ThaiPublica > คอลัมน์ > เลือกตั้ง-ตัวจริง-ตัวปลอม

เลือกตั้ง-ตัวจริง-ตัวปลอม

4 มกราคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

นายพล Muhammadu Buhari ที่มาภาพ : https://www.pulse.ng/news/politics/2019-apc-uk-announces-presidential-campaign-committee-for-buharis-re-election/s5y3f33

ใกล้เลือกตั้งเข้ามาแล้วของบ้านเรา จึงขอเอาเรื่องน่าประหลาดของประเทศใหญ่ในโลกที่จะเลือกตั้งในเวลาใกล้กันมาเล่าสู่กันฟังสนุก ๆ ในเวลาที่ผ่อนคลายเช่นช่วงปีใหม่

ประเทศใหญ่นี้ก็คือไนจีเรียที่มีประชากร 190 ล้านคน ซึ่งมากสุดในอาฟริกา และเป็นอันดับ 7 ของโลก มีประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปีถึงกว่า 90 ล้านคน มีพื้นที่เกือบหนึ่งเท่าตัวของบ้านเรา คือประมาณ 923,000 ตารางกิโลเมตร มีรายได้ต่อหัวต่อปีประมาณ 1 ใน 4 ของไทย โดยมีชนกลุ่มต่าง ๆ ถึงกว่า 250 กลุ่ม ที่มีภาษาแตกต่างกันทั้งสิ้น จนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ

ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมากจนเป็นสมาชิกของ OPEC มีขนาดเศรษฐกิจ 397 พันล้านเหรียญ (ไทย 490 พันล้านเหรียญ) โลกถือว่าไนจีเรียเป็นประเทศที่มาแรงของโลกประเทศหนึ่ง มีศักยภาพสูง แต่การเมืองลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุดจะบรรยาย

นับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1960 ไนจีเรียมีประชากรครึ่งหนึ่งเป็นคริสต์อยู่ทางใต้ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นมุสลิมอยู่ทางเหนือ ระบบการปกครองเป็นรัฐแบบสหรัฐอเมริกาและมีสองสภา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 4 ปี แต่มักจะอยู่ไม่ถึงหรือไม่ได้รับเลือกเพราะมีการสลับไปมาระหว่างยุคประชาธิปไตยกับยุครัฐประหารมาตลอด แถมมีสงครามกลางเมืองอันเกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนระหว่างปี 1967-1970

ในปี 1999 จึงเริ่มมีระบบการเลือกตั้งและโค่นล้มกันไปมาโดยอ้างสาเหตุเรื่องคอร์รัปชันซึ่งมีอยู่หนักหนาสาหัส (เชื่อว่าประเทศสูญเสียจากคอร์รัปชันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญนับตั้งแต่ได้เอกราชมา) โดยมีรัฐประหารสลับบ้างประปรายก่อนหน้านั้น เช่น ระหว่าง 1983-1985

เรื่องที่ขอเริ่มคือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2007 Umaru Musa Yar’Adua ได้รับเลือกแต่ตายในปี 2010 Dr.Goodluck Jonathan รองประธานาธิบดีจึงได้เป็นประธานาธิบดีแทนและต่อมาได้รับเลือกตั้งในปี 2011 โดยชนะนายพล Muhammadu Buhari แต่เมื่อมีเลือกตั้งอีกในปี 2015 Goodluck Jonathan ก็พ่ายแพ้คู่แข่งเก่าคือ Buhari

นายพล Buhari ได้เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2015 และจะต้องลงเลือกตั้งวาระที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และเรื่องประหลาดเริ่มที่ตรงนี้

ขอเล่าประวัตินายพล Buhari เพื่อให้เห็นภาพกว้าง ตัวเขาเองเคยเป็นประธานาธิบดีมาครั้งหนึ่งแล้วระหว่างปี 1983 ถึง 1985 หลังจากรัฐประหารที่เขาแอบเป็นหัวหน้าอย่างลับ ๆ (ประเทศนี้เป็นอย่างลับ ๆ ก็เป็นได้) โดยเคยร่วมรัฐประหารทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จมาหลายครั้งหลายหน หลังจากครองอำนาจอยู่ 2 ปี เขาก็ถูกรัฐประหารในปี 1985 และถูกกักขังในบ้านพักอยู่ 3 ปี เมื่อพ้นออกมาก็มาทำฟาร์มและลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีจนชนะในปี 2015

ในการเลือกตั้งปี 2019 นี้ มีการหาเสียงแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง สิ่งที่ Buhari เคยทำไว้รุนแรงขณะที่เป็นประธานาธิบดีในช่วง 1983-1988 ถูกขุดคุ้ยเพราะเขาใช้อำนาจเผด็จการรุนแรง ผลงานของเขาในช่วงเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สองจึงถูกนำออกมาหักล้าง โดยเฉพาะในเรื่องปราบคอร์รัปชัน การจัดระบบการเงินการธนาคาร ฯลฯ คู่ต่อสู้ของเขาก็ไม่ย่อย ควักอาวุธลับออกมาใช้สู้กับ Buhari ในวัย 76 ปี นั่นก็คือการสร้างข่าวไม่จริง หรือ fake news ว่านายพล Buhari คนนี้คือตัวปลอม ตัวจริงตายไปแล้ว

คนไนจีเรียมีชื่อเสียงหลายคนไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐ หมอสอนศาสนา ฯลฯ ผู้อยู่ค่ายตรงข้ามออกมาพูดตรงกันว่า Buhari ผู้มีฉายาว่า “Johnny Walker” (เนื่องจากเป็นนัก “เดินทาง” ไปต่างประเทศ ไปทีเป็นเดือนเพื่อรักษาตัวในต่างประเทศ ไม่ใช่เพราะชอบวิสกี้ยี่ห้อนี้เป็นพิเศษ) เป็นตัวปลอม โซเชียลมีเดียก็เล่นกันสนุกแถมพูดว่าตัวปลอมที่มีหน้าตาเหมือนนั้นมีชื่อว่า Jubril เป็นชาวซูดาน

มีการเอาภาพของ Buhari และ “ตัวปลอม” มาเทียบเคียงกันในเน็ต และวิพากษ์วิจารณ์ว่าจมูกต่างกัน ใบหูก็ไม่เหมือนกัน ฮือฮาเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันกว้างขวาง (มีเสื้อยืดออกขายเขียนว่า “Buhari คุณอยู่ไหน”) อ้างถึงภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดในปี 1997 “Face Off” ที่มีเรื่องของการผ่าตัดเอาหน้าของอีกคนมาใส่อีกคน

สิ่งที่ช่วยทำให้คนเชื่อเรื่อง “ตัวปลอม” กันไม่น้อยจนปั่นป่วนไปหมดก็เพราะ Buhari มีสุขภาพไม่ดี เมื่อปีที่แล้วหายไปรักษาตัวในลอนดอนเป็นเวลา 5 เดือน โดยไม่มีการเปิดเผยว่าป่วยด้วยโรคอะไร เมื่อ fake news ในอาฟริกานั้นมีดาษดื่นและงอกเงยอย่างรวดเร็ว ข่าวปล่อยนี้จึงมีขายาว

ข่าวเรื่อง “ตัวปลอม” เช่นนี้เกิดขึ้นในไนจีเรียและประเทศอื่นของอาฟริกาที่ผู้นำสูงอายุหรือมีสุขภาพไม่ดีมาก่อน เช่น อดีตประธานาธิบดี Umaru Yar’Adua หายตัวไปต่างประเทศ 4 เดือน พอกลับมาก็ตาย นาย Nnamdi Kanu ผู้นำแบ่งแยกดินแดนของไนจีเรีย (ผู้ซึ่งริเริ่มข่าวลือนี้ก็มีข่าวเช่นกันว่าตัวจริงถูกทหารฆ่าตายไปแล้วเมื่อปีก่อน)

สำหรับประเทศอื่นก็มีประธานาธิบดี Ali Bongo Ondimba Gabon ที่หายตัวไป 6 อาทิตย์ ประธานาธิบดี Mutharika ของMalawi ตายในปี 2013 แต่พรรคพวกหามศพมีสายต่อกับน้ำเกลือทำเป็นยังไม่ตายส่งไปรักษาตัวในประเทศอาฟริกาใต้เพื่อกีดกันไม่ให้รองประธานาธิบดีได้ขึ้นเป็นแทน และสุดท้ายอดีตประธานาธิบดี Mugabe ของ Zimbabwe ซึ่งมีอายุ 92 ปี แต่ยังเล่นการเมือง มีข่าวลือหนาหูว่าตายแล้ว จนเจ้าตัวต้องออกมาพูดว่า “เป็นเรื่องจริงที่ผมตายแล้ว แต่ขอยืนยันว่าผมได้ฟื้นขึ้นมาดังที่ได้ทำอยู่บ่อย ๆ แล้ว “

อย่าคิดว่าข่าวลือเรื่องคนที่ตนเองชื่นชอบตายแล้วและมีตัวปลอมมาแทนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เล่ากันสนุกและไม่มีผลทางการเมือง ในสังคมที่คนมักหวือหวาตามกระแส และเชื่อในเรื่องต่าง ๆ อย่างขาดเหตุขาดผล ข่าวลวงที่ปล่อยออกมาเช่นนี้สามารถสร้างความปั่นป่วนรวนเรได้ไม่น้อย มนุษย์นั้นมักใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นตัวตัดสินมากกว่าใช้สมอง นักการตลาดจึงใช้จุดเปราะบางนี้ทำการ “ขาย” อย่างได้ผล

การต้มตุ๋นเกิดขึ้นทุกวันในทุกสังคมด้วยวิธีการดั้งเดิมที่ใคร ๆ ก็รู้ แต่ก็ยังมีคนถูกหลอกอยู่เสมอ คนที่หยิ่งผยองว่าจะไม่โดนหลอกนั้นบ่อยครั้งที่เป็นเหยื่อก่อนคนอื่น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ถูกหลอกก็คือความโลภ กิเลสตัวนี้หากเกิดขึ้นเมื่อใดแล้วหูจะอื้อ สมองจะบอดฝรั่งเขาถึงบอกว่า “There’s a sucker born every minute” (มีไอ้งั่งหนึ่งคนคลอดออกมาทุกนาที)

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 1 ม.ค. 2562