ThaiPublica > คอลัมน์ > ฉันเยาว์? ฉันเขลา? ฉันทึ่ง!

ฉันเยาว์? ฉันเขลา? ฉันทึ่ง!

30 กันยายน 2017


1721955

“…ถ้าจะเปลี่ยน ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนต้นเหตุที่มันผิด เลยทบทวนว่าใครบ้างที่ควรมีส่วนรับผิดชอบกับความผิดในครั้งนี้ หนึ่งคือตัวผมเองก็แว่บเข้ามาในหัว มันก็ผิดที่ตัวเราเองด้วย แต่ผมโทษตัวเองมาตลอดชีวิตเหมือนกัน คิดว่ามันอาจเป็นเพราะเราเองแหละที่มีปัญหา ระบบการศึกษามันไม่ได้มีปัญหาหรอก เราเองต่างหากที่ไปดื้อไปตะแบง…..ครับ! ผิดที่ผมเองที่ดันไปนึกออกว่ามันน่าจะมีโลกที่ศิวิไลซ์กว่านี้ ที่ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกันได้ ผมดันไปเชื่อว่ามันมีตรงนั้นอยู่ ว่าเด็กกับอาจารย์สามารถคุยกันได้เป็นปกติเหมือนเพื่อนกัน เพราะเราก็ทำงานแบบเดียวกัน เรียนศิลปะมาเหมือนกัน เราอาจจะเชื่อกันคนละแบบ มีอุดมการณ์กันคนละแบบ แต่ผมดันเชื่อว่าแบบนั้นน่าจะมีอยู่จริง…(น้ำเสียงโทษตัวเองสุดพลัง)‘เพราะแกนั่นแหละ แกดันไปนึกออกว่ามันมีหนทางอื่นที่มันดีกว่าบนโลกใบนี้’ ถ้าผมทำมึนทื่อๆ แล้วหลับหูหลับตาทำในสิ่งที่อาจารย์บอก ผมก็คงไม่ต้องมามีปัญหา แล้วก็จะคงเรียนจบออกไปได้”

นี่คือความคิดเห็นของหนึ่งในสองผู้เล่าเรื่องที่เป็นนักศึกษาภาพยนตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในสารคดีวิพากษ์ระบบการศึกษา เรื่อง ฉันเยาว์? ฉันเขลา? ฉันทึ่ง!

ซึ่งไม่กี่วันก่อนที่หนังจะฉายเป็นครั้งแรกในเทศกาลหนังสั้น ครั้งล่าสุดของมูลนิธิหนังไทย ผู้กำกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ก็แจ้งเอาไว้บนหน้าเว็บ ของเขาว่า “คำเตือน หนังเรื่องนี้ยาวเกือบ 80 นาที ซึ่งหากไม่เตรียมใจมาอาจหลับแป้กได้ เพราะเป็นทอล์คกิ้งเฮด (คือการตั้งกล้องสัมภาษณ์แบบทื่อๆ โดยไม่แทรกภาพประกอบระหว่างนั้น) เกือบทั้งเรื่อง ซึ่งคงจะน่าเบื่อมากสำหรับผู้ชมที่ไม่ใช่สายแข็ง แต่หากสนใจประเด็นการศึกษาก็น่าจะสนุกไปกับมันได้ไม่ยาก”

แต่ปรากฎว่าหลังจากการฉายรอบนั้น ก็ มีคอมเม้นต์ อาทิ จาก สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (ผู้กำกับสารคดีจากเทศกาลหนังเบอร์ลินเรื่อง หมอนรถไฟและผู้ช่วยผู้กำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ว่า “แม้จะยาวเกือบ 80 นาที แต่ดูเพลินมาก และมันมาก…เขาตัดต่อได้สนุกและลงตัว มีการเปลี่ยนมุมกล้องอะไรที่มันเรียบง่ายมากๆ แต่กลับขับเคลื่อนหนังไปได้ดี แล้วประเด็นก็ชวนให้คิดเยอะ และสะท้อนใจอะไรหลายๆอย่าง เป็นงานสารคดีที่เรียบง่าย ตรงจุด และเข้มข้นมาก ทำให้เห็นว่าทอล์คกิ้งเฮดซึ่งเป็นเทคนิคที่เชยมากๆในการทำสารคดี แต่ถ้าทำให้ดีก็สามารถเป็นหนังที่เยี่ยมและเข้มข้นได้”

รวมถึง วราลักษณ์ หิรัญเศรษฐวัฒน์ (ผู้กำกับสารคดีจากเทศกาลหนังอินดี้มาแรง SXSW เรื่อง Y/OUR MUSIC ) ก็คอมเม้นต์บนเฟซบุ๊กว่า “ชอบเรื่องนี้ม้าก แหวกกฎนั่งสัมภาษณ์ได้ แล้วยังสนุกอีก” ซึ่งนอกจาก ฉันเยาว์ฯ จะคว้ารางวัลรองชนะเลิศประเภทสารคดีจากงานดังกล่าวได้แล้ว ยังพ่วงรางวัลขวัญใจมหาชนมาได้อีก ด้วยคะแนนโหวตสูงถึง 4.79 (จากคะแนนเต็ม5) และขณะนี้กำลังเดินสายฉายกับDoc Club Theater

สารคดีเรื่องนี้จงใจจะใช้เทคนิคตั้งกล้องคุยกันซึ่งเป็นวิธีที่เชยมากๆ ด้วยเหตุผลที่ตัวผู้กำกับเล่าให้ฟังว่า “เพราะนักศึกษาสองคนในเรื่องนี้กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการศึกษา ที่ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แหกคอกสร้างผลงานแบบที่ไม่เป็นไปตามขนบเลย พร้อมกับตัดสินผลงานแหกขนบว่าไม่เป็นไปตามโครงสร้างทฤษฎีทางภาพยนตร์ ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงใช้กลวิธีที่ต่างออกไปจากขนบสารคดีทั่วไป ที่นิยมการแทรกภาพอื่นๆเข้ามาเยอะๆ เพื่อแก้เบื่อให้คนดูได้เพลิดเพลินตามติดหนังไปได้ตลอดจนจบ คือผมต้องการทำให้หนังเรื่องนี้เป็นเสมือนตัวอย่างในการเล่าเรื่องอีกแบบที่ไม่เป็นไปตามขนบด้วย เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆและพิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีการแบบอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งมันยังคงเป็นภาพยนตร์อยู่เหมือนกันและดูสนุกไปอีกแบบได้ด้วยเช่นกัน” แต่กลวิธีนี้ไม่ใช่ลูกเล่นเพียงอย่างเดียวของหนัง ยังมีเซอร์ไพรส์อันแสนเรียบง่ายอื่นๆอีกเป็นระยะๆด้วย

จริงๆแล้วสิ่งที่นักศึกษาสองคนนี้เรียกร้อง ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องง่ายๆ คือ “ความรู้มันเพิ่มมาใหม่ๆ คุณ(ผู้สอน)ก็ต้องเพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะขึ้นมาด้วย…เพื่อให้คนใหม่ที่ขึ้นมาเรื่อยๆเชื่อถือได้ว่าคุณยังใหม่และยังสดอยู่ …มีงานใหม่ๆเกิดขึ้นบนโลกทุกวัน และงานใหม่ๆเหล่านั้นก็เป็นข้อคิดเห็นของ ‘มนุษย์’ทุกวันที่เพิ่มขึ้นมา…ไม่ต้องเข้าใจหรือเห็นด้วย แค่พยายามเปิดรับก็พอ”

แต่สารคดีเรื่องนี้ไปไกลกว่าจะเจาะจงจวกไปยังมหาวิทยาลัยที่สอนภาพยนตร์แห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากหนังจะเซ็นเซอร์ชื่อสถาบันและอาจารย์ออกไปทั้งหมดแล้ว ยังเริ่มต้นลำดับลากยาวมาตั้งแต่ระบบการศึกษาในช่วงมัธยม ด้วยการใช้โครงสร้างง่ายๆคือเลือกผู้เล่าเรื่องที่คนหนึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดมาบอกเองว่า “ผมเป็นเด็กสายวิทย์…การเลือกเรียนอะไรเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับผมซะทีเดียว พ่อแม่มองว่าเรียนสายวิทย์ดีกว่า เพราะมันจะได้ต่อยอดไปสายงานอื่นๆ หรือสิ่งที่จะไปเรียนในภายภาคหน้าได้มากกว่าสายศิลป์ การเรียนของเด็กต่างจังหวัดนั้นต้องเรียนสายวิทย์เพราะจะได้มีทรัพยากรที่ดีกว่า…(อึกอักก่อนจะหันมาคุยกับกล้องตรงๆ) ผมขอเล่าในสิ่งที่ผมคิดจริงๆนะ สายศิลป์มันคือรวมเด็กที่…” ตัดสลับไปยังอีกคนหนึ่งที่เป็นเด็กกรุงเทพโดยกำเนิดว่า “ม.ปลายผมเรียนสายศิลป์ครับ ที่จริงผมไม่ได้เลือก แต่เพราะไม่ตั้งใจเรียนก็เลยได้อยู่ห้องสุดท้าย คือโรงเรียนผมมีแค่ 4 ห้อง แล้ว 3 ห้องแรกหรือนักเรียนที่เกรดเกิน2.5 ก็จะมีสิทธิ์เลือก(ว่าจะเรียนสายไหน)”

ไปสู่ปัญหาต่างๆจนมีการวิเคราะห์ไตร่ตรองว่ารากฐานของปัญหาเหล่านี้มาจากไหน ซึ่งผลสรุปของเด็กทั้งคู่ก็ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน คือ “หลักสูตรมันถูกกำหนดโดยรัฐ มันถูกกำหนดว่าต้องสอนอะไร ไม่สอนอะไร เลือกให้ เลือกไม่ให้..อะไร ทีนี้ในทางบุคคล ครูเมื่อกลับบ้านไปดูข่าว เขาก็เป็นมนุษย์คนนึงที่ฝักใฝ่รสนิยม…แบบไหน หรือชอบอะไร แล้วพอเขากลับมาสู่สถานะ’ผู้ให้’ที่เป็น’ครู’ เขาก็มีหน้าที่เลือกให้หรือไม่ให้อะไรได้เหมือนกัน เพราะว่าเขาก็มีความเชื่อของเขา…เลือกปลูกฝังอะไร เลือกไม่ปลูกฝังอะไร มีการกีดกัน…การศึกษาคือการเรียนรู้ปลูกฝัง บางทีผู้ให้ก็ไม่รู้ตัว แต่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ปัญหาที่ผมเจอมาเรื่องการศึกษาคือผลสะท้อนจากทัศนคติทางการเมือง เพราะพวกเขาใช้ชีวิตและฝักใฝ่ในแบบนั้น และที่ปัญหาการศึกษามันไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะผู้สอนเชื่อในแบบอนุรักษ์ คือไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือคุณค่าที่ตอนพบมันครั้งแรก…มันดี และเขาอยากจะให้มันดีเสมอไป”

แล้วระหว่างเรื่องก็มีพูดเปรยๆออกมาอีกว่า “คือมันเคย’ถูก’แต่มันจะไม่เสมอไปนะ…นั่นคือสิ่งที่คุณต้องเข้าใจสักทีว่า…มันจะไม่เสมอไป” พร้อมกับจงใจจะเปิดเรื่องและทิ้งท้ายด้วยเครื่องหมายปรัศนีย์ กับอัศเจรีย์อย่างมีนัยยะสำคัญ