ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “กกต. แจง หาเสียงออนไลน์ได้หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง” และ “ก.ล.ต.สหรัฐฯ ฟ้องอีลอน มัสก์ ฐานฉ้อโกง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “กกต. แจง หาเสียงออนไลน์ได้หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง” และ “ก.ล.ต.สหรัฐฯ ฟ้องอีลอน มัสก์ ฐานฉ้อโกง”

29 กันยายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 22-28 ก.ย. 2561

  • กกต. แจง หาเสียงออนไลน์ได้หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง
  • หอศิลป์ฯ วิกฤติ กทม. ตัดงบค่าน้ำ-ค่าไฟ
  • กทม. แจง อัตราค่าจอดรถเท่าเดิม แต่เพิ่มเนื้อหาเพื่อป้องกันมาเฟีย
  • ธปท. หารือแบงก์พาณิชย์ เพิ่มวงเงินออนไลน์ จาก 50,000 เป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อรายการ
  • ก.ล.ต.สหรัฐฯ ฟ้องอีลอน มัสก์ ฐานฉ้อโกง
  • กกต. แจง หาเสียงออนไลน์ได้หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Global NEWS (http://bit.ly/2N8bePw)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองและผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ครั้งที่ 3/2561 พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายหัวข้อ “พรรคการเมืองไทยมีอะไรที่ต้องปรับตัวตามกฎหมายใหม่” ตอนหนึ่งว่า หลังจากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะมีเสรีภาพในการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย แต่ต้องเป็นไปตามมาตรา 70 ของกฎหมายพรรคการเมือง โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการที่จัดทำระเบียบดังกล่าวมีการประชุมไปแล้ว โดยมีหลักการคือ ภายหลังมี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง จะให้เสรีภาพในการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย แต่พรรคการเมืองจะต้องแจ้งว่าจะหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียอะไรอย่างไร ให้ กกต. ได้รับทราบ โดยไม่ต้องรอให้กกต.อนุมัติ แต่อย่าลืมว่ามีกองเชียร์และกองแช่ง

    กกต. จะให้ความสำคัญเรื่องกองแช่ง หากพบว่าพรรคการเมืองแจ้งวิธีหาเสียงมาแล้ว แต่มีกองแช่งไปแอบอ้างแล้วไปหาเสียงที่มีข้อความใส่ร้าย กกต. ก็จะทำการติดตามตรวจสอบว่าตรงกับที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ตอนแรกหรือไม่ และแจ้งให้พรรคนั้นๆ ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนข้อความการหาเสียงในโซเชียลมีเดียนั้น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ถ้าข้อความนั้นต้องห้าม หรือกระทบกระเทือนผู้อื่น กกต. จะขอให้พรรคการเมืองลบข้อความ ถ้าไม่ลบ กกต. ก็จะมีวิธีลบข้อความ นอกจากนี้ หากคณะกรรมการไต่สวน กกต. พบว่าข้อความดังกล่าวเป็นลักษณะการใส่ร้าย ทำให้คนอื่นเสียหาย จนทำให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งโดนใบแดง ตามกฎหมายใหม่ถ้าศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง บุคคลนั้นจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจัดเลือกตั้งใหม่ด้วย โดยให้ศาลฎีกาพิพากษาสั่งให้ชดใช้

    พ.ต.อ. จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนรูปแบบการหาเสียงตามปกตินั้น ก็จะเปลี่ยนไปเยอะโดยเฉพาะการสนับสนุนโดยรัฐ ที่จะต้องมีการให้พรรคการเมืองดีเบตนโยบาย ส่วนจะมีการจัดรูปแบบอย่างไรยังไม่ได้ข้อสรุป และให้พรรคการเมืองได้แถลงนโยบาย ส่วนเรื่องป้ายหาเสียงนั้นก็จะมีเรื่องที่ยากสำหรับ กทม. ที่ฝั่งถนนหนึ่งอาจเบอร์หนึ่ง อีกฝั่งถนนหนึ่งเป็นอีกเบอร์หนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสับสน ส่วนการจัดป้ายหาเสียงต้องหาข้อสรุปกับพรรคการเมืองว่าจะติดป้ายที่ใดบ้าง รวมทั้งเรื่องขนาดป้ายหาเสียงด้วย ความปรารถนาของนายทะเบียนพรรคการเมืองคืออยากให้ทุกพรรคการเมืองอยู่ครบถ้วน ซึ่งตนกำลังรวบรวมข้อมูลให้พรรคการเมืองได้ทราบว่าการกระทำอะไรบ้างที่จะทำให้มีโทษถึงขั้นยุบพรรค

    หอศิลป์ฯ วิกฤติ กทม. ตัดงบค่าน้ำ-ค่าไฟ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สปริงนิวส์ (http://bit.ly/2N49XJm)

    วันที่ 24 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีหอศิลป์ฯ ถูกตัดงบประมาณจาก กทม. ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณมีปัญหาจริง ทั้งนี้นับแต่ปี 2555 หอศิลป์ฯ จะได้งบประมาณอุดหนุนจาก กทม. เป็นก้อนใหญ่ ประมาณปีละ 40-45 ล้าน แต่ปี 2560 มีการปรับวิธีเบิกจ่าย โดยหอศิลป์ฯ ต้องขอแบ่งงบประมาณจากสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. เพื่อเบิกค่าน้ำ ค่าไฟและค่ากิจกรรม ฯลฯ

    กระทั่งเดือนตุลาคม 2560 ที่ไม่สามารถเบิกค่ากิจกรรมได้ และต่อมาเดือนกรกฎาคม 2561 สำนักวัฒนธรรมฯ ได้หยุดจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟด้วย สรุปแล้วงบประมาณที่ กทม. จัดสรรผ่านสำนักวัฒนธรรมฯ ประมาณ 40 ล้านบาท หอศิลป์ฯ ได้รับเป็นค่าน้ำ-ค่าไฟเพียง 6-7 ล้านบาทเท่านั้น

    ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่และผู้บริหารหอศิลป์ฯ เตรียมแต่งชุดดำและแถลงข่าวในวันที่ 26 ก.ย. 2561 เพื่อแถลงถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ประชาชนอาจคิดว่าเรื่องการบริหารหอศิลป์ฯ ลงตัวแล้ว หลังจากที่ผู้ว่าฯ กทม. ยุติแนวคิดทวงคืนหอศิลป์

    ผศ.ปวิตร เผยว่าสาเหตุที่ กทม. ไม่อนุมัติงบฯ เพราะอ้างว่ายังไม่ได้แก้ไขสัญญาโอนสิทธิ์ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ทำกับ กทม. ในปี 2554 เนื่องจากมีถ้อยคำที่สภา กทม. เห็นว่ามีปัญหาต่อการจ่ายงบอุดหนุน ซึ่งมีการเสนอเรื่องเข้าสภา กทม. แล้ว แต่ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไข

    วันที่ 26 ก.ย. 2561 เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า นายมานิต ศรีวานิชภูมิ กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวกับ ‘ทีมข่าวสปริงนิวส์’ ถึงประเด็นหลักที่จะมีการแถลงข่าว รวมถึงจัดกิจกรรมแต่งชุดดำที่หอศิลป์ฯ ว่า มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1. เรื่องของมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเกิดจากการผลกระทบจากการตัดงบประมาณของ กทม. ที่มีผลต่อเรื่องค่าน้ำค่าไฟ พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน และเรื่องการจัดนิทรรศการต่างๆ

    โดยหนึ่งในมาตรการที่จะนำมาใช้คือ ลดชั่วโมงการให้บริการ จากเปิดให้บริการเวลา 10.00-21.00 น. เหลือเป็น 11.00-20.00 น. ซึ่งเป็นมาตรการในช่วงเริ่มต้น แต่หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข อาจพิจารณาในเรื่องของการลดจำนวนวัน

    นายมานิตกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 คือเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อเข้ามาทำหน้าที่สรรหากรรมการชุดใหม่ของมูลนิธิฯ ที่ปรากฎว่า โครงการกรรมการสรรหาชุดใหม่ มีจำนวน 5 รายที่มาจากฝั่ง กทม. และในจำนวนนี้เป็น ‘นายพล’ ถึง 3 ราย ขณะที่รายชื่อที่ทางเสนอจากฝั่งของหอศิลป์ฯ ที่เสนอไปจำนวน 4 รายชื่อ ทางผู้ว่าฯ รับเพียงชื่อเดียว ทำให้สัดส่วนคะแนนเสียงเป็น 5:1 นั่นหมายความว่า การที่ผู้ว่าฯ ระบุว่าจะไม่มีการยึดหอศิลป์ ก็จะมาในอีกรูปแบบหนึ่ง

    “โดยหลักการเรื่องนี้ก็คงไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องอิสรภาพในการบริหารจัดการ และที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เห็นด้วยกับกรรมการส่วนใหญ่ที่มาจากข้อเสนอของภาคประชาชน ก็ให้อิสระ และไปวัดกันที่ผลงาน เพราะฉะนั้นตรงนี้เชื่อว่าจะกระทบในเรื่องอิสรภาพแน่นอน”

    กทม. แจง อัตราค่าจอดรถเท่าเดิม แต่เพิ่มเนื้อหาเพื่อป้องกันมาเฟีย

    วันที่ 27 ก.ย. 2561 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดจอดยานยนตร์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เป็นการปรับปรุงประกาศ กทม. ว่าด้วยการกำหนดที่จอดยานยนต์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบการจอดยานยนต์ กำหนดขึ้นเพื่อจัดค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2536 แต่ข้อบัญญัติดังกล่าวกำหนดที่จอดยานยนต์ รวม 65 สาย ส่วนถนนราชดำริก็จะมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ เขตทางถนนราชดำริ ลงวันที่ 27 ก.ย. 2547 อีกฉบับบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประกาศการกำหนดฉบับใหม่เป็นการรวมประกาศและข้อบัญญัติให้อยู่ในฉบับเดียวกัน

    “อัตราค่าธรรมเนียมการจอดยานยนตร์ในถนนสายต่างๆ ยังคงเป็นอัตราเดิมตามอัตราการเก็บค่าที่จอดรถของกฎหมายกระทรวง พ.ศ. 2535 ไม่มีการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ดังนี้

      1. รถจักรยานยนต์ กำหนดชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท
      2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ ชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไป 20 บาท
      3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 30 บาท
      4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ ชั่วโมงแรก 30 บาท ชั่วโมงต่อไป 40 บาท
      5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 40 บาท ชั่วโมงต่อไป 60 บาท และ
      6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท โดยเศษของชั่วโมงให้คิดเป็น 1 ชั่วโมง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

    อย่างไรก็ตามประกาศฉบับใหม่นี้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการ คือ การยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบริเวณเขตทางถนนราชดำริ สำหรับยานยนต์ทุกประเภท จากเดิมตั้งแต่ช่วงเวลา 04.00-00.00 น. เป็น 04.00-08.00 น. หรือกล่าวได้ว่าจอดได้โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมช่วงดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลพบว่าผู้นำรถมาจอดส่วนใหญ่เป็นการจอดชั่วคราว เช่น การจอดรถเพื่อมาออกกำลังกายตั้งแต่เช้ามืดภายในสวนลุมพินี เป็นต้น รวมถึงลักษณะของพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่ลานจอด มีไม้กั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่คิดคำนวณค่าจอด รวม 170 ช่องจอด ไม่ได้เป็นพื้นที่ตามถนนเหมือนถนนสายอื่น จึงสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมเฉพาะช่วงเวลาได้

    ส่วนพื้นที่อีก 65 ถนนเป็นพื้นที่ถนนจะมีเจ้าหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมในช่วงเวลากลางวันตามที่กฎหมายอนุญาต ตั้งแต่ 09.00-15.00 น.หรือ 16.00 น. หากมีเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมนอกเหนือเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของกทม. โดยประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้นั้น

    “การออกประกาศดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นในการป้องกันมิจฉาชีพหรือผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ กทม. เรียกเก็บเงิน” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

    สำหรับวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมนั้น กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ ของสำนักการคลัง รวม 71 ราย ประจำอยู่ 66 ถนน โดยเจ้าหน้าที่ของกทม.จะสวมเครื่องแบบข้าราชการสีกากี พร้อมห้อยบัตรราชการแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คอยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งภายหลังที่ผู้จอดชำระค่าธรรมเนียมแล้ว เจ้าหน้าที่จะมอบใบเสร็จการชำระเงินให้ เป็นใบเสร็จตามสีของแต่ละวัน เช่น วันจันทร์จะเป็นใบเสร็จสีเหลือง วันอังคารเป็นใบเสร็จสีชมพู เป็นต้น

    ดูประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็มได้ที่นี่

    ธปท. หารือแบงก์พาณิชย์ เพิ่มวงเงินออนไลน์ จาก 50,000 เป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อรายการ

    วันี่ 26 ก.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการที่ปัจจุบันการทำ ธุรกรรมโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก การใช้งานบริการพร้อมเพย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า อันเป็นผลจากการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

    นอกจากนี้พบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่นิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile device) ในการโอนเงิน โดยคิดเป็นสัดส่วนมูลค่ากว่าร้อยละ 81 ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 31 ต่อเดือนสอดคล้องกับความนิยมในการใช้ mobile banking ที่เพิ่มสูงขึ้น

    จากพัฒนาการและความนิยมของประชาชนในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ธปท. และธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการ จึงได้หารือร่วมกันถึงการขยายวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ internet banking และ mobile banking เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสามารถโอนเงินในแต่ละรายการได้สูงขึ้น ไม่ต้องแยกทำรายการหลายครั้ง สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน และช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจการเงินของประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ

    นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า สำหรับการโอนเงินด้วยเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์จะทยอยเพิ่มวงเงินสูงสุดในการโอนเงิน ตามระดับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมของแต่ละธนาคาร จากวงเงินเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายการ เป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อรายการ

    ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวงเงินการโอนได้ที่ call center ของธนาคารที่ใช้บริการ

    ก.ล.ต.สหรัฐฯ ฟ้องอีลอน มัสก์ ฐานฉ้อโกง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://bit.ly/2N5d9EF)

    วันที่ 28 ก.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.) ยื่นฟ้องนายอีลอน มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ฐานฉ้อโกง กรณีทวีตข้อความว่าจะนำบริษัทเทสลาออกจากตลาดหุ้นเมื่อเดือนก่อน

    ทั้งนี้ เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า  ก.ล.ต.สหรัฐฯ ได้ยื่นเอกสารต่อศาลเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.ย. 2561) ระบุว่า ทวีตของนายมัสก์ เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดและสร้างความเข้าใจผิดต่อนักลงทุน เนื่องจากราคาหุ้นเทสลาที่ 420 ดอลลาร์ มีราคาส่วนเกินของหุ้นสูงกว่าราคาบนฐาน (standard premium) ที่ 20% ซึ่งควรอยู่ที่หุ้นละ 419 ดอลลาร์ แต่นายมัสก์กำหนดเป็น 420 ดอลลาร์ เพียงเพราะว่าสะท้อนถึงรหัสลับ 420 (โฟร์ ทเวนตี้) ของกลุ่มที่สูบกัญชาเท่านั้น

    ในการซื้อขายหุ้นในวันพฤหัสบดี  ราคาหุ้นเทสลาปรับตัวร่วงลงประมาณ 10%

    อย่างไรก็ตาม กลต.สหรัฐฯ มีอำนาจลงโทษในทางแพ่งเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เริ่มกระบวนการสืบสวนเพื่อเอาผิดทางอาญาต่อนายมัสก์ในกรณีเดียวกันแล้วหลังจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 นายมัสก์ประกาศแผนซื้อหุ้นคืนที่ราคา 420 ดอลลาร์ เพื่อนำบริษัทเทสลาออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้งยังบอกว่า มีเงินทุนพร้อมดำเนินการดังกล่าว ก่อนจะล้มเลิกแผนในเวลาต่อมา