ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์รัฐขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชันแคมเปญ”บ้านดีมีดาวน์”

แบงก์รัฐขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชันแคมเปญ”บ้านดีมีดาวน์”

28 พฤศจิกายน 2019


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้ความเห็นชอบ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์”เพื่อลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (cash back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และจะให้ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 รายแรกเท่านั้น

คลังประชุม 3 สมาคม 19 สถาบันการเงินซักซ้อมความพร้อม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีการประชุมร่วมกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้ง 3 สมาคมได้ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนโครงการ รวมถึงพร้อมมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เช่น บางโครงการได้ช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมการโอนร้อยละ 0.01 และค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีการประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน จำนวน 19 แห่ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ แนวทางในการปฏิบัติ และแนวทางการตรวจสอบ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อีกทั้ง สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้เข้าร่วมโครงการ “บ้านดีมีดาวน์”

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินของรัฐได้มีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้สอดรับกับมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะช่วยให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวอย่างมีศักยภาพในปี 2563 ต่อไป

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิ์นั้นผู้ซื้อที่อยู่อาศัย สามารถเข้าร่วมโครงการโดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com ได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เวลา 8.00 น. จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 คนละ 1 สิทธิ์ (1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ์)

กรุงไทยจัดแคมเปญเสริมดอกเบี้ยปีแรก 0.50%ช่วยผ่อนรายละ 5,500 บาท

นายผยง ศรีวณิช

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งได้ออกมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินผ่อนดาวน์รายละ 50,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จำนวน 100,000 ราย นั้น

ธนาคารกรุงไทย สนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ และได้ออกแคมเปญ สินเชื่อบ้านกรุงไทย…สุขใจถ้วนหน้า ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ 2 ต่อ ต่อที่ 1 อัตราดอกเบี้ยปีแรก เริ่มต้นที่ 0.50% ต่อปี หรือเฉลี่ย 3 ปี เพียง 2.50% ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมประเมินราคา และค่าธรรมเนียมยื่นกู้ นอกจากนี้ ลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการที่ธนาคารกำหนด ลูกค้าในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ ประกอบด้วยแพทย์ ผู้พิพากษาและอัยการ นักบิน อาจารย์มหาวิทยาลัยระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไป และพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสามารถเลือกผ่อนชำระล้านละ 1,000 บาทต่อเดือน ในปีแรกได้อีกด้วย ต่อที่ 2 สำหรับลูกค้า 1,000 รายแรกที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อและจดจำนองตามเงื่อนไขโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ธนาคารยังช่วยแบ่งเบาภาระ โดยช่วยผ่อนรายละ 5,500 บาท

ส่วนลูกค้ารายที่ 1,001-10,000 ธนาคารลดดอกเบี้ยในปีแรกลงอีก 0.10% ต่อปี ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนขอรับสิทธิในเว็บไซต์ “บ้านดีมีดาวน์” ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

นายผยง ศรีวณิช กล่าวว่า ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จดจำนองภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ยังได้ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมาตรการในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว

ออมสินออก “สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำ ล้านละ 10 บาท” ดอกเบี้ยปีแรก 0.01%

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ “สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำ ล้านละ 10 บาท” วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท จ่ายค่างวดเพียง 10 บาทต่อเดือน ต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ด้วยดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 0.010% ต่อปี ทั้งสร้าง-ซื้อ-ซ่อมแซม/ต่อเติม-รีไฟแนนซ์ ผ่อนนานสูงสุดถึง 40 ปี เผยโอกาสทองสำหรับคนที่ต้องการมีบ้าน เพราะรัฐลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมจดจำนองลดเหลือ 0.010% เท่านั้น ติดต่อยื่นความจำนงได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีสถาบันการเงินรองรับความต้องการสินเชื่อที่ช่วยให้การกู้เงินเป็นเรื่องง่าย ธนาคารฯ จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อบ้าน คือ สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำ ล้านละ 10 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สอดคล้องกับความต้องการมีที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงปลายปี ทั้งซื้ออยู่อาศัยใหม่ ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน ต่อเติม ซ่อมแซม หรือต้องการรีไฟแนนซ์ โดยได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 25,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถแจ้งความจำนงได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำ ล้านละ 10 บาท ให้กู้ตามความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย โดยไม่จำกัดวงเงินกู้สูงสุด คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 0.010% ปีที่ 2-3 เท่ากับ 4.350% ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR-0.50% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.745% ต่อปี) คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 2.903% โดยวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 20 ปี ในปีแรกคิดเป็นเงินงวดผ่อนชำระ 10 บาทต่อเดือน ปีที่ 2-3 ผ่อนชำระ 3,700 บาทต่อเดือน และปีที่ 4 เป็นต้นไป ผ่อนชำระ 8,300 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังได้รับการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2.00% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองจาก 1.00% เหลือ 0.01% อีกด้วย

“เรียกได้ว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อการมีบ้านก็ได้รับการปรับลดลงแล้ว ขณะเดียวกันธนาคารฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สามารถผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 40 ปี โดยลูกค้าสามารถเลือกผ่อนชำระได้ยาวนานขึ้น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ให้มากที่สุด ขณะที่สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำฯ ได้คิดคำนวณเงินงวดให้ผ่อนสบายๆ ในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อให้แบ่งเงินนำไปเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน โทร.1115 หรือตามสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ได้แก่ Website : www.gsb.or.th, Facebook : GSB Society, Official Line : GSB ธนาคารออมสิน

ธอส.ให้กู้บ้านใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาทดอกเบี้ยคงที่ 2.50% ต่อปี

นายฉัตรชัย ศิริไล
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการกับธนาคาร สามารถใช้สิทธิของกู้ภายใต้มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562

มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์มีกรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1 – ปีที่ 3 คงที่ 2.50% ต่อปี ปีที่ 4 – ปีที่ 5 คงที่ 4.625% ต่อปี ส่วนปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน กรณีสวัสดิการ MRR – 1.00% ต่อปี กรณีรายย่อย MRR – 0.75% (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.625% ต่อปี) วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท

“มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับเป็นนโยบายที่รัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสทำให้คนไทยมีบ้านเป็นจริง เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 2.50% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในตลาด และยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีแรก เช่น กรณีกู้ 1 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีแรก จะผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,300 บาทต่องวดเท่านั้น หากเทียบกับเงินงวดผ่อนชำระของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 3 ปีแรก วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผู้กู้จะสามารถประหยัดเงินงวดได้จำนวน 80,400 บาท หรือหากเทียบกับการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 5 ปีแรก ผู้กู้สามารถประหยัดเงินงวดได้ถึง 123,600 บาท นอกจากนี้ยังได้รับการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2 % เหลือ 0.01 % และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองจาก 1 % เหลือ 0.01 % อีกด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

มาตรการภาครัฐต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐ เช่น มาตรการสนับสนุนการซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งส่งผลให้ตลาดเติบโตตามระยะเวลาของมาตรการ
2554-2555 รัฐบาลออกโครงการบ้านหลังแรก
กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการลดหย่อนภาษี สาหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยผู้ที่ซื้อสามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 10% ของราคาบ้าน
โครงการบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 3 ปี
วงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟต์โลน์ 300,000 ล้านบาท จาก ธปท. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการซ่อม แซมที่อยู่อาศัยหรือซื้อบ้านหลังใหม่ ในอัตราดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 5 ปี
2558-2559 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกโครงการบ้านหลังแรก
มาตรการการเงิน โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้
น้อยและปานกลาง โดยระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และมีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท
มาตรการการคลัง การลดค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในกรณีการโอน และ 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01%
นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นจำนวน 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปี
2561 มาตรการภาษี
2561 ออกมาตรการทางภาษี โดยต้องเป็นการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก เพื่อเป็นการซื้ออยู่อาศัยจริงในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น จากข้อมูลของ สศช. พบว่า พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่มักเริ่มซื้อในช่วงอายุ 31-40 ปี
ที่มา:10 ปีย้อนหลัง 10 ปีข้างหน้า กับตลาดอสังหาฯ ไทย โดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้