ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานองค์กรความโปร่งใสสากลชี้การส่งออกที่ทรงอำนาจของโลกกว่าครึ่ง มาจากประเทศล้มเหลวในการลงโทษติดสินบนข้ามชาติ

รายงานองค์กรความโปร่งใสสากลชี้การส่งออกที่ทรงอำนาจของโลกกว่าครึ่ง มาจากประเทศล้มเหลวในการลงโทษติดสินบนข้ามชาติ

16 กันยายน 2018


เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International: TI) ได้เปิดเผยรายงาน Exporting Corruption 2018 ฉบับล่าสุด พบว่า ประเทศผู้ส่งออกที่ทรงอำนาจนั้นล้มเหลวในการลงโทษธุรกิจที่จ่ายเงินสินบนในต่างประเทศ

รายงาน Exporting Corruption 2018: Assessing Enforcement of the OECD Anti-Bribery Convention เป็นการประเมิน 44 ประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาการต่อต้านการติดสินบน OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development Anti-Bribery Convention) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UN Convention against Corruption) ว่ามีความแข็งขันในการดำเนินการตามเงื่อนไขที่จะสืบสวน ดำเนินคดีและลงโทษบริษัทที่ติดสินบนในต่างประเทศหรือไม่ โดยประเมินจากการดำเนินการตามอนุสัญญาการต่อต้านการติดสินบน OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development Anti-Bribery Convention) ที่กำหนดให้พันธมิตรตัดสินว่าการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศเป็นการกระทำผิดทางอาญารวมทั้งการนำมาตรการที่เหมาะสมมาใช้

ทั้งสองอนุสัญญานี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการคอร์รัปชันในโลก เนื่องจาก 44 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญานี้ทั้งสองฉบับมีการส่งออกรวมเป็นสัดส่วนถึง 65% ของการส่งออกโลก และมากกว่า 75% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ในทั้ง 44 ประเทศนี้มี 36 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาการต่อต้านการติดสินบน OECD

รายงาน Exporting Corruption 2018 ซึ่งจัดทำมาเป็นครั้งที่ 12 ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประเมินจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาเพื่อการต่อต้านการติดสินบนกับกลุ่ม OECD แต่เป็นเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UN Convention Against Corruption)

ประเทศที่ไม่ได้รวมอยู่ในการประเมินระดับนี้คือ คอสตาริกา ไอซ์แลนด์ และลัตเวีย เนื่องจากมีส่วนแบ่งการส่งออกน้อยมากจนไม่สามารถจัดกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินคอสตาริกาก็มีในรายงาน เพราะเพิ่งเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา OECD ซึ่งการประเมินตั้งแต่เริ่มก็จะมีประโยชน์ต่อคอสตาริกาในแง่การวัดผลความคืบหน้า ส่วนเปรูไม่ได้รวมในรายงานเพราะเพิ่งลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เอง

หลักการประเมิน
การประเมินผลการดำเนินงานตามอนุสัญญานี้แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1. แข็งขัน (Active) 2. ปานกลาง (Moderate) 3. น้อย (Limited) 4. น้อยมากหรือไม่มีการดำเนินการเลย (Little or No Enforcement) การจัดอันดับประเทศนี้ยึดตามการดำเนินการในระยะที่แตกต่างกัน เช่น จำนวนครั้งของการสืบสวน การเริ่มดำเนินคดี (ยื่นฟ้อง) และการปิดคดีด้วยการใช้มาตรการลงโทษและบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ปี 2014-2017

นอกจากนี้ การให้น้ำหนักที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะของการบังคับใช้และความสำคัญของแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดกลุ่มประเทศยึดตามส่วนแบ่งการส่งออก

อนุสัญญา OECD ได้นำมาปฏิบัติใช้แล้วกว่า 20 ปีนับตั้งปี 1997 แต่แนวทางการจัดการกับคอร์รัปชันในระดับนานาชาตินั้นต้องมีมากขึ้น ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าในช่วงปี 1980-2011 ขณะที่การแข่งขันเพื่อชิงตลาดก็รุนแรงตาม ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะมีการติดสินบนและคอร์รัปชันข้ามชาติมากขึ้น และมีผลทางลบต่อประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติ การหันเหของทรัพยากร และการไม่เคารพหลักกฎหมาย

ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีทั้งผลประโยชน์ส่วนตัวและมีพันธะที่ต้องแก้ไขปัญหา โดยอันดับแรกควรที่จะมุ่งไปที่การจัดการกับคอร์รัปชันกรณีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ เพราะมีผลกระทบที่ตามมาในวงกว้างทั้งด้านการเมืองและสังคม รวมทั้งเป็นตัวกีดขวางไม่ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)

รายงานนี้จัดทำโดย Transparency International ด้วยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจาก 41 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญา OECD Anti-Bribery Convention รวมไปถึงในจีน ฮ่องกง อินเดีย และสิงคโปร์

รอบ 3 ปีแค่ประเทศเดียวที่คืบหน้า

จากข้อมูลการปฏิบัติตามอนุสัญญา รายงานได้แยกประเทศเหล่านี้ออกเป็น 4 ระดับ คือ 1. แข็งขัน (Active) 2. ปานกลาง(Moderate) 3. น้อย (Limited) 4.น้อยมากหรือไม่มีการดำเนินการเลย (Little or No Enforcement) ซึ่งพบว่าน่าผิดหวังมาก เนื่องจากในภาพรวมทุกระดับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก (ซึ่งได้คำนึงถึงสัดส่วนของการส่งออกไว้แล้ว) เมื่อเทียบกับรายงานฉบับล่าสุดในปี 2015

จำนวนประเทศใน 2 ระดับแรกเพิ่มขึ้นเพียงประเทศเดียว และประเทศในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการส่งออกในการค้าโลกเท่ากับปี 2015 การที่ผลการประเมินแทบไม่ขยับเลยหมายความว่า เป้าหมายพื้นฐานของอนุสัญญาที่มุ่งสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อความปลอดจากการทุจริตของการค้าโลกนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยังไม่มีการบังคับใช้หรือนำไปปฏิบัติที่เพียงพอ

สำหรับผลการประเมินโดยรวมมีเพียง 11 ประเทศ จาก 44 ประเทศที่ผ่านเข้ามาอยู่ในระดับแข็งขันหรือปานกลางในการต่อต้านบริษัทที่ติดสินบนข้ามชาติ ได้แก่ เยอรมนี อิสราเอล อิตาลี นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในระดับแข็งขัน ส่วนออสเตรเลีย บราซิล โปรตุเกส สวีเดนอยู่ในระดับปานกลาง ทั้ง 11 ประเทศมีส่วนแบ่งการส่งออกรวม 30.8% ของการส่งออกของโลก

ส่วนอีก 33 ประเทศที่อยู่ในระดับน้อย และระดับน้อยมากหรือไม่มีการดำเนินการเลยนั้น มีส่วนแบ่งการส่งออกรวมกัน 52% ของการส่งออกรวมโลก ซึ่งเฉพาะจีนประเทศเดียวมีส่วนแบ่งการส่งออก 10.8%

เดเลีย เฟอร์ไรรา รูบิโอ ประธานองค์กรความโปร่งใสสากล ให้ความเห็นถึงผลการประเมินว่า “รับไม่ได้ที่การค้าโลกส่วนใหญ่ไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้เกิดการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะนำแนวทางอนุสัญญา OECD และอนุสัญญา UN ไปใช้และจะบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านการติดสินบนข้ามชาติ หลายประเทศไม่แม้แต่จะสืบสวนกรณีใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องรัฐวิสาหกิจและนักการเมืองอาวุโส ซึ่งกรณีเหล่านี้มีผลกัดกร่อน ผลกระทบร้ายแรงต่อพลเมืองของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด”

ประเทศที่มีผลการประเมินดีขึ้นมี 8 ประเทศ โดยมี 3 ประเทศที่กำลังเข้าสู่ระดับแข็งขัน คือ อิสราเอล อิตาลี และนอร์เวย์ ขณะที่บราซิล โปรตุเกส สวีเดนเลื่อนมาอยู่ที่ระดับปานกลาง ส่วนอาร์เจนตินากับชิลีขยับมาที่ระดับน้อย ทั้งนี้ประเทศที่มีความคืบหน้ามากคืออิสราเอล ซึ่งเลื่อนจากระดับน้อยหรือไม่มีการดำเนินการเลยมาอยู่ในระดับแข็งขัน และบราซิลจากน้อยหรือไม่มีการดำเนินการเลยมาอยู่ระดับปานกลาง ประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งการส่งออกร่วมกัน 7.1% ของการส่งออกโลก

ปัจจุบันมี 7 ประเทศที่อยู่ในระดับแข็งขัน ซึ่งมีส่วนแบ่งการส่งออกรวมกัน 27% ของการค้าโลก เพิ่มขึ้นจากที่มี 4 ประเทศในปี 2015 และมีส่วนแบ่งการส่งออกรวมกัน 22.8% ของการส่งออกรวมของโลก อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้านี้ถูกถ่วงน้ำหนักจาก 4 ประเทศ คือ ออสเตรีย แคนาดา ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ ซึ่งการบังคับใช้หย่อนยานลง โดยเฉพาะฟินแลนด์ที่ลดลงมาก และ 4 ประเทศนี้มีส่วนแบ่งการส่งออกรวมกัน 6.7%

รายงาน Exporting Corruption 2018 ซึ่งจัดทำมาเป็นครั้งที่ 12 ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประเมินจีน ผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาเพื่อการต่อต้านการติดสินบนกับกลุ่ม OECD แต่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยเขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ ต่างมีส่วนแบ่งการส่งออกมากกว่า 2% ของการส่งออกโลก และเมื่อรวมกับจีนแล้วจะมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึง 18% ของการส่งออกโลก

ในรายงานฉบับนี้การแยกประเมินฮ่องกงออกมาจากจีนเนื่องจากเป็นเขตปกครองพิเศษ มีระบบกฎหมายที่แตกต่างจากจีนและมีการเก็บข้อมูลส่งออกต่างหาก ทั้งจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ ร่วมเป็นพันธมิตรในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต

ผลการประเมิน จีน ฮ่องกง อินเดีย และสิงคโปร์ ตกอยู่ในระดับต่ำสุด คือ น้อยมากหรือไม่มีการดำเนินการเลย ซึ่งองค์กรความโปร่งใสสากลเรียกร้องทั้ง 4 ประเทศนี้ให้เร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา OECD

กิลเลียน เดลล์ ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ให้ความเห็นว่า “ทางการไม่เพียงแค่ต้องมีกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อติดตามธุรกิจที่จ่ายสินบนในต่างประเทศ แต่ยังต้องมีบุคลากรเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ด้วย ในหลายประเทศ ศาล รวมไปถึงพนักงานสอบสวน และอัยการสำหรับการดำเนินคดีอาญาจากการคอร์รัปชันข้ามชาติ ไม่มีความตั้งใจพอที่จะทำงานของตัวเอง”

ข้อเสนอแนะยึดความโปร่งใส

รายงานยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ความล้มเหลวซึ่งมีสัดส่วนที่น่าตกใจในการค้าโลก เป็นผลจากสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการติดสินบนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและเวทีโลก เพื่อให้ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย

รายงานยังมีข้อมูลการบังคับใช้และข้อมูลคดีจากหลายแหล่งที่หลากหลาย ทั้งการเปิดเผยของหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจากแต่ละประเทศ จากรายงานของ OECD และแหล่งข้อมูลสาธารณะอื่นๆ รวมทั้งรายงานข่าวจากสื่อ

ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรความโปร่งใสสากลระบุว่า สำหรับประเทศส่วนใหญ่ ข้อมูลสถิติภาครัฐไม่เพียงพอและไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องหลักที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข

รายงานได้ให้ข้อมูลกรอบกฎหมายของแต่ละประเทศและระบบการบังคับใช้ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก ขณะที่ข้อมูลของหลายประเทศแสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วก็ยังมีจุดบกพร่องสำคัญที่ทำให้การบังคับใช้ไม่สามารถเดินหน้าได้เท่าที่ควร และควรที่จะมีการแก้ไขอย่างทันที นอกจากนี้ การมีบุคลคลากรที่ไม่เพียงพอของหน่วยงานที่รับผิดชอบรวมทั้งการไม่มีทักษะที่มากพอ การคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องที่อ่อนแอ และการขาดการประสานงานของหน่วยงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

ในโลกที่มีความเชื่อมโยงพึ่งพากันมาขึ้น การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกันและและความร่วมมือในรูปแบบอื่นในระดับสากลคือปัจจัยและต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆจากประเทศภาคสมาชิกอนุสัญญา OECD

ผลจากการประเมินนำไปสู่ข้อเสนอแนะในภาพรวมและรายประเทศดังนี้

ประเทศภาคีอนุสัญญาและผู้ส่งออกรายใหญ่ควรยกระดับการจัดการกับการติดสินบนข้ามชาติ

  • ภาคีสมาชิกและผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นควรที่จะจัดการกับความอ่อนแอในกรอบกฎหมายรวมทั้งระบบการบังคับใช้ และให้ความสำคัญกับการจัดการการติดสินบนข้ามชาติเป็นอันดับต้นๆ รวมทั้งการจัดการกับการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ตลอดจนการฝ่าฝืนกฎหมายภาษีและการแต่งบัญชี
  • ภาคีสมาชิกและผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ ควรส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบการป้องกันการฟอกเงิน เพื่อช่วยให้มีการตรวจสอบการติดสินบนข้ามชาติได้ และควรที่จะรวมการสร้างความเป็นเจ้าของให้กับภาครัฐ
  • ภาคีสมาชิกและผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นที่มีการดำเนินการแย่ลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาควรที่จะทบทวนและจัดการกับสาเหตุของปัญหา

ประเทศภาคีอนุสัญญาและผู้ส่งออกรายใหญ่ควรสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า การชำระคดีติดสินบนนั้นเป็นไปตามมาตรฐานความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือและถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย

  • ข้อตกลงของการประนีประนอมยอมความควรมีการเผยแพร่ รวมไปถึงเงื่อนไขและแสดงถึงเหตุผล ข้อเท็จจริงของคดีกับผลของการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ควรอยู่ในกรอบของการตรวจสอบที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อการจะทำให้การใช้มาตรการลงโทษหรือการบังคับใช้กฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพ
  • กระบวนการประนีประนอมยอมความควรครอบคลุมประเทศและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการติดสินบนข้ามชาติและตราบเท่าที่รวมการชดเชยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการประนีประนอมยอมความ
  • คณะทำงานด้านการติดสินบนของ OECD ควรพัฒนาแนวทางในเรื่องนี้

คณะทำงานของ OECD ควรทำให้สาธารณะชนรับรู้ถึงความไม่พอใจเมื่อประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาล้มเหลวในการที่จัดการกับการติดสินบนข้ามชาติ การกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการทำบัญชีปลอม

  • คณะทำงานควรเปิดเผยข้อมูลรายชื่อประเทศที่ล้มเหลวในการไม่สามารถดำเนินการให้มีผลลัพธ์ที่น่าพอใจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาออกเป็นรายปี รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปรายปีถึงข้อเสนอแนะที่คณะทำงานเห็นว่าประเทศภาคีสมาชิกไม่สามารถปฏิบัติตามได้
  • คณะทำงานในแต่ละปีควรจัดทำรายชื่อประเทศที่ได้มีการดำเนินการสำคัญเพื่อที่จะให้การจัดการกับการติดสินบนนั้นดีขึ้น

ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาและผู้ส่งออกรายใหญ่ควรเปิดเผยข้อมูลและคดีที่เป็นปัจจุบัน และคณะทำงานควรมีแนวทางไว้ให้ รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลเหล่านี้

  • ภาคีสมาชิกและผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นควรเปิดเผยข้อมูลสถิติรายปีของกระบวนการจัดการกับการติดสินบนข้ามชาติที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะๆ (ทั้งการสอบสวน การเปิดพิจารณาคดีและการปิดคดี)ที่สอดคล้องกับข้อมูลที่กำหนดไว้ในคำถามของเฟสที่สี่ รวมไปถึงการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
  • คณะทำงานควรมีการประเมินในแนวราบของประเด็นนี้ในทุกประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา พัฒนาแนวทางและให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และ OECD เองก็ควรสร้างฐานข้อมูลแบบเปิด เพื่อรองรับข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลคดี

ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา ผู้ส่งออกรายใหญ่และคณะทำงาน OECD ควรเพิ่มความพยายามในการที่จะปรับปรุงการร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดูแลการป้องกันการฟอกเงิน

  • ภาคีสมาชิกและผู้ส่งออกรายใหญ่อื่น ควรจัดให้มีบุคคลากรที่เพียงพอ จัดให้มีการเทรนนิ่งและแนวทาง อัตราการตอบสนองอย่างสมเหตุสมผล และเพิ่มการใช้ทีมงานด้านสอบสวนร่วมกัน เงื่อนไขของการกระทำผิดทางอาญาที่จะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายควรมีการกำหนดแบบกว้าง
  • คณะทำงานควรมีการประเมินในแนวราบของการร่วมกันให้ความช่วยเหลือในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการประเมินการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อพัฒนาแนวทางให้เกิดขึ้นได้และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างการประชุมของตัวแทน

จีน ฮ่องกง อินเดีย และสิงคโปร์ ควรจัดการทางกฎหมายกับการติดสินบนข้ามชาติและเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา OECD และคณะทำงานของ OECD ควรให้การสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อให้เข้าเป็นภาคีสมาชิกได้

  • จีน ฮ่องกง และอินเดีย ควรมีการริเริ่มให้มีการจัดการทางกฎหมายกับการติดสินบนข้ามชาติและการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของอนุสัญญา UN ส่วนสิงคโปร์ควรยกระดับการจัดการ
  • กลุ่มนี้ควรเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินการและข้อมูลแนวทางการจัดการกับคดี
  • นอกจากนี้ ควรร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา OECD และร่วมอยู่ในการประเมินของคณะทำงาน OECD เหมือนกับประเทศผู้ส่งออกใหญ่รายอื่นๆ
  • คณะทำงานของ OECD ควรเพิ่มความพยายามในการชักชวน จีน ฮ่องกง อินเดีย และสิงคโปร์ ให้มาร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา OECD รวมทั้งการชักชวนผ่านกลุ่มประเทศ G-20

นอกเหนือจากการเร่งการจัดการกับการติดสินบนข้ามชาติแล้ว องค์กรความโปร่งใสสากลยังมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าควรทำในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ปรับปรุงความน่าเชื่อถือและการป้องปราม ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งข้อมูลคดี
  • สนับสนุนการสอบสวนระหว่างประเทศด้วยการปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประเทศอื่น
  • สร้างความเชื่อมั่นว่าการใช้มาตรการลงโทษด้วยตักเตือนนั้นมีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายในการชำระคดีการติดสินบนข้ามชาติ

คณะทำงานด้านการติดสินบนของ OECD ควรใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อและประเทศที่ไม่ได้มีการดำเนินการกับการติดสินบนข้ามชาติ การกระทำผิดกฎหมายด้านการฟอกเงินและการตกแต่งบัญชี

การแบ่งกลุ่มตามระดับการดำเนินการ
กลุ่มระดับแข็งขัน ประกอบด้วย 7 ประเทศที่มีส่วนแบ่งการส่งออก 27% ได้แก่ อิสราเอล อิตาลี นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
กลุ่มระดับปานกลาง ประกอบด้วย 4 ประเทศที่มีส่วนแบ่งการส่งออก 3.8% ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล โปรตุเกส และสวีเดน
กลุ่มระดับน้อย ประกอบด้วย 11 ประเทศที่มีส่วนแบ่งการส่งออก 12.3% ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรีย แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ ฮังการี ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และแอฟริกา
กลุ่มระดับน้อยมากหรือไม่มีการดำเนินการเลย ประกอบด้วย 22 ประเทศและเขตปกครองพิเศษที่มีส่วนแบ่งการส่งออก 39.6% ได้แก่ เบลเยียม บัลแกเรีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก โปแลนด์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สเปน ตุรกี สโลวาเกีย และสโลเวเนีย รวมไปถึง จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์