ThaiPublica > คอลัมน์ > Cockroach in The Making (ตอนที่ 9) : Minimum Viable Scale (MVS)

Cockroach in The Making (ตอนที่ 9) : Minimum Viable Scale (MVS)

27 พฤศจิกายน 2018


ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak

ศัพท์คำนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไร ส่วนใหญ่ในวงการ startup มักจะคุ้นกับคำ minimum viable product หรือ MVP เสียมากกว่า

สาระสำคัญของ MVP คือ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด แทนที่จะเสียเวลาคิดค้นผลิตภัณฑ์กันสุดติ่ง เนี๊ยบทุกกระเบียดนิ้ว เสียเวลาเนิ่นนาน ตามหลัก MVP บอกว่า เสียเวลาเปล่า!!!

ที่บอกว่าเสียเวลาเปล่าก็เนื่องมาจากว่า ในวงการ startup ที่ตั้งใจจะ disrupt ชาวบ้านเขานั้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ เป็นสิ่งที่ตลาดไม่มีความคุ้นชิน ไม่เคยมีภาพเหล่านี้อยู่ในหัวมาก่อน ดังนั้น ไอ้การที่จะไปมโนคนเดียว แล้วคิดเองว่าของอย่างนี้นี่แหละตลาดต้องการแน่นั้น เปล่าประโยชน์

ก็ในเมื่อยังไม่รู้ว่าตลาดจะตอบสนองอย่างไร หลักการ MVP จึงบอกว่า พัฒนาแต่พองาม ให้พอรู้ว่าผู้บริโภคได้อะไร ตอบสนองต่ออะไร ไม่ตอบสนองต่ออะไร แล้วเอาฟีดแบคนั้นกลับมาปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ดีขึ้นๆ เรื่อยๆ

ในช่วงของการค้นหาตัวตนของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนนั้น ส่วนใหญ่แล้ว startup ต่างๆ นั้นจะตั้งอยู่ที่ minimum scale นั่นคือ ทำตัวให้เล็ก ให้ lean เข้าไว้ เพราะทุกอย่างยังลูกผีลูกคนอยู่เลย ไอ้ฝันที่จะ disrupt ชาวบ้าน ตั้งใจจะเปลี่ยนโลก ให้ชื่อเราจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น มันยังเป็นวุ้นอยู่เลย จะมามีพนักงาน หรือ operation อะไรมากมายให้ fixed cost กินทุนไปเรื่อยๆ ได้ยังไง ช่วงนี้ก็ช่วยๆ กันคนละไม้ละมือ ผู้ก่อการทั้งหลายนั่นแหละ รับหน้าที่กันไปคนละ 2-3 อย่าง

ถ้าโชคดีคลำทางถูก MVP ที่ลองตลาดไปได้รับผลตอบรับในทางที่ดี หน้าตาของผลิตภัณฑ์หรือบริการเริ่มชัดเจน ช่วงนี้แหละที่เขาให้ขบคิดเรื่อง business model ให้ตกผลึกได้แล้ว ว่า…

    …ใครคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา

    …กลุ่มลูกค้าเขาจะซื้อของเรา เพราะเราส่งมอบอะไรเป็นพิเศษให้กับเขา

    …วิธีการหารายได้ของเราจากลูกค้าจะมาได้ท่าไหน แบบไหน

    …เราต้องมีทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน (ทั้งของเราเอง และการหาพันธมิตร)

    …ทรัพยากรเหล่านั้น แพงแค่ไหน เราแน่ใจเรื่องคุณภาพได้อย่างไร

    …ท้ายสุด ทั้งหมดทั้งมวลเราจะมีกำไรได้เมื่อไร</ul>

    ช่วงนี้แหละครับ คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือ ช่วงวัยรุ่นของ startup ดีๆ นี่เอง เพราะเลือกผิด หลงทาง เสียเวลา กว่าจะกลับลำกันที เสียต้นทุน เสียพลังงาน เผลอๆ เสียความได้เปรียบทางการแข่งขันเสียอีก

    ช่วงนี้คือช่วงที่ต้องมโนให้ออกว่า ธุรกิจของเรานั้นขนาดหรือ scale ที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร ไอเดียธุรกิจที่อยู่รอดและไปได้ต้องมี scale หรือศัพท์ในวงการเรียกว่า scalable

    พูดง่ายๆ คือ ต้องตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่ระดับนึง มีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอควร ที่ให้เราทำมาหากินได้ไปพักใหญ่ๆ เมื่อฐานลูกค้าใหญ่พอแล้ว operation ของเราก็ต้องสามารถรองรับขนาดของตลาดที่ใหญ่ได้ตามไปด้วย เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เมื่อถึง scale นั้น เรายังสามารถส่งมอบคุณค่าได้ตามที่เราต้องการ และลูกค้าคาดหวัง ในขณะที่ต้นทุนนั้นไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น ถ้าธุรกิจที่ได้ scale จริงๆ ต้นทุนควรลดลง เมื่อลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก

    ไอ้ตัว scale นี่แหละ…หลุมพรางของเหล่าคนตัวเล็ก

    เราจะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจของเราควรจะมี scale เท่าไร

    minimum viable scale หรือ MVS เป็นศัพท์ที่ผมอุตริคิดขึ้นมาตอนที่ผมไปสอน #พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

    ที่บอกว่าอุตริคิดก็เนื่องจากว่า ตลอดชีวิตทำงานองค์กรใหญ่ ไม่เคยต้องมาคิดเรื่อง scale ที่เหมาะสมอะไรทั้งนั้น รู้กลุ่มเป้าหมาย คิดผลิตภัณฑ์ได้ แล้วลุยเลย แล้วเวลาคิดในองค์กรใหญ่ เราต้องคิดเผื่อเรื่อง scalable อยู่แล้ว คือพูดง่ายๆ คิดแบบว่าต้องทำยังไงถึงขายดีเทน้ำเทท่านั่นแหละ

    จุดที่ทำให้ผมมาคิดเรื่อง MVS เนื่องจากว่าน้องๆ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการล้วนเป็น SMEs รายเล็กทั้งสิ้น หลายๆ บริษัทมีพนักงาน 2-3 คนเท่านั้น และวัตถุประสงค์ของโครงการต้องการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อนำไปปฏิบัติให้ได้ผลเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นภูมิคุ้มกันให้กับทุกธุรกิจได้ เพียงแต่เราต้องรู้ตัวตนของเราเองว่าจะต้องการจะไปถึงที่ไหน และขนาดที่เหมาะสมกับเราคืออะไร

    ยิ่งคิด ยิ่งพิเคราะห์ ความคิดยิ่งตกผลึกว่า คนตัวเล็กมีสิ่งเดียวที่จะแข่งกับยักษ์ได้ คือ อัตลักษณ์ และความชัดเจนของตัวตนของธุรกิจนั้นๆ ต้องคมกริบ และมีคุณค่าที่กลุ่มเป้าหมายเรายินดีจะจ่ายให้

    การทำธุรกิจแบบให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน และสร้างคุณค่า จึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างการเติบโตอย่างมหาศาลทุกๆ ปี จนสูญเสียอัตลักษณ์ไปหมดสิ้น

    แต่…ควรเป็นธุรกิจที่มีขนาดที่เหมาะสม ที่เรายังสามารถรักษาอัตลักษณ์ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่เพิ่มพูนคุณค่าให้กับลูกค้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่างหาก

    นั่นคือ minimum viable scale ที่คนตัวเล็กทั้งหลายต้องคิดให้หนัก มันคือ scale ที่

    …ธุรกิจมีกำไรเลี้ยงตัวเองได้
    …ต้นทุนไม่พอกพูน เมื่อไต่ระดับจนถึง MVS แล้ว ต้นทุนต่อหน่วยควรต้องลดลง
    …อัตลักษณ์ชัดเจน เวลาลูกค้านึกถึงเรา เขามีภาพที่ชัดเจน แตกต่างจากคนอื่น และลูกค้ายินดีจ่ายเพิ่มอีกนิด กับความพิเศษเช่นนี้

    ตีพิมพ์ครั้งแรก : เฟซบุ๊กล้มยักษ์/Lom Yak