ThaiPublica > คอลัมน์ > “Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย

“Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย

13 กุมภาพันธ์ 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

บ้านเราเพิ่งคุ้นกับคำว่า “gap year” ซึ่งหมายถึงการเว้นช่วงเวลาระหว่างการเรียนต่อมหาวิทยาลัยกับมัธยมปลายโดยให้ไปเที่ยวหาประสบการณ์ ค้นหาตนเองตลอดจนเรียนรู้ชีวิตก่อนที่จะเริ่มเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยปกติเป็นเวลาหนึ่งปี “gap year” กำลังได้รับความนิยมทั่วโลกอย่างสมควรได้รับการพิจารณาและเล่าสู่กันฟัง

“gap year” โดยทั่วไปใช้ไปกับการอยู่อาศัยในต่างประเทศ หรือส่วนอื่นในประเทศ เวลาหนึ่งปีก็มักใช้ไปกับกิจกรรมเหล่านี้คือ (1) ทำงานหาเงิน (2) ท่องเที่ยว (3) เป็นอาสาสมัคร (4) เรียนรู้ทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น จากการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในชีวิต เพื่อรู้จักตนเอง เพื่อหาความรู้ เรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะในเรื่องอื่น ๆ

“gap year” ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า “sabbatical year” เป็นที่รู้จักกันในทศวรรษ 1960 เมื่อกลุ่มอายุที่เรียกว่า baby-boomers ในโลกตะวันตกต้องการสร้างสังคมที่ไร้สงครามอย่างแตกต่างไปจากชั่วคนก่อนของพ่อแม่ ในตอนแรกวัตถุประสงค์ของ “gap year” คือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศโดยหวังว่าความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมจะช่วยสร้างสันติภาพในอนาคต อย่างไรก็ดีผลพวงที่เกิดตามมาก็คือไอเดียของ “gap year” ในระดับรอยต่อระหว่างมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย

เมื่อมีคนต้องการแสวงหาสถานที่และกิจกรรมเพื่อหาประสบการณ์จาก “gap year” การประกอบธุรกิจก็เกิดตามมาในทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยมีบริษัทและองค์กรต่าง ๆ เช่น Topdeck/Flight Centre/Raleigh International/Dynamy ฯลฯ ตอบสนอง

คนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประเพณีของการเดินทางไปต่างประเทศอย่างอิสระตั้งแต่วัยเด็กหนุ่มสาว ในนิวซีแลนด์เรียกกิจกรรมประเภทนี้ว่า “doing an OE” (Overseas Experience) เด็กจำนวนไม่น้อยใช้ “gap year”อย่างเกิดประโยชน์ เด็กนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ก็มักไปออสเตรเลีย หรืออังกฤษ ส่วนคนออสเตรเลียก็ไปอังกฤษและเอเชีย ถือได้ว่าเป็นสองประเทศที่มีความนิยมเรื่อง “gap year” มานาน

ในอังกฤษนั้น “gap year” เริ่มเป็นที่รู้จักกันในทศวรรษ 1970 ในปี 2008 มีนักเรียนที่ขอเลื่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อไป “gap year” ถึง 21,000 คน และในปี 2016 ก็อยู่ในระดับ 20,000 คนต่อปีเช่นกัน

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นเมื่อก่อน “gap year” ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากพ่อแม่ส่งเสริม และมหาวิทยาลัยใหญ่ก็สนับสนุนเด็กที่ผ่าน “gap year” ในหลายมหาวิทยาลัยใหญ่เด็กผู้ผ่าน “gap year” มักมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการได้รับเข้าเรียนทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่าเด็กที่ผ่าน “gap year” มักมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักคุณค่าของเวลา และมีสัมฤทธิผลการเรียนดีกว่ากลุ่มปกติ

ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล โรมาเนีย เซาท์อาฟริกา เวเนซูเอลล่า และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปนั้น “gap year” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเด็กเห็นประโยชน์ แต่บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่สนับสนุนเพราะทำให้จำนวนนักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยหายไป

ที่มาภาพ : http://www.harvardgapyearsociety.com/

องค์กรที่สนับสนุน “gap year” อย่างจริงจังคือมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น Harvard/Stanford/University of North Carolina at Chapel Hill/Tufts University/Florida State University/Duke University/Princeton University ฯลฯ

บางมหาวิทยาลัยให้เงินสนับสนุนสำหรับ “gap year” โดยเลื่อนการเข้าศึกษาให้หนึ่งปี และบางมหาวิทยาลัยมีโปรแกรมที่เรียกว่า (1+4) กล่าวคือรับเข้าศึกษาและให้ไป “gap year” และเรียนอีก 4 โดยถือว่า “gap year” เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สถิติของนักเรียนที่ไป “gap year” ทั้งประเทศนั้นไม่มีเนื่องจากบ้างก็ไปก่อนสมัครเข้าเรียน บ้างก็ไปหลังจากได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้ว

มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกานั้นแย่งชิงเด็กเก่งกันเข้มข้น จึงเสนอโครงการให้ทุนไป “gap year” กันมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ไปทำงานจิตอาสา ท่องเที่ยว ทำงานรับใช้สังคม ฯลฯ พ่อแม่ของเด็กที่ไป “gap year” มักพูดตรงกันว่าลูกเปลี่ยนไปหลังจากที่หมด “gap year” โดยมีความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของชีวิต ตระหนักถึงโอกาสที่ตนเองได้รับอีกทั้งมีจิตเพื่อสังคมมากขึ้น

จากที่แต่เดิม “gap year” เป็นเรื่องของลูกคนมีเงินที่ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างแต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เด็กทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ราคาตั๋วเครื่องบินที่ลดต่ำลงมาก ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และกิจกรรมไป “gap year” ที่มากขึ้นและอีกหลากหลายปัจจัยที่โยงใยกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ทำให้ “gap year” เป็นที่นิยมของนักเรียนมัธยมปลายมากขึ้นทุกที

แหล่งที่เด็กในโลกตะวันตกชอบไปได้แก่ อินเดีย อเมริกาใต้ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ การใช้เวลาหนึ่งปีอาจหมดไปกับกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น บ้างทำงานหาเงิน ทำงานสาธารณะและท่องเที่ยวไปด้วยในหลายประเทศ บ้างก็ทำงานมาก บ้างก็ท่องเที่ยวมากคละกันไป แต่สิ่งเดียวที่มีร่วมกันคือการหาประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยทำให้การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีความหมายขึ้นจากการเข้าใจชีวิต เห็นโลกและเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น

สำหรับเด็กมัธยมปลายไทยก่อนเข้ามหาวิทยาลัย “gap year” ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก อีกทั้งต้องใช้เงินค่อนข้างมาก และไม่กล้าหาญพอที่จะต่อสู้กับความไม่แน่นอนของสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในดินแดนที่แปลกใหม่ ความด้อยในการใช้ภาษาโดยทั่วไปก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการมี “gap year”

“gap year” มีประโยชน์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นเด็กมัธยมปลายที่ปรารถนา “gap year” และมีคุณลักษณะเหมาะสม สมควรได้รับการสนับสนุนด้วยทุนบางส่วนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ เพื่อเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านและอื่น ๆ ในรูปของการเดินทางแบบแบ็คแพ็กเพื่อเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป (“การเดินทาง” คือการศึกษา) ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่กว้าง ไม่คับแคบในความคิดไปตลอดชีวิต ผสมกับการกลับมาทำงานในสถานที่อันสมควรและงานอาสาสมัครในบ้านของเรา (หากหาสถานที่อันเหมาะสมในต่างประเทศไม่ได้ในช่วงเวลาแรก) ไม่ว่าจะเป็นในวัด องค์กรสาธารณะกุศล หรือท้องถิ่น

ในความเห็นของผู้เขียน “gap year” ต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 4 ลักษณะ กล่าวคือ (1) มีโอกาสเห็นและอยู่วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป (2) มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิตและมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น (3) มีโอกาสวิเคราะห์ไตร่ตรองบทเรียนที่ได้รับมาเพื่อช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น และ (4) มีจิตเชิงสาธารณะกล่าวคือคำนึงถึงสังคมและโลกเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยไทยที่แข่งขันหานักเรียนกันอยู่ในขณะนี้ อาจผนวก “gap year” ที่ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมด้วยการให้ทุนสนับสนุนและเรียนอีก 4 ปี ตามปกติ

โลกใบใหม่ของเราต้องการ “ตัวป้อน” ที่มีคุณภาพ เห็นคุณค่าของการเรียนรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง “gap year” ถือได้ว่าเป็นวิธีหนึ่งที่น่าพิจารณาในการสร้างความพร้อมให้ “ตัวป้อน”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ม.ค. 2562