ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้การเรียนสายอาชีพ พัฒนา “ทักษะการทำงาน-ทักษะชีวิต” …สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้การเรียนสายอาชีพ พัฒนา “ทักษะการทำงาน-ทักษะชีวิต” …สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน

28 มิถุนายน 2019


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ปาฐกถา “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” กับนักศึกษาผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผู้บริหาร ครู และอาจารย์สถานศึกษาสายอาชีพทั้ง 36 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรก เป็นผู้ที่มีศักยภาพและถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศ

ทั้งนี้ จากการทุ่มเทในการค้นหา คัดเลือกและสร้างโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้แก่นักศึกษาผู้รับทุนจำนวน 2,053 คน โดยผู้บริหาร ครู และอาจารย์ทุกท่านได้ใช้ความพยายามและความทุ่มเทอย่างมากในการออกเดินทางไปค้นหา คัดเลือก และคัดกรองนักเรียนรับทุนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งในพื้นที่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล บนภูเขา บนเกาะ และตะเข็บชายแดน ความตั้งใจและความอุตสาหะนี้มาจากพลังที่ต้องการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชน

ความสำคัญของการศึกษาสายอาชีพ

“ผมคิดว่า การผลักดันให้เด็กไทยหันมาเรียนสายอาชีพ ในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และสาขาที่กำลังจะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศในยุคสมัยที่ทุกสิ่งรอบตัวกำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นแนวคิดสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะการเรียนสายอาชีพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง”

หากเราต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนา และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศในโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการในการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานไร้ฝีมือ หรือกลุ่มผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมต้น หรือต่ำกว่า ให้สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย หรือสายอาชีพในระดับ ปวช. ปวส.ขึ้นไปให้มากขึ้น

มีการศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาสายอาชีพดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสในการฝึกอบรมเพิ่มทักษะได้ง่ายขึ้น และทำให้สามารถปรับตัวอย่างสอดคล้องกับกระบวนการผลิตและบริการได้ดีขึ้น ประเทศชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ล้วนให้ความสำคัญกับคุณภาพแรงงานในระดับสายอาชีพชั้นสูง โดยถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ ด้วยซ้ำไป

การศึกษาช่วยลดความยากจน

นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพยากรและการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ

อย่างไรก็ดี แม้เราจะเชื่อว่าการศึกษาสายอาชีพจะช่วยผลิตแรงงานทักษะขั้นกลางและขั้นสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งผลิตแรงงานทักษะฝีมือ ที่สร้างและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม แต่ถ้าเด็กจากครอบครัวยากจน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาหรือต้องหลุดจากระบบการศึกษา ความตั้งใจเหล่านี้ก็ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้

ปัจจุบันนักเรียนจากครอบครัวยากจนในสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมปลาย ตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปในประเทศไทย ที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 32 ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ประมาณการว่า ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ในอนาคตอันใกล้ หรือประมาณ 10 ปี ข้างหน้า (ระหว่าง ปีพ.ศ. 2561-2570) ภาคอุตสาหกรรมของไทย ต้องการแรงงานสายอาชีพเป็นอันดับสูงสุด จำนวนราว 8 หมื่นคน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 ของแรงงานทุกประเภท ในขณะที่ต้องการวุฒิปริญญาตรี ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 33

สถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซีระบุว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเฉพาะสายงานด้านการผลิตในโรงงาน ดังนั้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องเป็นคนที่มีทักษะทางวิชาชีพ และหากเรียนในระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพที่มีการเรียนภาคทฤษฎีที่สอดคล้องต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบการก็จะยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดปัญหา skill mismatch ในตลาดแรงงานได้

ถ้าเราสามารถสร้างโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพในสาขาที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทางหนึ่ง สร้างรายได้ให้กับประชากรกลุ่มรายได้ต่ำสุด (bottom 40%) ของประเทศ ให้มีงานทำและมีรายได้สูง ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างทักษะในตลาดแรงงานได้ในอีกทางหนึ่ง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของ กสศ.

แนวคิดและปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ริเริ่มโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ขึ้น โดยเป็นการลงทุนเพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงและมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษาในสาขาที่ตลาดแรงงานของประเทศมีความต้องการ ซึ่งน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะความยากจน ซึ่งหากแก้ไม่ได้ก็จะส่งทอดวนเวียนไปข้ามชั่วคน จากพ่อแม่ ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกได้เพราะมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกันอย่างมาก

โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” นี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นพันธมิตรกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาสายอาชีพทุกสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ. (สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เอกชน วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร.ร. จิตรลดาวิชาชีพ) มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรม S-Curve และNew S-Curve เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น

โดยสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีรูปแบบการทำงานที่เป็นนวัตกรรมกับสถานประกอบการและมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี มีโครงการความร่วมมือการจัดการศึกษาระดับ ปวส. สาขาระบบขนส่งราง สาขาบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและสาขาเทคนิคเครื่องกลในระบบขนส่งทางราง ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาทางรถไฟหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College) ประเทศจีน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 พัฒนาประเทศและพื้นที่ EEC ด้านคมนาคมขนส่งระบบราง นักเรียนที่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา 2 ใบจากทั้งไทยและจีน ถือเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์อย่างรอบด้าน ทั้งความรู้ ทักษะชีวิต การใช้ภาษาต่างประเทศ และทักษะการทำงาน

นอกจากความร่วมมือกับต่างประเทศแล้ว หลายสถานศึกษายังมีความร่วมมือทวิภาคีกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน ซึ่งจากงานวิจัยระดับนานาชาติ พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพของสถานศึกษา การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการและภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะที่ทำให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่ง

การสร้างแรงงานฝีมือที่มี “ทักษะการทำงาน” ที่มีความรู้ทั้งทางทฤษฎี และ “ทักษะชีวิต” จากการฝึกงานอาชีพ ให้ได้รับการยอมรับและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นการสนับสนุนแนวคิดเรื่อง “เรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด” เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ผลประโยชน์จากโครงการ

หากนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุนในปีแรก ออกไปสู่ตลาดแรงงาน ข้อสมมติฐานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (net present value – NPV ) ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ internal rate of return) อยู่ที่ร้อยละ 10

นอกจากนี้ยังพอจะอนุมานได้ว่า โครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ทางอ้อมให้แก่ผู้รับทุน เช่น ผู้รับทุนมีความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น อัตราการออกจากการศึกษาของสายอาชีพน้อยกว่าการศึกษาประเภทอื่น และมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่วนผลประโยชน์ในแง่ของนายจ้าง ผลลัพธ์ของโครงการจะสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตของบริษัทให้สูงขึ้น และประหยัดต้นทุนของบริษัทในการสรรหาแรงงานทักษะ และลดอัตราการเข้าออกของพนักงานในบริษัท ขณะที่แง่เศรษฐกิจภาพรวม จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐ การเพิ่มรายได้ภาษี และลดปัญหาความยากจน

คาดว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาแรงงานได้ตรงจุด รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จะกลายเป็นอีกช่องทางสำคัญในการผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และถือเป็น “backbone” ของการพัฒนาอาชีพและพัฒนางาน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพใหญ่ต่อไป โดยการทำงานเรื่องนี้ กสศ.ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ทุกองคาพยพมีความสำคัญ ทั้งสถานศึกษาสายอาชีพ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งในบ่ายวันนี้และพรุ่งนี้ทุกท่านจะได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน

“ท้ายที่สุดนี้ ผมนึกถึงที่เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ พูดไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

“Education is the great engine of personal development. It is through education that the daughter of a peasant can become a doctor, that the son of a mine worker can become the head of the mine, which a child of farmworkers can become the president of a great nation. It is what we make out of we have, not what we are given, that separates one person from another.”

การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาตนเอง การศึกษาช่วยให้ลูกชาวนาเติบโตขึ้นเป็นหมอได้ ลูกกรรมกรเหมืองแร่เป็นหัวหน้าเหมือง แม้กระทั่งลูกชาวสวนชาวไร่เป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ยิ่งใหญ่ได้ ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นมิใช่ฐานะหรือชาติกำเนิด หากแต่เป็นการใช้โอกาสที่ได้รับและพัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด”ดร.ประสารกล่าว

Youth Talk…ตัวตน ความฝัน ความหวังและอนาคต

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่อาคารเดอะ พอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดเวที “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 และผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพจำนวน 36 แห่ง เข้าร่วม กว่า 300 คน ทั้งนี้ในงานมีกิจกรรม Youth Talk ตัวตน ความฝัน ความหวังและอนาคตโดยตัวแทนนักศึกษาทนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1

นางสาว กัลยาภรศ์ เตาวะโต ชั้นปวส.1 สาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยชุมชนสตูล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 กล่าวว่า ตนมีชีวิตที่ลำบาก ไม่มีพ่อแม่ที่คอยดูแลไม่ได้รับความอบอุ่นอย่างคนอื่นๆ ฐานะทางบ้านยากจน เป็นพี่คนโตในบ้าน ที่ต้องดูแลน้องๆอีก 3 ชีวิต น้องคนแรกอายุ 15 ปี คนที่ 2 อายุ 4 ขวบ คนที่ 3 อายุเพียง 2 ขวบ ไม่มีเสาหลักที่พึ่งพิงได้ แต่มีความฝันเหมือนกับคนอื่นๆ รักงานบริการที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส สอบติดมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ภาระที่บ้านมากมายที่ต้องรับผิดชอบ นอนร้องไห้คนเดียวทุกคืน จนได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. จึงตัดสินใจสมัครโดยที่ไม่ลังเลเพราะนี่คือโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับอนุปริญญา และจะได้ทำตามความฝันของตัวเองให้เป็นจริงเพื่อจะดูแลทุกคนในครอบครัวได้

“ขอให้รัฐบาลสนับสนุนทุนนี้ให้แก่รุ่นน้องๆหนูทุกปี ยังมีเด็กด้อยโอกาสอีกมาก ที่มีความฝัน อยากมีงานที่ดีทำ แต่ความยากจนเป็นอุปสรรค ไม่ได้เรียนต่อ ต้องมีชีวิตอยู่กับความยากจนไม่มีจบสิ้น มันทุกข์มากนะคะ คนที่มีฝันแต่ทำให้เป็นจริงไม่ได้ ส่วนหนูได้โอกาสในชีวิตแบบนี้แล้ว จะทำความฝันให้เป็นจริง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องต่อไปค่ะ” นส.กัยลาภรศ์ กล่าว

นายนาถวัฒน์ ลิ้มสกุล ชั้นปวส.1 กล่าวว่า “อย่ายอมแพ้” เป็นคำพูดที่ตนบอกกับทุกคนในครอบครัวอยู่เสมอ เพราะชีวิตที่ยากลำบาก บ้านไม่มีแม้หลังคาที่แข็งแรงพอจะคุ้มฝนได้ เรื่องเรียนต่อนั้น ไม่สามารถแม้แต่จะคิด ทั้งบ้านเคยเหลือเงินเพียง 5 บาท ไม่มีข้าวกิน ตนไปขอข้าวสารจากบ้านญาติก็ไม่ให้ เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันให้ตน พยายามจะหาทางเรียนต่อให้ได้เพื่อจะได้ดูครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ และโชคดีที่ได้รับโอกาสจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

นางสาวธรรมชาติ แสนซิว ชั้นปวส.1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ กล่าวว่า ดิฉันมีความฝันอยากเป็นครูและสอบติดมหาวิทยาลัยราชภัฎได้ แต่ความสำเร็จนี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงต้องหยุดความฝันนี้ไว้เพราะไม่มีทุนเรียน ทุนนี้ช่วยเข้ามาเติมเต็ม ชีวิตของเด็กคนหนึ่งและอีกหลายๆคนให้มีแสงสว่างก้าวต่อไปข้างหน้าได้ จะใช้โอกาสนี้เป็นแรงผลักดันทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง

นางสาวพรรณษา วาจาสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีใครต้องการ ตัดสินตนตั้งแต่เกิดมาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ตนอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ และต้องออกมาหางานทำ ถูกกระทำข่มเหงจากคนในครอบครัว กดดันจนบางครั้งทำร้ายตัวเอง จนจบมัธยมปีที่สาม คงจะไม่ได้เรียนต่อแล้ว แต่อาจารย์แนะนำให้สมัครทุนนวัตกรรมสายชั้นสูง และเมื่อได้รับโอกาสจากทุนนี้ ได้มีเพื่อน ได้มีสังคมที่ดีขึ้น ก็จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ให้ใครมาดูถูกอีก จะเก็บประสบการณ์ร้ายในอดีตไว้เตือนตัวเอง