ThaiPublica > คอลัมน์ > Spookers เรามันชวนขนลุก! เรามันตัวประหลาด?

Spookers เรามันชวนขนลุก! เรามันตัวประหลาด?

3 ธันวาคม 2017


1721955

เจ้าสาวซอมบี้ ตัวตลกสยองขวัญ มือเลื่อยจอมโหด เด็กปีศาจโรคจิต ตัวประหลาดเลือดโชก ไอ้ขวานโตจอมสับ หน้ากากหนังมือกระซวก สาวผีสิง ฯลฯ ตัวขยะแขยงเหล่านี้คือสิ่งที่คุณจะได้พบเจอตลอดทั้งเรื่องในสารคดี Spookers (2017) ของ ฟลอเรียน ฮาบิชต์

เดวิด: ข้อดีของงานนี้คือคุณได้เป็นใครก็ได้ที่คุณอยากจะเป็น ได้แสดงออกเต็มที่ และคืนนี้ฉันจะเป็นเจ้าสาวซอมบี้ เฮ้! คุณเคยได้งานเป็นเจ้าสาวซอมบี้บ้างรึเปล่าล่ะ? (หัวเราะ)

เดวิดเกย์สาวท่วงท่าละมุน พูดขณะแต่งหน้าเป็นศพ สิ่งที่เธอพูดก็จริง แต่ในอีกด้านนึงก็เพราะไม่มีใครอยากจะทำงานแบบนี้ งานที่ต้องถูกมองเป็นตัวประหลาด ที่ไม่ว่าจะเดินไปไหนผู้คนก็แหกกระเจิงหนีขนหัวลุก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าพวกเขาไปทำงานคล้ายๆ กันนี้ในที่อื่น ก็จะเป็นได้แค่ตัวกระจ๊อกที่ถูกเมินแรงเสมอ แต่ไม่ใช่สำหรับ Spookers เพราะที่นี่พวกเขาคือเจ้าถิ่น

ลงไปทางใต้ของเมืองออคแลนด์ คือที่ตั้งของโรงพยาบาลจิตเวชร้างแห่งหนึ่งชื่อ คิงซีท ที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1932 บนเนื้อที่กว้างถึง 700 เอเคอร์ ประกอบไปด้วยอาคารต่างๆ ถึง 59 หลัง…ซึ่งรวมไปถึงอาคารรักษาความปลอดภัย และอาคารเก็บศพ จนปลายยุค 40 ที่นี่ก็กลายเป็นชุมชนคนไข้โรคจิตกว่า 800 ราย อยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อีก 250 ราย และขึ้นชื่อมากเรื่องผีดุ!

กระทั่งปี 1999 ครอบครัววัตสันที่เคยเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงแกะก็เข้ามาครอบครอง ได้แปลงโฉมที่นี่เสียใหม่ เปิดเป็นเคหาสน์สยองขวัญในปี 2005 จ้างผู้คนแปลกๆ หลากเพศหลายวัยกว่า 200 คน มาแต่งผีหลอก ขายความหฤหรรษ์แบบธีมพาร์คภายใต้ชื่อ Spookers (พวกตัวน่าขยะแขยง) ที่แบ่งธีมสยองเป็น 4 โซน ได้แก่ บ้านผีสิง ป่าสยองขวัญ ไร่ข้าวโพดปีศาจ และห้องสั่นประสาท

ฮาบิชต์ได้รับการทาบทามจากค่ายหนังในช่วงปี 2014 ให้เข้ามาทำสารคดีเกี่ยวกับที่นี่ ซึ่งเขาเล่าว่า “แน่นอนว่าผมได้ยินชื่อเสียงสุดสะพรึงของ Spookers มานานแล้ว และผมบอกตัวเองตลอดเลยว่า มันน่ากลัวเกินไป มันไม่ใช่ที่สำหรับผมแน่ๆ ในหัวผมเอาแต่พูดว่า ไม่! ฉันจะไม่รับงานนี้เด็ดขาด! แต่พอผมได้ไปที่นั่นจริงๆ…ตายห่ะล่ะ ผมโคตรจะรักที่นี่เลย”

หัวใจของหนังจริงๆ ไม่ใช่เรื่องผีสิงบนดินแดนสยองแห่งนี้ แต่คือการลอกเปลือกเมคอัพสุดสยองของบรรดานักแสดงชวนขนลุกทั้งหลาย ว่าแต่ละคนเคยผ่านเรื่องทุกข์ร้อนสุดสะพรึงเสียยิ่งกว่าเรื่องสยองใดใด เป็นความป่วยไข้ที่ใครๆ ย่อมเคยพบเจอ ไม่ว่าจะปัญหาสุขภาพ ความไม่มั่นใจในตัวเอง การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ความรู้สึกแปลกแยกทางเพศสภาวะ อาการป่วยไข้ทางจิต เรียกง่ายๆ ว่าที่นี่คือแหล่งรวมสารพัดคนบกพร่อง ที่มาสวมบทบาทที่บกพร่องยิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นในชีวิตจริง แต่ที่น่าทึ่งคือมันสามารถปลดปล่อยพวกเขาให้มีเสรีจากความทุกข์ใจใดใดที่เคยรุมเร้าพวกเขาตลอดมา

‘ถ้าโลกนี้มีคนเหงามากมายเหลือเกิน พวกเขาควรจะได้พบกัน’ แม็ตต์ ฟาเกอร์ฮอล์ม นักวิจารณ์จากเว็บ rogerebert.com ให้ความเห็นถึงคนเหล่านี้

“ที่นี่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลผีสิง ใครเข้ามาถ้าไม่บ้าหนักขึ้นก็ต้องมีอันเป็นไป จนไม่มีใครกล้าเฉียดเข้ามาใกล้ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากคือเมื่อมันถูกจัดฉากให้เป็นธีมพาร์ค ให้มันดูสยดสยองมากขึ้นไปกว่าเดิม ผู้คนกลับแห่กันเข้ามาหวีดสนุกสุดเสียงจนลืมโลกของความเป็นจริงไปเลย” ฮาบิชต์ให้ความเห็น

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา สมัยที่ยังเป็นโรงพยาบาลบ้า ที่นี่เคยถูกตั้งคำถามถึงกระบวนการรักษาคนไข้เสมอมา กระทั่งโรงพยาบาลต้องปิดตัวลงในปี 1999 หลังจากรัฐยื่นมือเข้ามาปฏิรูปกวาดล้างระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งยวงในนิวซีแลนด์

“ฉันไม่ค่อยรู้จักพวกเรื่องสยองขวัญสักเท่าไหร่หรอก อาจเป็นเพราะทั้งชีวิตฉัน…อยู่ด้วยความหวาดกลัว” เดบอราห์ หนึ่งในนักแสดงคณะ Spookers ผู้เคยเป็นอดีตคนไข้ของโรงพยาบาลคิงซีท เล่าให้ฟังว่า “หมอเคยหลอกพ่อแม่ของฉันว่า ถ้าพวกเขามาเยี่ยม ฉันจะรู้สึกหงุดหงิด นับจากนั้นฉันก็ไม่เคยเห็นหน้าพ่อหน้าแม่อีกเลยมาตลอด 18 ปีเต็ม”

แต่หนังก็ไม่ได้มีท่าทีตัดสินว่าสิ่งที่ที่นี่ทำกับผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกหรือว่าผิด ฮาบิชต์เล่าว่า “ตอนฉายหนังให้นักแสดงเหล่านี้ดู เดบอราห์เป็นคนเดียวที่ผมฉายให้เธอดูเป็นการส่วนตัว เพราะผมคิดว่าการเห็นตัวเองในหนังเรื่องนี้คือประสบการณ์สุดสยองครั้งแรกของเธอเลยทีเดียว แต่ประสบการณ์ที่เธอเล่าให้คนดูฟังผ่านหนังเรื่องนี้คือสิ่งที่มีค่ามากจริงๆ”

นอกจากความเป็นสารคดีแล้ว หนังยังมีส่วนของการแสดงสลับไปด้วย ฮาบิชต์เล่าว่า “เราจัดเวิร์กชอปนักแสดงขึ้นมา แล้วถามพวกเขาว่ามีความฝันอะไรบ้าง ไม่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย แล้วเราก็ทำเป็นสคริปต์สั้นๆ ให้พวกเขาแสดงสิ่งที่พวกเขาเล่าให้เราฟัง จากนั้นเราก็ร้อยเรียงมันเข้าด้วยกันกับส่วนของสารคดี หนังเรื่องนี้จึงขับเคลื่อนด้วยความสามารถและความกล้าหาญของพวกเขาล้วนๆ ในการที่จะเล่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกออกมาจริงๆ”

แม้จะไม่เคยคว้ารางวี่รางวัลใดใด แต่ Spookers ก็เคยฉายในเทศกาลหนังใหญ่ๆ มาแล้วหลายที่ เช่น เทศกาล Hot Docs ในแคนาดา, เมลเบิร์น และซิดนีย์, เทศกาลหนังสารคดีเชฟฟิลด์, เทศกาลนิวฮอไรซันในโปแลนด์ ฯลฯ

ฮาบิชต์ทิ้งท้ายว่า “อันที่จริงผมไม่เห็นด้วยที่จะกักขังผู้ป่วยจิตเวชเอาไว้ในโรงพยาบาลแบบคิงซีทหรอกนะ แต่สิ่งที่ผมเห็นด้วยเต็มที่คือ อะไรก็ตามที่ Spookers กระทำต่อคนไข้ และต่อคนงานของพวกเขา…มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก”

ป้ายคำ :