ThaiPublica > เกาะกระแส > ออมสินจัดงาน “วันออมแห่งชาติ” ฝาก 500 บาท รับ “กระปุก” ผลสำรวจชี้ “รากฐาน” ออมเงินแค่ 32%

ออมสินจัดงาน “วันออมแห่งชาติ” ฝาก 500 บาท รับ “กระปุก” ผลสำรวจชี้ “รากฐาน” ออมเงินแค่ 32%

31 ตุลาคม 2018


เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันออมแห่งชาติประจำปี 2561 ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันออมแห่งชาติประจำปี 2561 ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ซึ่งธนาคารออมสินจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดอดออม โดยปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “ต่อยอดการออมอย่างยั่งยืน”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นวันออมแห่งชาติ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออม ธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นสถาบันเพื่อการออม ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการออมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อกระตุ้นการออมในวันสถาปนาธนาคารออมสินช่วงวันที่ 1 เมษายนของทุกปี รวมถึงได้จัดกิจกรรมในวันออมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ปีนี้มีกิจกรรมสำคัญ คือ การจัดทำของที่ระลึกชิ้นพิเศษที่คู่กับกิจกรรมวันออมเป็นประจำทุกปี นั่นคือ กระปุกออมสิน ซึ่งในปีนี้เป็น “กระปุกออมสินต่อยอดความมั่งคั่ง” มอบให้ผู้ฝากเงินด้วยตัวเองหรือเปิดบัญชีใหม่ (ยกเว้นเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว) ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ณ ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ได้จัดนิทรรศการเล่าเรื่องการออมในประเทศไทย เช่น ประวัติภารกิจการปลูกฝังการออมเงินของธนาคารออมสิน, พัฒนาการรูปแบบการออมเงิน, แนะนำเคล็ดลับการออม, การปลูกฝังการออมเพื่อโอกาสต่างๆ เช่น ออมเพื่อการศึกษา ออมเพื่อวัยเกษียณ ออมเพื่อสุขภาพ ออมเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น และมีกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ตอบคำถามเพื่อรับของที่ระลึก จัดพิธีมอบรางวัลการออมดีเด่นแก่ผู้มีวินัยทางการเงิน ธนาคารโรงเรียนต้นแบบประจำปี 2560 รวมทั้งมอบทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิกโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ข้าราชการทหาร กองทัพบก กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย ทุนสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน กองทัพบก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคคลและหน่วยงานดังกล่าว ในการสร้างวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป และปีนี้พิเศษยิ่งขึ้น เพราะมิสไทยแลนด์เวิลด์ และรองมิสไทยแลนด์เวิลด์ทั้ง 4 คน ในฐานะทูตส่งเสริมการออม จะมาร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการออมที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 โครงการสำคัญที่ธนาคารออมสินได้จัดขึ้นล่าสุด เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการออมได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยการเปิดช่องทางให้เด็กอายุ 7-20 ปี ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารออมสินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมผ่านทางร้านสะดวกซื้อ 7-11 (เซเว่น-อีเลฟเว่น) ที่มีกว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มเปิดรับฝากเงินตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“วันออมโลก หรือ World Thrift Day เป็นวันที่นานาประเทศนิยมเป็นสากล โดยถือเอาวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันออมสินโลก ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ. 1924 หรือ พ.ศ. 2467 เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการออม ต่อมาใน ค.ศ. 1996 หรือ พ.ศ. 2539 องค์การสหประชาชาติได้เฉลิมฉลอง 50 ปีสถาบันธนาคารออมสินโลกและกลุ่มธนาคารทั่วยุโรป จึงได้ประกาศให้วันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันแห่งการประหยัดและออมโลก เพื่อปลูกฝังค่านิยมและนิสัยรักการออม อันเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

นายชาติชายกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนระดับฐานราก จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ปัจจุบันประชาชนกลุ่มฐานรากมีการออมเงินคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.2 โดยพฤติกรรมการออมคนกลุ่มนี้ร้อยละ 56.9 เลือกออมเงินแบบรายเดือน โดยมีอัตราการออมเงินเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์การออมของประชาชนระดับฐานราก จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่ามี 3 เหตุผลหลัก คือ

    1. ออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย ร้อยละ 71.7

    2. สำรองไว้ใช้ ร้อยละ 67.0

    3. ใช้เป็นทุนประกอบอาชีพ ร้อยละ 39.3, การศึกษา ร้อยละ 36.2, เตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามเกษียณ ร้อยละ 23.5 และซื้อบ้าน ร้อยละ 18.9

ส่วนรูปแบบการออมเงินของคนกลุ่มนี้ 3 อันดับแรกนั้น นิยมฝากเงินไว้กับธนาคาร ร้อยละ 80.3 เก็บเงินไว้ที่บ้านหรือครัวเรือน ร้อยละ 22.9 และเล่นแชร์ ร้อยละ 8.5

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงเป้าหมายการออมเงินและการลงทุนในอนาคต พบว่า กลุ่มตัวอย่างตอบว่าสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ร้อยละ 29.7 เพื่อการศึกษา ร้อยละ 29.1 และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย ร้อยละ 27.5

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถออมเงินได้ คือ ไม่มีเงินเหลือไว้ออม ร้อยละ 52.3, มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน ร้อยละ 24.2 และมีภาระหนี้สิน ร้อยละ 18.6

เมื่อสอบถามถึงช่องทางการฝากเงินกับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ฝากเงินผ่านสาขาของธนาคาร ร้อยละ 89.8 เครื่องฝากเงินสด ร้อยละ 68.8 และฝากผ่านทาง mobile หรือ internet banking ร้อยละ 18.4