ThaiPublica > คอลัมน์ > SME บัญชีเล่มเดียว… ได้มากกว่าเสีย

SME บัญชีเล่มเดียว… ได้มากกว่าเสีย

5 พฤศจิกายน 2018


ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak

รัฐมนตรีคลังออกมายืนกรานว่า ให้แบงก์ใช้งบการเงินที่ยื่นสรรพากรในการพิจารณาเครดิตเท่านั้น​ โดยมีผลบังคับใช้ตามกำหนดการเดิมคือ​ 1 มกราคม​ 2562

แน่นอน… มีเสียงออกมาโวยวาย​ คัดค้าน​ ขอให้เลื่อนการใช้ไปก่อน​ เพราะจะมีผลกระทบกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน​ (ซึ่งก็คือเงินกู้จากแบงก์เป็นหลัก)

เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า​ งบการเงินของบริษัท​ SME​ นั้นเชือถือไม่ได้เลย​ ถ้าใช้งบสรรพากร​ ซึ่งจะโชว์รายได้ต่ำมาก​ ส่วนใหญ่เกินครึ่ง​ นั่นหมายความว่า ถ้ายึดเกณฑ์นี้​ มีหลายบริษัทมากที่จะโชว์ว่าไม่มีความสามารถที่จะจ่ายหนี้ได้…

ซึ่งขัดกับความเป็นจริง

ที่ผ่านมา​ แบงก์พยายาม​แก้ปัญหานี้​ โดยการใช้ bank statement เป็นตัวแทนของรายได้​ แต่ยังไงก็ไม่มีความแม่นยำ​ เพราะเงินเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา

ผลกระทบที่ตามมาคือ​ แบงก์ต้องขอเอกสารมากมาย​ เพื่อมาชนยอดกับ​ bank statement เสียเวลามากมาย​ ขณะที่​ SME​ ก็รำคาญใจ​ เพราะแบงก์ขอเอกสารเยอะ​ หลายรอบ

ผมขอสนับสนุนหลักการใช้บัญชีเดียวเต็มที่​ เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียเยอะมาก

1. การอนุมัติสินเชื่อจะรวดเร็วมากขึ้น

เมื่อเรื่องรายได้มีความโปร่งใส​ ชัดเจน​ การอนุมัติสินเชื่อก็ไม่ต้องพึ่งพา​ bank statement มากมาย​ ไม่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมเอกสารต่าง​ๆ ​ ไม่ว่าจะเป็น​ invoice แบบ ภ.พ.30​ กระทั่ง​ PO​ เพื่อมาพิสูจน์ยอดรายได้

การอนุมัติสินเชื่อจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมหาศาล​ ระยะเวลาอนุมัติจะสั้นลง​ ตอบสนองความต้องการของ​ SME​ ได้ดีขึ้น

2. ต้นทุนโดยรวมจะลดลง

ทุกวันนี้​ SME​ ไม่รู้หรอกว่า​ต้นทุนของความไม่โปร่งใสนั้นสูงขนาดไหน​ ไหนจะต้นทุนในการอนุมัติของแบงก์​ เพราะต้องใช้เวลาเยอะเกินควรในการตรวจสอบเอกสาร​ ที่สุดท้ายแล้วจะสะท้อนมาในรูปแบบดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย

ไหนจะต้นทุนการเสียโอกาสของ​ SME​ เอง​ ที่ไม่ได้สินเชื่อตามเวลาที่ต้องการ​ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไป​

3. มีทางเลือกของหลักประกันมากขึ้น

หากแบงก์เห็นสุขภาพทางการเงินของธุรกิจชัดเจน​ ความจำเป็นในการขอหลักประกันก็จะลดระดับความสำคัญลงไป​ ในทางทฤษฎี​ ธุรกิจที่มีการเงินแข็งแรง​ จะมีความยืดหยุ่นในการเจรจาให้หลักประกัน​ อันเนื่องมาจากโอกาสในการเป็นหนี้เสียน้อยกว่า​ ดังนั้นความจำเป็นของหลักประกันจะลดความสำคัญลง

หรือ​หากยังใช้หลักประกันเดิม​ ก็จะมีความยืดหยุ่นที่จะได้วงเงินมากขึ้น

4. ทางเลือกของบริการทางการเงินที่มากขึ้น

เมื่อความโปร่งใสเกิดขึ้น​ แบงก์แต่ละแห่งจะมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อ​ SME​ ผลิตภัณฑ์​สินเชื่อ​ SME​ จะมีความหลากหลายมากขึ้น​ เพราะทุกแบงก์ต้องแข่งกันเข้าถึง​ และตอบสนองให้ดีขึ้น​ ตลาดจะเปลี่ยนจากตลาดของผู้ขาย​ เป็นตลาดของผู้ซื้อ

ผลิตภัณฑ์​ทางการเงินจะดีขึ้น​ มีความหลากหลายมากขึ้น​ กระทั่งเปิดโอกาสให้​ Fintech​ เกิดขึ้นได้

ท้ายสุด​ ดอกเบี้ยควรต้องลดลง​

แต่แน่นอน… การจะได้ประโยชน์ระยะยาวข้างต้น​ ต้องมีการยอมเสียประโยชน์ระยะสั้น​ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน​ ทำให้เกิด

แทนที่จะออกมาโวยวาย​ สิ่งที่ควรต้องทำกันคือ​ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะทำอย่างไรให้เกิดการปรับตัว​ โดยให้มีผลกระทบน้อยสุด

อีกแค่​ 2 เดือนเท่านั้นที่กฎระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้​ ผมยังไม่เห็นมาตรการในการนำไปปฏิบัติที่ชัดเจน​ เพื่อให้เราเดินไปตามเส้นทางนี้

สิ่งที่เห็นคือ​ การบังคับใช้​ แต่ไม่มีมาตรการรองรับในช่วงเปลี่ยนผ่าน​ ที่ผมกลัวที่สุดคือ​ กฎระเบียบถูกนำไปปฏิบัติแบบ​ไม่จริงจัง​ เพราะไม่ได้เตรียมการรองรับผลกระทบ​ จึงย่อหย่อน​ ไม่มีมาตรฐานที่เป็นธรรมต่อทุกคน​

สุดท้าย… จะค่อยๆ ​ จางหายไป​ แล้ว​กลับไปสู่โลกเดิม

ต้องใจแข็งครับ​ เดินหน้า​เต็มที่​ โดยเตรียมมาตรการรองรับให้ดี​ อย่าให้ต้องกลับไปยืนอยู่ที่เดิม​เลย​

นวัตกรรมทางการเงินจะเกิดได้​ ความโปร่งใสต้องมาก่อนครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/LomYak/