ThaiPublica > คอลัมน์ > #ประเทศกูมี การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์

#ประเทศกูมี การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์

31 ตุลาคม 2018


1721955

ขณะผู้เขียนกำลังร่างบทความนี้ ยอดวิวของ ‘ประเทศกูมี’ พุ่งทะยานไปถึงกว่า 13 ล้านแล้วภายในสองคืน ที่กลายเป็นกระแสตระหนกในสังคมเราราวกับเป็นมหันตภัยร้ายแรง บ้างก็หวาดกลัวไม่กล้าแหยมต่อคำขู่ของฝ่ายทหารว่าผิดพ.ร.บ.คอมพ์ บ้างก็ออกมาก่นด่าว่าคนแรปไม่สมควรอยู่ในประเทศนี้ แต่ไม่ว่าคนทั้งสังคมจะแสดงออกอย่างไรในที่สาธารณะ ยอดวิวของ MV เพลงนี้กลับยังไม่มีทีท่าจะหยุดลงง่ายๆ และมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปหลายฝ่าย ดังในคลิปข่าวนี้ของช่องอมรินทร์ทีวี ที่ นารากร ติยายน รายงานว่า “อาจจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ก็ได้…และที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่ก็คือว่า นี่ล่ะค่ะ คนที่ประกอบอยู่ข้างหลังนี่แหละ ท่าทาง การแสดงออก เหมือนจะจำลองเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์วิปโยคในใจคนไทยมาตลอดด้วยอะนะคะ”

น่าแปลกใจว่าทำไมเหตุการณ์ที่ว่าวิปโยคในใจคนไทยมาตลอดนี้จึงไม่สามารถถูกนำเสนอได้ เพราะหากหันกลับไปมองกรณีวิปโยคต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยฮิตเลอร์’ หรือ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา’ เหตุการณ์สังหารคนหมู่มากในที่สาธารณะล้วนถูกเผยแพร่แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง และถือเป็นบทเรียนสำคัญที่คนทั้งสังคมต้องเรียนรู้ แต่ทำไมเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงไม่สามารถพูดได้ โดยเฉพาะในสื่อภาพเคลื่อนไหว

ย้อนกลับไปกรณีไม่ไกลนี้อย่าง เชคสเปียร์ต้องตาย ของอิ๋ง เค และมานิต ศรีวานิชภูมิ ก็ถึงกับได้เรต ห หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า “มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ระหว่างคนในชาติ ทั้งนี้เนื่องจากมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา”

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุการณ์เดือนตุลาถูกเล่าผ่านหนัง ก่อนหน้านี้มาหลายสิบปี กรณีเดือนตุลาถูกเล่าอย่างอ้อมแอ้มมาตลอดในภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่อง เช่น เวลาในขวดแก้ว (2534) หนังที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ ประภัสสร เสวิกุล ฉบับกำกับโดย ประยูร วงษ์ชื่น, อมรศรี เย็นสำราญ และอนุกูล จาโรทก รวมถึงหนังต่อไปนี้ที่ออกฉายในวาระครบ 33 ปีเดือนตุลาพอดิบพอดี โดยมิได้นัดหมาย เช่น รักที่รอคอย (2552) กำกับโดย สมเกียรติ วิทุรานิช, เชือดก่อนชิม (2552) กำกับโดย ทิวา เมยไธสง, ลิฟท์แดง ตอนหนึ่งใน มหาลัยสยองขวัญ (2552) กำกับโดย บรรจง สินธนมงคลกุล และสุทธิพร ทับทิม ฯลฯ

แม้ว่าทุกวันนี้กรณีเดือนตุลาจะไม่ใช่เรื่องลี้ลับอีกต่อไปแล้ว แต่ในแบบเรียนวิชาสังคมของกระทรวงศึกษาฯ ก็ยังคงปิดหูปิดตาคนรุ่นใหม่ด้วยการเล่าสั้นเพียงสองบรรทัด ทว่าในยุค 4.0 ข้อมูลเหล่านี้หาไม่ยากเลยบนโลกออนไลน์ เช่น บทความ 16 ตุลา วันประวัติศาสตร์ที่เราอาจเข้าใจผิด โดย อภิรดา มีเดช หรือ 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน ของสำนักข่าวประชาไท หรือแม้แต่ของเว็บไทยพับลิก้าเองก็มี เช่น “สรรพสิริ วิรยศิริ” ผู้กล้า-ผู้ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, หกตุลาคมสองห้าหนึ่งเก้า วันอัปยศในประวัติศาสตร์ชาติไทย พงศาวดารเรื่องเล่าจากความทรงจำ ที่ถูกเขียนออกมาถึงสองตอน ตอนที่1 ปฐมบทความวิปโยค และตอนที่ 2 คำสารภาพของฝ่ายขวา (คนหนึ่ง) เขียนโดย บรรยง พงษ์พานิช หรือสามารถเสาะหาแหล่งเพิ่มเติมอื่นๆ ได้ที่เว็บ https://doct6.com/

แต่แน่นอนว่าคอลัมน์นี้นำเสนอเกี่ยวกับหนังสารคดี ซึ่งอันที่จริงก็มีหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่เซิร์ชบนยูทูบได้ไม่ยาก และเล่าลำดับเหตุการณ์โดยละเอียดยิบ ในชื่อ 6 ตุลา 19 ต่างความคิด ผิดถึงตาย (2011) ที่เขียนบทสารคดีโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และพ่วงบทสัมภาษณ์ระหว่างทางโดย ธงชัย วินิจจะกูล

แต่สารคดีที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เป็นสารคดีสั้นชื่อ ‘การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์’ ที่ถูกอัปโหลดขึ้นอย่างลึกลับ โดยยูสเซอร์นามว่า wichitchai amornkul และพ่วงลิงค์เล็กๆ ไปถึงเพจบนเฟซบุ๊กในชื่อว่า จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เด็กหนุ่มชั้นปี 2 ในเวลานั้น ที่บอกแม่ว่าจะกลับสุราษฎร์ธานีบ้านเกิด หลังสอบเสร็จในวันที่ 11 ตุลา เพราะมีสอบในวันที่ 6 ตุลา 2519 แต่จารุพงษ์ไม่สามารถกลับไปเจอหน้าพ่อแม่ของเขาได้อีกต่อไปแล้ว เพราะการสอบในปีนั้นมันยากโหดสัตว์สาหัสจริง

ตัวเรื่องเริ่มบรรยายบรรยากาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น โดยผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์นั้นว่า

“ปีนั้นธรรมศาสตร์เราเป็นการต่อสู้ร่วมกับประชาชน เพื่อสิทธิประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” -กฤษฎางค์ นุตจรัส รหัสนักศึกษา 189565

“พอเราเข้ามาในธรรมศาสตร์ เสรีภาพมันเบ่งบาน เราก็อยากจะพูดในสิ่งที่อยากพูด ทำในสิ่งที่อยากทำ” -อรุณ พรหมสุวรรณศิริ รหัสนักศึกษา 189623

“บรรยากาศในตอนนั้นมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความคึกคักกระตือรือร้น” -วัฒนา ชัยชนะสกุล รหัสนักศึกษา 179502

ก่อนที่จะบอกต่อไปว่าทั้ง 3 เป็นเพื่อนๆ ของ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกันมาก่อนตั้งแต่สมัยมัธยมด้วยซ้ำ

“ตอนที่เรียนอยู่มัธยมต้น ที่สุราษฎร์เรียนด้วยกันฮะ โรงเรียนเดียวกัน อยู่ห้องเดียวกัน”

“…จา ยิ้มตลอดเวลา เป็นคนที่สุภาพมาก”

แล้วทั้ง 3 ก็ค่อยๆ ผลัดกันเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นใน ‘วันนั้น’

“ประมาณตีห้าของวันที่หก มีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ยิงถล่มเข้ามาในบริเวณสนามฟุตบอลซึ่งคนยังชุมนุมกันอยู่”

“ผมเองตอนนั้นก็ยังอยู่บนตึก อมธ. ชั้นสอง เกือบเป็นคนท้ายๆ ที่ลงมา ประมาณสักเจ็ดโมงเช้าแล้วมั้งฮะ”

“ในขณะที่ตัวเองหันหลังออกจากเหตุการณ์เสียงปืนเสียงระเบิด แต่จารุพงษ์ไปข้างหน้า”

“จารุพงษ์ก็ได้เที่ยวบอกรวมทั้งเราที่อยู่ในตึก อมธ. ขณะนั้นด้วย บอกผมด้วยว่า ไปได้แล้ว!”

“ผมก็บอกว่ารีบๆ ลงไปแล้วกัน เพราะข้างบนไม่มีใครอยู่แล้ว”

“พวกเราก็เคลื่อนออกไปให้เร็วที่สุด…หลังจากนั้นผมก็ไม่เจอเขาอีกเลย”

“ก็ไม่รู้ข่าวอีกเลยจนกระทั่งผ่านไปสามสี่อาทิตย์ผ่านไป มีคนรวบรวมภาพถ่าย”

“ผมเห็นภาพในหนังสือพิมพ์หลังจากเกิดเหตุ เห็นภาพว่าเขา(จารุพงษ์)ถูกคนเอาผ้าคล้องคอ แล้วก็ลากไปตามสนามฟุตบอล”

บนหน้าเพจของหนังเรื่องนี้ได้ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจารุพงษ์ไว้ 15 ข้อ ขอยก 3 ข้อสุดท้ายมา ณ ตรงนี้ว่า

(13) แม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์ ไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกชายในวันนั้น จึงได้ออกตามหาลูกมาตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งในปี 2539 เมื่อมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 เพื่อนๆ ของเขาได้เดินทางไปหาแม่ลิ้มและพ่อจินดาเพื่อแจ้งข่าว จึงเป็นการสิ้นสุดการตามหาลูกชายที่ยาวนาน 20 ปี

(14) ในปี 2539 เพื่อนๆ ของจารุพงษ์ได้ร่วมกันปรับปรุงห้องประชุมในตึกกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกเขาว่า “ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ห้องนี้มีชื่อห้องเป็นตัวอักษรสีทอง หันหน้าเข้าหาสนามฟุตบอลที่เขาเสียชีวิต

(15) ในปี 2556 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุงตึกกิจกรรมที่ท่าพระจันทร์ ป้ายชื่อสีทองของเขาถูกถอดออกไประหว่างการปรับปรุง เมื่อเสร็จสิ้นการปรับปรุงตึก อธิการบดีได้มาทำพิธีเปิดตึกอย่างเงียบๆ โดยป้ายชื่อจารุพงษ์ได้หายไปแล้ว เหลือแต่ความเมินเฉยของผู้บริหารที่ยังคงเงียบงันต่อไป

แม้ว่าตัวหนังสั้นจะจงใจเจาะจงไปที่จารุพงษ์ แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้มีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว หรือแม้จะระบุถึงธรรมศาสตร์ แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ผูกขาดว่าต้องเป็นเด็กธรรมศาสตร์เท่านั้นถึงควรจะศึกษามัน เพราะเหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์สำคัญที่คนทั้งสังคมควรรับรู้และเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่น่าแปลกเมื่อมันถูกขุดคุ้ยกลับมาหลอกหลอนผู้คนในสังคมไทยไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทุกครั้งก็ยังมีผู้คนที่ไม่อยากรับรู้และอยากจะลืมๆ สิ่งเหล่านี้ไปเสีย

ที่น่าแปลกใจคือบทสรุปในตอนท้ายของสารคดีเรื่องนี้ สอดรับและใช้ได้ดีต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับ #ประเทศกูมี ได้อย่างน่าประหลาด

“จารุพงษ์และเพื่อนๆ ยังคงอยู่ที่ไหนสักแห่ง ถึงแม้คนทั้งสังคมอยากจะลืมพวกเขา โดยอยากบอกตัวเองว่า ‘สังคมเรานี้ดี ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น’ ยิ่งกว่านั้นเรากลัวที่จะรู้ว่า ‘เพราะอะไร’ หรือ ‘เพราะใคร’ เราจึงซ่อนมันเอาไว้ในมุมที่ลึกที่สุด แต่พวกเขาจะไม่ไปไหน เหล่าวัยรุ่นที่ถูกกักขักไว้ในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากจำ เพราะความตายของจารุพงษ์และเพื่อนๆ คือข้อสอบที่คนไทยทุกคนต้องตอบ”