ThaiPublica > คอลัมน์ > การประยุกต์ใช้เอไอ กับ Sustainable Development Goals (SDGs)

การประยุกต์ใช้เอไอ กับ Sustainable Development Goals (SDGs)

30 ธันวาคม 2018


จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่เราเริ่มเห็นเทรนด์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence – AI) ที่เข้ามามีบทบาทกับการดำเนินธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ผมเลยอยากจะพูดถึงการนำเอไอมาใช้ประโยชน์ในมิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำลังอยู่ในความสนใจและถูกตั้งไว้เป็นเป้าหมายของผลการดำเนินงานและมาตรฐานของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลกกันครับ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นกรอบการพัฒนาที่บูรณาการ 17 เป้าหมายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ ภายใต้การกำหนดข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติที่นำโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) โดยหวังว่าจะสามารถสร้างอนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชากรโลกทั้งมิติการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อม การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความเจริญ สันติภาพและความชอบธรรม เป็นต้น โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อบรรลุจุดประสงค์การดำเนินงานภายในปี 2030 โดยทุกท่านสามารถเข้าไปดูการจัดอันดับผลการดำเนินงานล่าสุดในรายประเทศของ Sustainable Development Solutions Network ได้จากลิงก์นี้ครับ SDG Index and Dashboards Report 2018

คราวนี้ เราจะกลับมาดูว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence – AI) จะสามารถเป็น Enabler ที่รองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าหากเอไอเปรียบเสมือนไฟฟ้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การนำเอไอมาใช้ก็จะเป็นการนำข้อมูลมาประมวลผล เรียนรู้ และช่วยในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการทำงานที่คล่องตัวและแม่นยำมากขึ้น ผมจึงมองว่าเอไอจะสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนา SDGs ของประเทศได้แน่นอน โดยผมจะขอหยิบยกข้อมูลมาเพื่ออธิบายในบางเป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายที่ 3 การมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย (SDG 3 : Good health and well-being)

แน่นอนว่าการมีสุขภาพที่ดีเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการวินิจฉัยโรคที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ มะเร็ง รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ ยังต้องอาศัยความรู้และการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการประกอบอาชีพของบุคลากรเหล่านี้ยังคงกระจุกอยู่ในตัวเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล การนำเอไอมาใช้จะสามารถช่วยให้การตรวจสอบและการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นมีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้ดีขึ้น ซึ่งเอไอในขอบข่ายการทำงานด้าน computer vision/image recognition จะสามารถช่วยวิเคราะห์ภาพที่เกี่ยวกับโรคหรือปัญหาของระบบการทำงานของหัวใจ ปอด ตา ที่ปัจจุบันมีความแม่นยำสูงกว่า 90% เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้มีการนำเครื่องมือด้าน biosensor เช่น Fitbit และ Apple Watch ที่เอไอสามารถนำข้อมูลชีพจรและอุณหภูมิของร่างกายมาใช้ประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ ช่วยให้พวกเราเกิดความตระหนักในการรักษาสุขภาพก่อนที่จะเกิดโรค (Preventive) ซึ่งจะเป็นแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้นั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ นโยบายที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ บวกกับองค์ประกอบด้านความเชื่อใจในเทคโนโลยี (Trust) ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยการพัฒนาเอไอเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินงานด้านสุขภาพ (Healthcare) ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการลด bias เพื่อให้ model ทำงานได้คลอบคลุมกลุ่มประชากรเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จำเป็นต้องมีการอธิบาย (Interpretation) ข้อมูลที่สามารถรองรับผลการวินิจฉัยเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานระบบเกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของเอไอ รวมถึงนโยบายและการสร้าง ecosystem ให้เกิดการแชร์ข้อมูล และการทำงานร่วมกันทั้งผู้ให้บริการสาธารณสุขและผู้พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ

อีกทั้ง ข้อมูลทางการแพทย์เป็นสิ่งที่มีมูลค่า หายาก และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ดังนั้น การพัฒนาเอไอขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในประเทศจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อีกด้วย

เป้าหมายที่ 16 การสนับสนุนสังคมที่สงบสุขและการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน (SDG 16 : Peace, Justice, and Strong Institutions) การนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ดูแล รักษาความปลอดภัยและกฎระเบียบต่างๆ สามารถช่วยให้กระบวนการทางกฎหมายทำงานได้รวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการใช้เทคโนโลยีด้าน computer vision/image recognition มาใช้ในการตรวจจับรถยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการนำมาใช้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ในทำนองเดียวกัน ทั้งข้อมูลด้านการแพทย์และข้อมูลทางด้านความปลอดภัยภายในประเทศต่างก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ภายในประเทศจึงส่งผลดีมากกว่าการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีด้าน AI image recognition จากต่างประเทศอย่างแน่นอน อีกทั้ง งานทางด้านกฎหมายที่สามารถนำการประมวลทางภาษา (NLP – Natural Language Processing) มาช่วยในการค้นหาความสอดคล้องของตัวบทกฎหมายและรูปคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน หรือแม้แต่การช่วยตรวจสอบความถูกต้อง (Compliance) ของเอกสารการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ระบบ NLP ภาษาไทยยังคงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพื่อลดปริมาณงานเอกสารที่ไม่จำเป็นและนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนารูปแบบและมาตรฐานการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้นได้นั่นเอง

เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 7 : Affordable and Clean Energy & SDG 13 : Climate Action)

ในปัจจุบันการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) เป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่างๆ และการจัดเก็บพลังงานด้วยระบบแบตเตอร์รี่ที่จะช่วยให้เกิดการบริหารต้นทุนทางพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้เพื่อช่วยสร้างระบบการจัดการข้อมูลที่สนับสนุนการซื้อขายพลังงานที่เหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้ (user)

ส่วนเทคโนโลยีเอไอมีบทบาทในแง่การประเมินพฤติกรรมและทิศทางการใช้ไฟฟ้า (Load Forecasting) และคาดการณ์ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่างๆ (Generation Forecasting) ในอนาคตให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน และป้องกันการเกิด overload ในปริมาณการใช้ที่มีมากกว่าปริมาณการผลิต รวมทั้ง ในระบบปฏิบัติการในโรงงานสำหรับภาคการผลิตจะมีการนำเอไอมาใช้ประเมินว่าชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลด้วยระบบเซนเซอร์จะมีโอกาสที่จะชำรุดเมื่อใด (Predictive Maintenance) เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาก่อนที่จะเกิดความเสียหายในระบบปฏิบัติการนั่นเอง

เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (SDG 4 : Quality Education)

สำหรับแง่มุมการศึกษา การนำเอไอเข้ามาใช้จะสามารถลดภาระของครู อาจารย์ในการจัดการบทเรียน เนื้อหา และการตรวจสอบแบบฝึกหัดต่างๆ รวมถึงช่วยวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการประเมินในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (Formative Assessment) เพื่อนำข้อมูลมาใช้คาดการณ์โอกาสในการสอบผ่านและความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยจะสามารถนำผลที่ได้มาใช้ประกอบการปรับเนื้อหาเพื่อช่วยให้เด็กที่มีปัญหาในการเรียนสามารถเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถนำเอไอมาใช้เพื่อช่วยสร้างบทเรียนที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน (Personalized Learning) รวมทั้งสามารถใช้เอไอเป็นติวเตอร์ในการปรับเนื้อหาการเรียนผ่านระบบออนไลน์ให้เหมาะกับความสามารถของนักเรียนได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น Georgia Tech ได้นำเอไอมาใช้เป็น TA (Teaching Assistant) เพื่อช่วยตอบคำถามของนักเรียน ช่วยลดภาระของอาจารย์ที่จะต้องตอบคำถามเหล่านั้นซ้ำๆ และสามารถนำข้อมูลที่ได้จากเอไอมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้อีกด้วย

สำหรับเวทีความร่วมมือในระดับนานาชาติ แนวโน้มการนำเอไอมาใช้เพื่อประโยชน์ทางสังคม เช่น AI for Good ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชากรโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเอไอมาใช้งานยังคงมีในอีกหลายมิติที่ทุกภาคส่วนควรพิจารณาและเร่งให้เกิดการพัฒนา โดยสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความสามารถในการเข้าถึงและเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของโจทย์กับคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด

ขณะเดียวกันการตอบคำถามที่ว่าเราจะมีการดำเนินงานอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความเหลี่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในการนำเอไอมาใช้และประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ว่าจะมาจากปัจจัยใดก็ตาม โดยสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดสำหรับเราทุกคนคงจะหนีไม่พ้นการเปิดรับและเริ่มต้นเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีเอไอที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างโอกาสการเติบโตทั้งทางธุรกิจและการพัฒนาสังคมอย่างรอบด้านได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกันในอนาคต

Reference:
http://sdg.iisd.org/news/global-summit-focuses-on-the-role-of-artificial-intelligence-in-advancing-sdgs/