ThaiPublica > เกาะกระแส > หมอนักวิจัยหนุนปลดล็อก “กัญชา” เพื่อการแพทย์ ผู้ป่วยไทยใช้รักษาโรคจำนวนมาก แต่นำเข้าราคาแพง – ซื้อขายผิดกฎหมาย

หมอนักวิจัยหนุนปลดล็อก “กัญชา” เพื่อการแพทย์ ผู้ป่วยไทยใช้รักษาโรคจำนวนมาก แต่นำเข้าราคาแพง – ซื้อขายผิดกฎหมาย

11 พฤศจิกายน 2018


ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8a/Cannabis
_Sativa_Querschnitt.JPG/1024px-Cannabis_Sativa_Querschnitt.JPG

จากกรณีหลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ประเทศไทยกัญชายังเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5  ห้ามเสพ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทว่า ล่าสุดมีความพยายามทบทวนปรับแก้กฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการเฉพาะ และชี้แจงในที่ประชุม สนช. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 มีมติให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่องพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าว และเตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

ผู้ป่วยไทยใช้กัญชารักษาโรคจำนวนมาก

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย หนึ่งในแพทย์ที่สนใจและให้การผู้สนับสนุนปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ รวมทั้งเป็นผู้จัดอบรม “การแพทย์แคนนาบินอยด์และกัญชาการแพทย์” ไปแล้ว 5 รุ่น มีผู้สนใจเข้าอบรมประมาณ 500 คน เปิดเผยกับไทยพับลิก้าว่า สถานการณ์การใช้กัญชาของคนไทยเพื่อรักษาโรคในปัจจุบันเป็นภาวะระบาดอย่างรุนแรง โดยได้กัญชามาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ 1. นำเข้าจากต่างประเทศ และ 2. ซื้อขายจากการผลิตในไทย

ทั้งนี้ คนที่ตัดสินใจใช้กัญชารักษาส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่มีการสิ้นสุดการรักษา จึงหันมาใช้กัญชารักษาแทน ที่ผ่านมามีคนที่อยู่ในวงการประมาณการว่ามีคนใช้กัญชาเกินหลักล้านคน และมียอดการสั่งซื้อยาที่อยู่ในแวดวงจำนวนมาก แต่ไม่ได้ระบุว่าประมาณการจากอะไร อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ติดตามสำรวจผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาตนเองใน 3 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน กลุ่มโรคสมองพิการ กลุ่มโรคมะเร็ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้กัญชาในการรักษา

ซื้อขายผิดกฎหมาย-นำเข้าราคาแพง

พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นยารักษาโรคมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีการนำเข้ามาในราคาแพง เช่น ผู้ป่วยบางรายจ่ายสัปดาห์ละหลักแสนบาท  ส่วนที่ผลิตในไทยมีการซื้อสัปดาห์หรือเดือนละ 3-4 หมื่นบาท แต่ต้องเสี่ยงกับคุณภาพที่ได้มา และไม่รู้ว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ ต้องพิจารณาผลดีผลเสียกันเอาเอง เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ

“ค่าใช้จ่ายสูงมากยังไม่พอ แต่สิ่งที่ได้มาไม่รู้ว่าคุณภาพคืออะไร มีการปนเปื้อนอะไรหรือไม่ เป็นพิษอะไรมั้ย เพราะพบว่ามีบางรายทำน้ำมันสกัดกัญชาโดยใช้เมทานอลจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไม่รู้ว่าแอลกอฮอล์มีชนิดที่กินได้และกินไม่ได้ คนไข้ก็ตัวเหลือง ตับเหลือง ตาเหลือง ซึ่งเป็นปัญหา นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ซื้อมาแบบผิดกฎหมาย ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกแบบใต้ดิน แล้วมีการเพิ่มราคากัญชา ชาวบ้านก็ตกเป็นเหยื่อ” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

หนุนปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี พญ.อรพรรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์สามารถพัฒนากัญชาให้มีคุณภาพได้ ตรวจสอบการปนเปื้อนได้ หรือพัฒนาต่อยอดกัญชาเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนไทยได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจทำใดๆ ในเรื่องดังกล่าว ปล่อยให้คนเสี่ยงกับกัญชาผิดกฎหมายและไม่ได้คุณภาพ จึงอยากเรียกร้องให้ประเทศไทยมีวาระแห่งชาติเรื่องกัญชาทางการแพทย์ โดยใช้มาตรา 44 ปลดล็อกกัญชาเพื่อให้คนไทยและประเทศได้ประโยชน์

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเจ็บป่วย ความเป็นความตาย คุณภาพชีวิตของคน มาทำบุญด้วยกัน ด้วยการที่ทำให้ประเทศไทยมีวาระแห่งชาติเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ปลดล็อกกัญชา ขอให้ปลดจริงๆ ให้คนไทยได้ประโยชน์ เพราะประเทศไทยเป็นพื้นถิ่นของกัญชา แต่ทุกวันนี้กลายเป็นตลาดกัญชาของประเทศอื่น แต่ถ้าพลิกสถานการณ์ กล้าตัดสินใจ ใช้ความสามารถในการควบคุมไม่ให้ทำผิดได้ เช่น ควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้  แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าการตัดสินใจ จนมีข้อสงสัยในหมู่นักวิชาการบางส่วนว่าการที่กัญชามีสรรพคุณบางส่วนเป็นที่ยอมรับและเป็นผลดี ไปขัดประโยชน์ใครหรือธุรกิจค้ายาขนาดใหญ่หรือไม่”

พญ.อรพรรณ์ กล่าวต่อว่าการจะได้ประโยชน์เรื่องนี้ต้องมีผู้รู้และเข้าใจ เตรียมสิ่งที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะกับผู้ที่จะสั่งใช้ยากัญชา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ทำให้คนเหล่านี้มีความรู้เฉพาะทางขึ้นมาในเรื่องการแพทย์แคนนาบินอยด์ แล้วทำการศึกษาวิจัยแบบติดติดตามผู้ป่วยไปข้างหน้าอย่างเข้าใจเป็นระบบ เพราะปัจจุบันมีนักวิจัยในไทยที่เข้าใจเรื่องนี้เกินกว่า 500 คนแล้วที่ผ่านการอบรม แต่ติดอยู่อย่างเดียวคือยังไม่มีใครตัดสินใจ

“อยากวิงวอนว่าถ้าใช้มาตรา 44 ในกรณีนี้ ที่ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ตน แต่มันเป็นประโยชน์สาธารณะ  กัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าทางยาและสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มันจะพลิกประเทศไทยได้ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับที่มีคุณภาพ เพราะเรามียาจากกัญชาที่มีคุณภาพและควบคุมจริงๆ แต่เราต้องรีบตัดสินใจ” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย(ขวา) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา(ซ้าย)

ปลดล็อกกัญชาเพื่อวิจัย-ยารักษา ไม่ใช่สันทนาการ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา หนึ่งในแพทย์ผู้สนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าว่า สิ่งที่เราเสนอให้มีการปลดล็อกกัญชา  ไม่ได้ต้องการให้ใช้อย่างเสรี แต่ต้องการให้มีการวิจัยในคน เพื่อให้สามารถผลิตยาสำหรับการรักษาโรคได้  ไม่ได้ให้ใช้เพื่อสันทนาการ เพราะหากจะใช้อย่างนั้นต้องมีกฎหมายที่เข้มงวด มีการใช้บังคับกฎหมายที่เป็นจริงเหมือนกับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู แต่เราเชียร์เพื่องานวิจัย เพื่อให้ได้มาเป็นยารักษาโรค

“เราไม่ได้เรียกร้องให้ปลดล็อกกัญชาเพื่อสันทนาการเหมือนต่างประเทศ เราต้องการแค่ให้อนุญาตเพื่อการปลูก วิจัย เพื่อใช้ในการรักษาโรคเท่านั้น” พญ.เชิดชู กล่าวย้ำ

กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย

จากหนังสือการแพทย์แคนนาบินอยด์และกัญชาการแพทย์ เล่ม 4 พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ เป็นบรรณาธิการ ระบุว่า กัญชาเป็นพืชที่พบขึ้นในภูมิประเทศของไทยทั่วไป โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในตำรับยาไทยมาช้านาน และใน 3 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาคุณสมบัติของ THC ที่ได้ในกัญชาในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์ท่อน้ำดีในตับ โดย นพ.อิสระ เจียระวิบูลย์ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี

และรายงานผลการวิจัยของ Surang Leelawat  มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า THC ที่ความเข้มข้นต่ำ ยับยั้งการรุกรานของเซลล์มะเร็ง และที่ความเข้มข้นสูง ทำให้เซลล์มะเร็งตายได้แบบ apoptosis ซึ่งรายงานการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นานาชาติแล้วในปี 2559

และมีผลการสำรวจทางคลินิกผู้ป่วยโรคเบาหวาน สมองพิการ และผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปวด ที่ใช้สารสกัดกัญชาเพื่อการรักษาตนเอง โดย พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ 2560 พบว่ามีผลการศึกษาที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ดี กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการดำเนินการจับผู้ผลิตและผู้เสพอยู่เนืองๆ ในปัจจุบัน แม้ว่าจะใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ได้ แต่ผู้สนใจไม่สามารถทำการวิจัยได้โดยปลอดภัยต่อตัวนักวิจัย จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา

“ที่ทำวิจัยในประเทศอยู่ตอนนี้ เป็นกัญชาที่ไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ต้องไปติดต่อขอของกลางที่ตำรวจไปจับมาได้ ส่วนการผลิตมีกฎหมายอนุญาตให้ผลิตได้ เป็นกฎกระทรวง แต่ยังไม่เคยมีใครอนุญาต” พญ.อรพรรณ์ ระบุ

การใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค

จากหนังสือระบุด้วยว่า ตามรายงานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พบว่าโรคจากความเสื่อม เบาหวาน มะเร็ง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ อาจบรรเทาและบำบัดให้ดีขึ้นได้ด้วยสารจากพืชกัญชาที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) เช่น CBD (Cannabidiol), และ THC (Tetrahydrocannabinol)

และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ส่งเสริมการวิจัยทางชีวภาพจากวัตถุชีวภาพ โดยเฉพาะสมุนไพรซึ่งกลายชนิดเป็นแหล่งที่มาของยาแผนปัจจุบัน และพบว่ากัญชาได้รับการวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในระดับโมเลกุล ดีเอ็นเอ และทางคลินิก  หลายประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา (หลายมลรัฐ) อิสราเอล ออสเตรเลีย ได้ตรากฎหมายให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาได้ภายใต้การสั่งการรักษาของแพทย์

“มีคนต้องการในองค์ความรู้เรื่องนี้จำนวนมาก และหลักวิจัยซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าเปเปอร์ทั่วโลก และยังมีข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกว่า CBD ไม่เป็นสารที่มีผลต่อจิตประสาท  ดังนั้น ที่เราเรียกร้องให้มีการวิจัย เรากำลังพูดถึงการวิจัยคุณภาพในคน ในกลุ่มโรคที่เป็นมาตรฐานจริงๆ และต้องการผลิตสารแคนนาบินอยด์ที่มีความชัดเจน” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

ข้อเสียของกัญชาที่ต้องควบคุม

อย่างไรก็ตาม พญ.อรพรรณ์ ระบุว่า กัญชามีข้อเสียที่ต้องพิจารณาเช่นกัน หากเสพในปริมาณมาก เพราะมีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการรับรู้ของคนในเรื่องเวลาและสถานที่ อาจจะทำให้คนรับรู้เวลาผิดไป เช่น ระยะเวลา 10 นาที แต่รู้สึกเหมือนเป็น 1 ชั่วโมง หรือเข้าใจว่าล่องลอยอยู่บนอากาศ เกิดภาพหลอน เห็นสะพานเป็นไดโนเสาร์

ส่วนในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อความจำเสื่อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตระหนัก ไม่ละเว้นที่จะไม่พูดถึง และเห็นว่าต้องมีการควบคุมอย่างถูกต้อง ดังนั้นเวลานี้เป็นจังหวะดีที่ประเทศไทยต้องตัดสินใจเพื่อจะได้นำข้อดีและข้อเสียจากการศึกษาวิจัยมาพัฒนาหรือปรับปรุงได้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะกระทบกับสาธารณะ เราถึงบอกว่าต้องมีมาตรการควบคุม โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะมีบางประเทศปล่อยกัญชาเสรี ถูกนำไปบรรจุอยู่ในขนม เด็กก็ติดกัญชาที่อยู่ในขนม ไม่ไปโรงเรียน ครูก็ห่วงว่าไอคิวจะต่ำลง ซึ่งก็เป็นปัญหาจริงๆ หรือบางรายใช้ในปริมาณมาก เพราะเข้าถึงกัญชาได้ง่าย”

พญ.อรพรรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ กำลังเขียนโครงการวิจัยเรื่องยาการแพทย์แคนนาบินอยด์จากพืชสมุนไพรกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศ

โครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและวัดประสิทธิผลความปลอดภัยของยาการแพทย์แคนนาบินอยด์จากพืชสมุนไพรกัญชา รักษาโรคที่คนไทยประสบในประเภทยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย รักษาโรคลมชัก พาร์กินสัน ออทิซึม มะเร็ง ความเสื่อมของระบบสมองและประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติของเมตาบอลิซึม เช่น เบาหวาน การป่วยด้วยอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ และกลุ่มโรคคลินิเคิล หรือโรคขาดเอ็นโดแคนนาบินอยด์

“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ชัด เราจะสร้างยา แต่จะทำได้ต้องมีขั้นที่ 2 เพื่อสกัดวิเคราะห์ แยกสารออกฤทธิ์ประเภทแคนนาบินอยด์และไฟโตเคมิคอล (Phytochemical) จากพืชสมุนไพรกัญชา เพื่อใช้ทำยาพืชสมุนไพรสายพันธุ์พื้นถิ่นประเทศไทย ซึ่งเรายังไม่มีความรู้ ต้องศึกษา รวมทั้งสายพันธุ์ที่พัฒนาในทางสากลแล้ว เพื่อสร้างองค์ความรู้และต่อยอดสำหรับผลิตยา ซึ่งมีนักวิจัยที่สนใจร่วมโครงการจำนวนไม่น้อย”