ThaiPublica > คนในข่าว > “มหาวิทยาลัยมหิดล” ประสานเทคโนโลยีกับการเรียนแพทย์ – มั่นใจ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ถูกทดแทนจากเทคโนโลยีได้ยาก

“มหาวิทยาลัยมหิดล” ประสานเทคโนโลยีกับการเรียนแพทย์ – มั่นใจ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ถูกทดแทนจากเทคโนโลยีได้ยาก

20 พฤศจิกายน 2018


ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

จากเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน แนวทางที่คนส่วนใหญ่ให้ฉันทามติร่วมกันว่าการพัฒนาประเทศควรต้องมุ่งเน้นผ่านการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลในปัจจุบัน แต่เราจะเดินหน้าอย่างไรในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคุณภาพทุนมนุษย์ที่ไม่สามารถผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี่

รวมทั้งมหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากเพราะโครงสร้างประชากรที่เด็กเกิดน้อย ขณะที่มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนมีจำนวนมาก เกิดภาวะการแย่งชิงลูกค้า(นักศึกษา) ทำให้บางมหาวิทยาลัยเร่งปรับแนวทางการให้บริการทางการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการเรียนการสอนสาขาวิชาที่ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก เพื่อรองรับการเปลี่ยนใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

วิชาแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพถือว่าเป็นอีกสาขาหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงว่าอาจจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วน เช่น การช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังผ่านข้อมูลภาพถ่ายจำนวนมากของ cutis.ai หรือการช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอด ซึ่งค่อนข้างจะขัดกับหลักมาตรฐานสากล ในปัจจุบันที่วิชาแพทย์หรือการรักษาโรคควรจะต้องมีลักษณะต้องพบเจอกันมากกว่าการรักษาผ่านเทคโนโลยีหรือผ่านการส่งข้อมูลเพียงบางส่วน

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยและสั่งสมชื่อเสียงทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาอย่างยาวนาน ถึงอนาคตและทิศทางของการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพว่าจะถูกปั่นป่วนจากโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนอย่างที่สาขาวิชาอื่นๆ กำลังเผชิญมากน้อยเพียงใด

Digitalization ตัดวงจรคนกลาง เชื่อมโยงโลก

ศ. นพ.บรรจง กล่าวย้อนไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปัจจุบันคือเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการเกิดสิ่งที่เรียกว่า “digitalization” การข้ามพรมแดนที่สามารถกระจายตัวทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และสิ่งตามมาที่สำคัญคือการตัดวงจรคนกลาง หรือ disintermediation ทำให้ผู้ผลิตเชื่อมโยงไปถึงผู้บริโภคทันที ผู้ผลิตสิ่งของจำหน่ายส่งไปยังผู้รับสินค้าโดยตรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ใช้เวลาสั้นลง ใช้ผู้คนที่เกี่ยวข้องน้อยลง งานต่างๆ ที่เดิมเคยมีบทบาท ที่เคยอยู่ตรงส่วนกลาง ก็จะหายไปบางส่วน ถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์บางส่วน ฉะนั้น งานบางส่วนที่ทำด้วยมนุษย์ถูกทดแทนด้วยเครื่องมือ งานบางอย่างที่เคยมีคนกลางก็ถูกตัดออก

สิ่งที่สำคัญที่ตามมาอีกประการคือเปลี่ยนแปลงลักษณะของการลงทุนของโลก เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลถูกผลิตแล้วมันไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ต่างจากการผลิตลักษณะกายภาพที่ต้องเน้นจำนวนมากๆ หรือ mass production ยกตัวอย่างเช่น เครื่องเล่นแผ่นซีดีที่น้อยลง เพราะว่าปัจจุบันเวลาที่ศิลปินแต่งเพลง เขาอัดเป็นดิจิทัลขึ้นมาแล้วก็ไปวางตรงแพลตฟอร์มของเขา เมื่อผู้บริโภคสมัครเป็นสมาชิกจึงมาดาวน์โหลด ไม่จำเป็นต้องมีแผ่นซีดีที่เป็นกายภาพ ไม่ต้องมีร้านขายแผ่นซีดี วงจรคนกลางนี้ก็หายไป

“ดังนั้น ถ้าดูลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของโลก มันมีลักษณะของความเป็นโลกาภิวัตน์ หมายความว่าเวทีนี้ไม่ใช่เวทีเฉพาะในเขตพื้นที่ของคุณแล้ว มันเป็นเวทีสากลหมด ทุกคนเล่นเวทีเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม แล้วสิ่งที่ลักษณะกายภาพมันเป็นดิจิทัล ซึ่งปริมาณของจำนวนการผลิตมากๆ ไม่ได้เป็นตัวแปรจากจำนวนวัสดุอีกแล้ว มันเป็นลักษณะของจำนวนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการมากแค่ไหน การลงทุนเท่าเดิมแต่การค้าเป็นรูปแบบของการที่คนมาใช้สินค้าของคุณอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้เป็นสินค้านับเป็นแผ่นๆ เป็นชิ้นๆ แต่ถ้าหากคุณมีแพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก คุณลงทุนเท่าเดิมสมาชิกเข้ามาจำนวนมหาศาล อย่าง Facebook หรือ Google มันก็มีลักษณะของรายได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยโดยที่ไม่ต้องเพิ่มจำนวนการลงทุนหรือวัสดุเหมือนสินค้าที่เราเคยซื้อๆ ทีนี้งานบางส่วนหายไปก็จริง  แต่ว่าก็มีงานบางส่วนที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากนวัตกรรมที่ต่อยอดไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ลักษณะและสมดุลของงานที่เกิดขึ้นใหม่กับที่หายไปอาจจะไม่พอดีกัน แต่ไม่ใช่ว่างานหายไปหายไปหมด แต่คนที่เคยทำงานเดิมๆ จะมีโอกาสหลุดจากวงจรของการทำงานเดิม เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะไปทำอะไร? แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่เคยเห็นงานเก่าๆ จะทำอย่างไร”

เด็กรุ่นใหม่จะสร้างงานได้อย่างไรในโลกยุคใหม่

คำถามต่อไปที่สำคัญคือ งานเกิดขึ้นใหม่แบบนี้ ใครจะได้งาน? คำตอบคือคนที่จะได้สิ่งเหล่านี้คือคนที่คิดใหม่ คนที่คิดรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ลักษณะของการใช้บัตรหรือเขียนเข้าไปจองโรงแรมรูปแบบเดิมๆ แล้ว บางคนใช้คำว่าปั่นป่วน หรือ disruptive ก็แล้วแต่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าใจว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เน้นหนักเรื่องกายภาพเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นรูปแบบของการอยู่ในพื้นที่จำเพาะ เป็นโลกาภิวัตน์ เวทีสากล คนรุ่นใหม่จะต้องเป็นพลเมืองของโลก ซึ่งต้องเข้าใจบริบทของสังคมโลก แล้วต้องมีความรู้ความสามารถเรื่องเกี่ยวกับดิจิทัล แล้วจะมีงานใหม่เกิดขึ้นได้ ถ้าคุณคิดอะไรใหม่ๆ ได้ ก็คือความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพราะว่าทุกอย่างในปัจจุบันเป็น knowledge-based economy และสุดท้ายต้องสื่อสารกับโลกได้ ต้องมีความเป็นสากล ต้องพูดภาษาอังกฤษได้

เราในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา ที่ผลิตบัณฑิตจบออกไป เราก็ต้องติดอาวุธให้เขา อันแรกคือความเป็นสากล คุณต้องเรียนภาษาที่จะสื่อสารกับโลก ภาษาอังกฤษต้องเข้มแข็ง หรือภาษาจีนที่คุณจะต้องใช้ต่อไป เรียกว่าภาษาหลักที่จะมาเป็นผู้นำในโลกใบนี้ ต้องเรียนรู้ ส่วนภาษาอื่นๆ ก็ไม่ว่ากันอาจจะรองๆ ลงไป ถ้าหากว่ามีได้หลายภาษามันก็เป็นมูลค่าเพิ่มของคนคนนั้น

ด้านที่สองความรู้ความเข้าใจดิจิทัล ต้องเข้าใจว่าบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้มันเปลี่ยนไปในด้านการใช้แอปพลิเคชันเยอะแยะเลย โดยเฉพาะเรื่อง process innovation ใช้แอปในการสื่อสาร ในการควบคุม ติดตาม หรือทำเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้เยอะแยะไปหมด ถ้ามีความารู้เหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น หรือสร้างงานใหม่ๆ

ตรงนี้มันจะไปผูกโยงกับด้านที่สามคือความคิดริเริ่มหรือนวัตกรรม ความคิดที่จะประยุกต์สิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่มาสร้างงานใหม่ ในบริบทของรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นเราจะผลิตคนออกไปทำงานเดิมๆ งานที่อาจจะถูกกลืนไปหรือทำลายไปด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามา งานใหม่ที่เกิดขึ้นทำลายล้างงานเก่า

ในทางปฏิบัติ บทบาทของสถาบันการศึกษาจะต้องสร้างให้เขามีทักษะเหล่านี้ เป็นคนช่างคิดช่างสร้าง ให้โอกาสในการทดลองในการติดอาวุธให้เขาเป็นคนไม่ยึดติดกับสิ่งเก่าๆ ให้ฝึกปรือในการใช้ความคิดริเริ่ม ลองผิดลองถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าไปลองผิดลองถูกในเวทีโลก หลังจากที่ไปทำงานแล้วอาจจะบาดเจ็บหนัก มหาวิทยาลัยควรจะต้องเป็นสนามฝึกซ้อม เหมือนซ้อมยูโดก่อนที่จะไปสู้รบข้างนอก มีเบาะให้รอง มีครูสอน มีคนรองรับ การที่เขาจะมาฝึกการลองผิดลองถูกในการทำรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ นี่คือ startup ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยในลักษณะการสอนความเป็นผู้ประกอบการต่างๆ สิ่งเหล่านี้เมื่อก่อนไม่มี ไม่มีคนให้ความสำคัญเท่าไหร่ ตอนนี้มันจำเป็นที่ต้องเรียนรู้วิธีการว่าจะทำธุรกิจต้องลองอย่างไร จะเริ่มต้นอย่างไร business model มีอะไรบ้าง แต่ถ้ามันจะมีปัญหาขึ้นมาก็ไม่บาดเจ็บหนัก

วิชาแพทย์เนื้อหาคงเดิม – ปรับวิธีสอนรับเทคโนโลยี

ศ. นพ.บรรจง กล่าวต่อถึงวิชาแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพว่า กรณีของแพทย์ ยังคงจำเป็นที่ต้องมีลักษณะของการเจอหน้ากัน หรือ face to face อะไรบางอย่างที่เทคโนโลยีแทนไม่ได้คือความรู้สึกที่มีความปรานีมีเมตตาหรือ human touch เครื่องยนต์ใช้ไม่ได้ เทคโนโลยีใช้แสดงความรู้สึกยังไม่ได้ แต่เทคโนโลยีใช้ในแง่การให้ข้อมูลได้

ฉะนั้น การเรียนต่างๆ ที่เป็นเนื้อหาผ่านเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ไม่ยาก เนื้อหาในการสอนไม่จำเป็นต้องแบบเจอหน้ากันก็ได้ แต่ลักษณะของการปฏิบัติ เช่น เราจะสัมผัสผู้ป่วยอย่างไร ให้รู้สึกว่าแพทย์กับผู้ป่วยควรจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรให้เหมาะสม ถ้าอ่านเป็นตัวหนังสือก็รูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าสอนแสดงให้ดูมันจะชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อสอนความละมุมละม่อมของการสัมผัส การให้เกียรติผู้ป่วย การแสดงให้ดูยังสำคัญอยู่ หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ตัวหนังสือในแอปพลิเคชันทำไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ว่าบริบทของครูที่จะสอนศิษย์ในส่วนที่เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้มันยังมีอีกหลายส่วน เช่น การตอบคำถาม การให้ความคิดเห็นกับผู้ป่วย ที่พูดอย่างเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ระมัดระวัง มันต้องแสดง ฉะนั้นวิชาแพทย์ยังจำเป็นอยู่

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหา มันอยู่ในมือถือได้หมด คุณก็ไปอ่าน แต่เวลามาที่ห้องเรียน เรามาคุยกัน เรามาสอนแสดง ก็เป็นอะไรที่มีคุณค่ามากขึ้น คนยังมีความจำเป็นอยู่ ดังนั้นการเรียนของเด็กรุ่นใหม่ จริตเปลี่ยนไป ไม่ได้สนใจอ่านกระดาษ แต่อ่านจากจอ เพราะเขาเกิดขึ้นมาคุ้นชินแบบนี้ แต่มันก็มีความไม่สมดุลกันระหว่างผู้ไม่บริโภคข้อมูลกับผู้ที่จะส่งข้อมูล คืออาจารย์ที่คุ้นชินกับของเดิม ตัวอาจารย์ต้องปรับ เราต้องเรียนรู้ว่าเด็กมีจริตแบบไหนก็ต้องให้สอดคล้องกัน

“รูปแบบของการเรียนการสอนเยอะแยะไปหมด อาจารย์ต้องปรับให้มีรูปแบบไม่เยิ่นเย้อ ให้กระชับ เราต้องให้ปรับวิธีการเรียนการสอนแพทย์ให้พัฒนา เทคนิคต่างๆ ต้องเปลี่ยนไป มันเหมือนกับยุคสมัยที่เราใช้แผ่นใสเขียนมาเป็นสไลด์เป็นกล่องๆ มาเป็นจอคอมพิวเตอร์ เด็กรุ่นเก่าไม่ได้มีเครื่องมืออะไรที่จะเข้าถึงเนื้อหาได้ทันที เขาก็ต้องไปดูทีหลังว่าที่อาจารย์พูดเป็นอย่างไร มันเป็นลักษณะว่าอาจารย์สอนไปก่อนแล้วเด็กไปตามอ่านรายละเอียดเพิ่ม แต่ตอนนี้อาจารย์พูดอะไร เด็กก็เปิดตามได้ทันทีเลย พูดผิด พูดไม่เหมือน พูดน้อยกว่าหรือไม่”

พอเป็นแบบนี้ การแสดงเนื้อหา สอนเนื้อหาในห้องเรียนก็สำคัญน้อยลง มันเข้าถึงได้ตลอด เข้าถึงได้ก่อนมาเรียนแล้ว ตรงนี้จึงทำให้รูปแบบเปลี่ยนไปว่าช่วงเวลาที่มาพบปะอาจารย์ที่สอน น่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลให้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ไปเจอในวิกิพีเดีย จะดูอย่างไรว่าถูกต้องหรือไม่ เก่าหรือใหม่ อะไรที่เป็นประโยชน์ ใช้ได้จริงหรือไม่ เป็น flip-card classroom  มาวิเคราะห์วิจารณ์กันในเนื้อหาที่มีอยู่ทั่วไปหมด มาดูว่าอะไรควรจะเพิ่มเติมอย่างไร เช่น เล่าประสบการณ์ที่เจอจริงๆ ก็จะเป็นคุณค่าในเรื่องของความน่าเชื่อถือมากกว่า หรือสอนรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการตรวจหรือการสัมผัสต่างๆ กายภาพบำบัดจะโยกแขนแค่ไหนอย่างไร จะจับอย่างไร ประคองส่วนที่เจ็บอย่างไร มันต้องใช้ตัวเป็นๆ อยู่

อีกกรณีคือเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล เขาต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าเราให้เด็กนักเรียนคุ้นชินกับการอ่านฟิล์มเป็นแผ่นๆ เนื้อหามันยังเป็นเหมือนเดิม หลักการอ่านมันเหมือนเดิม แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นฟิล์มจับต้องได้แล้ว มันเป็นภาพในจอคอมพิวเตอร์ เขาก็ต้องคุ้นชินกับการใช้ กดอย่างไร ใช้อย่างไร แต่เวลาปรากฏในจอเนื้อหามันยังเหมือนเดิม หาความผิดปกติลักษณะเหมือนเดิม แต่วิธีการสื่อออกมามันคนละรูปแบบแล้ว สารยังคงเดิม เขาก็ต้องคุ้นชินในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็น

หรือไปในอนาคตมากกว่านั้น เดิมเป็นฟิล์ม คุณต้องเดินเอาไปให้เพื่อนหมอช่วยอ่าน หรือถ้าต้องไปหาคำแนะนำจากคุณหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณต้องส่งฟิล์มไป แต่ตอนนี้มันเป็นดิจิทัล ส่งไปได้เลย เร็วขึ้น ตัดวงจรคนกลางบางส่วน ตัวอย่างเช่นที่เดิมเคยเดินถือฟิล์มจากโรงพยาบาลชุมชนไปหาผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลจังหวัด ก็อาจจะมีอยู่คนเดียวในโรงพยาบาล แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นว่าผู้เชี่ยวชาญต้องอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนั้นแห่งเดียวแล้ว คุณสามารถขอคำปรึกษาข้ามไปที่กรุงเทพฯ ได้เลย หรือข้ามไปนิวยอร์กเลยก็ได้นะ ไปประเทศไหนก็ได้

แล้วอนาคตถ้ามีแพลตฟอร์มสำหรับผู้เชี่ยวชาญอ่านฟิล์ม คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศอาจจะไม่มีงานทำด้วยนะ อ่านที่ไหนก็ได้แล้วส่งผลกลับมารวดเร็ว ผมบอกว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นิวยอร์ก ด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านฟิล์ม แล้วจ้างเขาอาจจะถูกกว่าด้วย คนที่อยู่เมืองไทยจะทำอย่างไร เราก็ต้องสร้างแพลตฟอร์มของเราให้มีความเชื่อมั่น ต้องมีเนื้อหาแน่นด้วย ถ้าเขาปรึกษาข้ามประเทศครั้งละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500 บาท) ของเราบอก 1,000 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องส่งไป ถ้าคนของเราเก่งเท่ากับเขา แล้วบางทีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลเฉพาะ ไม่ต้องจ้างอยู่ พื้นที่ไม่ต้องมี ไม่ต้องมานั่งโต๊ะ อ่านที่บ้าน โลกจะเปลี่ยนไปแบบนี้

แต่คนยังต้องมี อย่างการตรวจร่างกายต่างๆ ยังจำเป็นต้องมี หุ่นยนต์ยังทำแบบนั้นไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่ถ้ามีข้อมูลมาแล้วส่งไปให้วิเคราะห์ หุ่นยนต์วิเคราะห์ได้ดีกว่า แต่คนตัวเป็นๆ ยังจำเป็นอยู่ ส่วนเทคโนโลยีที่จะพัฒนามันก็จะพัฒนาไป แพทย์รุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ว่าคุณมีอะไรที่ในตัวคุณจะเป็นประโยชน์ เป็นจุดแข็ง แล้วต้องทันกับการใช้เทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ เรียนรู้จุดแข็งของการเป็นส่วนของคนเป็นๆ หรือ human being กับประโยชน์ของเทคโนโลยี สอนให้เข้าใจ ให้ทันเหตุการณ์ ให้รู้ว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนตรงไหน แล้วตรงไหนทดแทนไม่ได้ ต้องเพิ่มความเข้มแข็งตรงไหน มหาวิทยาลัยมหิดลก็ตระหนักถึงเทคโนโลยีที่มีความคืบหน้า เราก็ใส่ใจเรื่องของเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนในส่วนบทบาทของอาจารย์ที่เปลี่ยนไป เป็นลักษณะของการอำนวยการเรียนรู้ว่าไปหาความรู้จากที่ไหน แล้วตามไปตรวจสอบเนื้อหาว่าถูกต้อง เก่าใหม่อย่างไร มาใช้ปฏิบัติจริงอย่างไร สอนแสดงจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เราก็จัดสรรส่วนในการเรียนการสอนเปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป มี simulation อย่างวิชากายวิภาค แทนที่จะต้องมาชำแหละศพ มันก็มี simulation ที่บอกว่าชำแหละมาถึงขั้นตอนต่างๆ จะเจออะไรบ้าง เหมือนของจริงๆ เป็น virtual simulation หรือไปมากกว่านั้นก็เลียนแบบการผ่าตัดอะไรบางอย่าง ก็ทำเสมือนจริงให้ซ้อมมือก่อน หรือจะส่องกล้องอะไรต่างๆ ใส่เครื่องช่วยหายใจ เย็บแผล คือแทนที่จะทำกับคนไข้จริงก็มีซ้อมกับหุ่นได้ ฉีดยากับหุ่น ปั๊มหัวใจกับหุ่น ตรวจอะไรต่างๆ เป็นหุ่นจำลองทางการแพทย์ ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนเราก็ไปเย็บหนังหมู เย็บพลาสติก อะไรแบบนั้น ตอนนี้มันมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเยอะแยะ ทำคลอดก็มีหุ่นจำลองทำคลอดเด็ก

ส่วนความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มาวินิจฉัยรวบรวมข้อมูลได้ดีกว่า ศ. นพ.บรรจง กล่าวว่า เข้าใจว่าอนาคตAIจะเข้ามาวินิจฉัยเป็นหลัก แต่ประเด็นคือว่าข้อมูลมาจากใคร อย่างเจาะเลือด ถ้าคุณมีข้อมูลเจาะเลือด ทุกข้อมูลที่มี AI วินิจฉัยให้คุณได้หมด แต่ต้องมีคนที่จะตัดสินใจว่าจะเจาะเลือดเพื่อตรวจอะไร ยังต้องใช้คนอยู่

“ปัญหาคือหน้างานมาด้วยอาการแบบนี้ ผมควรจะเจาะอะไร ยังต้องการคนวิเคราะห์นิดหนึ่งก่อนว่าควรจะเจาะอะไร แต่ถ้ามันมีข้อมูลครบถ้วนแน่นอนความสามารถของ AI เหนือกว่าคน มันจะชนะคนก็ต่อเมื่อมันมีข้อมูลจำนวนมาก แต่จะตัดสินใจว่าจะเริ่มอย่างไร มันต้องให้คนตัดสินใจ มันเจาะทีเดียวไม่ได้ทุกเรื่อง การที่เราจะวินิจฉัยเรื่องอะไรดี เหมือนมีคนมาหาหมอว่าปวดท้อง ผมก็ต้องถามว่าปวดทุกเดือน บ่อยแค่ไหน นานหรือยัง ปวดตื้อๆ หรือบีบๆ แน่นๆ ปวดจากนิ่ว ปวดจากมะเร็งมันก็ปวดคนละแบบ คนต้องเป็นคนถาม หรือปวดตรงไหน บางครั้งตำแหน่งที่ปวดมันอาจจะไม่ได้เกิดจากตรงนั้น แต่มันปวดร้าวมาที่นี่ เหมือนเคาะนิ้วข้อศอกแล้ววิ่งไปนิ้วก้อย มันมีเส้นประสาทเชื่อมกันอยู่ สิ่งเหล่านี้ก่อนจะมาเป็นข้อมูลให้ AI มันก็ต้องมีคนตรวจ ตรงนี้วิธีการนำสู่ข้อมูล คนยังจำเป็น ทักษะในการถามในการเลือกยังจำเป็น แต่ถ้ามันมีข้อมูลพร้อมนะ AI มันก็ทำได้ เราสู้ไม่ได้หรอก”

ศ. นพ.บรรจงกล่าวต่อว่า “ถามอีกว่าถ้ามันทดแทนได้จริงๆ คุณจะกล้าตรวจกับหุ่นยนต์หรือไม่ ที่คุณไม่ตรวจเพราะอะไร มันไม่มีความรู้สึกทางใจ มันไม่มีความเป็นมนุษย์ การเป็นคนตัวเป็นยังจำเป็นอยู่ คุณจะให้เครื่องมือหุ่นยนต์กรอฟันคุณหรือไม่ เพราะความเสียวฟันคนไข้จะหุบปากจะขยับหนี หุ่นยนต์มันนิ่งเลยนะ มันกะว่า 2 มิลลิเมตรมันคือ 2 มิลลิเมตร มันกรอลงไป 2 มิลลิเมตร มันไม่ได้สังเกตว่าเจ็บแค่ไหน แต่หมอฟันเขาดูแล้วชักมือออก หรือการจับการกดลงไปในอวัยวะของหมอ มันไม่เหมือนกันนะ ภาพมันเป็นแบบนี้มันทดแทนไม่ได้หมด เรากลัวเกินเหตุ โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนกับชีวิตของคน”

สาขาอื่นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ศ. นพ.บรรจง กล่าวว่า สำหรับคณะหรือสาขาวิชาอื่น เช่น ทางด้านเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เหล่านี้จำเป็นต้องมีพวกห้องทดลองต่างๆ การใช้เครื่องมือต่างๆ ตรงนี้การใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ด้าน ICT ก็จะมีโปรแกรมเรียนการออกแบบเกม เขาก็ต้องหามาสอนมาดู ดังนั้น ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มันจะมาทางด้านเทคโนโลยี ไม่เหมือนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ แต่พวกนี้จะมีเทคโนโลยีเยอะ พอเยอะแบบนี้เขาก็ต้องเรียนพื้นฐานต่างๆ ภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป จะต่อยอดอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีมันพัฒนาเร็วมาก สิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือว่าเราต้องสอนเด็กให้มีลักษณะของการปรับตัวให้ทันเหตุการณ์ มีพื้นฐานของศาสตร์นั้นให้เข้มแข็งพอสมควร และมีความสามารถในการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอีก อย่างสมัยก่อนตอนที่เขาจบ ปวช. ปวส. เมื่อ 30 ปีที่แล้วยังใช้เครื่องคิดเลข มีแป้นพิมพ์ดีด แต่ตอนนี้ไอทีมันเข้ามาเร็วมาก ในกรณีที่เด็กที่เข้ามาไม่รู้จักวิธีการใช้ Word เลย พิมพ์แป้นสมัยโบราณ คุณจะรับเข้าทำงานหรือไม่ มันไม่มีแป้นพิมพ์ดีดให้ใช้ในที่ทำงานแล้ว ขณะเดียวกัน เครื่องคิดเลขมันก็มี Excel แล้ว ฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่จะต้องเดินตามเวอร์ชั่นใหม่ๆ ให้ทันด้วย

ขณะเดียวกัน ในสถานที่ทำงานมันก็จะต้องซื้อโปรแกรมเข้ามาใหม่ คนที่อยู่ตรงนั้นก็ต้องปรับตัวเอง จะไปเรียนรู้ที่ไหน ก็ต้องจัดคอร์สอัปเดตวิชาให้ เป็นโมดูลต่างๆ เป็น life-long learning ต้องเรียนรู้ตลอด จากที่เรียนพิมพ์ดีดโบราณๆ แล้วพอมี Word คุณไม่ไปเรียนหรอ มันคนละเรื่องแล้ว เขาต้องมาอัปเดต แล้วเหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดขึ้นอีก มันจะอัปเดตไปเรื่อยๆ Excel รุ่นใหม่มันก็ดีกว่ารุ่นเก่า แล้วตอนนี้รุ่นเก่ามันก็ไม่มีแล้วด้วย สถานที่การเรียนการสอนมันก็ต้องอัปเดตเครื่องมือการเรียนการสอนให้ใหม่ไปเรื่อยๆ คนที่จบไปแล้วก็ต้องกลับมาเรียนใหม่ relearn กันใหม่ ถ้าคุณติดอยู่กับอันเก่ามันก็ไปต่อไม่ได้ เทคโนโลยีมันไปเรื่อยๆ การเรียนแบบนี้มันถึงไม่ได้หยุด สถานที่การเรียนการสอนก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ

ศ. นพ.บรรจงกล่าวต่อว่ามหาวิทยาลัยจากเดิมที่จะมีจุดขายคือปริญญาว่าจบอะไรมา จะไปทำงานอะไร ต่อไปจะถามว่าคุณมีทักษะอะไร เป็นการเรียนที่ไม่ใช่ปริญญามากขึ้น ต่างประเทศก็จะมีคอร์สเรียนสั้นๆ สำหรับผู้บริหาร 2-3 เดือน คือลงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นทักษะบางอย่าง แล้วในอนาคตเขาไม่จำเป็นต้องมีปริญญา ปริญญาจะมีความสำคัญลดลงกว่าความสามารถที่เป็นทักษะของเขา แล้วอาจารย์ที่มีอยู่ก็ต้องปรับบทบาทมาด้วย เพราะวิชาสอนปกติก็อาจจะลดลงไปตามแนวโน้มปัจจุบัน อาจารย์ก็ต้องเรียนรู้วิชาต่างๆ ให้ทันเหตุการณ์ด้วย

ทุกศาสตร์ต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก

ศ. นพ.บรรจง กล่าวต่อถึงประเด็นการยุบหรือปรับคณะว่ามันต้องเป็นไปตามอุปสงค์อุปทานและเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนหรือไม่ ถ้ามีมาทดแทน ความจำเป็นที่ต้องใช้คนก็จะลดลง เราคงไม่บรรจุเพิ่ม เราก็ค่อยๆ น้อยลงไป เราคงไม่ได้ไปไล่ออก แต่เราต้องเปลี่ยนบทบาทให้ทำอย่างอื่นมากขึ้น ถ้าวิชาสอนน้อยลงอาจจะไปทำวิจัยเพิ่มขึ้น คนคนหนึ่งสัดส่วนของการทำงานก็ปรับให้เหมาะสมกับเหตุการณ์

“มหาวิทยาลัยมหิดลยังไม่มีผลกระทบ เพราะคณะเป็นศาสตร์สุขภาพมาก ถ้าเป็นทางด้านนี้มันยังมีความต้องการสูงอยู่ ผลกระทบที่เข้ามาก็ยังช้ากว่าด้านอื่นอยู่ คุณต้องการหุ่นยนต์มาตรวจหรือไม่ล่ะ มันยังมีความต้องการคนตัวเป็นๆ มากอยู่ แพทย์ยังจำเป็นอยู่ เทคโนโลยีเข้ามาส่วนทำให้เข้มข้นมากขึ้นในบางเรื่องที่เทคโนโลยีดีกว่าคน”

แล้วลักษณะของตัวนักเรียนเข้าใจว่าต้องปรับตัวด้วยว่า ตัวเขาเอง ถ้าจบไปในอนาคต การมาอยู่ในมหาวิทยาลัยเขาต้องไม่ทำเวลาหล่นหาย เราต้องไม่ทำให้เขาเสียโอกาส มหาวิทยาลัยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะที่จะออกไปทำงาน ฉะนั้น ถ้าเข้ามาเราต้องติดปีกให้เขา เรื่องความสามารถในการใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี การตรวจสอบข้อมูล การสร้างนวัตกรรม การเข้าใจเรื่องสุขภาพ เรื่องการเงินในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ต้องใช้ดูแลตัวเองเมื่อจบออกไป เรียนรู้ที่จะทำงานกับคนอื่น เป็นผู้นำ เรื่อง soft skill เหล่านี้จะสำคัญมากขึ้น ระหว่างที่เขามาเราต้องให้เวทีเขามีโอกาสพัฒนาทักษะที่เขาจำเป็น ต้องออกไปจากมหาวิทยาลัยแล้วจะได้ใช้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เนื้อหาสาระ ฟูมฟักเขาให้มีทักษะ

ส่วนเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ศ. นพ.บรรจง กล่าวว่า โครงสร้างเกี่ยวกับที่จับต้องได้อาจจะมีความจำเป็นบางส่วน ยกตัวอย่าง ท่านไม่ต้องมีเตียงคนไข้อีก ไปรักษาที่บ้านหรือต้องมีคนไข้ส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล แต่ถ้าหากว่ากลับเร็วหน่อยไปติดตามการรักษาที่บ้านต่อ ผ่านแอป เป็นต้น แต่หน้างานก็จำเป็นระดับหนึ่ง อยู่ที่ว่าจะมีคนไข้หมุนเวียนแค่ไหน ถ้าหากว่าต้องมาดูตัวเป็นๆ เราต้องมีพื้นที่รองรับ แต่ถ้ามาติดตามการรักษาก็อาจจะไม่ได้เดินทางมา ตัววอร์ดที่ติดตามการรักษาก็อาจจะเล็กลง แต่ตัวตึกที่จะรับการรักษาฉุกเฉินก็อาจจะต้องคงอยู่ หรือการส่งยาแทนที่จะต้องมารอคิวก็ส่งโดรนไปให้ที่บ้านก็ได้ คือตรวจเสร็จ มีใบสั่งยา กลับบ้านไป ไม่ได้ต้องมาเข้าคิว

หรืออย่างเรื่องการเรียนการสอน อาจารย์ชั่วโมงการสอนอาจจะลดลงที่จะมาสอนเป็นเนื้อหาในห้อง แต่อาจจะเพิ่มขึ้นในการจัดสัมมนามากขึ้น เนื้อหาแทนที่จะเป็นหนังสือก็เป็น e-book ไป ไม่ต้องซื้อหนังสือไว้มาก ไม่ต้องมีหนังสือจริงๆ มาวางบนชั้นเยอะๆ หรือเข้าคิวรออ่าน เอกสารที่สอนก็เข้าถึงออนไลน์ไปเลย ไม่ต้องมารอแจกชีท ห้องสมุดก็เป็นบริการรูปแบบใหม่ เราก็มีการสอนการเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ เพราะมันก็มีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาอีกมาก มันจะต้องมีโปรแกรมใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ มันก็ต้องสอนวิธีใช้ เขาอาจจะไม่ได้เคยใช้มาก่อนที่จะเข้ามาในมหาวิทยาลัย บรรณารักษ์แทนที่จะมานั่งเก็บหนังสือจัดหนังสือก็เปลี่ยนเป็นการแนะนำการสอนการเข้าถึงข้อมูล เปลี่ยนบทบาทไป

ตึกเรียนมันก็จะมีหน้าที่เปลี่ยนไป บางครั้งจำเป็นต้องมีพื้นที่ใช้สอยให้คนมารวมตัวกันก็จำเป็นอยู่ พื้นที่มาคุยกันปรึกษากัน แต่ชั่วโมงของการใช้แบบนั้นอาจจะสั้นลงน้อยลง แต่คนถ้ารับมา 1,000 คนมันก็ต้องมีตึกมีพื้นที่ให้พวกเขาอยู่ หอพัก โรงอาหารที่ต้องกิน โต๊ะที่ต้องทำการบ้าน กิจกรรมนอกเวลาเรียนต่างๆ มันก็ต้องมีอาคารมาตอบสนองโจทย์ตรงนี้ ห้องเรียนอาจจะมีชั่วโมงที่มานั่งเป็นห้องเรียนลดลง แต่ใช้สัมมนาใช้สอนแสดงมากขึ้น สัดส่วนหรือรูปแบบการใช้งานอาจจะเปลี่ยน แต่ตัวตึกมันจำเป็นอยู่