ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ปันข้อคิด “ทางของชีวิต – ชีวิตมุมอื่น” …วาระปัจฉิมโอวาทแก่นักเรียนชั้นม. 6 วชิราวุธวิทยาลัย

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ปันข้อคิด “ทางของชีวิต – ชีวิตมุมอื่น” …วาระปัจฉิมโอวาทแก่นักเรียนชั้นม. 6 วชิราวุธวิทยาลัย

1 มีนาคม 2019


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการบริหารจัดการทรัพย์สินวชิราวุธวิทยาลัย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยปัจฉิมโอวาทแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง ทางของชีวิต ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการบริหารจัดการทรัพย์สินวชิราวุธวิทยาลัย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงเป็นโรงเรียนที่มีเกียรติประวัติดีงามมาอย่างยาวนาน แต่ยังเป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรคุณภาพให้ประเทศเป็นจำนวนมาก

ผมขอขอบคุณท่านผู้บังคับการสุรวุธ (กิจกุศล) ที่ให้เกียรติผมได้มีโอกาสมายืน ณ หอประชุมอันทรงเกียรติแห่งนี้ และนับเป็นความไว้วางใจและความใจกว้างอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้คนนอกมากล่าวปัจฉิมโอวาทให้น้องๆ ที่นี่ อย่างไรก็ดี ผมไม่อยากเรียกว่านี่เป็นปัจฉิมโอวาทหรือข้อแนะนำ แต่เป็นมุมมองของคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งตั้งใจแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์บนเส้นทางชีวิตมากกว่า 60 ปี ให้กับน้องๆ ทุกคนเท่านั้น

ส่วนแรก โอกาสและประสบการณ์ที่มีค่าในรั้ววชิราวุธฯ

ระหว่างที่เตรียมเนื้อหาก็มีโอกาสได้อ่านข้อมูลหลายอย่างและชื่นชมในพระวิสัยทัศน์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับการศึกษาไทย และการวางหลักสูตรวชิราวุธฯ และเพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสะท้อนความโชคดีของน้องๆ ที่มีโอกาสเข้ามาเรียนที่นี่ ผมขอใช้โอกาสนี้ถ่ายทอดพระวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้สักเล็กน้อย ดังนี้

พระองค์ทรงมีปณิธานที่จะวางรากฐานการศึกษาและทำนุบำรุงการศึกษาให้รุ่งเรืองทันประเทศอื่น โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ขึ้น ซึ่งกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถือว่าก้าวหน้ามากในยุคนั้น

การให้ความสำคัญของการศึกษาของพระองค์สะท้อนจากพระราชดำริ ความตอนหนึ่งว่า

“ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ที่จะเป็นปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริงก็ด้วยอาศัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเป็นรากเหง้าเค้ามูล”

และทรงใช้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นแนวทางสำหรับทรงมีพระราชวินิจฉัยเรื่องการจัดการศึกษาของชาติต่อไป

พระองค์ทรงให้ความสำคัญไม่เฉพาะกับการเรียนตามวิชาการหลักสูตร แต่รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ และการฝึกวินัย ดังพระบรมราโชบาย ความตอนหนึ่งว่า

“… สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก … คือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี … และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป”

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเห็นเด็กวชิราวุธฯ มีทั้งความสามารถ (competence) และบุคลิกภาพ (character) ซึ่งถ้ามองในบริบท business school ปัจจุบัน ก็เป็น 2 เรื่องที่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของ leader หรือผู้นำ รวมถึงพระวิสัยทัศน์ที่เห็นถึงความสำคัญของ “การเป็นพลเมืองดี” ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันต้องการ ซึ่งผมจะขยายความเรื่องนี้ต่อไปในส่วนหลัง

ผมคิดว่า เด็กวชิราวุธชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสและประสบการณ์ที่มีคุณค่า และโชคดีที่มีโอกาสได้มาเรียนในโรงเรียนที่สร้างผู้นำเช่นนี้ จึงมีความพร้อมกว่าเด็กไทยทั่วไป กล่าวคือ นอกเหนือจากการเรียนที่ทางโรงเรียนให้การส่งเสริมจนเด็กจำนวนไม่น้อยสร้างชื่อเสียงด้านวิชาการให้โรงเรียนแล้ว ยังมีโอกาสได้พัฒนาทักษะที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก ทักษะสังคม กล่าวคือ การได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะร่วมกันยาวนานตั้งแต่ประถม 4 ถึง มัธยม 6 เปรียบเสมือนการจำลองการอยู่ร่วมกันในสังคม ทุกคนล้วนต้องมีบทบาทการเป็นผู้น้อยที่สุด จนถึงผู้ใหญ่ที่สุด ภายใต้กติกาเดียวกันและระบบการดูแลพี่ดูแลน้องที่สืบทอดกันมา ย่อมต้องเรียนรู้จักนิสัยคน รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว รู้จักวางตัว มีกาลเทศะและไหวพริบ เพื่อรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ในหมู่คณะ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้อะลุ้มอล่วยหรือโน้มมาทางเอาใจเราแต่ฝ่ายเดียวเหมือนในครอบครัว

เรื่องที่สอง การมีโอกาสค้นหาตัวเองจากกิจกรรมที่หลากหลาย ที่นี่มีกิจกรรมหลากหลายที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในหลักสูตรโรงเรียนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสิบกว่าชนิด วงดนตรีสิบประเภท กิจกรรมสมาคมและกิจกรรมพิเศษอีกสิบกว่าชนิด ผมเชื่อว่า น้องๆ ที่นั่งอยู่ที่นี่จำนวนไม่น้อยคงได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบหรืออาชีพที่อยากเป็นแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะยังค้นหาตัวเองไม่พบ อย่างน้อยก็รู้ตัวว่า ตัวเลือกที่มากมายที่โรงเรียนมีให้ยังไม่โดนใจ ผมคิดว่า ก็คงเหลืออีกไม่กี่อย่างให้ไปเปิดประสบการณ์ เส้นทางการค้นหาตัวเองก็สั้นกว่าเด็กทั่วไป

เรื่องที่สาม การมีโอกาสฝึกฝนและบ่มเพาะคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้นำที่จะต้องประกอบด้วย ทั้ง competence และ character ผ่านการทำกิจกรรมและเล่นกีฬาที่หลากหลาย เช่น กีฬารักบี้ ที่น้องๆ ทุกคนคงได้มีโอกาสได้เล่นในระดับใดระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับคณะ โรงเรียน หรือประเทศ ซึ่งคล้ายๆ โรงเรียนได้อบรมหลักสูตร leadership ให้น้องๆ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่เห็นภาพชัดเจนคือ

  • การรู้จักใช้ประโยชน์จากความต่างของแต่ละคน กีฬารักบี้ต้องการผู้เล่นที่มีความสามารถและสรีระในแต่ละตำแหน่งต่างกัน เช่น บางตำแหน่งต้องการคนรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแกร่ง บางตำแหน่งต้องการคนตัวเล็กแต่คล่อง บางตำแหน่งต้องการคนเตะได้ไกล เป็นต้น เหมือนการทำงานที่ทุกคนล้วนมีจุดแข็งที่เราต้องมองให้ออกและดึงจุดแข็งนั้นให้เป็นประโยชน์ต่องานมากที่สุด
  • ความสามารถในการทำงานร่วมกันและรู้จักใช้ความสามารถเฉพาะตัวให้เป็นประโยชน์กับทีม ในสนามทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำงานเป็นทีม การรับ-ส่งลูกบอลแต่ละครั้ง ผู้เล่นย่อมต้องประเมินสถานการณ์และมองเห็นผลจากการส่งบอลในแต่ละครั้งว่าจะมีผลอย่างไร (visioning) เมื่อเห็นแล้วต้องจัดลำดับความสำคัญได้ (strategizing) รวมทั้งต้องสื่อสารให้เข้าใจกันแม้จะไม่ใช่คำพูดก็ตาม ขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปอย่างที่คาด ผู้เล่นต้องรู้จักใช้ไหวพริบแก้ปัญหา (problem solving) พลิกสถานการณ์ให้เป็นไปตามแผนที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ระหว่างแข่งขันที่ต่างฝ่ายมุ่งผลสัมฤทธิ์ ก็มีโอกาสปะทะกันหรือถูกยั่วยุได้ง่าย ต้องใช้ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น อดทน อดกลั้น ใช้สมาธิจดจ่อกับเกมและลูกบอลในสนาม (stay objective) แทนที่จะเสียอารมณ์กับเรื่องที่นอก focus ซึ่งจะทำให้แผนการเล่นที่วางไว้สะดุดได้

เมื่อเปรียบเทียบชีวิตของผมเองกับชีวิตเด็กวชิราวุธช่างแตกต่างกันมาก

ชีวิตผมเดินไปตามแบบแผนของสังคมและกติกาของครอบครัวที่เห็นว่าเหมาะสม มุมหนึ่งก็ทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องปรับตัวมากนัก เป้าหมายชีวิตอยู่ที่ความภูมิใจของครอบครัว คือ เรียนเก่งเพื่อมีโอกาสเรียนต่อในระดับสูงยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น กว่าผมจะรู้ประสาว่าชีวิตมีมุมอื่นนอกจากการเรียนก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว อาจจะถือว่าโชคดีอยู่บ้างที่ผมมีโอกาสเรียนรู้วิชาชีวิตในหลายด้านผ่านกิจกรรมและการทำงานทั้งที่อยู่ในและนอกขอบเขตมหาวิทยาลัย

วันนี้น้องๆ อาจเห็นภาพประโยชน์จากประสบการณ์ที่วชิราวุธฯ มอบให้ไม่ชัดเจน แต่ขอให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่โรงเรียนพยายามปลูกฝัง ถ้าตีความได้ถูกต้อง เมื่อเจอสถานการณ์จริงในชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้จะสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ส่วนที่สอง ความท้าทายของโลกนอกวชิราวุธฯ

แม้เด็กวชิราวุธฯ จะโชคดีที่ผ่านการฝึกวิชาชีวิตหลากหลาย แต่ยังมีความท้าทายหลายอย่าง แต่ใช่ว่าหนทางจะดำมืด ขึ้นกับมุมมองต่อชีวิตว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์สัก 3 เรื่อง

เรื่องแรก ชีวิตมีพลวัตและอาจจะไม่ราบเรียบเป็นเส้นตรง

เมื่ออายุผมเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “ทางชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง” บางอย่างก็เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ผลก็ออกมาดี แต่หลายอย่างก็ไม่ บางอย่างก็เฉยๆ

ชีวิตบางเวลาก็ up บางเวลาก็ down ซึ่งถือเป็นความปกติธรรมดาที่เราต้องตระหนักรู้

แต่ทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาล้วนมีส่วนช่วยให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น และถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เรามักเรียนรู้และจำอะไรได้แม่นจากสิ่งที่เราทำอะไรผิดพลาด ดังสุภาษิตโบราณที่ว่า “ผิดเป็นครู” และผมอยากจะบอกน้องๆ ว่า

ไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จแม้สักคนเดียว ที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด

แต่คนที่ชีวิตล้มเหลวจำนวนมาก เพราะกลัวพลาดจนไม่กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไร

คำที่ผู้ใหญ่หลายท่านใช้เตือนตัวเองคือ “Failure is a part of life. If you never fail, you never learn.”

และถ้ามองชีวิตตามความเป็นจริง อย่างเข้าใจ จะเห็นว่า “ชีวิตยิ่งคิด ยิ่งน่าพิศมัย” กล่าวคือ สิ่งดีๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้เป็นสิ่งที่เราวางแผนไว้ และจะว่าไปนี่ถือเป็นเสน่ห์ของชีวิต คือ เราไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าข้างหน้าเราจะเจอกับอะไร หรือมีอะไรรอเราอยู่

มีคนเคยถามผมว่า ได้วางแผนชีวิตไว้หรือไม่ กับการได้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ผมตอบไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่วางแผนไว้ แต่เป็นเรื่องของโอกาสในชีวิตที่เข้ามามากกว่า

สำหรับผมแล้ว สิ่งสำคัญในชีวิตไม่ใช่ long term plan

แต่ที่อาจจะสำคัญมากกว่า คือ เราต้องเตรียมพร้อม equip พัฒนาตนเองอยู่เสมอ หมายความว่า การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดทางชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก และเมื่อโอกาสในชีวิตมาถึง ก็ขึ้นกับว่าเราใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่แค่ไหน และการจะใช้โอกาสได้อย่างเต็มที่เพียงใด ขึ้นกับว่าในช่วงที่เรารอโอกาส เราได้เตรียมพร้อม equip ความรู้ มีความกระตือรือร้น อดทน และมีความรักในสิ่งที่เราทำอยู่เพียงใด ขณะเดียวกัน เราต้องไม่กระวนกระวาย แต่ต้องไม่ละความพยายามเช่นกัน

หัวใจ คือ เราต้องทำปัจจุบันให้ดี โดยไม่ต้องกังวลกับอนาคต ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เข้ามาในชีวิตให้ดีที่สุด รวมทั้งต้องฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็น ขณะเดียวกันต้องไม่ท้อถอยง่ายๆ

น้องๆ อาจจะมีคำถามว่า ถ้าทางชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง ที่เราจะรู้เหตุการณ์ในอนาคต ในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ควรพิจารณาจากอะไร?

ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราต้องถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่เรารักเราชอบและเราทำได้ดี และฝึกฝนเรื่องนั้นให้เกิดความชำนาญ (Trust your guts and focus your core.)

พูดถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึง อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิษย์เก่าในตำนานของวชิราวุธฯ อีกท่านหนึ่ง ที่ฝึกฝนเรื่องที่ตัวเองเก่งจนแตกฉานในศิลปะแทบทุกแขนง ผมเชื่อว่า ท่านไม่เคยตั้งเป้าว่าจะเป็นศิลปินแห่งชาติ แม้จะเป็นคนที่วาดรูปได้เก่งตั้งแต่ประถม และชนะแทบทุกการประกวดตั้งแต่สมัยอยู่วชิราวุธฯ ถึงกระนั้นท่านก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง

ลูกศิษย์ท่านเล่าว่า เวลาทำงาน อาจารย์จะจดจ่อกับการทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานงานทุกชิ้น และสอนลูกศิษย์เสมอว่า ต้องทำเยอะๆ ต้องขยัน อย่าขี้เกียจ

แน่นอนว่ายิ่งท่านทำเยอะ ยิ่งทำให้ท่านชำนาญและท้าทายให้มีความกล้าที่จะทำอะไรที่ยากขึ้น เท่ากับท่านได้ระเบิดศักยภาพที่ซ่อนอยู่อย่างไม่มีสิ้นสุด จนทุกวันนี้ ไม่ว่าใครก็ยอมรับว่า ท่านเป็นศิลปินที่ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และฝีมือดีที่สุดในกลุ่มศิลปินร่วมสมัย

ลูกศิษย์ท่านเคยบอกว่า สูตรอัจฉริยะที่ได้จากอาจารย์จักรพันธุ์คือต้องอัจฉริเยอะ คือ ทำเยอะๆ นั่นเอง

น้องๆ ครับ ด้วยทางชีวิตไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรง ในกาลข้างหน้า ไม่ว่าน้องจะเลือกทางเดินชีวิตแบบไหน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคในหลายๆ เรื่องที่เราไม่ได้คาดไว้ ความท้าทายคือ เราจะจัดการกับปัญหาที่ไม่ได้คาดไว้อย่างไร

นักปราชญ์หลายท่านให้ข้อคิดไว้ว่า “The art of life is improvisation.” หรือ ความสามารถที่จะด้นแก้ไขปัญหาที่เราไม่เคยพบถือเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตที่สำคัญ แน่นอนว่า บนเส้นทางชีวิตของเราย่อมไม่มีอะไรแน่นอน การแก้ปัญหาไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยศิลปะพอสมควร การเตรียมพร้อมตัวเองให้รู้จักมองโลกตามความเป็นจริง ยืดหยุ่น ยอมรับกับสิ่งที่มี เรียนรู้ และปรับตัวได้ จะทำให้การใช้ชีวิตกลมกล่อมขึ้น

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ แม้เราจะเจอเรื่องที่ไม่เคยคาดคิด “สติ” จะเป็นเครื่องช่วยให้เราหาทางผ่านพ้นปัญหาไปได้ สติจึงมีความสำคัญมากถึงขั้นบรรพบุรุษของเราสอนไว้ว่า “สติเป็นหางเสือ” ที่จำเป็นต้องฝึกไว้ให้มั่นคง

นอกจากนี้ ผมคิดว่า ทางชีวิตนอกจากไม่ได้เป็นเส้นตรงแล้วยังเป็น “สิ่งที่มีพลวัตในตัวเอง” กล่าวคือ ทางชีวิตเมื่อเราอายุ 21 กับทางชีวิตเมื่อเราอายุ 35 หรือ 43 อาจจะไม่เหมือนกัน ความคิด ความฝัน ความเชื่อ หรือความศรัทธาของเราในแต่ละช่วงอายุก็อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าวันข้างหน้าน้องๆ พบว่า ความฝันหรือความเชื่อที่เรามีอยู่ในวันนี้อาจไม่เหมือนกับอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า ผมก็อยากจะบอกว่า มัน ok

เช่น เมื่อไม่นานนี้ผมถูกเชิญให้ไปพูดวาระครบรอบ 45 ปี 14 ตุลา ก็ทำให้มองถึงตัวเองเมื่อสมัยปี 2516 ตอนนั้นในวัย 20-21 ปี ไม่ได้มีความรู้ กำลังหรือแม้แต่อุดมการณ์อะไร ในด้านหนึ่งก็มีความตั้งใจบริสุทธิ์ อยากเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า แต่อีกด้านก็ naive หรือไร้เดียงสา ตอนนั้นได้แต่อ้างว่า ต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่า “ถ้าได้รับรัฐธรรมนูญ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย แล้วปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข” ซึ่งโลกความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น

45 ปีให้หลัง มองย้อนกลับไป รู้สึกว่าเราไร้เดียงสามาก เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว มีผู้แทน มีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาของบ้านเมืองหลายเรื่องไม่ได้น้อยลง กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป แต่จะว่าไปความไร้เดียงสาใช่จะเลวร้าย เพราะตอนนั้นหากคิดมากไป คงไม่กล้าทำอะไร

สอง ชีวิตที่ดีขึ้นกับคุณภาพของความสัมพันธ์

บทเรียนชีวิตข้อที่สอง มองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา ถ้าถามผมว่า ชีวิตที่ดีขึ้นกับอะไร?

ผมคิดว่าชีวิตที่ดีขึ้นกับคุณภาพของความสัมพันธ์ ไม่ว่ากับครอบครัว เพื่อน ครู เพื่อนร่วมงาน สังคม ธรรมชาติ หรือ แม้แต่ตัวเราเอง

น้องๆ ลองย้อนนึกถึงทางชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา อาจจะพอเห็นภาพว่า การที่เราสามารถมายืนในจุดนี้ได้ นอกจากความพยายามและความตั้งใจของเราแล้ว พ่อแม่ พี่น้อง ครู รวมทั้งเพื่อนๆ ของเรา มีส่วนมากแค่ไหนกับการเป็นไปของชีวิตเรา

ผมคิดว่า ลึกๆ พวกเราเรียนรู้และได้รับการอบรมมาว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีมีความสำคัญ” แต่ทำไมบ่อยครั้งเรามักลืมเรื่องนี้? อาจจะเพราะด้วยความเป็นปุถุชนธรรมดา เรามักจะชอบอะไรที่ง่าย จบเร็วๆ และเสร็จไวๆ แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ บางทีเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลาและต้องการเอาใจใส่ ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วงเริ่มต้น แต่ตลอดช่วงที่เรามีความสัมพันธ์นั้น

ผมเองยอมรับในชีวิตมีหลายเรื่องที่ผิดพลาดที่ถ้ามีโอกาสก็อยากแก้ไข หนึ่งในนั้นคือ การที่ไม่ได้ใส่ใจคนอื่นเพียงพอ ใจร้อนด่วนสรุป บทเรียนคือ “การคิดถึงใจเขาใจเรา” (empathy) ความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น และสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นรากฐานสำคัญของทุกความสัมพันธ์คือ การให้เกียรติ ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) จริงใจ และไม่ดูหมิ่นผู้อื่น

ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวว่า “ความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นเป็นลักษณะนิสัยที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์พึงจะมี เพราะจะทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่น”

ในที่สุดแล้ว ไม่มีใครในโลกแม้สักคนเดียวที่ควรจะถูกดูหมิ่น เพราะคนแต่ละคนมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน และ “โรคดูหมิ่นคนอื่น” เป็นต้นตอของปัญหาหลายเรื่องในปัจจุบัน ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดให้ข้อคิดไว้ว่า วิธีที่จะทำให้เรารู้จักนิสัยใจคอของคนคนหนึ่ง ให้ดูว่าเค้า treat คนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีสถานะทางสังคมใด เช่น คนขับรถ ภารโรง หรือพนักงานทำความสะอาด อย่างไร

คุณบรรยง พงษ์พานิช พูดไว้อย่างลึกซึ้งทำนองเดียวกัน ในงานปัจฉิมนิเทศเมื่อปีก่อนว่า “ก่อนจบพระยาภะรตราชา ผู้บังคับการในยุคนั้น ให้โอวาทว่า “อย่าอวดดีจนกว่าจะมีดีให้อวดนะ” ไม่นานที่ผมก้าวออกจากโรงเรียนก็พบว่า “ดี” ที่ผมเคยคิดว่ามีอยู่เต็มเปี่ยมสมัยที่ยังอยู่วชิราวุธนั้น เป็น “ดี” ที่ยังไร้แก่นสาร ไม่เพียงพอที่จะนำไปอวดใครได้ในสังคมที่กว้างใหญ่ ประสบการณ์และความภูมิใจต่างๆ ที่ทุกคนได้รับจากการเป็นลูกวชิราวุธ เป็นเพียงรากฐานที่ต้องได้รับการต่อยอดให้ถูกทาง

ถ้าเราใช้มันได้ดี เราก็จะมีชีวิตที่รุ่งเรืองสวยงาม มีความสุข

แต่หากเราไม่นำไปใช้ให้คุ้มค่า มันก็อาจจะมีค่าน้อยหรือไร้ค่า หรือหากยึดติดหมกมุ่นนำไปใช้อย่างหลงทาง ก็อาจทำให้เราจมปลักไปไม่ถึงไหนได้เช่นกัน

แย่ที่สุดคือ ความคิดปิดกั้นจะทำให้เรากลายเป็น “น้ำล้นแก้ว” เจออะไรก็ดูหมิ่นว่าไม่ดีกว่าสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียโอกาสในชีวิตอย่างมหาศาล

ผมอยากจะเสริมคุณบรรยงสักเล็กน้อยว่า ชีวิตข้างหน้าไม่ว่าน้องๆ จะมีบทบาทอะไร ผมคิดว่า ‘การฟัง’ หรือ “การเป็นผู้รู้จักฟัง” เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ในชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นเหมือนประตูที่เปิดทางให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย

อีกหลักคิดที่ผมยึดและนำมาปรับใช้ในทุกความสัมพันธ์ คือ “การทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ”

คนส่วนใหญ่มักให้น้ำหนักเฉพาะส่วนหลัง ก็คือ “ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” เช่น ไม่ทำในสิ่งที่ผิด ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งถือว่า เป็นการครองตนอยู่ในกรอบที่ดีงาม แต่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่อง

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นไม่น้อยกว่ากันคือ “การทำในสิ่งที่ควรทำ” ซึ่งต้องอาศัย “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” (moral courage) เช่น ในหลายเรื่องที่เราเคยคิดว่าถูก ต่อมาเห็นว่าอาจจะไม่ถูกต้อง เราก็ต้องไม่ดื้อ เปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่า “ทำในสิ่งที่ควรทำ”

นอกจากนี้ ถ้ามองให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า เกือบจะทุกสิ่งรอบตัว ที่เราเห็นและเป็นไป ล้วนเป็นผลจากความร่วมมือของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และงานในชีวิตที่น้องๆ จะเจอต่อไป โดยเฉพาะการทำเรื่องยากๆ ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อื่น (collaboration) ซึ่งผมคิดว่ารากฐานที่สำคัญที่จะทำให้การร่วมมือสำเร็จ คือ เราต้องมองผู้อื่นอย่างให้เกียรติ

ท้ายที่สุด ผมคิดว่าสำคัญมากที่เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีแม้กับตัวของเราเอง เราต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง เชื่อในศักยภาพของการเป็นมนุษย์ คนที่ไว้ใจตนเองจะเป็นผู้ที่มีกำลังใจ มีพลังชีวิต ขณะที่คนที่ไม่เชื่อมั่นในตนเองก็มักจะโลเล อ่อนแอ ไม่มีระเบียบ และไม่สามารถทำให้ผู้อื่นไว้ใจตนได้ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ เราต้องเป็นมิตรกับตัวเอง เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเองในเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ อาจจะไม่เป็นดังที่คาด หนึ่งในโควตที่ผมชอบและใช้ปลอบตัวเองอยู่บ้างเมื่อเจอปัญหา คือ “Everything will be okay in the end, and if it’s not okay, it’s not the end.”

เรื่องที่สาม คือ ชีวิตที่มีความหมายนำมาซึ่งความสุขและความพอใจ

บทเรียนสุดท้าย คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายจะนำความสุขและความพอใจมาให้ ซึ่งเรื่องนี้เป็น benefit of the hindsight ที่อยากเล่าสู่กันฟัง

น้องๆ เคยสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า เช้าของบางวันเราตื่นขึ้นมาอย่างมีพลัง เพราะรู้ว่าเราต้องทำอะไร เพื่ออะไร

บางคนอาจบอกว่า เป็นตอนที่อยากสอบได้เกรดดี หรือช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น sense of purpose ระดับสนองความต้องการของตัวเอง

ขณะที่บางคนพลังนี้อาจเกิดตอนการมุ่งมั่นฝึกซ้อมกีฬาเพื่อชัยชนะของโรงเรียน ซึ่งเป็น sense of purpose ในระดับสถาบัน

การหาความหมายให้กับสิ่งที่เราทำ หรือ sense of purpose เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ในทุกเช้าโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการถูกบังคับ จนรู้สึกแค่อยาก “ทำให้มันเสร็จๆ” หรือ “สักแต่ว่าทำไปเช่นนั้นเอง”

สถาบันวิจัยความสุขแห่งโคเปนเฮเกน (Happiness Research Institute) ได้ทำสำรวจคนทำงานชาวเดนมาร์ก 2,600 คน จากงานทุกรูปแบบ เพื่อดูว่าความสุขหรือความพึงพอใจในการทำงานของแต่ละคนมาจากไหน พบว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้คนมีความสุขกับการทำงานก็คือ ‘เป้าหมาย’

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ‘เป้าหมาย’ ของชีวิตเราจะประณีตขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น เช่น เมื่อถึงวัยกลางคน เราจะสนใจสร้างครอบครัว ซื้อบ้าน หรือสะสมเงินทองน้อยลง เพราะเรามีสิ่งเหล่านี้มากพอสมควรแล้ว

แต่สิ่งที่เราสนใจมากขึ้นก็คือ สิ่งที่เราทำนั้นมันมี ‘ความหมาย’ กับชีวิตจริงหรือเปล่า

“การหาความหมายให้สิ่งที่เราทำ” จะทำให้เราเกิดพลังทุ่มเทแรงกาย แรงใจ พยายามทำสิ่งนั้นๆ จนสำเร็จ ถึงแม้ว่าระหว่างทางจะเจอปัญหาหรืออุปสรรค เราก็กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้ม และกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำจนสำเร็จในที่สุด หรือสิ่งที่ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ใช้คำว่า “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ซื่อสัตย์ และรักในสิ่งที่ตัวเองทำ”

และมีความสำคัญที่ต้องมีการพัฒนา sense of purpose ให้เติบโตตามวัย เพื่อให้น้องๆ มีความมุ่งมั่นที่จะนำศักยภาพไปใช้ประโยชน์ในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น กล่าวคือ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ย่อมต้องขยาย purpose สู่ระดับองค์กร สังคมหรือประเทศ และอาจกว้างไกลถึงระดับโลก

น้องๆ ครับ ผมอยากจะชวนให้พวกเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“ชีวิตมีจุดหมายอย่างไร และตนควรดำเนินชีวิตอย่างไร ถึงจะสามารถพอใจได้ว่า ชีวิตของเรามีอะไรถูกต้องที่พอจะชื่นใจหรือพอใจ ว่าตนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย”

ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “พอใจจนถึงขนาดที่จะสามารถยกมือไหว้ตัวเองได้”

เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะนอกจากปัจจัยสี่ เงินทอง ทรัพย์สิน ชื่อเสียง ที่สุดของชีวิตแล้วมนุษย์ยังต้องการความสุขความพอใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจในส่วนลึก ความอิ่มอกอิ่มใจหรือความพอใจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างเป็นปกติ

ความสำคัญของการที่ต้องมี sense of purpose ที่กว้างไกลกว่าเรื่องของ “ตัวเรา” สะท้อนสิ่งที่โรงเรียนวชิราวุธ ปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดี และดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่น้องๆ ที่นี่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ขออย่างหนึ่งให้ลูกๆ คิดถึงส่วนรวม อย่าคิดเฉพาะส่วนตน”

ปัญหาหลายอย่างที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบสุดโต่ง ปัญหาโลกร้อน อากาศเสีย การทิ้งขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลลงสู่ทะเล ที่ถือว่าเป็น “tragedy of commons” หรือ “โศกนาฏกรรมร่วมของมนุษยชาติ” รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศในหลายจุดทั่วโลก หรือล่าสุดกรณีฮาคีม (อัลอาไรบี) นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตาดู ก็ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการที่จะต้องตีความ sense of purpose ให้กว้างขึ้นกว่าตัวเรา พวกเรา หรือประเทศของเรา

ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเรามองปัญหาในฐานะที่เป็น “พลเมืองของโลก” บทบาทของนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียต่อการช่วยเหลือฮาคีม แม้ฮาคีมไม่ได้เป็นคนออสเตรเลียโดยกำเนิดก็ตาม ก็เป็นตัวอย่างของพลเมืองโลกที่ดีที่โลกต้องการ

ท้ายที่สุดนี้ ผมนึกถึงที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดไว้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจว่า

“The true value of a human being is determined primarily by the measure and the sense in which he has attained liberation from the self.”

คุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์วัดได้จากความสามารถที่ก้าวข้ามหรือมีอิสระจากการคิดถึงตัวเอง

ขอบคุณ และขอเป็นกำลังใจให้ครับ