นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2561 กลุ่มบริษัทฯ (บริษัทฯ และบริษัทย่อย) มีรายได้จากการดำเนินงาน รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท
บริษัทการบินไทยฯ ได้รับมอบเครื่องบินใหม่ จำนวน 5 ลำ และปลดระวางเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737-400 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 103 ลำ สูงกว่า ณ สิ้นปีก่อน 3 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.0 ชั่วโมง เท่ากับปีก่อน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.9% ปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) เฉลี่ย 77.6% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.0%
ในปีนี้ บริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงทางบัญชี ได้แก่ การเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ จากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก ทำให้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ในปี 2561 เพิ่มขึ้น จำนวน 3,129 ล้านบาท และการทบทวนระยะเวลาการรับรู้บัตรโดยสารที่จำหน่ายแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากเดิมรับรู้เป็นรายได้เมื่อบัตรโดยสารมีอายุเกินกว่า 24 เดือน เป็น 15 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรโดยสาร ทำให้รายได้ค่าโดยสารสำหรับปี 2561 เพิ่มขึ้น 1,028 ล้านบาท
ในปี 2561 การแข่งขันอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท (3.9%) ทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้ค่าระวางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ รายได้จากการบริการอื่นๆ และรายได้อื่นๆ แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท (10.3%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาท (19.7%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% อย่างไรก็ตาม มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 9,802 ล้านบาท (7.3%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 215 ล้านบาท (4.7%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2561 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 3,459 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 911 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 11,625 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.33 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 268,721 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 12,054 ล้านบาท (4.3%) หนี้สินรวมมีจำนวน 248,265 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 497 ล้านบาท (0.2%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 20,456 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 11,557 ล้านบาท (36.1%) สาเหตุหลักเกิดจากขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในปี 2561
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ หลุดพ้นจากปัญหาการขาดทุน และสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในปี 2562 นี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะสร้างรายได้อย่างเร่งรัด โดยจะดำเนินการในหลายมิติ ได้แก่ การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงการบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริการภาคพื้นจนถึงการบริการบนเครื่องบิน (ground to sky) การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด โดยเฉพาะด้าน digital marketing การหารายได้เสริม การเพิ่มขีดความสามารถและการขยายธุรกิจ เช่น โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (maintenance repair and overhaul: MRO) รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงศักยภาพด้านบุคลากร และการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจยิ่งขึ้น
“ปัญหาที่เป็นกับดักของการบินไทย คือ มีอากาศยานที่เก่า อายุการใช้งานสูง เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติงานทำให้หลายครั้งมีต้องจอด ซ่อม ยกเลิกเที่ยวบิน อากาศยานที่มีปัญหาทำให้การบริการเป็นกับดักที่ไม่มีประสิทธิภาพ อากาศยานไม่ตรงกับความต้องการลูกค้า หลายสายการบินให้บริการไวไฟ in-flight entertainment ที่ทันสมัยความต้องการผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไป การที่มีอากาศยานไม่ทันสมัยส่งผลต่อการบริการ ภาพลักษณ์องค์กร เป็นความยากลำบากที่จะเพิ่มรายได้ รายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้นยังมาจากต้นทุนการซ่อมบำรุงที่สูง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันกดดันหลายครั้ง ทำให้เกิดการขาดทุน เมื่อผลการดำเนินไม่ดี ทำให้กระทบต่อการจัดหาอากาศยานใหม่และจะวนกลับไปที่การบริการไม่ดี ผมและทีมผู้บริหารหารือกันว่าหากตัดกับดักตรงนั้นได้ การบินไทยสามารถหลุดพ้นได้ จะทำให้เพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายสุเมธกล่าว
เรื่องแรกที่จะดำเนินการคือจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 38 ลำในปีนี้และปีหน้า ซึ่งขณะนี้สภาพัฒน์กำลังพิจารณาแผนและจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ส่วนการบริหารการบิน จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้ง วิทยุการบิน การท่าอากาศยานหรือ AOT ทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกัน แต่โดยที่การจัดหาเครื่องบินต้องใช้เวลา 2 ปี บริษัทจะใช้วิธีการเช่าแทน
เรื่องที่สอง การบริการ ต้องเข้าไปปรับปรุงบริการ เป้าหมายสูงสุด เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีบริการเป็นเลิศ ต้องมีการบริการที่สอดคล้องกับความต้องการผู้โดยสาร โครงสร้างบริการครบวงจร
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยี จะรุกเข้าสู่ digital transformation หลายโครงการออกแบบให้รองรับการทำงานแบบดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งมุ่งเน้นหารายได้จากบริการอื่นที่ต่อเนื่องกับการบิน พร้อมเน้นหนักที่ครัวการบินไทย ตลอดจนการขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน และจะลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท
นายสุเมธกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำอีกด้านคือ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายหลักที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน
นายสุเมธกล่าวอีกว่า บริษัทจะจัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติใช้เงินสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้นมาลดการขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 28,000 ล้านบาท ออกจากบัญชีให้เหลือไม่ถึง 300 ล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบมูลค่าของผู้ถือหุ้น
“เราอยากส่งสัญญาณที่ชัดเจน ถ้าบริษัทไม่มีขาดทุนหรือมีกำไรในปีนี้ ก็อาจจะพิจารณาจ่ายเงินปันผล และการเลือกใช้แนวทางนี้เพราะบริษัทจะต้องใช้เวลานานกว่าจะมีกำไร 28,000 ล้านบาทถึงจะจ่ายเงินปันผลได้” นายสุเมธกล่าว
ดูแลผู้โดยสารตกค้างอีก 2 พันคน
นายสุเมธกล่าวว่า จากกรณีที่การบินไทยต้องยกเลิกเที่ยวบินไปปากีสถาน และเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้าปากีสถาน เนื่องจากการประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบให้การบินไทยมีผู้โดยสารตกค้างประมาณเกือบ 4,000 คน ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดูแลผู้โดยสารตามมาตรฐานสากล ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการทยอยนำผู้โดยสารที่ตกค้างไปยังจุดหมายปลายทาง จนถึงขณะนี้ เหลือจำนวนผู้โดยสารตกค้างกว่า 2,000 คน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน ดำเนินการส่งผู้โดยสารที่ตกค้างไปยังจุดหมายปลายทางให้หมด
นายสุเมธกล่าวว่า การบินไทยได้พยายามหาแนวทางต่างๆ ในการส่งผู้โดยสาร แต่มีทางเลือกไม่มากนัก ทางแรกได้ประสานกับสายการบินอื่น เพื่อแทรกผู้โดยสาร แต่ทำได้ยาก เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูท่องเที่ยว (high season) ทุกสายการบินมีผู้โดยสารจำนวนมากที่นั่งเต็ม ส่วนทางที่สองคือเปลี่ยนเส้นทางการบินจากเดิมต้องผ่านปากีสถานเป็นอ้อมผ่านทางจีนแทน แต่ก็ทำได้ค่อนข้างจำกัดเพราะจำนวนอากาศยานที่สามารถบินได้ในเพดานบินที่สูงมีไม่มาก โดยมีเครื่องบินที่สามารถบินเหนือเทือกเขาหิมาลัยได้ 3 เส้นทาง คือ มอสโก ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมการบินไทยไม่บินผ่านน่านฟ้าประเทศอื่น เช่น ประเทศอิหร่านและตุรกี นายสุเมธกล่าวว่า สายการบินอื่นสามารถทำการบินได้ เพราะมีเส้นทางการบินเดิมอยู่แล้ว แต่การบินไทยไม่บินเส้นทางเหล่านี้ จึงต้องใช้เวลาในการเจรจา
ในระหว่างนี้ ฝ่ายบริการภาคพื้นได้เพิ่มมาตรการการดูแลพิเศษแก่ผู้โดยสารที่ตกค้างอย่างดีที่สุด ดังนี้
1. เพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ พร้อมการบริการอาหาร ของว่าง เครื่องดื่ม และจัดเจ้าหน้าที่คอยตอบข้อซักถาม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางแก่ผู้โดยสารในบริเวณผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้
– ห้องบัตรโดยสารของการบินไทย
– premium area ให้ บริการแก่ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ รวมทั้งผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัส ของการบินไทย กลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ บัตรแพลทินัม และบัตรทอง
– บริเวณพื้นที่ติดกับ premium area และ เคาน์เตอร์เช็คอินของผู้โดยสารแถว H และ J ให้บริการผู้โดยสารชั้นประหยัดของการบินไทย
2. เปิดเคาน์เตอร์เช็คอินสำหรับให้บริการผู้โดยสารที่ตกค้าง
– เคาน์เตอร์ A15-18 ในการให้ข้อมูลเที่ยวบิน
– เคาน์เตอร์ A19 ทำการสำรองที่นั่งใหม่ให้แก่ผู้โดยสาร
– เคาน์เตอร์ B7-B9 สำหรับเที่ยวบินพิเศษ (ในช่วงเที่ยวบินกลางวัน) เพื่อรองรับผู้โดยสารในการเช็คอินและรับบัตรโดยสาร