ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > จุฬาฯ นำร่อง “Chula Zero Waste” ลดใช้แก้วพลาสติก 6 เดือนลดทะลุล้านใบ คนพกแก้วมาเองเพิ่มเฉียด 20%

จุฬาฯ นำร่อง “Chula Zero Waste” ลดใช้แก้วพลาสติก 6 เดือนลดทะลุล้านใบ คนพกแก้วมาเองเพิ่มเฉียด 20%

13 เมษายน 2019


นาย ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT)

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) ได้เปิดเผยถึงการดำเนินงานโครงการลดขยะพลาสติกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในโครงการดังกล่าวส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อผลิต “แก้ว” ที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เป็นส่วนหนึ่งของการลดใช้แก้วพลาสติกในมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ คุณสมบัติของแก้วที่ใช้จะแตกต่างจากที่ใช้อยู่ในท้องตลาดคือตัวเคลือบที่ใช้วัสดุชีวภาพ ขณะที่แก้วทั่วไปจะใช้พลาสติกโพลีเอทิลีน หรือ PE ที่ย่อยสลายไม่ได้ นอกจากนี้ แก้วของจุฬาฯ ยังได้รับการรับรองระดับคุณภาพอาหาร (food grade) รวมไปถึงรับรองมาตรฐานการย่อยการสลายตามมาตรฐานสากล เช่น ระยะเวลาย่อยสลาย โดยถ้าอยู่ในโรงปุ๋ยหมักที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือมีความชื้น มีจุลินทรีย์ จะสามารถย่อยสลายใน 4 เดือน ขณะที่ถ้าทดลองในสภาพแวดล้อมทั่วไปจะย่อยสลายประมาณ 1 ปี ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดแล้วในตลาด หรือการทดสอบการย่อยสลายแล้วไม่มีอะไรเหลืออย่างพวกไมโครพลาสติกที่เป็นประเด็นในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากการเปลี่ยนแก้วให้ย่อยสลายได้แล้ว จุฬาฯ ยังออกมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร เช่น การเก็บเงินค่าแก้ว 2 บาท เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานแก้วของบุคคลกรและนิสิต หรือการทำระบบบริหารจัดการขยะภายหลังการใช้งานอย่างครบวงจร โดยแก้วภายในโรงอาหารจะมีการแยกออกมาจากขยะอื่นๆ ก่อนที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักหรือนำไปทำเป็นกระถางเพาะชำต้นกล้า ซึ่งการใช้งานลักษณะหลังเพิ่งมาค้นพบว่ามีความต้องการอยู่ค่อนข้างมาก และในระยะต่อไปจะพยายามผลักดันแก้วทั้งหมดไปในทางนั้น เนื่องจากสุดท้ายแล้วเมื่อนำไปฝังลงดินก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักอยู่ดี รวมไปถึงลดการใช้ถุงพลาสติกดำที่ใช้เพาะชำในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายวรุณกล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์  2562 ได้ใช้แก้วไปแล้วประมาณ 1.1 ล้านใบหรือคิดเป็นขยะ 12.9 ตัน โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 17% เทียบกับในปีที่ผ่านมาทั้งปีจุฬาฯ ใช้แก้วกันประมาณ 2 ล้านใบ ดังนั้น ถึงแม้ว่าเป้าหมายการลดการใช้งานแก้วแบบใช้แล้วทิ้งจะไม่ได้ลดลงมากอย่างที่คาด แต่อย่างน้อยด้วยการบริหารจัดการที่วางไว้ สุดท้ายแก้วพวกนี้ก็จะสลายไปในที่สุดไม่เป็นขยะอีก ขณะที่เป้าหมายด้านพฤติกรรมพบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จากการสำรวจก่อนเริ่มมาตรการมีคนนำแก้วมาใช้เองไม่ถึง 1% แต่ในภายหลังเริ่มมาตรการที่คิดเงินค่าแก้ว โดยเฉลี่ยคนนำแก้วมาใช้เองมากขึ้นเป็น 10-20% ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่หอในที่มีความสะดวกมีการใช้งานถึง 20% เป็นต้น

“ตอนนี้เราพยายามหาแนวทางครบวงจรก่อน แล้วถ้าใช้ได้ตรงนี้ก็จะสามารถยกไปครอบที่อื่นได้ง่ายขึ้น ก็มีหลายบริษัทเข้ามาเอาไปใช้ แต่ผมจะตอบเสมอเลยว่าถ้าไม่มีการจัดการที่ถูกต้องเอาใช้ก็ได้ แต่มันจะไม่ตอบจุดประสงค์ของแก้วที่เราตั้งใจทำมา คือสมมติว่าวันนี้บริษัทหนึ่งบอกว่าเปลี่ยน ซื้อแก้วไปใช้ในบริษัททั้งหมดเลย แต่สุดท้ายทิ้งกลับลงมาเหมือนเดิม เป็นอะไรหรือไม่ มันก็ย่อยสลายในถุงขยะฝังกลบได้เหมือนกัน แต่ถามว่ามันจะมีประโยชน์อะไรขนาดนั้นหรือเปล่า คนไม่ได้เปลี่ยนนิสัยพฤติกรรม ดังนั้นมันเป็นระบบการบริหารจัดการที่ต้องไปพร้อมกันกับแก้ว ต้องขึ้นราคาเพื่อให้คนคิดก่อนใช้ สุดท้ายเราทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อความสบายเหมือนเดิม ถ้าอยากใช้เรายินดีอยู่แล้ว แต่ที่ต้องคิดเสมอคือมาตรการหลังบ้านต้องให้ความสำคัญพอๆ กับเปลี่ยนวัสดุ แล้วจริงๆ สำคัญมากกว่าด้วย” นายวรุณกล่าว

นายวรุณกล่าวเสริมถึงมาตรการบริหารหลังบ้านว่า เริ่มตั้งแต่ห่วงโซ่การผลิตแรกว่าจะผลิตเท่าไหร่ ขายที่ไหน ร้านน้ำจะซื้ออย่างไร ด้วยราคาเท่าไหร่ จะส่งต่อให้ลูกค้าด้วยราคาเท่าไหร่ พอใช้เสร็จแล้วในโรงอาหารต้องมีมาตรการแยกขยะแยกทิ้ง ต้องแยกน้ำแยกหลอด แล้วรวบรวมเก็บทุกๆ กี่วัน ขนส่งอย่างไร แล้วจะนำไปใช้อย่างไร จะต้องใช้ทำปุ๋ยหมักเท่าไหร่ ไปทำเพาะชำเท่าไหร่ ความต้องการตรงนั้นมีรองรับหรือไม่

ยกตัวอย่างในยุโรป ความจริงเขาใช้พลาสติกเยอะกว่าไทยประมาณ 30% เมื่อคิดต่อประชากรเท่ากัน แต่ปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้รุนแรงเท่า เพราะระบบการจัดการที่ดีกว่า ร้านค้าต้องรับผิดชอบ ขณะที่ในประเทศไทย ตัวอย่างกรณีของจุฬาฯ มีตัวอย่างที่น่าสนใจในขั้นตอนของการแยกขยะ คือเราไปหาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนแยกขยะตรงถัง ผลปรากฏว่าอันดับแรกเลยนะคือมีคนยืนเฝ้า มีแม่บ้านหน้าตาดุเฝ้าคนแยกทิ้งตรงเลย หรือผมไปทำงานกับที่วัดตรงบางกระเจ้า เจ้าอาวาสบอกว่าเอาพระลูกวัดที่สักเยอะๆ มายืนเหมือนกัน

ปัจจัยอันดับรองลงมาคือคนข้างหน้า ถ้าคนข้างหน้าแยก คนต่อไปก็แยก คือสรุปที่เราคิดว่าต้องติดป้าย ซื้อถังแยก แต่พฤติกรรมคนไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ป้ายเป็นปัจจัยแบบสามสี่ห้าหรือท้ายๆ ไปเลย วัฒนธรรมก็เป็นอะไรที่สำคัญ เราอาจจะไม่ได้โดนสอนตั้งแต่เด็ก อย่างบางโรงเรียนในไทยก็มีสอนแล้วนะ อย่างให้ดื่มนมแต่จะให้ตัดแล้วเทลงแก้วแทน คือสอนให้ใช้แก้วแทนไม่ใช้หลอด อะไรพวกนี้ก็สำคัญ มาตรการทางสังคมจริงๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนได้

“แรกๆ ที่ทำโครงการมันก็มีปัญหาเรื่องของระบบจัดการหลังบ้าน ซึ่งเราก็คาดเอาไว้อยู่แล้ว เช่น ร้านค้าจะมีต้นทุนมากขึ้นจากราคาแก้ว เพราะพลาสติกชีวภาพแบบนี้มันแพงกว่าอยู่แล้ว ก็ไม่อยากใช้ หรือบางร้านหนักกว่าคือไปซื้อแก้วที่คล้ายๆ กันมา แต่มาบวกราคาเพิ่ม 2 บาท มาตรการของเราคือรายงานไปที่ต้นสังกัดของโรงอาหารแล้วส่งคนลงไปเดือน 2 ครั้ง ซึ่งที่พบส่วนใหญ่ก็เตือน 1 ครั้งก็ยอมปฏิบัติตาม เพราะถ้ายังไม่ปฏิบัติตามมันก็จะกระทบกับสัญญาเช่าพื้นที่ด้วย ตรงนี้เป็นมาตรการการบริหารจัดการที่ทางจุฬาฯ มีอยู่ว่าร้านค้าจะต้องปฏิบัติตามนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วย” นายวรุณกล่าว

ด้านนางสาวณิชา เวชพานิช นิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรม Chula Zero Waste Club กล่าวว่า “เสียงตอบรับของนิสิตในช่วงแรกจะอยู่ในช่วงปรับตัว เพราะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 2 บาทสำหรับแก้ว รวมไปถึงบางคนหรือบางคณะการพกพาแก้วมาเองอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก แต่ในบางคณะอย่างคณะอักษรศาสตร์จะมีตู้เก็บของ ทำให้นิสิตสามารถพกแก้วมาใช้ได้สะดวกกว่า ขณะที่ในแง่ของการรณรงค์หรือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ชมรมมีการไปดูแลจัดการแยกขยะตามงานต่างๆ เอาถังขยะหรือป้ายไปตั้ง มีคนของชมรมลงไปให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วมันก็กลายเป็นว่ามีคนที่อินกับเรื่องเหล่านี้แล้วตามมาทำทุกงานหรือทำต่อกันมาเรื่อยๆ แล้วพอเราใช้จนชินไปแล้ว พอออกไปข้างนอก อย่างไปฝึกงาน พี่ๆ ก็แซวว่าน้องอยู่แล้วพี่เกรงใจเลย ไม่กล้าใช้เลย หรืออย่างครอบครัวเห็นเราทำจริงจัง เขาก็เริ่มทำตามเรา”

นางสาวณิชา เวชพานิช (ซ้าย) นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรม Chula Zero Waste Club