นับเวลาถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของไทย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562
สนามการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมือง 41 พรรคจากทั้งหมด 106 พรรค ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการส่งผู้สมัครส.ส. ภายใต้กฎ-กติกาใหม่เกือบทั้งหมด
โดยมีจำนวนเก้าอี้ส.ส.ในสภา ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่า “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ ซึ่งต้องฝ่าด่านเสียงของส.ว.อีก 250 คน จะเป็นใคร
เมื่อการเดิมพันสูง บรรยากาศของการแข่งขันจึงถูกจับตาว่าจะเต็มไปด้วยความดุเดือด และห้ำหั่นกันทางการเมืองทั้งบนดินและใต้ดิน
กระนั้น รัฐธรรมนูญที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้กำหนด “กฎเหล็ก” และบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อให้การเลือกตั้ง เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยโทษสูงสุดที่เกี่ยวกับความผิดในการเลือกตั้ง คือ จำคุก 20 ปี
โทษสูงสุดจำคุก 20 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือ ผู้ใดเรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือ หน่วยงานรัฐ
ห้ามไม่ให้ผู้ใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดแต่พรรคการเมือง สมาชิก หรือ ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนเอง หรือ ผู้อื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือ หน่วยงานรัฐ
โทษสูงสุดจำคุก 15 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง (กรณีไม่ควบคุมดูแล และสั่งให้สมาชิกยุติการกระทำที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต) เข้าก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และห้ามเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือ แต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรคการเมือง ที่ถูกยุบ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรคใหม่อีกภายในระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่พรรคการเมืองเดิมถูกยุบ
โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
ห้ามกกต. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ห้ามผู้สมัครลงสมัครับเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งเขต และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องเป็นบุคคลที่ที่พรรคการเมืองส่งรับสมัคร
ห้ามผู้สมัคร ให้ เสนอให้ หรือ สัญญา ให้ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์ เพื่อจูงใจให้ลงคะแนน หรือ งดเว้นการลงคะแนน
ห้ามผู้สมัคร จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนน หรือ งดเว้นการลงคะแนน หรือชักชวนไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใด ด้วยการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
ห้ามผู้สมัคร จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนน หรือ งดเว้นการลงคะแนน หรือชักชวนไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดด้วยวิธีการเลี้ยงหรือรับจัดเลี้ยงผู้ใด
ห้ามผู้สมัคร จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนน หรือ งดเว้นการลงคะแนน หรือชักชวนไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดด้วยวิธีการหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้าย ให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครและพรรคการเมือง
ห้ามหาเสียงเลือกตั้งให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมือง โดยการหาเสียงเลือกตั้งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง
ห้ามไม่ให้ผู้ใด หรือ พรรคการเมืองใด เรียกรับหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์เพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ส่งผู้สมัคร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หากพบว่ากรรมการบริหารพรรครู้เห็นมีโทษถึงยุบพรรค
ห้ามผู้สมัครจัดพาหนะพาคนไปใช้สิทธิ เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือก
ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือ พรรคการเมือง
ห้ามบุคคลที่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน หรือ ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น ไปใช้สิทธิลงคะแนนด้วยบัตรประชาชนปลอมแปลง
ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้บัตรที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนน
ห้ามไม่ให้ผู้ใดที่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเปิด ทำลาย เปลี่ยนแปลงสภาพ บัตรเลือกตั้ง หีบบัตร หรือ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้กรรมการประจำหน่วยจงใจนับบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือ ทำบัตรให้เป็นบัตรเสีย
ห้ามไม่ให้ผู้ใดกลั่นแกล้งผู้สมัครถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิรับสมัคร หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง และหากมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจ หรือ สนับสนุนการกระทำนั้น ให้ถือว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นกระทำการอันเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ห้ามเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งจงใจทำบัตรเลือกตั้งให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้เป็นบัตรดี
ห้ามไม่ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดให้มีการเล่นพนันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง (ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิจำนวนกี่ปีแล้วแต่กรณี)
ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้ผู้ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำ หรือ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองขาดความอิสระ (ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งแล้วแต่กรณี)
ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค และสมาชิกพรรครับบริจาคจากผู้ใด หรือ เพื่อกระทำการอันเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือ ราชการแผ่นดิน
ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค กระทำการส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวน หรือ คุกคามความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน
ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะ หรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือ ผู้สมัครส.ส.
ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง หรือ สมาชิก รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จาก ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ,นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ หรือ จดทะเบียนสาขาอยู่นอกราชอาณาจักร, นิติบุคคลที่มีบุคคลที่ไม่ใช้สัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ,คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ
ห้ามบุคคล นิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจ หรือ จดทะเบียนสาขาอยู่นอกราชอาณาจักร, นิติบุคคลที่มีบุคคลที่ไม่ใช้สัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ,คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ บริจาคทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดให้กับพรรคการเมือง หรือ สมาชิกพรรคเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง
ห้ามไม่ให้นำเงินและทรัพย์สินของพรรคการเมือง ไปใช้จ่ายอื่น นอกจากเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ค่าใช้จ่ายใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง
ห้ามไม่ให้กรรมการกกต. เลขาธิการกกต. ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่
โทษสูงสุดจำคุก 5 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ห้ามไม่ให้ผู้สมัครใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกิน 1.5 ล้านบาทต่อคน พรรคการเมืองห้ามเกิน 35 ล้านบาท
ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร หรือ หัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายอันเป็นเท็จ
ห้ามไม่ให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อให้เป็นที่สังเกตไว้บนบัตรเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ กระทำการใดๆให้บัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
ห้ามไม่ให้ผู้ใดขัดขวางเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนน
ห้ามไม่ให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียกรับ หรือ ยอมรับเงินทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน หรือ งดเว้นลงคะแนน
ห้ามผู้ใดจงใจกระทำการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือ ทำให้เป็นบัตรเสีย หรือ กระทำการใดๆให้บัตรเสียเป็นบัตรดี
ห้ามผู้ใดครอบครองบัตรเลือกตั้งโดยไม่ชอบ
ห้ามไม่ให้ผู้ใดจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
ห้ามไม่ให้ผู้ใดเสนอให้ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจบุคคลสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค
ห้ามไม่ให้ผู้ใดเรียบรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค
ห้ามบุคคลใดบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเกิน 10 ล้านบาทต่อปี
ห้ามผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองว่ากระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อกกต.หรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นเท็จ
ห้ามผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. และเจ้าหน้าที่ที่รับการแต่งตั้ง โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญ เพื่อให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม หรือ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ห้ามกกต. เลขาธิการกกต. และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งกระทำหรือละเว้นการกระทำอันไม่ชอบด้วยหน้าที่
ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง หรือ ผู้ใดเสนอว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์เพื่อจูงใจให้บุคคลเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค
16 ข้อห้ามหาเสียงเลือกตั้ง
ห้ามหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ เว้นตามที่กกต.จัดสรรเวลา ฝ่าฝืนจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น หรือ ทั้งจำและปรับ
ห้ามสำรวจความเห็นประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต ชี้นำ หรือ มีผลต่อการจัดสินใจในการลงคะแนนเลือก หรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนจำคุก 3 เดือน ปรับ 6 พัน หรือทั้งจำและปรับ
หาเสียงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ทั้ง ช่องทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล์ เอสเอ็มเอส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท แต่ผู้สมัครต้องแจ้งวิธีการหาเสียงผ่านช่องทางต่างๆให้กกต.ประจำจังหวัดได้รับทราบ ฝ่าฝืนจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น หรือ ทั้งจำและปรับ
ประชาชนทั่วไปสามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้องแสดงตัวด้วยการระบุชื่อของผู้จัดทำ หากมีค่าใช้จ่ายเกิน 1 หมื่นบาท ต้องแจ้งต่อผู้สมัครนั้นๆ และจะต้องนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง และแจ้งข้อมูลไปยังผอ.กกต.จังหวัดให้รับทราบ
กกต.มีอำนาจสั่งให้ผู้สมัคร และ พรรคการเมือง ลบข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมายได้ และถ้าเพิกเฉย กกต.จะแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ หากมีค่าใช้จ่าย ผู้สมัคร และพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ และนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนสอบสวนได้
ห้ามผู้สมัครหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพรื่นเริงต่างๆ ,ห้ามจัดเลี้ยง
ห้ามไม่ให้คนต่างชาติช่วยหาเสียง
ห้ามหาเสียงหลังเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลาปิดหีบ
ห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน ใช้ความสามารถของตัวเองช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร หรือ พรรคการเมือง ยกเว้นผู้สมัครที่ใช้ความสามารถทางศิลปะของคนเองในการหาเสียง โดยต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง
ห้ามวาง หรือ โปรย เอกสารหาเสียงในที่สาธารณะ
ห้ามใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือ ปลุกระดม
ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่คำนวนเป็นเงินให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่างๆ เช่น งานบุญ งานแต่ง หรือ งานศพ
ห้ามติดป้ายหาเสียง บนผิวการจราจร เกาะกลางถนน ปากซอย สะพานลอย รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงของทางราชการ ต้นไม้ – เสาไฟบริเวณเกาะกลางถนน ศาลาที่พักผู้โดยสาร และบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ อนุสาวรีย์ ป้อมตำรวจ สุขาสาธารณะ สนามหลวง สวนหย่อม สวนสาธารณ วงเวียน ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา ลานพระราชวังดุสิต และ ถนนราชดำเนินตลอดทั้งเส้น
ขนาดของป้ายหาเสียง กว้างไม่เกิน 130 ยาวไม่เกิน 245 ซม. และมีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น