ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > SDG7 : 126 ปี เชลล์ประเทศไทย บทเรียนและก้าวต่อ เมื่ออนาคตพลังงานพลิกโฉม

SDG7 : 126 ปี เชลล์ประเทศไทย บทเรียนและก้าวต่อ เมื่ออนาคตพลังงานพลิกโฉม

25 กันยายน 2018


แม้จะเป็นแบรนด์บริษัทพลังงานที่ถือเป็นท็อปเทน ของแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในระดับโลกและมีอยู่ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก  แต่สำหรับตลาดไทยแล้ว ถือว่าเป็นความพิเศษ เพราะเชลล์มีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เฉพาะเพียงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานด้านพลังงานให้กับไทยในฐานะบริษัทพลังงานแห่งแรกของประเทศไทย แต่เชลล์ ยังเข้าใจตลาดในฐานะที่ดำเนินธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 126 ปี โดยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีการจัดงานเฉลิมฉลองสู่ก้าวแรกสู่ปีที่ 127 โดยงานจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ เชลล์ประเทศไทย ถ.สุนทรโกษา คลองเตย

หากนับตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อปี 2435 เมื่อสองพี่น้องซามูเอลได้ปฏิวัติการขนส่งน้ำมัน เมื่อ “มิวเร็กซ์” เรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของโลกเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 23 กันยายน 2435 โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันก๊าดครั้งแรกของประเทศ ต่อมาได้ก่อตั้งบริษัทบริษัท เชลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง โดยมีตราหอยเป็นสัญลักษณ์ ก่อนจะค่อยๆขยับขยายมาสู่ธุรกิจคลังน้ำมัน ในชื่อบริษัท เอเชียติกปิโตรเลียม   และเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังใช้ชื่อเดิมจนปัจจุบัน

ย่อมต้องบอกว่าการเดินทางของเชลล์ประเทศไทยนั้นมาไกลมาก

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

ในมุมของผู้บริหารระดับสูง นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าว “ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านพลังงานแห่งแรกในไทย เชลล์ ประเทศไทย ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศและสังคมมาตลอด 126 ปี

แต่บนโจทย์ธุรกิจที่แตกต่างไป การเดินทางสู่ปีที่ 127 เส้นทางข้างหน้าไม่เหมือนเดิม การเดินทางบนเส้นทางสู่อนาคตของธุรกิจด้วยแนวคิด “เติมสุขให้ทุกชีวิต” (Making Life’s Journey Better) ของเชลล์ จึงเป็นการผสานคุณค่าของแบรนด์ในอดีตสู่ทิศทางอนาคตที่ผสมผสานความยั่งยืนทางพลังงาน ด้วยบริบทที่แตกต่างออกไป

อัษฎา กล่าวว่า ความท้าทายในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพราะนั่นคือความท้าทายในอนาคต ที่โจทย์ในการทำงานนั้นแตกต่างไปกว่าเดิม คือ การต้องทำควบคู่กันไปทั้ง 2 ด้านระหว่างการตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ตามทิศทางการเติบโตของความเป็นเมือง (urbanization) และการพัฒนาประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 2 องศา

บนเส้นทางนี้ไม่ง่ายนักสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมในลำดับต้นๆที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในโลกที่พลิกผัน (Disruption) และเส้นทางพลังงานที่เปลี่ยนแปลงในระดับพลิกโฉม ไม่ว่าจะยากหรือง่ายนี่ก็เป็นภารกิจที่เชลล์ประกาศความมุ่งมั่นโดยมีเป้าหมายระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2035

ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาสะท้อนทิศทางธุรกิจของเชลล์ ที่มีต่อข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศา อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นหนึ่งในข้อตกลงระดับโลกที่เชลล์ให้ความสำคัญโดยมุ่งเน้นไปที่ เป้าหมายที่ 7 พลังงานที่เข้าถึงได้ (Goal7  Affordable and Clean Energy ) เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ( Goal 8 Decent work and Economic Growth)  เป้าหมายที่ 9 ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม (Industry,Innovation and Infrastructure) เป้าหมายที่ 12 สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Goal13  Climate Action)และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( Goal17 Partnership for the Goals)

ในปีที่ผ่านมาการประกาศแผนกลยุทธ์ใหม่ กลยุทธ์ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม”(More & Cleaner Energy)ของเชลล์ประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีการบูรณาการทั้ง 6 เป้าหมายนี้ และเป็นภาพตัวอย่างที่ชัดของ SDGs in Action ในอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนจากแนวคิดสู่การลงมือทำ

ภายใต้กลยุทธ์พลังงานสะอาดฯ มีการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพอย่าง เอทานอล 100%  เชลล์ประเทศไทยยังสนับสนุน การสร้างคนสำหรับตลาดพลังงานทางเลือกใหม่ๆในอนาคต ผ่านโครงการเยาวชน การแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ในการพัฒนารถต้นแบบสำหรับการประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้เชลล์ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศไทยบนความเชื่อที่จะเป็นทางออกของการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต

“ เชลล์ อยู่ในประเทศไทยมากว่าร้อยปี เราผ่านอะไรมามากมาย เราถามตัวเองว่า เมื่อเราตั้งใจจะอยู่ในประเทศไทยต่อไป เราควรทำอะไรเพื่อต่อยอดอดีตซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยจดจำเราและส่งต่อความหมายกับคนอื่นอีกได้อีกบ้าง และนั่นคือการทำอะไรที่มีคุณค่าและความหมายมากกว่าการทำอะไรที่มีความหมายแค่เพียงเพื่อตัวเราเอง” อัษฎากล่าว