ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. เปิดทางเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพระดมทุนได้ทั้งในตลาดแรก-ตลาดรอง สรุปเกณฑ์ไตรมาส 1

ก.ล.ต. เปิดทางเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพระดมทุนได้ทั้งในตลาดแรก-ตลาดรอง สรุปเกณฑ์ไตรมาส 1

22 มกราคม 2020


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ประจำเดือนมกราคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบเกณฑ์เปิดทางเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดมทุนได้ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพออกและเสนอขายหุ้นแก่ผู้ลงทุนในวงจำกัดและผู้ลงทุนทั่วไป และเปิดโอกาสให้นำหุ้นไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองได้ โดยเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว สามารถระดมทุนและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินตามที่กำหนด และผู้ลงทุนต้องมีลักษณะต่อไปนี้

  • ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ
  • กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ หรือบริษัทในเครือ
  • ผู้ลงทุนที่มีประกาศนียบัตรวิชาชีพที่แสดงถึงความรู้ด้านการเงินและการลงทุน (professional license)
  • ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความรู้และประสบการณ์การลงทุนโดยมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปในรอบ 12 เดือนล่าสุด
  • ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์ภายในไตรมาส 1 ปี 2563 ในส่วนการจัดตั้งตลาดรองเพื่อรองรับการจดทะเบียนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างประชุมหารือเรื่องรูปแบบตลาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

    2) คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง

    คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบให้บริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้แบบคราวฟันดิง กรณีมีผู้จองซื้อถึง 80% ของจำนวนเงินที่ตั้งไว้ โดยไม่ต้องยกเลิกการเสนอขายหากได้ไม่ครบร้อยละ 100 แต่ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (Funding Portal) เปิดเผยและแจ้งเงื่อนไข ที่จะไม่ยกเลิกการเสนอขายให้ผู้ลงทุนทราบก่อนจองซื้อ เพื่อลดข้อจำกัดตามเกณฑ์เดิมที่กำหนดว่าหากได้เงินไม่ครบจำนวนที่ตั้งไว้ต้องยกเลิกการเสนอขาย (All-or-nothing)

    หลัก All-or-nothing หมายถึง การที่ผู้ระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิงจะได้รับเงินจากผู้ลงทุนเมื่อระดมทุนได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้เท่านั้น

    หลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวสอดคล้องกับการกำกับดูแลในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ Funding Portal มีระบบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ ก.ล.ต. เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

    3) คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปี 2564
  • กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่จะ IPO เปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One report) ตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 และบริษัทที่จะ IPO เริ่มเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในปี 2564 ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและลดภาระของภาคเอกชน ก.ล.ต. จะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในการจัดอบรมให้ความรู้แก่ภาคเอกชนต่อไป

    การเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลใน One report ตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 สำหรับบริษัทที่จะ IPO เริ่มเปิดเผยข้อมูลในปี 2565

    ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางความตกลงปารีส (Paris Agreement) และระดับชาติตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 สำหรับเป้าหมายที่จะบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจก และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) (National Action Plan : NAP) ของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)