ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้จักเข้าใจงบการเงิน ธปท. กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่การตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท ไม่กระทบ 2 พันธกิจหลัก

รู้จักเข้าใจงบการเงิน ธปท. กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่การตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท ไม่กระทบ 2 พันธกิจหลัก

25 เมษายน 2019


ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เช่นเดียวกันองค์ภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ทุกสิ้นปีต้องมีการจัดทำงบการเงินเพื่อแสดงฐานะการเงินจากการดำเนินการในรอบปี แต่ธปท.ในฐานะธนาคารกลาง มีพันธกิจต่างจากองค์กรธุรกิจ งบการเงินของธนาคารกลางจึงมีลักษณะพิเศษและนัยต่างจากงบการเงินของธุรกิจทั่วไป ดังนั้นก่อนที่จะดูงบการเงินของธปท.จำเป็นต้องเข้าใจพันธกิจของธปท.ก่อน

พันธกิจของธนาคารกลาง

ธปท. มีพันธกิจที่สำคัญ 2 ด้าน คือ

1) การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ

มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2485 (ปรับปรุง พ.ศ. 2561) ระบุไว้ว่า “..งานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียร ภาพทางการเงิน และเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน” หรือรวมกัน หมายถึง เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยรวม พันธกิจของ ธปท. คล้ายกับพันธกิจของธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องดูแลเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจในประเทศและต่างประ เทศ เสถียรภาพภายในประเทศ หมายถึง การรักษามูลค่าของเงินบาทและสินทรัพย์ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลงจากเงินเฟ้อ และดูแลไม่ให้เกิดฟองสบู่หรือจุดเปราะบางในระบบการเงินที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตการเงินในอนาคต ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศ หมายถึง การดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ไม่ผันผวนจนเกินไป รักษาอำนาจซื้อของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลก รักษาระดับหนี้ต่างประเทศให้อยู่ในระดับต่ำรวมทั้งมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก

2) การจัดพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 (ปรับปรุง พ.ศ. 2545) ระบุไว้ว่า “..ให้ ธปท. มีอำนาจจัดทำบริหาร และออกใช้ซึ่ง ธนบัตร..” เงินบาทและธนบัตรไทยจะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ มาตรา 16 ยังได้ระบุว่า “..ห้ามมิให้นำออกใช้ซึ่งธนบัตร เว้นแต่เป็นการแลกเปลี่ยนทันทีกับสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่ง มีค่าเท่ากัน..” ดังนั้น ในการจัดพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้ ธปท. จะต้องนำสินทรัพย์ต่างประเทศมูลค่าเท่ากับธนบัตรที่จะออกใช้ใหม่ เก็บแยกไว้หนุนหลังธนบัตร ดังที่ มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา ระบุไว้ว่า “เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา ให้ ธปท. รักษา ทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่าทุนสำรองเงินตรา”

พันธกิจทั้ง 2 ด้านมีความเกี่ยวข้องกัน และถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญและจำเป็นสำหรับการที่ระบบเศรษฐกิจจะสามารถ ขยายตัวต่อไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ

บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยและบัญชีของทุนสำรองเงินตรา

ในการดำเนินงานตามพันธกิจ 2 ด้านข้างต้น กฎหมายได้กำหนดให้ ธปท. แยกการลงบัญชีเป็น 2 บัญชี กล่าวคือ

1) บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ บัญชีที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ถ้าหากดูบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างย่อ ฝั่งสินทรัพย์ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่ส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และมีสัดส่วนสูงกว่า 85% ของสินทรัพย์ทั้งหมด สินทรัพย์ส่วนที่เหลือคือพันธบัตรรัฐบาลไทย ในขณะที่ฝั่งขวาหรือฝั่งหนี้สินส่วนใหญ่ ประกอบด้วยพันธบัตร ธปท. ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เงินรับฝากจากสถาบันการเงิน และรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้เป็นหนี้ที่อยู่ในรูปของเงินบาททั้งหมด

2) บัญชีของทุนสำรองเงินตรา คือ บัญชีที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านการพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้ในระบบเศรษฐกิจ ฝั่งสินทรัพย์ ประกอบด้วยสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด 100% ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรตามที่กฎหมายกำหนด ส่วน ฝั่งหนี้สินประกอบด้วยธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (banknotes in circulation) ในรูปของเงินบาท กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ธนบัตรที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจถือเป็นหนี้สินของธนาคารกลาง

ดังนั้น งบการเงินของธนาคารกลางจึงมีความไม่สมดุลระหว่างด้านสินทรัพย์ (ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ) และหนี้สิน (ที่อยู่ในสกุลเงินท้องถิ่น) โดยด้านสินทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงค่าได้ง่ายตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ลักษณะพิเศษของงบการเงินของธนาคารกลาง

  • สินทรัพย์และหนี้สิน ไม่ใช่สกุลเงินเดียวกัน
  • สิ่งที่งบการเงินของธนาคารกลางต่างจากงบการเงินของธุรกิจเอกชน คือ สินทรัพย์ของธนาคารกลางส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ ต่างประเทศ หรือเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ในด้านหนี้สินจะอยู่ในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หรือสกุลเงินบาทใน กรณีของ ธปท. ทั้งจากธนบัตร และพันธบัตรที่ ธปท. ออกเพื่อบริหารสภาพคล่องและดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ งบการเงินของธนาคารกลางจึงมีลักษณะพิเศษที่สินทรัพย์และหนี้สินไม่ใช่สกุลเงินเดียวกัน (currency mismatch) ทำให้ทุก สิ้นปีต้องมีการตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศให้อยู่ในรูปเงินบาท เพื่อจัดทำงบการเงินให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาทได้ การตีราคา เปรียบเสมือนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศว่าถ้าต้องขายสินทรัพย์ต่างประเทศออกทั้งหมดจะได้เงินบาทเท่าใด

    แต่ข้อเท็จจริง คือธนาคารกลางไม่ได้ขายสินทรัพย์ต่างประเทศออกไปทุกสิ้นปีที่มีการตีราคา แต่จะถือไว้ตามหลักการที่ว่า ต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอและพร้อมใช้สำหรับการดำเนินงานตามพันธกิจหลัก โดยเฉพาะในเวลาที่การเคลื่อน ย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ หรือบัญชีเดินสะพัดผันผวน ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนที่ปรากฏในงบการเงินส่วนใหญ่จึงเป็น “กำไรหรือ ขาดทุนที่เป็นผลจากการตีราคา” หรือเรียกว่า “กำไรหรือขาดทุนทางบัญชี”

    การที่ต้องตีราคาทุกสิ้นปี หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลต่อตัวเลขในงบการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่ในสัดส่วนสูง เช่น ณ สิ้นปี 2561 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาท จะทำให้เกิดกำไรทางบัญชีทันที 240,000 ล้านบาท ในทางตรงกันข้ามถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท ก็จะทำให้เกิดขาดทุนทางบัญชีทันที 240,000 ล้านบาท

    กำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการตีราคาไม่ได้ทำให้ความสามารถในการทำพันธกิจของ ธปท. เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะ ธปท. ยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศคงอยู่ที่ 240,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา เป็นกันชนรองรับความผันผวนจากต่างประเทศ ดังนั้น ถ้า เห็นงบการเงินของธนาคารกลางปรากฏผลขาดทุนในบางช่วง อย่าเพิ่งกังวลใจเพราะอาจเป็นผลจากการตีราคา และถ้าพิจารณางบการเงินของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าบางปีกำไรบางปีขาดทุน ซึ่งเป็นผลจากการตีราคาเป็นสำคัญ

  • การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศมุ่งรักษามูลค่าในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะยาว
  • พันธกิจของธนาคารกลาง คือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ต้องมองไกล มองไปในระยะยาว มากกว่าการให้น้ำหนัก กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศก็เช่นกัน ธนาคารกลางจะลงทุนในสินทรัพย์ ที่มีมูลค่าที่ดีในระยะยาวและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยในระยะสั้นอาจเห็นความผันผวนได้บ้าง ประเด็นสำคัญ คือ ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศจะดูผลตอบแทนใน “รูปเงินตราต่างประเทศ” เพราะในที่สุดธนาคารกลางยังต้องดำรงเงิน สำรองระหว่างประเทศไว้ให้พร้อมใช้และเพียงพอ ในขณะที่การจัดทำงบการเงินปกติจะจัดทำขึ้นในกรอบระยะเวลา 1 ปี จึงทำให้มี ความต่างเรื่องกรอบเวลากับการพิจารณาผลตอบแทนจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ

    นอกจากนี้การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศตามปกติ จะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ของเศรษฐกิจการเงินโลก หรือเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งจะเกิดการรับรู้กำไร/ขาดทุนเมื่อมีการ ขายตราสารบางประเภทออกไป ซึ่งเดิมอาจลงบัญชีไว้ในรูปกำไรหรือขาดทุนทางบัญชี (unrealized gain/loss) ดังนั้น ตัวเลขใน กรณีเช่นนี้มักเป็นการรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนทางบัญชีที่เคยตีราคาไว้เดิม ไม่ใช่การขายหรือซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อการเก็งกำไรแต่อย่างใด

  • หนี้สินของธนาคารกลางต่างจากหนี้สินของธุรกิจ
  • หนี้สินของธุรกิจที่ก่อขึ้นไม่ว่าเพื่อใช้จ่ายหรือลงทุนก็เพื่อประโยชน์ของธุรกิจนั้นๆ (private benefit) ในขณะที่หนี้สินของธนาคาร กลางเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม (public benefit) หนี้สินของ ธปท. เกิดจาก (1) การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้พอ เพียงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ และ (2) การดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รักษามูลค่าของเงินบาทและสินทรัพย์ ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลง ซึ่งถือเป็นประโยชน์สาธารณะ (public goods) ที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ หนี้ของธนาคารกลางไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด บริษัทหนึ่งบริษัทใด หรือแม้แต่ประโยชน์ของ ธปท. เอง แต่เป็นหนี้จากการดำเนินพันธกิจที่ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยโดยรวม

    หนี้สินของธนาคารกลางส่วนแรก ได้แก่ ธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่คนในสังคมยอมรับว่าใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ความพิเศษของธนบัตรอยู่ที่ แม้แต่คนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันก็ยังเชื่อมั่นในมูลค่าและยอมรับแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

    หนี้ส่วน ที่สอง คือ เงินฝากของสถาบันการเงินที่ดำรงไว้ที่ธนาคารกลาง ก็ถือเป็นหนี้สินของธนาคารกลางเพราะธนาคารกลางทำหน้าที่เป็น ตัวกลางของระบบสถาบันการเงิน สถาบันการเงินใช้บัญชีเงินฝากที่ธนาคารกลางในการชำระเงินระหว่างกันและบริหารสภาพคล่องของ ตน หนี้ส่วนที่สามคือ เงินฝากของรัฐบาล หรือเงินคงคลัง ก็ถือเป็นหนี้สินของธนาคารกลางที่เกิดจากการบริหารกระแสเงินสดของ รัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา และหนี้ของธนาคารกลางส่วนสุดท้าย คือ หนี้จากการทำพันธกิจดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ในช่วงเวลาที่ระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกินในปริมาณที่สูงเกินควร ธนาคารกลางจะออกตราสารหนี้หรือพันธบัตรไปดูดซับสภาพคล่อง เข้ามาเก็บไว้ที่ธนาคารกลาง ในทางตรงข้ามธนาคารกลางจะไถ่ถอนพันธบัตรและปล่อยสภาพคล่องออกไปในกรณีที่ระบบเศรษฐกิจ ต้องการสภาพคล่องที่สูงขึ้น

    เกิดอะไรขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหนี้ของธนาคารกลางที่สูงขึ้นมาจากไหน?

    ถ้าดูวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ธนาคารกลาง เหล่านี้อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินโลก ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) รวมทั้ง ไทย ตลาดเงินตลาดทุนโลกเคลื่อนไหวผันผวน ขณะที่บริบทในประเทศก็ถูกท้าทายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองและภัย ธรรมชาติ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนในระดับต่ำขณะที่การส่งออกมีพัฒนาการดี และการท่องเที่ยวเติบโตก้าวกระโดด นักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 15 ล้านคนเมื่อ 10 ปีก่อนเป็น 38 ล้านคน ในปี 2561 ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เป็นประวัติการณ์รวมประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

    ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ ธปท. ดำเนินพันธกิจอย่างไร? ในบริบทที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากและเร็วในบางช่วงเวลา และ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ประกอบกับการลงทุนภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำปัจจัยเหล่านี้สร้างแรงกดดัน ต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ในช่วงที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ธปท. เข้าดูแลโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศแลกกับเงินบาท เพื่อช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งมีผลเท่ากับ ธปท. ปล่อย สภาพคล่องเงินบาทเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น ถ้าหากปล่อยให้สภาพคล่องเงินบาทในระบบสูงเกินไปอาจสร้างปัญหาฟองสบู่ในภาค อสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นเร็วไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และเกิดปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะ ยาวได้ ธปท. จึงต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินดังกล่าว กลับมาด้วยการออกตราสารหนี้เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดำเนินพันธกิจดังกล่าวทำให้ ธปท. มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

    หนี้ของ ธปท. ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากการทำพันธกิจของธนาคารกลางที่จะดูแลให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ มั่นคง มีการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ผันผวนรุนแรง หรือแข็งค่าเร็วเกินไป รวมทั้งดูแลไม่ให้ เกิดปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว ทั้งนี้ หนี้สินที่เกิดจากการออกตราสารหนี้ข้างต้น ทำให้ ธปท. มีภาระดอกเบี้ยจ่าย ใน ขณะที่มีดอกเบี้ยรับจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ในอดีตอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ อัตรา ดอกเบี้ยจ่ายจึงสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรับ แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ และ ธปท. เริ่มมี ดอกเบี้ยรับมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย

  • การทำกำไรไม่ใช่พันธกิจของธนาคารกลาง
  • ธนาคารกลางเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร (nonprofit organization) พันธกิจคือดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน กำไรหรือขาดทุนในงบการเงินไม่ได้สะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงานตามพันธกิจของธนาคารกลาง ซึ่งต่างจาก ภาคธุรกิจที่พันธกิจหลักคือ การแสวงหากำไร และความสามารถของการดำเนินธุรกิจดูได้จากผลกำไรหรือขาดทุนจากงบการเงิน

    ธนาคารกลางเป็นองค์กรที่ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางจะไม่ตระหนักถึง ผลของการทำนโยบายต่องบการเงิน ธนาคารกลางต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินไว้ให้ได้ โดยเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างรอบคอบระมัดระวังและมีต้นทุนคุ้มค่า

    การที่งบการเงินของธนาคารกลางจะมีผลขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายแห่ง อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อิสราเอล ชิลี มีงบการเงินที่ขาดทุน และผลขาดทุนไม่ได้กระทบศักยภาพการทำหน้าที่ตามพันธกิจของธนาคารกลาง ตราบใดที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายที่มีเหตุมีผลและเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และได้ รับความเชื่อมั่นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับ ธปท. ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขใน งบการเงินจะปรากฏผลขาดทุน ตลาดการเงินและนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ ธปท. สะท้อนจากการออกพันธบัตรของ ธปท. จะมีนักลงทุนมาประมูลซื้อพันธบัตร ธปท. มากกว่าจำนวนที่ออกทุกครั้ง

    ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะเศรษฐกิจและงบการเงินของธนาคารกลางบ่อยครั้งมักจะสวนทางกัน กล่าวคือ ในปีที่เศรษฐกิจ ไทยเจริญเติบโตได้ดีมีเสถียรภาพ (เช่นปี 2560 – 2561 เศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณ 4%) ค่าเงินบาทมักจะแข็งค่า ทำให้งบการเงิน ของ ธปท. มีผลขาดทุน คือ ขาดทุนจากการตีราคาและดอกเบี้ยจ่ายจากการออกตราสารเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

    ในทางตรงข้าม ในปีที่ ธปท. มีกำไร ก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยจะดีหรือประชาชนจะได้ประโยชน์ เช่น ปี 2554 เกิดเหตุการณ์ น้ำท่วมใหญ่ เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 0.8% เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ค่าเงินบาทอ่อน ธปท. มีกำไรกว่าแสนล้านบาท หรือ ปี 2558 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขยายตัวในระดับต่ำและเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ปีนั้นเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ธปท. มีกำไรกว่า 9 หมื่นล้านบาท

    งบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2561

    1) บริบทเศรษฐกิจการเงินปี 2561

    ปี 2561 เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จากบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน หนี้ที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ในหลายจุดทั่วโลก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนตลอดทั้งปี กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง ต้องเผชิญวิกฤตเงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนตัวอย่างรุนแรง

    ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ และเมื่อเทียบกับประเทศตลาด เกิดใหม่หลายประเทศแล้ว ระบบการเงินของไทยมีความมั่นคง ค่าของเงินบาท อำนาจซื้อของคนไทยและมูลค่าของสินทรัพย์ของ คนไทยไม่ถูกลดทอนลง เพราะอัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับต่ำและอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพเมื่อเทียบเงินบาทกับเงินสกุลหลัก ๆ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยเข้มแข็ง โดยเฉพาะเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง รวมทั้งหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำซึ่งได้ช่วยเป็นกันชนและภูมิคุ้มกันที่ช่วยรองรับแรงปะทะจากความผันผวนภายนอก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระดับสอดคล้องกับศักยภาพ

    2) งบการเงินของบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2561
    บัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2561 มีผลขาดทุนรวม 153,168 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนทาง บัญชีจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation หรือ unrealized loss) ในขณะที่รายรับดอกเบี้ยจากการบริหารสินทรัพย์ ต่างประเทศสูงกว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี มีรายละเอียดดังนี้

    2.1 การดำเนินงานตามพันธกิจด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในปี 2561 มีรายรับดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวก 18,776 ล้าน บาท ซึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยรับจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายจากการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ตัวเลขในส่วนนี้ ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น ในขณะที่อัตรา ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ต่ำกว่าหลายประเทศและต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ

    2.2 ผลจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศและอื่น ๆ ขาดทุนสุทธิ 95,834 ล้านบาทในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นผลจาก การนำผลขาดทุนที่เกิดจากการตีราคา ในอดีต (ปี 2560) มารับรู้เป็นผลขาดทุนเมื่อมีการขายสินทรัพย์ต่างประเทศบางส่วนออกไป ผ่านการปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดีขึ้น อาทิ ลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์บางสกุลเงิน เพื่อปรับเพิ่มสินทรัพย์สกุลเงินหยวน ให้สอดคล้องกับบทบาทของเศรษฐกิจจีนที่มีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก และสอดคล้องกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้นำเงินหยวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDR เป็นครั้งแรกในปี 2559

    ทั้งนี้ ตัวเลขการขาดทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะต้นทุนในรูปของเงินบาทของสินทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อเข้ามาเมื่อหลายปีก่อน สูงกว่าราคาในรูปของเงินบาทเมื่อขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปภายหลังซึ่งเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนั้นเป็นสำคัญ การขาดทุนส่วนนี้จึงเป็นการรับรู้ผลขาดทุน ที่เคยบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีราคาฯ และเคยบันทึกไว้ในกำไร/ ขาดทุนรวม ในงบการเงินปีก่อนหน้าแล้ว

    2.3 ผลจากการตีราคา (valuation) ขาดทุนสุทธิ 76,110 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท โดยปีนี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร เงินหยวน และเงิน ปอนด์สเตอร์ลิง ที่ปรับอ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง

    3) งบการเงินของบัญชีทุนสำรองเงินตราในปี 2561
    ในปี 2561 งบการเงินของบัญชีทุนสำรองเงินตรา ขาดทุนสุทธิ 30,024 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการตีราคา สินทรัพย์ต่างประเทศในบัญชีทุนสำรองเงินตรา (-50,208 ล้านบาท) ในขณะที่ผลตอบแทนจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่ใช้หนุนหลังธนบัตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รายละเอียดดังต่อไปนี้

    3.1 การดำเนินงานตามพันธกิจด้านการพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้ มีรายรับดอกเบี้ยสุทธิ 19,453 ล้านบาทจากการบริหาร เงินสำรองระหว่างประเทศที่ใช้หนุนหลังธนบัตรให้ผลตอบแทนดี ในขณะที่ต้นทุนการพิมพ์ธนบัตรปรับลดลงจากปริมาณเบิกจ่าย ธนบัตรที่ลดลง

    3.2 การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศและรายการอื่น กำไรสุทธิ 731 ล้านบาท จากการซื้อขายหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศเป็นสำคัญ

    3.3 ผลจากการตีราคา (valuation) ขาดทุนสุทธิ 50,208 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศในบัญชีทุนสำรองเงินตราให้เป็นเงินบาท เป็นเพราะเงินต่างประเทศเกือบทุกสกุลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท

    4) งบการเงินที่ปรากฏผลขาดทุนต้องกังวลหรือไม่?
    ตัวเลขขาดทุนในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินบาท ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มมีรายรับสุทธิในปี 2561 และการดำเนินงานตามพันธกิจการจัดพิมพ์ธนบัตรออกใช้มีรายรับต่อเนื่อง

    ธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อิสราเอล ชิลี เคยมีผลขาดทุนเช่นกัน และผลขาดทุน ไม่ได้กระทบความสามารถในการดำเนินงานตามพันธกิจ ถ้าการดำเนินนโยบายมีเหตุมีผลและยังได้รับความเชื่อมั่น สำหรับ ธปท. ตลาดการเงินและนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นสะท้อนจากการออกพันธบัตรของ ธปท. จะมีนักลงทุนมาประมูลซื้อพันธบัตร ธปท. มากกว่า จำนวนที่ออก