ThaiPublica > คอลัมน์ > ต้องรู้เท่าทันอะไรในยุคหน้า

ต้องรู้เท่าทันอะไรในยุคหน้า

7 พฤศจิกายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ไม่เพียงแต่ทักษะใหม่ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิต “อยู่รอด อยู่ดี” ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้เท่านั้น ความรู้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่อยู่นอกเหนือด้านเทคนิคและวิชาการ เพราะมนุษย์ยังคงเป็น “สัตว์สังคม” ที่จำเป็นต้องใช้ความความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในการดำเนินชีวิต

ผู้เขียนขอเรียกลักษณะของการมีความรู้ที่จำเป็นดังกล่าวว่า “รู้เท่าทัน” เพราะมันสื่อถึงการไล่ให้ทัน คนไทยที่ต้องการ “อยู่รอด อยู่ดี” จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันในเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1) รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดเดาไม่ได้ นักคิดจำนวนมากแบ่งลักษณะของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป ผู้เขียนขอใช้การแบ่งเป็น 5 เรื่องดังนี้ (ก) AI (ปัญญาประดิษฐ์) (ข) Algorithm (ค) IoT (ง) 5G (จ) Quantum Computing ซึ่งหมายถึงวิธีการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช้การโค้ดข้อมูลในระบบ 0 และ 1 ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบบใหม่จะทำให้สามารถทำงานได้เร็วกว่า หลากหลายกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกอย่างมหาศาล เชื่อว่าจะเริ่มมีการใช้ในปี 2022 เป็นต้นไป

ถ้าเราไม่รู้เท่าทันก็มิได้เห็นความจำเป็นในการปรับตัวจนอาจตกงาน รู้สึกต่ำต้อยเพราะตามโลกไม่ทัน เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในชีวิตอีกหลายอย่างมากมาย

2) รู้เท่าทันชีวิต ชีวิตมนุษย์นั้นเปราะบางมากยิ่งขึ้นในโลกสมัยใหม่ ชีวิตที่เป็นปกติมีความสุขอาจยุ่งยากได้ เช่น (ก) ถูกปลดจากงานเพราะเทคโนโลยีมาแทนที่ (ข) เกิดความเดือดร้อนในชีวิตจากการโพสต์เพียงข้อความเดียวในโซเชียลมีเดีย (ค) ตกอยู่ในกับดักของการชักหน้าไม่ถึงหลัง ถึงจะมีเงินไม่น้อยแต่ก็เป็นหนี้ไม่รู้จบจนรายได้ไม่พอรายจ่ายเพราะถูกปลุกเร้าให้บริโภคโดยสื่อหลากหลายชนิดอยู่ตลอดเวลา (โทรทัศน์เคเบิลที่รับทางจานดาวเทียมซึ่งคนไทยจำนวนมากใช้ เกือบทุกช่องที่มีอยู่นับร้อยมีแต่โฆษณาสินค้าเกือบตลอดเวลา)

ทุกคนมีชีวิตเดียว อายุ 18 หรือ 25 หรือ 40 เพียงครั้งเดียว จึงจำเป็นต้องทะนุถนอมอย่างยิ่ง การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิตได้ (ลองถามเพื่อนที่มีคู่ชีวิตผิดพลาดดูก็ได้) สร้อยคอทองคำมีค่าไม่กี่หมื่นบาทยังดูแลรักษาทะนุถนอมเป็นอย่างดี ชีวิตของเรามีค่ามากมายที่ตีเป็นเงินไม่ได้ (ลองประเมินง่ายๆ ว่ายอมรับเงินเท่าใด แลกกับการตัดมือข้างเดียวก็คงพอเห็นภาพ นี่เป็นเพียงมือข้างเดียว มิใช่ชีวิต) แล้วจะไม่ใส่ใจเป็นพิเศษได้อย่างไร

3) รู้เท่าทันใจตนเอง นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทดลองและให้ข้อสังเกตมากมายในปัจจุบันว่ามนุษย์มิได้เป็นคนมีเหตุมีผลจนตัดสินใจได้ถูกต้อง แต่มีความเอนเอียงในหัวใจอย่างมาก อีกทั้งมีความสามารถในการปรับตัวได้สูงจนทำให้อาจเกิดปัญหาได้

ไม่มีสถานการณ์ใดที่มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการตัดสินใจ มนุษย์จำเป็นต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่พอมี บางครั้งก็มีมากพอควร บางครั้งก็มีน้อย และตรงจุดนี้แหละที่ความเอนเอียงเข้ามาครอบงำ เช่น ชอบที่จะตัดสินใจแบบที่เรียกว่า Confirmation Bias กล่าวคือมีข้อสรุปอยู่แล้วในใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพียงแต่ต้องการข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนการตัดสินใจของตนเองเพื่อความสบายใจ (พาคู่รักไปหาพระเพื่อถามว่าเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ คงมีพระน้อยรูปที่จะกล้าตอบว่าไม่ใช่ การพาไปก็คือการตัดสินใจแล้ว เพียงแต่อยากได้ยินคำตอบที่ถูกใจจากพระ) คนส่วนใหญ่มักขอคำแนะนำเพื่อการตัดสินใจในทำนองนี้ มีน้อยคนที่ขอคำแนะนำจากหลายคน หลายความเห็น เพื่อนำมาไตร่ตรองและตัดสินใจ การตัดสินใจในระดับชาติชนิดคอขาดบาดตายในลักษณะ Confirmation Bias เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างมาก

การปรับตัวได้ดีของมนุษย์เป็นเรื่องดีหากเกี่ยวกับการสูญเสีย แต่ที่ต้องระวังก็คือเรื่องการบริโภค มนุษย์นั้นเมื่อได้ของถูกใจใหม่ ความพอใจและความสุขก็จะพุ่งขึ้น แต่ไม่ช้าก็จะกลับมาสู่ระดับปกติตามสัญชาตญาณการปรับตัว หากไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ก็จะต้องแสวงหาของใหม่จากการบริโภคอย่างไม่รู้จบจนเข้าสู่วงจรเป็นหนี้ (ถ้าใช้บัตรเครดิตก็จะเข้าลักษณะมีบัตรรูปแพะและแกะ กล่าวคือจับมันชนกันไปเรื่อยอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างใด)

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือมนุษย์เลือกที่จะรับรู้รับทราบตามที่ตนเองเชื่อและต้องการ กล่าวคือเราจะรักจะชอบใคร หรือสิ่งใดเป็นการเลือกของเรา ศาสนาของเราถูกต้องและดีเสมอ (ที่จริงพ่อแม่เลือกศาสนาให้เรา) ลูกเราน่ารักกว่าใคร ตัวเราเองไม่มีอะไรบกพร่อง หลวงพ่อที่เรานับถือสุดยอดที่สุดไม่มีอะไรบกพร่อง ยามรักเขาทำอะไรก็ดีและถูกหมด ฯลฯ เราจะรับฟังเรียนรู้แต่เฉพาะสิ่งที่สนับสนุนความเชื่อและความชอบของเรา อะไรที่ตรงข้ามเราก็โยนทิ้ง ดังนั้น เมื่อจุดอ่อนของมนุษย์เป็นเช่นนี้ เราจึงต้องรู้อย่างเท่าทัน

4) รู้เท่าทันมนุษย์ด้วยกัน การศึกษาไทยสอน “วิชา” หนักหน่วง แต่สอน “ชีวิต” ไม่มาก เด็กจำนวนมากจึงดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตไม่เก่ง รู้ว่าคนอาเซียนแต่ละประเทศมีดอกไม้ สีประจำชาติและธงชาติอย่างไร แต่มีความสามารถในการคิดและแก้ไขปัญหาไม่สูงจนทำให้หลายคนไม่รู้เท่าทันเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่รู้จักคบเพื่อน อ่านคนไม่ออก และบ่อยครั้ง “อ่านตนเอง” ไม่ออก ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร เพราะชีวิตอยู่ในการเรียนมากจนมิได้เรียนรู้ชีวิต

พ่อแม่จำนวนมากก็มิได้ให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้ชีวิต เข้าใจว่าเรียน “วิชา” สำคัญกว่าอยู่บ้านโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ในการช่วยการอยู่ร่วมกันของครอบครัว (ลูกไม่ต้องทำอะไร ไม่ว่าซักผ้า ทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ก็ไม่ต้อง ให้เรียนสูงที่สุด มีเวลาแต่เรียนอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงลูกก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเล่นเกม หรือเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไร้สาระ) ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กอยู่ในโลกที่ไม่เป็นจริง ไม่เข้าใจชีวิตจริงของความสัมพันธ์ของมนุษย์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ “อ่านคน” ไม่เป็น จนไม่รู้เท่าทันคนอื่น ถูกชักนำ ถูกหลอก ไม่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนอื่น และของสถานการณ์จนมีปัญหาเมื่อออกไปทำงานเพราะไม่เคยฝึกฝนเรื่องการ “อ่านคน” มาก่อน

5) รู้เท่าทันการต้องมีคุณค่าของมนุษย์ (human values) ในโลกที่ซับซ้อนและสับสนอีกทั้งชีวิตก็เปราะบาง สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ “อยู่รอด อยู่ดี” ได้ก็คือการมีคุณธรรมประจำใจ การชื่นชมศรัทธาความดี ความงาม และความจริง ถ้าไม่มีหลักการที่มั่นคงประจำใจเปรียบเสมือนมวยหลัก (ตรงข้ามก็คือมวยวัด ที่ชกไปอย่างไม่มีความรู้และหลักที่ต้องจำ รับรองถูกน็อกเสมอ) ไม่ช้าไม่นานความเดือดร้อนต้องมาเยือนชีวิตจนหาความสุขและความก้าวหน้าในชีวิตได้ยาก แต่ถึงแม้จะมีหลักชัยที่ดีแล้ว (“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”) ระหว่างการเดินทางก็จำต้องมีหลักการปฏิบัติประกอบด้วย เช่น การมี civility (การมีมารยาท มีความสุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติคนอื่น) การมีวาจาสุภาพไม่ก้าวร้าว มีความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตา ความเป็นมิตร การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ มีความรู้สึกร่วมเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น การมีจิตอาสา จิตสาธารณะ ฯลฯ

การที่มนุษย์มีชีวิตเดียว อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎศีลธรรมของสังคม อีกทั้งต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิต ฯลฯ จึงทำให้การ “อยู่รอด อยู่ดี” มิใช่เรื่องง่ายแต่ก็มิใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถ้าใคร่ครวญนำไปปฏิบัติและมีหลักการในชีวิตที่ดี

ตีพิมพ์ครั้งแรก : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 พ.ย. 2561