ThaiPublica > คอลัมน์ > “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (9) เมื่อร่าง พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ไม่รักษาความมั่นคงของประชาชน

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (9) เมื่อร่าง พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ไม่รักษาความมั่นคงของประชาชน

15 ตุลาคม 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำคอลัมน์นี้อาจพอจำได้ว่า เมื่อสามปีก่อน (พ.ศ. 2558) ผู้เขียนเคยเขียนซีรีส์บทความเกี่ยวกับ “ชุดกฎหมายดิจิทัล” ซึ่งรัฐบาล คสช. พยายามผลักดันโดยอ้างว่าสำคัญต่อการสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่ผู้เขียนมองว่ากฎหมายชุดนี้อยากสร้างและค้ำจุน “ความมั่นคงดิจิทัล” มากกว่า โดยที่ “ความมั่นคง” หมายถึงความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงของชาติหรือของประชาชน

และในเมื่อเน้นความมั่นคงของรัฐบาล ชุดกฎหมายนี้ก็จะบั่นทอนมากกว่าส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล” เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลต้องเดินด้วย “ความไว้วางใจ” เป็นหลัก โดยเฉพาะความไว้วางใจของประชาชนและเอกชนต่อรัฐ

เนื้อหาหลักของร่างกฎหมายหลายฉบับในชุดกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวาง ปราศจากกลไกโปร่งใส (transparency) และกลไกรับผิด (accountability) ใดๆ เขียนนิยามต่างๆ อย่างตีขลุมเหมารวม ตรงข้ามกับหลักการเขียนกฎหมายที่ดีอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญที่สุดคือ ในเมื่อให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางและไม่นิยามฐานความผิดอย่างรัดกุม ก็เท่ากับว่าเปิดช่องให้กฎหมายถูกเจ้าหน้าที่แย่ๆ นำไปใช้ปิดปากและข่มขู่คุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐ

ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข) กฎหมายฉบับหนึ่งในชุดกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2560 ดังที่เราจะเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ (ดูสรุปคดีบางส่วนได้จากเว็บ iLaw)

ในบรรดาร่างกฎหมายทั้งหมดในชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” ฉบับที่แย่ที่สุดและดังนั้นจึงถูกประณามมากที่สุด คือ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … ซึ่งมี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นหน่วยงานยกร่าง

กฎหมายลักษณะนี้ในต่างประเทศมีขึ้นเพื่อช่วยดูแลระบบและป้องกันการโจมตีต่อระบบ (cyberattacks) ซึ่งนับวันเป็นภัยคุกคามที่อันตรายร้ายแรงขึ้น ซึ่งในเนื้อหาร่างกฎหมายของไทยก็มี เช่น หน่วยงานใหม่ชื่อ ‘คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ’ หรือ กปช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจสั่งให้องค์กรที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของระบบ “สาธารณูปโภคสำคัญ” (critical infrastructure) อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล สนามบิน โทรคมนาคม ลบมัลแวร์ หยุดการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ก ปรับปรุงระดับความปลอดภัยของระบบ ฯลฯ ได้

ฟังเผินๆ ดูดี แต่รายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหามาก โดยเฉพาะการให้อำนาจ กปช. แบบ “เหวี่ยงแห” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าจะนำไปสู่การใช้กฎหมายนี้ปิดปากกลั่นแกล้งผู้วิจารณ์รัฐอย่างแน่นอน เหมือนกับกรณีของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ถึงแม้จะกลับไปแก้ถึงสามปีแล้ว ร่างใหม่ที่กลับมาใหม่ในเดือนตุลาคม 2561 ก็ยังมีปัญหาเดิม ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่สรุปปัญหาของร่างกฎหมายนี้ (อ่านฉบับเต็มได้จากเว็บเครือข่ายพลเมืองเน็ต) โดยสรุปใจความได้ว่า

1. ขอบเขตและเงื่อนไขการใช้อำนาจตามกฎหมายไม่มีความชัดเจน ไม่มีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจพิเศษจำนวนมากกับเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน กฎหมายลักษณะนี้โดยปกติจำเป็นต้องมีการกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขการใช้อำนาจอย่างเคร่งครัด เช่น ขอบเขตพื้นที่ (territorial scope) ขอบเขตเวลา (temporal scope) ขอบเขตในแง่ลักษณะของกิจกรรมหรือสิ่งที่จะเข้าข่ายให้สามารถใช้อำนาจได้ (material scope) รวมถึงพิจารณากลไกที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ แทบไม่มีการกำหนดขอบเขตอำนาจเลย และกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจมีเพียงอนุมาตราเดียว คือมาตรา 58 (4) ซึ่งเป็นเพียงการพิจารณายืดระยะเวลาหลังจากที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์ไปแล้วสามสิบวัน (การยึดในตอนแรกนั้นสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องขอศาล) ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับสำนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ไม่มีเลย

2. ไม่แบ่งประเภทของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างชัดเจน ขาดเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลประเภทต่างๆ รวมถึงประเภทข้อมูลที่มีความอ่อนไหวและห้ามเข้าถึง

[กฎหมายฉบับนี้] ให้อำนาจสำนักงาน เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างกว้างขวาง ทั้งการรวบรวมข้อมูลโดยตัวสำนักงานเอง (มาตรา 53) การขอข้อมูล เรียกให้บุคคลมาให้ข้อมูลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปในสถานประกอบการ ตรวจสอบสถานที่ ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ และยึดอุปกรณ์เพื่อรวบรวมข้อมูล (มาตรา 54, 57 และ 58) การขอให้หน่วยงานรัฐและเอกชนให้ข้อมูลกับสำนักงาน (มาตรา 55) อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดว่า “ข้อมูล” ดังกล่าวครอบคลุมถึงข้อมูลประเภทใด ลักษณะใดบ้าง ทำให้ไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสมกับข้อมูลที่มีลักษณะต่างๆ กัน มีเพียงมาตราเดียวที่จำแนกข้อมูลออกเป็นประเภทย่อยๆ คือมาตรา 46 ที่แบ่งข้อมูลเป็น 3 ประเภทคือ 1) ข้อมูลการออกแบบระบบฯ 2) ข้อมูลการทำงานของระบบฯ และ 3) ข้อมูลอื่นใด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกล่าวถึง “ข้อมูล” ในมาตราอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิงนิยามหรือการจำแนกตามมาตรา 46 แต่อย่างใด

3. ขาดกลไกคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิง

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ฉบับรับฟังความคิดเห็นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลาไล่เลี่ยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ในมาตรา 4(2) ระบุว่า “[พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่] การดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือนิติวิทยาศาสตร์” การยกเว้นดังกล่าวจะทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำนักงาน เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เท่ากับประชาชนจะขาดกลไกหลักสำหรับการคุ้มครองข้อมูลของตัวเองไปในทันที

4. ขาดเงื่อนไขและการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ กรณีเข้าถึงและตรวจข้อมูล อุปกรณ์ สถานที่ และสั่งการผู้ครอบครองระบบ

ในการปฏิบัติการตามมาตรา 54, 55, 56, 57, และ 58 ปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขและกลไการตรวจสอบใดๆ เครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอให้สำนักงาน เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ยื่นคำร้องโดยระบุเหตุผล ผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลหรืออุปกรณ์ และความจำเป็น ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งเพื่อขอคำสั่งศาลในการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าหากไม่ดำเนินการในทันทีจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอย่างร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติของคณะกรรมการ ดำเนินการไปก่อนเฉพาะเท่าที่จำเป็น แล้วรายงานให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทราบโดยเร็วภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง

(ดูเนื้อหามาตรา 58 เจ้าปัญหาประกอบด้านล่าง)