ThaiPublica > เกาะกระแส > เกียรตินาคินภัทรแจงเศรษฐกิจไม่เอื้อ ความเสี่ยงเยอะ ขอรุกแบบมีภูมิคุ้มกัน “bottom line ” แม้ไม่โตแต่ไม่ตก

เกียรตินาคินภัทรแจงเศรษฐกิจไม่เอื้อ ความเสี่ยงเยอะ ขอรุกแบบมีภูมิคุ้มกัน “bottom line ” แม้ไม่โตแต่ไม่ตก

30 กรกฎาคม 2019


นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นายฟิลิป เชียง ชอง แทน (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล (ขวา) ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP ปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ เน้นเพิ่มกลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ให้ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง (risk-adjusted return) ที่สูง เพื่อสร้างการเติบโตแบบมีภูมิคุ้มกันต่อสภาวะเศรษฐกิจ

สินเชื่อครึ่งปีแรกเติบโต 2.1% โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่โต 17% สินเชื่อลอมบาร์ดเพิ่มขึ้น 3.9% และสินเชื่อธุรกิจเพิ่ม 0.6% ด้านธุรกิจตลาดทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่องขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันดับ 1 ขณะที่ธุรกิจ wealth management มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้นเป็น 547,000 ล้านบาท และยังคงรุกหน้าบริการการลงทุนในต่างประเทศที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน

รักษา Bottom Line ไม่ให้ตก

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยในการแถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ผ่านมาว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯ ได้รับผลกระทบจากสภาวะของตลาด ไม่ว่าจะการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและภัยแล้ง ทำให้ธนาคารเลือกที่จะเติบโตอย่างระมัดระวัง (cautionary growth)

ในครึ่งปีแรก สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ขนาดสินเชื่อของธนาคารยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ 2.1% โดยเฉพาะในกลุ่มของสินเชื่อบรรษัท (Corporate Lending) สินเชื่อลอมบาร์ด (Lombard Loan) และสินเชื่อธุรกิจ (Commercial Lending) ซึ่งล้วนเป็นสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ากลุ่มที่มีเครดิตดี และน่าจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอแม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง โดยสินเชื่อทั้งสามกลุ่มมีการเติบโต 17% 3.9% และ 0.6% ตามลำดับ ในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ก็มีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทเช่นกัน มีเพียงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ธนาคารชะลอการเติบโตโดยมุ่งรักษาคุณภาพสินเชื่อ เพื่อลดการก่อตัวของหนี้เสียในสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัว ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ก็เป็นการปรับตัวตามความคาดหมายและตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่ารถยนต์ใหม่

นายอภินันท์กล่าวว่า ไตรมาสที่ผ่านมากลุ่มมีกำไรไม่เลว แม้ไม่ดีอย่างบางไตรมาสในอดีตที่กำไรสูง ส่วนสินเชื่อโตกว่า 2% หย่อนจากเป้า 5% ทั้งปีเล็กน้อย แต่ทุกประเภทสินเชื่อเติบโต ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นพอร์ตใหญ่ ซึ่งไตรมาส 3 ปีที่แล้วโตเยอะ แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีจึงเริ่มชะลอตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีก่อน

“เราจะโตอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีความเสี่ยง แต่ยังโชคดีที่มีช่องทางอำนวยสินเชื่อ แม้เศรษฐกิจโตไม่สูงก็ไม่เสี่ยงมาก เช่น สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ที่โต แม้ไม่ใช่เลขสองหลัก สินเชื่อธุรกิจก็โต จึงจะเน้นไปที่ผู้ประกอบการที่มีสถานะการเงินดี ด้านสินเชื่อบรรษัทก็ทรงตัว โดยรวมทุกประภทสินเชื่อไม่โตมาก แต่เน้นสินเชื่อไม่เสียมาก และเรามองว่าเศรษฐกิจจะผันผวนไม่แน่นอนสูง จึงต้องระมัดระวัง จะทำตัวไม่สุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้ bottom line อย่างน้อยแม้ไม่โตแต่ไม่ตก” นายอภินันท์กล่าว

ส่วนของธุรกิจตลาดทุน นายอภินันท์กล่าวว่า ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าหลักหลักทรัพย์ ซึ่ง บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจวานิชธนกิจ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าจะมีรายได้จากธุรกรรมใหญ่หลายรายการที่ บล.ภัทรได้รับเลือกให้ดำเนินการ

ที่สำคัญธุรกิจ wealth management ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้น เป็น 547,000 ล้านบาท เป็นเงินใหม่ที่เพิ่มขึ้น 32,000 ล้านบาท โดยยังคงรุกหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น Equity-Linked Notes, Principal-Protected Notes, Phatra Derivative Warrants, Phatra Single Stock Future Blocktrade ฯลฯ ทั้งยังบุกเบิกบริการด้านการลงทุนตรงในสินทรัพย์ต่างประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหรือตราสารหนี้ ผ่านการร่วมมือกับบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก เช่น BlackRock และ PIMCO หรือแม้กระทั่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ Private Markets เป็นครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Global Investment Service นอกจากนี้ ธุรกิจจัดการกองทุนที่ดำเนินการผ่าน บลจ.ภัทรก็มีการเติบโตดี มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนรวมเป็นจำนวนกว่า 69,891 ล้านบาท

“ด้านธุรกิจตลาดทุน เกียรตินาคินภัทรครองส่วนแบ่งนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันดับหนึ่ง โดยมีแรงหนุนจากลูกค้าสถาบันที่ใช้โปรแกรมเทรด หาโอกาสในการซื้อขายลงทุนและทำกำไร ส่วนลูกค้ารายใหญ่จำนวนหนึ่งในช่วงที่ผ่านทำให้ส่วนแบ่งตลาดดี ส่งผลดีต่อรายได้เกี่ยวกับตลาดทุน” นายอภินันท์กล่าว

วาง 4 กลยุทธ์บุกธุรกิจลูกค้ารายย่อย

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล (retail business) ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของธนาคารในระยะต่อไปว่า ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนสาขาที่มากเปลี่ยนจากข้อได้เปรียบกลายเป็นภาระต้นทุน ระบบจ่ายเงินเปลี่ยนจากแหล่งทำกำไรกลายเป็นบริการแถมที่ไม่สร้างรายได้ ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเริ่มย้ายจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ และความเร็วในการบริการเปลี่ยนจากการนับในหน่วยวันมาเป็นวินาที

“เพื่อตอบรับและสร้างโอกาสในสถานการณ์เหล่านี้ ธนาคารได้แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ส่วน คือ หนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะการตัดสินใจของผู้บริโภคคือตัวชี้ขาดหนึ่งเดียวในการแข่งขันที่รุนแรง สอง การพัฒนาขอบเขตและขีดความสามารถทางด้านไอที เพราะอนาคตอยู่ที่โลกดิจิทัล สาม การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภคซึ่งต้องครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และสี่ การเสาะหา บำรุง และสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากรคุณภาพ เนื่องจากคุณภาพคนคือตัวกำหนดคุณภาพของบริการที่จะออกสู่ผู้บริโภคในที่สุด”

นายฟิลิปกล่าวว่า สินเชื่อรายย่อยครึ่งปีแรกโต 0.1% ไม่ได้ขยายตัวจากสินเชื่อเช่าซื้อ และผลการดำเนินงานเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ เพราะสินเชื่อบุคคลต้องเติบโตจากฐานที่แข็งแรงก่อน ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อมียอดคงค้างรวม 105,000 ล้านบาท นับว่าพอร์ตไม่เล็กแต่ไม่ใหญ่มาก และได้มีการปรับสัดส่วนการให้สินเชื่อรถเก่ากับรถใหม่ ให้รถเก่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ non-performing loan (NPL) ก็เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และระวังตั้งแต่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีก่อน เพื่อรับมือกับสงครามการค้า

“พอร์ตเช่าซื้อครึ่งปีแรกนี้ดีขึ้นจากการที่ได้เตรียมตัวรับพายุ credit cycle ที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3-4 ปีนี้และไตรมาส 1 ปีหน้า ตอนนี้สบายใจมากขึ้นกับสินเชื่อเช่าซื้อ” นายฟิลิปกล่าว

สำหรับสินชื่อรายย่อยต้องปรับพอร์ตแล้วหาทางเติบโตด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน เพราะอนาคตสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ลูกค้าเลือกไม่ใช่ธนาคารเลือกลูกค้า ทำอย่างไรให้ลูกค้าเลือก สินเชื่อบริการต้องให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งต่อไปนี้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการดีกว่าเดิม บนกระบวนการที่ดี ทั้งหมดจะทำให้ KKP ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต” นายฟิลิปกล่าว

เน้นลูกค้าความน่าเชื่อถือดี

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนินงานงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ของธนาคารเกียรตินาคินและบริษัทย่อยว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,699 ล้านบาท ลดลง 11.9% จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จำนวน 327 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 5,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,146 ล้านบาท ลดลง 2.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,059 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากงวดเดียวกันของปี 2561

ครึ่งปีแรกสินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัว 2.1% จากสิ้นปี 2561 โดยมีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการหดตัว ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัว 2.7% จากสิ้นปี 2561 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 4.2% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1%

ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งเงินกองทุนทั้งสิ้นได้รวมกำไรถึงปี 2561 ทั้งปีหลังหักเงินปันผลจ่าย อยู่ที่ร้อยละ 16.13 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.37% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2562 จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 17.29% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.53%

“กำไรสุทธิครึ่งปีไม่ได้เลวร้าย โดยลดลงจากปีก่อน 11.9% สินเชื่อเช่าซื้อหดตัว 2.7% ทำให้สัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมลดลงจาก 47% เป็น 45% สัดส่วนรถเก่าต่อรถใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 63:37 สินเชื่อรายย่อยมีจำนวน 35,000 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจโตต่อเนื่องมียอดอยู่ที่ 56,000 ล้านบาท ปีนี้โตอย่างระมัดระวัง เน้นลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือดี เช่น อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่” นายปรีชากล่าว

สินเชื่อบรษัทธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตต่อเนื่องโต 17% จากการเป็นที่ปรึกษควบรวมกิจการและการปล่อย bridging loan ในการเข้าทำรายการมียอดรวมครึ่งปีแรก 27,000 ล้านบาท

ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ที่ระดับ 2.3% แม้รายไตรมาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ใกล้เคียงกับ 2.3-2.4% ในแผนที่วางไว้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับ ระยะเวลาของเงินทุนให้ยาวขึ้น และการที่ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือหรือ credit rating จาก A- เป็น A ทำให้ต้นทุนการเงินดีขึ้น โดยเฉพาะเงินกู้ระยะยาว