ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > ค่าเสียโอกาส (และโอกาส) ของการเงินการธนาคารไทย

ค่าเสียโอกาส (และโอกาส) ของการเงินการธนาคารไทย

17 มีนาคม 2022


อุตสาหกรรมธนาคารโดยรวมยังอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรถดถอยตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด และยังคงเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง อัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้นของอุตสาหกรรม (RoE) จากที่เคยอยู่ในระดับ 17-18% เมื่อสิบปีก่อน เหลือไม่ถึง 10% ในช่วงก่อนเหตุการณ์โควิด และลดลงเหลือเพียง 6-8% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และพบว่าธนาคารที่มีความชำนาญเฉพาะ (niche หรือ specialization) ที่เน้นการให้บริการแบบเป็นคำตอบทางการเงิน (financial solution) และ/หรือหารายได้จากการคิดและขายไอเดียให้กับลูกค้า (origination & sales) โดยไม่มุ่งแต่ใช้ขนาดของงบดุลเป็นหลักในการให้บริการและหารายได้ (ที่นับวันจะกลายเป็นของที่ไร้ความแตกต่าง หรือ commoditized มากขึ้นเรื่อยๆ) จะมีผลประกอบการที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

มีการประเมินโดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ว่า กิจกรรม origination & sales ของสถาบันการเงินทั่วโลกสร้าง RoE ประมาณ 20% ในขณะที่กิจกรรมที่ใช้งบดุลในการหารายได้ เช่น การให้สินเชื่อแบบพื้นฐาน (ไม่รวมการ cross selling) สร้าง RoE เพียง 4% โดยเฉลี่ย

ในทางกลับกัน non-bank creditors หรือผู้ให้กู้ที่ไม่ใช่ธนาคารมีบทบาทมากขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในกลุ่มนี้สามารถขยายธุรกิจโดยใช้เงินทุนที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ กอปรกับอาศัยช่วงสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องสูงต่อเนื่องยาวนาน สามารถกินส่วนแบ่งตลาดจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและเจ้าหนี้นอกระบบ (ซึ่งเป็นตลาดของกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเข้าถึงด้วยรูปแบบการทำธุรกิจและโครงสร้างต้นทุนที่เป็นอยู่) ได้อย่างรวดเร็วผ่านการขยายเครือข่ายสาขาเชิงรุก ทำให้ผู้เล่นกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าอุตสาหกรรมธนาคารมาก ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของตลาดทุน ที่ย่อมจะให้มูลค่าสูงกับหุ้นที่มีการเติบโตที่โดดเด่น

บางครั้งก็ให้มูลค่าเกินเลยไปจนเสมือนว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถเติบโตในอัตราที่สูงเช่นนั้นไปได้ตลอดกาล จนทำให้ non-bank creditors แม้มีกำไรรวมคิดเป็นเพียงสัดส่วน 15% ของกำไรรวมของอุตสาหกรรมธนาคาร แต่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 34% อุตสาหกรรมธนาคาร (ตัวเลขคำนวณจากเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ)

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้จากการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดและความมั่งคั่งจากมูลค่าที่ตลาดทุนให้แก่ non-bank creditors นี้เองทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากผู้เล่นหน้าใหม่ จะเห็นว่าแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ที่เห็นมูลค่าที่ตลาดทุนให้แก่ non-banks ก็ยังอยากเข้ามาทำธุรกิจประเภทเดียวกันด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะเท่ากับว่ากลไกตลาดได้เริ่มทำงานเพื่อให้กำไรและมูลค่าส่วนเกินเหล่านี้กลับสู่สมดุล

แต่สิ่งที่น่าเสียดายและไม่ควรเกิดขึ้นคือ การเติบโตของรายได้และกำไรของ non-banks คงไปเตะตาผู้กำกับดูแล ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ในอดีตแทบไม่สามารถเข้าไปจัดการหรือควบคุมผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือเจ้าหนี้นอกระบบที่สร้างปัญหาสังคมอยู่ทั่วประเทศมาอย่างยาวนานได้

แต่เมื่อ non-banks ทำผลงานได้ดี ซึ่งความจริงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ ก็กลับเกิดแนวคิดของรัฐที่จะควบคุมราคา ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยไม่มีข้อมูลที่เพียงพอและไม่ใช้ตรรกะที่ดี เพราะแทนที่จะปล่อยให้การเพิ่มขึ้นของการแข่งขันทำให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่จนราคาสมดุล มาตรการควบคุมราคาที่ออกมาสุดท้ายก็จะทำให้ผู้ประกอบการถอยห่างและผลักลูกหนี้กลับไปสู่วงจรอุบาทว์ของการเป็นหนี้นอกระบบดังที่เคยเป็นมาในอดีต

โดยทั่วไปแล้ว non-banks เหล่านี้ มักมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารไม่สามารถให้บริการได้ หรือบางครั้งเรียกว่ากลุ่ม unbanked ด้วยการให้บริการผ่านเครือข่ายสาขาที่จับต้องได้ (physical network) การใช้หลักประกันที่เป็นของจำเป็นในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังใช้พนักงานที่มีความคุ้นชินพื้นที่ในการให้บริการและการบริหารความเสี่ยง น่าสังเกตว่าเมื่อมีเครือข่ายที่กว้างขวาง และมีการแข่งขันเรื่องความเร็วและคุณภาพการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการที่จัดว่าเป็น specialists กลุ่มนี้ ที่แท้จริงแล้วไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือข้อมูล/เครื่องมือบริหารความเสี่ยงอะไรที่ซับซ้อนดังเช่นธนาคารกลับยังสามารถเติบโต ทำกำไร และสร้างมูลค่าที่สูงจนธนาคารอิจฉา (แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องนี้คงต้องดูกันยาวๆ หลังการแข่งขันเกิดขึ้นเต็มรูปแบบอีกที รวมทั้งต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการกำกับดูแลว่าจะมีผลเป็นการสกัดดาวรุ่งธุรกิจเหล่านี้หรือไม่ด้วย)

หากดูในต่างประเทศ กลุ่ม unbanked บางส่วนควรได้รับการบริการโดยกลุ่มธุรกิจฟินเทคมากกว่าที่เป็นอยู่มาก แต่ในความเป็นจริงฟินเทคกลับยังแทบไม่เกิดในประเทศไทย หรือมีเกิดขึ้นบ้างแต่ก็แคระแกร็น บ้างก็มีแต่จำนวนลูกค้าแต่ยังยากที่จะสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสมในอนาคตอันใกล้ รายที่ใช้เทคโนโลยีมาทำธุรกิจการเงินแล้วดูจะมีความคืบหน้าส่วนใหญ่ก็เป็นฟินเทคที่ธนาคารลุกมาทำเองหรือทำร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ ในความเห็นของผม การที่สตาร์ทอัป (ที่มีแต่ไอเดียแต่ขาดเงินทุน) หรือ bigtech (ที่มีทั้งเงิน ทั้งข้อมูล และประสบการณ์) ยังมีจำนวนน้อย อีกทั้งบรรดาที่มีอยู่ก็ดูจะประสบความสำเร็จต่ำกว่าที่ควร จนไม่อาจมาท้าทายหรือพลิกผัน (disrupt) ธุรกิจธนาคารได้ มาจากสาเหตุดังนี้

  • การเกิดขึ้นของ PromptPay ทำให้ธนาคารใหญ่ดิสรัปต์ตนเองจนไม่มีค่าธรรมเนียมของธุรกรรมการชำระเงินอีกต่อไป ปกติแล้ว สตาร์ทอัปฟินเทคจำนวนมากมักเริ่มต้นจากธุรกิจเรื่องการชำระเงินก่อนเพราะเป็นกิจกรรมที่ในอดีต ธนาคารผูกขาด จึงสามารถสร้างเงื่อนไขการให้บริการที่มีกำไรเกินที่ปกติควรได้ และเป็นความเดือดร้อนของผู้บริโภค (pain points) ที่เห็นได้ทั่วไปและชัดเจนที่สุด แต่ในเมื่อประเทศไทยมี PromptPay ทำให้ธุรกรรมการชำระเงินในประเทศ สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าบริการ สามารถทำธุรกรรมขนาดเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ จึงหมดเหตุผลที่ผู้เล่นรายใหม่จะมาสร้างธุรกิจเพื่อทำเรื่องการชำระเงินในประเทศ ทั้งนี้ ไม่นับการชำระเงินข้ามพรมแดนยังมี pain points หรือความไม่ตอบโจทย์ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดการดิสรัปต์โดยผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคารได้ แต่จำนวนธุรกรรมยังน้อยกว่าธุรกรรมการชำระเงินในประเทศมาก
  • ประเทศไทยยังไม่มี full-service virtual banking license (เพิ่งถูกกล่าวถึงในแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ซึ่งคงต้องติดตามดูกันว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบใด) โดยปกติแล้ว กิจกรรมการเงินการธนาคารต่างๆ มีความเกี่ยวข้องและส่งเสริมกัน เช่น ถ้าใครจะให้เงินกู้แข่งกับธนาคาร ต้องมี funding base ที่เสถียรอย่างเช่นเงินฝาก จะรับฝากเงินก็ควรต้องมี payment function ที่ใช้งานได้ดี ไม่เช่นนั้นก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยไปดึงดูดลูกค้า อีกทั้งเงินฝากธนาคารยังอยู่ในระบบการค้ำประกันเงินฝาก ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่สามารถเข้าร่วมระบบค้ำประกันเงินฝากก็จะเสียเปรียบ แต่หากจะเข้าร่วม ก็คงต้องยอมรับกฎระเบียบการจัดการความเสี่ยง การดำรงเงินกองทุนและการกำกับดูแลที่เข้มข้นเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ หรือถ้าจะทำ cross border transaction ก็ต้องมี FX license จะทำเรื่องการแนะนำการลงทุน ก็ควรมีผลิตภัณฑ์ให้ครบทั้งที่เป็น investment, cash and credit ดังนั้น เมื่อไม่มีความชัดเจนเรื่อง full-service digital banking license ก็อาจทำให้ผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เล่นรายใหญ่ ขาดแรงจูงใจที่จะมาเริ่มต้นทำธุรกิจ
  • ความไม่เพียงพอของ alternative data หรือข้อมูลทางเลือกสำหรับใช้พิจารณาประกอบการให้บริการทางการเงิน ที่สามารถเปิดให้ผู้ให้บริการเข้าถึงได้ตามความยินยอมของลูกค้า (มีเพียงข้อมูลเครดิตที่ระบบมีความก้าวหน้าดีระดับหนึ่ง) อีกทั้ง alternative data ที่มีอยู่ ก็ยังอยู่แบบกระจัดกระจาย ขาดการจัดระเบียบและขาดกติกาของการนำมาใช้ประโยชน์ โดยยังถือเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ที่รวบรวมข้อมูลเหล่านั้นไว้เอง ซึ่งที่ผ่านมา หากไม่ได้ใช้ alternative data เหล่านี้ร่วมกับข้อมูลเครดิต และ/หรือ big data ของภาครัฐ (ซึ่งยังไม่มี แม้ได้ยินว่ามีความพยายามของหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้บางหน่วยงานมาทำหน้าที่รวบรวมและจัดระเบียบ big data ของภาครัฐมาหลายครั้ง แต่ยังไม่เป็นผล) ก็พบว่ายังมีพลังในการประเมินศักยภาพของผู้กู้ (predictive power) ที่ไม่สูงพอที่จะแข่งขันกับสถาบันการเงินที่ใช้ข้อมูลเครดิตเป็นหลัก คงเหลือแต่การต้องไปพยายามแข่งในเรื่องประสิทธิภาพ และการสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า (UX/UI) เท่านั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มี alternative data ที่เพียงพอและมีความหมายแล้ว ไม่ว่าเทคโนโลยีดีแค่ไหน การให้เงินกู้ดิจิทัลก็คงไปต่อได้ยาก
  • การทำ open banking ยังเป็นนโยบายที่มีผลน้อยมาก ยังขาดการจัดการ การจัดลำดับความสำคัญและการบังคับใช้ เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้มีข้อมูลจำนวนมากจะต้องการเก็บข้อมูลไว้ใช้เอง แต่รัฐควรผลักดันนโยบายบนแนวคิดที่ว่า ลูกค้าเป็นเจ้าของที่แท้จริงของข้อมูล และหากลูกค้ายินยอมให้เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ใด ผู้นั้นควรต้องเข้าถึงได้โดยมีต้นทุนที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกรณีการใช้งานจริงที่หลากหลายและให้มีต้นทุนต่ำพอที่จะทำให้ผู้เล่นใหม่หรือรายเล็กมองเห็นความเป็นไปได้ของการสร้าง platform/ecosystem ของตนเองที่จะมีนัยสำคัญพอจะท้าทายหรือแข่งขันกับธนาคารใหญ่ได้
  • เศรษฐกิจประเทศไม่เติบโตและหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับที่สูง จนการให้สินเชื่อไปกับกลุ่มเป้าหมายมีความเสี่ยงที่อาจไม่มีความสามารถในการชำระคืน จึงอาจจะไม่คุ้มทุน
  • non-bank creditors ที่มีอยู่ทุกวันนี้สามารถให้บริการอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และวิเคราะห์เครดิตแบบไม่ต้องซับซ้อน แต่ใช้เครือข่ายและบุคลากรในพื้นที่ที่รู้จักหรือมีข้อมูลลูกหนี้ในการบริหารความเสี่ยง ทั้งยังมีหลักประกัน ทำให้ในที่สุด แม้การทำธุรกิจของ non-bank creditors ในวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ low tech แต่กลับมีประสิทธิภาพมากกว่าฟินเทคที่ไม่มีข้อมูลมาก ทำให้ไม่เกิด frictions หรือ “ความไม่ตอบโจทย์” ในระบบมากพอที่เป็นโอกาสให้ fintech เข้ามาเจาะลูกค้ากลุ่มนี้

จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าผิดหวังสำหรับประเทศที่มีศักยภาพจะจัดสรรองคาพยพต่างๆ สำหรับพัฒนาการเงินการธนาคารได้ดีกว่านี้อีกมาก ซึ่งในวันนี้ ผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารยังไม่อาจเรียกได้ว่าสร้างความสำเร็จโดดเด่นอย่างแท้จริง แต่หากมองในมุมของตัวเองที่อยู่ในอุตสาหกรรมธนาคาร สภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ช่วยชะลอเวลาให้ธนาคารไทยได้มีเวลาลองผิดลองถูก ค้นหาตัวตน และโมเดลการทำธุรกิจที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไปอีกระยะหนึ่ง

หวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่าแก่การรอเวลาของทุกคน

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…