ เพราะผู้คนเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ทุกแยกแม้ในซอยเล็กจะมีสัญญาณไฟจราจรและทางม้าลาย ซึ่งรถทุกคันไม่มีการฝ่าสัญญาณไฟแม้จะไม่มีคนข้ามถนน ณ จุดนั้นเลยก็ตาม เช่นเดียวกันคนข้ามก็ไม่ข้ามหากไม่ได้รับสัญญาณให้ข้ามได้ แม้ถนนจะมีไม่รถแล่นอยู่เลย

สำหรับประเทศไทยเองปัญหาระหว่างคนข้ามและคนขับเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากตัวคนขับ และทั้งที่เกิดจากตัวคนข้ามเอง เมื่อเกิดเหตุครั้งหนึ่งจึงจะมีการกวดขันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเรื่องผ่านเลยไปทุกอย่างก็เป็นเช่นเดิม เมื่อปัญหาหนักเข้ามีการร้องทุกข์เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับบอกให้ทำใจ และอโหสิกรรม ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าวมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรทราบ นำมาใช้และปฏิบัติให้ถูกตามวินัยจราจร เพื่อไม่ให้กรณีน้องใบหม่อน และน้องลิ้นจี่เกิดขึ้นกับใครอีก

คนขับต้องจำ

ตามที่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิ – หน้าที่ของผู้ใช้รถ ใช้ถนนไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งบทกำหนดโทษเมื่อมีการฝ่าฝืนกฏหมายทั้งจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว และประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคนล้วนต้องผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่ ที่หมายความว่า บุคคลเหล่านั้นล้วนต้องรับทราบและเข้าใจกฎจราจรแล้วทั้งสิ้น จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดอุบัติเหตุทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาซ้ำซาก เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งหากจะให้เริ่มต้นทำความเข้าใจกฎจราจรกันใหม่ผ่านกฎหมายทั้งฉบับคงจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ ดังนั้นจึงหยิบยกเฉพาะส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาให้ทั้งคนขับ และคนข้ามลองทำความเข้าใจกันอีกสักรอบ

เริ่มจาก ในกรณีที่มีการเฉี่ยว-ชนคน บาดเจ็บ-ตาย คนขับมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 คือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 291 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากชนคนข้ามทางม้าลาย โดยที่ไม่หยุดให้คนข้าม ก็มีโทษปรับ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย นอกเหนือจากโทษอื่นๆ ตามการพิจารณาของศาล อย่างไรก็ตามผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมฐานละเมิดเป็นคดีแพ่งได้อีก

ผู้ใช้รถที่ญึ่ปุ่นหยุดรถ เว้นระยะหลังทางม้าลาย เมื่อเห็นสัญญาณไฟคนข้ามแจ้งเตือน ไม่ขับฝ่าไปแม้ไม่มีคนกำลังเดินข้าม

นอกจากนี้สัญญาณไฟข้ามถนนในเขตชุมชนที่มาคู่กับทางม้าลาย ก็ถือสัญญาณไฟจราจรตามกฎหมาย หากฝ่าไปมีโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก โดยมีความผิด ฐานฝ่าฝืนขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท และหากฝ่าสัญญาณไฟขณะมีคนข้ามทางม้าลายจะเข้าข่ายความผิดขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น เช่นกันกับกรณีชนแล้วหนี มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 ขณะเดียวกันศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบขับขี่ได้

ทั้งนี้ตามมาตรา 21 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือให้ก็คือ “ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวมถึงต้องหยุดรถเพื่อให้คนข้ามทางม้าลาย” เพราะทางม้าลายก็นับเป็นเครื่องหมายจราจร และตามตามมาตรา 32 กำหนดให้ “ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น” ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 152 คือ ปรับไม่เกิด 1,000 บาท

และอีกกรณีที่ผู้ใช้รถมักละเลย คือการจอดรถทับทางม้าลาย และเคยเกิดปัญหาเป็นข่าวดังจนเป็นที่ถกเถียงอยู่ระยะหนึ่ง จากกรณีหนุ่มรายหนึ่งเหยียบฝากระโปรงรถที่จอดเหยียบเส้นทางม้าลาย ซึ่งตามกฎหมายแล้ว การจอดรถทับทางม้าลายหรือในระยะ 3 เมตรจากทางม้าลาย ก็มีความผิดตามมาตรา 57  และตามมาตรา 70 ได้กำหนดให้ “ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ” โดยทั้ง 2 กรณีมีโทษตามมาตรา 148 คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท

ส่วนกรณีปัญหาที่รถคันหลังชนท้ายรถคันหน้าที่เบรกให้คนข้าม คนขับอาจหัวเสียกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ลองคิดตามสักนิด เพราะตามกฎหมายจราจร มาตรา 40 กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างรถคันหน้าพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัยในเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถขึ้นสะพานหรือทางลาดชันต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถถอยหลังไปโดนรถคันอื่น ขณะเดียวกัน ตามมาตรา 57 และมาตรา 70 ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้ขับจะต้องลดความเร็วเมื่อเข้าใกล้ทางข้าม และต้องหยุดรถให้ห่างจากทางม้าลายเป็นระยะเท่าใด ฉะนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ข้ามแต่อย่างใด

คนข้ามต้องรู้

คนเดินเท้าควรหยุดรอสัญญาณไฟ ไม่ข้ามถนนแม้เป็นช่วงเวลาที่ถนนโล่ง

สำหรับคนข้ามถนนหากไม่ข้ามทางม้าลาย – สะพานลอยในระยะ 100 เมตร ก็มีความผิดตามมาตรา 104 โดยลงโทษตามมาตรา 147 คือ ปรับไม่เกิน 200 บาท ขณะเดียวกันมาตรา 104 ได้กำหนดเป็นข้อห้ามไว้ว่า “ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้ามห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม”

และตาม มาตรา 105-106 ซึ่งเป็นกรณีที่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน โดยคนเดินเท้าสามารถข้ามได้เมื่อสัญญาณไฟเป็นสีเขียว หากเห็นเป็นสัญญาณไฟเขียวกระพริบให้หยุด แต่ถ้ากระพริบขณะข้ามให้รีบข้ามโดยเร็ว หากฝ่าฝืนก็มีโทษ ปรับไม่เกิน 200 บาท

รู้ไว้ระวังภัย มิจฉาชีพตัดหน้ารถเรียกค่าเสียหาย

ส่วนกรณีขับชนคนที่ไม่ข้ามทางม้าลาย ถือเป็นความผิดร่วมทั้งคนข้ามและคนขับ หมายความว่าคนข้ามก็ต้องรับโทษด้วยเช่นกัน ขณะที่คนขับก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องของค่าบาดเจ็บเสียหายของคนข้าม แม้จะเป็นกรณีที่ข้ามตัดหน้ารถก็ตาม ส่วนในกรณีที่เป็นปัญหา คือ กรณีที่มิจฉาชีพอาศัยช่องทางในการเรียกเอาเงิน โดยแสร้งกระโดดตัดหน้ารถเพื่อให้โดนชน กรณีดังกล่าวหากมีการเฉี่ยว – ชน ขึ้นจริงแล้ว จะต้องมีการพิสูจน์ความผิดว่าเกิดจากการประมาทเลินเล่อของผู้ขับ หรือเหตุจากความจงใจของผู้ถูกชน

หากผู้ขับมีหลักฐานสามารถใช้สู้คดีในชั้นศาลได้ และหากพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกชนกระทำด้วยความจงใจเพื่อหวังเรียกค่าเสียหายจริง ผู้นั้นก็มีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการข่มขู่เรียกเอาทรัพย์ ผู้นั้นอาจมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามมาตรา 777 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แม้ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีหลายคนเสนอให้ใช้ยาแรง โดยการแก้กฎหมายขยับปรับโทษให้สูงขึ้น เพื่อมิให้ผู้ขับขี่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและเคารพกฎจราจรอย่างจริงจัง ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะไม่จำเป็นอีกต่อไป หากผู้ใช้รถใช้ถนนต่างตระหนักและอยู่ในวินัยจาจร ก็สามารถหยุดความสูญเสียได้