ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยบอกไว้ว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถลดปัญหาคอร์รัปชันได้แล้ว คือ กฎหมายที่บังคับให้หน่วยราชการต้องประกาศราคาอ้างอิง (reference price) หรือราคากลางของโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องเอาวิธีการคิดคำนวณแสดงถึงการได้มาซึ่งราคานั้นขึ้นเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ ด้วย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูและตรวจสอบได้ รวมทั้งบริษัทที่ได้งานนั้นไปจะต้องแสดงความโปร่งใสเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยต้องแสดงรายรับรายจ่ายสำหรับโครงการนั้นๆ ต่อกรมสรรพากร ให้เห็นว่ารับมาเท่าไรและจ่ายไปเท่าไรในกิจกรรมหรืองานใดในโครงการนั้น มีการออกใบเสร็จจ่ายในลักษณะที่มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ฯลฯ
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ
แต่ที่น่าแปลกใจคือ (ถ้าฟังไม่ผิด) คุณปานเทพพูดต่อเองว่า แต่ไม่ค่อยมีคนทำ ซึ่งถ้าไม่ทำและมีปัญหาตามมาในภายหลัง ทางการก็จะใช้กฎหมายนี้มาไล่เบี้ยเอากับทุกคน ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักธุรกิจ ทำเอาแปลกใจว่า ถ้าเป็นกฎหมายแล้วหน่วยงานไม่ทำตามกฎหมายนั้น ทำได้ด้วยหรือ เท็จจริงเป็นประการใดวานผู้รู้ช่วยบอกกล่าวให้สาธารณชนเข้าใจด้วย ก็จะเป็นการดีไม่น้อย
ผมมีแนวคิดอยู่ 5 วิธีสำหรับการต่อสู้กับปัญหานี้ ซึ่งขอแบ่งปันเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันต่อไป ดังนี้
วิธีที่หนึ่ง ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน จากมหาวิทยาลัย Claremont Grad University ได้บรรยายไว้ในการประชุมระดับชาติของไทย ครั้งที่ 4 ว่าด้วยการผนึกกำลังต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ว่า ปัญหาคอร์รัปชันในภาคธุรกิจด้วยกันเองแม้จะมีก็มีน้อย และด้วยงบประมาณที่ไม่สูงนัก ผิดกับงานที่ทำกับภาครัฐที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงกว่า รวมทั้งในวงเงินที่สูงกว่า และศาสตราจารย์ผู้นี้ยังมีข้อมูลตัวเลขมายืนยันด้วยว่า หากประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐด้อยลง ปัญหาคอร์รัปชันจะสูงขึ้นตามทันที โดยความเชื่อมโยงกัน (correlation) ของสองปัจจัยนี้อยู่ที่ประมาณ 0.8 ถึง 0.9 จากคะแนนเต็ม 1.0
นั่นหมายความว่า หากพละกำลังรวมทั้งคนและงบประมาณของเรามีไม่มาก เราก็ควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นไปลงที่ที่มีปัญหามากที่สุดก่อน นั่นคือ ควรไปทำกับโครงการของรัฐก่อน โดยมียุทธศาสตร์เน้นไปที่ความโปร่งใสในการทำงานของบริษัทเอกชนที่รับงานโครงการของรัฐ ซึ่งหากเราสามารถควบคุมหรือจัดการตรงนี้ได้ โดยทำตั้งแต่ต้นทาง (การประมูล) กลางทาง (ระหว่างดำเนินงาน) และปลายทาง (การเคลียร์บัญชีและค่าใช้จ่าย) ปัญหาคอร์รัปชันนี้ก็น่าจะคลี่คลายลงได้
วิธีที่สอง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้เคยเสนอข้อมูลให้เห็นว่า ในช่วงปี 1992 ถึง 2009 หรือช่วงเวลาประมาณ 18 ปี มีบริษัท 220 รายถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และอัยการหรือตำรวจได้ส่งฟ้อง แต่เมื่อพิจารณาจนถึงสุดท้ายแล้ว มีบริษัทที่ถูกลงโทษจริงเพียง 12 ราย หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 5.45 ซึ่งน้อยมาก น้อยจนคนบางคนคิดว่ามันคุ้มที่จะเสี่ยงกับการที่จะคอร์รัปชันแล้วไม่ถูกจับ
ดร.เดือนเด่นยังบอกอีกด้วยว่า โทษปรับตามกฎหมายสำหรับการทำผิดนี้อยู่ในระดับเพียงห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท ซึ่งโทษปรับระดับนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ถ้าจะให้ขลังก็ต้องเอาโทษจำคุกมาใช้บังคับ ซึ่งก็มีน้อยกรณีมากๆ ที่ศาลสั่งจำคุกจริง คนจะคอร์รัปชันเขาถึงไม่กลัวเกรงต่อกฎหมายนี้แต่อย่างใด
ในขณะที่คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ก็บอกว่า หากมองในมุมมองของนักธุรกิจ (ที่ไม่ซื่อ) แล้ว มันคงคุ้มมากที่จะเสี่ยงกับการคอร์รัปชัน เพราะกระบวนการทางศาลของไทยใช้เวลานานมากกับการพิจารณาคดี บางคนถึงกับเสียชีวิตก่อนคดีจะสิ้นสุด จนมีคำเปรียบเปรยแบบขำไม่ออกในหมู่ธุรกิจบางกลุ่มว่า สุดท้ายแล้วก็คงจะถูกลงโทษ แต่ไม่ใช่ในชาตินี้ดอกนะ และนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนที่จะคอร์รัปชันไม่เกรงกลัวและก็ยังทำกันต่อไป
วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาข้อนี้ก็คงตรงไปตรงมากับที่ได้พูดไว้แล้ว นั่นคือ ต้องปรับกฎหมายให้มีบทลงโทษสูงขึ้น ปรับแก้กระบวนการทางยุติธรรมและศาลให้ฉับไวกว่านี้ ตลอดจนต้องมีการลงโทษแบบฆ่าเสือให้วัวกลัวที่เร็วและบ่อยกว่าที่เป็นอยู่นี้
วิธีที่สาม ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้หมายถึงเฉพาะปลาตัวใหญ่ แต่การคอร์รัปชันมิได้จำกัดอยู่เพียงปลาตัวใหญ่เท่านั้น การคอร์รัปชันในระดับปลาตัวเล็กๆ เช่น การจ่ายค่าส่วยให้เทศกิจสำหรับวางแผงขายของริมถนน การจ่ายค่าคุ้มครองให้ตำรวจกรณีเปิดบ่อน การให้สินบนแก่ตำรวจจราจรแลกกับการไม่ต้องถูกใบสั่ง การจ่ายใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อเร่งงานให้ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะหากทำและรับกันเป็นปกติ สิ่งนี้ก็จะฝังรากลึกในสังคม ซึ่งแก้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากทั่วประเทศ
แม้การแก้ปัญหาส่วนนี้จะเป็นเรื่องดีและควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยทรัพยากรปัจจุบันของเราที่มีอยู่จำกัด เราจึงต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่าดีหรือไม่ที่เราจะลงแรงไปในส่วนที่ทำได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า ส่วนนั้นก็คือปลาขนาดกลาง หรือธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง (SME) ที่มีอยู่มากทั้งจำนวนและขนาดของคอร์รัปชัน ซึ่งหากเอาปัจจัยสองค่านี้มาคูณกันเป็น ‘ปริมาณ’ ของคอร์รัปชัน ตัวเลขตัวนี้อาจมากกว่าตัวเลขรวมของโครงการขนาดใหญ่ก็เป็นได้ ดังนั้น มาตรการที่ควรเร่งทำในขณะนี้ คือ หันมาใส่ใจกับกิจการขนาดเอสเอ็มอี โดยจัดทำเป็นยุทธศาสตร์แยกให้เด่นชัดจากส่วนอื่นๆ ที่ทำแยกหรือคู่ขนานกันไป
วิธีที่สี่ เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจ จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีคู่ค้าในลักษณะที่เป็น value chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบส่งมาให้ผู้ขนส่ง ผู้ทำโลจิสติกส์ ตลอดไปจนถึงร้านจำหน่าย และผู้บริโภค ซึ่งเมื่อธุรกิจหนึ่งๆ จะประกาศตัวเองหรือนโยบายขององค์กรว่าจะเป็นองค์กรปลอดคอร์รัปชัน แต่การที่จะเป็นองค์กรลักษณะนั้นจะทำได้อย่างไรหากธุรกิจนั้นๆ ยังจำเป็นต้องมีคู่ค้าที่ยังไม่ใช่องค์กรปลอดคอร์รัปชัน ความคลุมเครือที่ว่านี้จะทำให้เครดิตขององค์กรใหญ่ต่างๆ ที่พยายามจะทำให้ดีขึ้นนั้นมีปัญหาได้ จึงสมควรที่องค์กรกลางทางด้านการต่อต้านคอร์รัปชันต้องศึกษาและประกาศกฎกติกาที่ยอมรับได้จากทุกภาคี ไว้เป็นเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติ มิฉะนั้นแล้วความปฏิบัติได้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นได้การยอมรับโดยเฉพาะจากภาคประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี
วิธีที่ห้า ขอย้อนกลับไปที่โครงการของภาครัฐอันที่มีโอกาสคอร์รัปชันสูงสุด ในวิธีที่หนึ่งผู้เขียนได้ชี้ว่าควรเพ่งเล็งไปที่ความโปร่งใสของบริษัทที่ทำงานกับภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่เป็นปฐม แต่ในคอร์รัปชันนั้นต้องมีทั้งผู้ให้และผู้รับผลประโยชน์ ดังนั้น เราจึงควรต้องพัฒนาตัวชี้วัดด้านความโปร่งใสและธรรมภิบาลของหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ระดับกอง กรม ไปจนถึงกระทรวงขึ้นมา และให้หน่วยงานองค์กรอิสระหนึ่งซึ่งอาจเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ตรวจตามและให้คะแนน จัดอันดับเรียงกันแบบการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทหรือของประเทศอย่างที่หลายองค์กรกำลังทำอยู่ เพื่อที่กรมกองต่างๆ จะได้รู้ตัวว่าถูกสังคมมองอย่างไรและควรปรับตัวหรือปรับปรุงอย่างไร ยิ่งถ้าตัวชี้วัดถูกบรรจุเป็น KPI ของหน่วยงานในการประเมินประสิทธิภาพรวมทั้งผู้บริหารของหน่วยงานด้วยแล้ว หน่วยงานของรัฐก็จะต้องถูกสังคมบีบบังคับให้ต้องทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้น
ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะสำเร็จได้ ยังขึ้นอยู่กับอีกสามปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรก คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต้องเริ่มที่บ้าน ซึ่งหมายถึงต้องเริ่มที่ตัวเอง องค์กรของเรา บริษัทของเรา หรือที่หน่วยงานของเรา ส่วนปัจจัยที่สอง คือ ทั้งหมดนี้ต้องทำร่วมกันแบบพร้อมๆ กันในทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยที่สาม คือ การทำงานแบบมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันเป็นรากฐาน ว่าเราจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและแน่นอน