ThaiPublica > เกาะกระแส > 135 ปี ไปรษณีย์ไทย จาก”ไปรสนียาคารสู่ไปรษณีย์ไทย 4.0” การอยู่รอดในโลกยุคดิจิทัล

135 ปี ไปรษณีย์ไทย จาก”ไปรสนียาคารสู่ไปรษณีย์ไทย 4.0” การอยู่รอดในโลกยุคดิจิทัล

6 สิงหาคม 2018


แสตมป์ที่ระลึก 135 ปี ไปรษณีย์ไทย

ปีนี้เป็นปีครบรอบ  135 ปี การไปรษณีย์ไทย มีการเปิดตัวนิทรรศการชุดพิเศษ “135 ปี การไปรษณีย์ไทย …ก้าวมาไกล ยังใกล้กัน” พร้อมกับแสตมป์ที่ระลึกไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องไปรษณีย์นฤมิต อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก เจริญกรุง

แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ ในวันที่โลกเปลี่ยนจากยุคอนาล็อกเป็นยุคดิจิทัล เป็นยุคแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ทำไมธุรกิจไปรษณีย์ไทยที่มีมานานนับศตวรรษถึงยังอยู่ได้ไม่ล้มหายตายจาก ทั้งที่มีธุรกิจบริการส่งของใหม่ๆ ในประเทศผุดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Kerry Express, Lineman, SCG Express ฯลฯ หรือแม้แต่บริษัทข้ามชาติอย่าง DHL ก็ถือเป็นคู่แข่งเช่นกัน

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แน่นอนว่าภาพของไปรษณีย์ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือการเขียนจดหมายถึงกัน แล้วมีบุรุษไปรษณีย์ขี่มอเตอร์ไซค์ ขี่จักรยาน มาหย่อนจดหมายใส่กล่องไปรษณีย์หน้าบ้าน หรือยื่นให้ถึงมือผู้รับ แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต มีช่องทางสื่อสารในยุคดิจิตัลถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จดหมายก็ค่อยๆ เริ่มหายไป

ไม่นับรวมทั้งสิ่งที่เลือนหายไปอื่นๆ ทั้งโทรเลข, ธนาณัติ, ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์, ไปรษณีย์รถไฟ, ไปรษณีย์ทางน้ำ, จดหมายอากาศ ที่ได้กลายเป็นอดีตในวันวาน ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจไทย ก็ต้องปรับตัวและพัฒนาเข้าหาโลกยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

เครือข่ายไปรษณีย์ไทย ขับเคลื่อน 3 เรื่องใหญ่

ปัจจุบัน บริษัทไปรษณีย์ไทยได้ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเครือข่าย “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นไปที่กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลกดิจิทัล โดยขับเคลื่อนด้วย 3 เรื่องใหญ่ คือ

    1. e-Logistics ส่งไว ง่ายแค่ปลายนิ้ว
    2. e-Payment ชีวิตง่ายจ่ายสะดวก
    3. e-Commerce ร้านค้าออนไลน์ ซื้อง่ายขายคล่อง

ขณะที่เครือข่ายไปรษณีย์ในประเทศ ประกอบด้วย ที่ทำการไปรษณีย์ รวม 1,267 แห่ง แยกเป็น ศูนย์ไปรษณีย์ 19 แห่ง, ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก 6 แห่ง, ที่ทำการรับ-จ่าย 965 แห่ง, ที่ทำการรับฝาก 228 แห่ง, ที่ทำการไปรษณีย์สาขา 5 แห่ง, ที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ 53 แห่ง

นอกจากนี้ยังมี ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,383 แห่ง, ร้านจำหน่ายตราไปรษณียากร 2,000 แห่ง, ตู้ไปรษณีย์ 23,346 แห่ง สถานที่รับรวบรวมฯ 816 แห่ง, และมีเครือข่ายไปรษณีย์ครอบคลุม 221 ประเทศ ทั่วโลก

ที่น่าสนใจคือ มีพนักงาน ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างจำแนกตามสายงาน รวมกันถึง 25,029 คน สวนทางกับกระแสปรับลดพนักงานในยุคดิจิทัล และส่งไปรษณีย์ในประเทศรวมกว่า 2,300 ล้านชิ้น (ข้อมูลสิ้นปี 2559)

ส่วนรายได้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด แจ้งว่า ปี 2556 มีรายได้ 19,391 ล้านบาท กำไร 1,224  ล้านบาท, ปี 2557 มีรายได้ 21,790 ล้านบาท กำไร 1,794 ล้านบาท นำเงินส่งรัฐ 948 ล้านบาท, ปี 2558 มีรายได้ 23,019 ล้านบาท กำไร 2,446 ล้านบาท นำเงินส่งรัฐ 544  ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 25,975 ล้านบาท กำไร 3,499 ล้านบาท นำเงินส่งรัฐ 891 ล้านบาท

กว่าจะมาถึงวันที่เป็นยุคดิจิทัล

อย่างไรก็ดี กว่าจะมาถึงวันนี้ กิจการไปรษณีย์ไทย ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาหลายช่วงหลายยุค ในนิทรรศการชุดพิเศษ “135 ปี การไปรษณีย์ไทย …ก้าวมาไกล ยังใกล้กัน”  ได้ระบุว่า ระบบไปรษณีย์ได้เริ่มนำมาใช้โดยสถานกงสุลอังกฤษ เพื่อใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของกิจการไปรษณีย์ที่เป็นประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารและการค้าขาย จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” เป็นผู้นำในการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์  โดยร่วมมือกับ “เจ้าหมื่นเสมอใจราช” ผู้กราบบังคมทูลนำเสนอให้มีการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์  ประกอบกับได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศมาช่วยดำเนินงานให้เป็นผลสำเร็จ

ในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 กิจการไปรษณีย์แห่งกรุงสยามได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่างด้านทิศเหนือ เรียกว่า “ไปรสนียาคาร”

สำหรับการไปรษณีย์ในช่วงเริ่มแรก ให้บริการเฉพาะในเขตพระนครและธนบุรี แต่ให้หลังเพียง 2 ปี ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ เพื่อให้สามารถส่งไปรษณียภัณฑ์แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศได้ พร้อมตั้งที่ทำการไปรษณีย์แห่งที่ 2 บริการรับฝากและนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศโดยเฉพาะ หลังจากนั้น ได้มีการขยายจุดบริการเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ กระจายออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค

ทั้งยังมีการจัดตั้งโรงเรียนไปรษณีย์เพื่อฝึกฝนบุคลากรด้านไปรษณีย์ การรวมกรมไปรษณีย์เข้ากับกรมโทรเลข เป็น “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ภายใต้สังกัดกระทรวงโยธาธิการ ก่อนจะเปลี่ยนมาสังกัดกับกระทรวงคมนาคมในภายหลัง

นอกจากนั้น ยังมีการทำสัญญากับกรมรถไฟหลวง เปิดที่ทำการไปรษณีย์ตามสถานีรถไฟต่างๆ เพื่อให้การรับส่งไปรษณียภัณฑ์กระจายออกไปได้ดียิ่งขึ้น มีการเริ่มใช้รถยนต์ในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ และการขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศ, การขยายบริการด้านวิทยุกระจายเสียง, คลังออมสิน, วิทยุการบิน, ไปจนถึงกิจการโทรศัพท์ ซึ่งต่อมาได้แยกออกมาตั้งเป็นหน่วยงานต่างๆ อีกหลายหน่วยงานจนถึงปัจจุบัน

และนับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 กิจการไปรษณีย์โทรเลขได้ขยายเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายเข้าคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อนจะมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือการแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ ก.ส.ท. ตามด้วยการแปลงสภาพอีกครั้งในปี 2546 โดยแยกกิจการไปรษณีย์ออกจากโทรคมนาคม ตั้งเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาจนถึงวันนี้

“ไปรษณีย์ไทย 4.0”

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า กิจการไปรษณีย์ไทยมีส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ผ่านบริการด้านการสื่อสารและขนส่งมานานนับกว่าศตวรรษ โดยได้พัฒนาและปรับตัวมาหลายยุคหลายสมัย

ตั้งแต่การเดินเท้านำจ่ายของบุรุษไปรษณีย์ในยุคเริ่มแรกสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยอำนวยความสะดวกในการนำจ่ายสิ่งของส่งถึงมือผู้รับปลายทางได้อย่างรวดเร็วแม่นยำมากยิ่งขึ้น

นางสมรบอกว่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้ปรับตัวอย่างขนานใหญ่สู่การเป็น “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เพื่อรับมือกับโลกยุคดิจิทัล ทั้งบริการใหม่ๆ และแอปพลิเคชันที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการยุคใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งตู้นำจ่ายอัตโนมัติ หรือ iBOX เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับตลอด 24 ชั่วโมง, การติดตั้งเครื่องคัดแยกอัตโนมัติ, เครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยสำหรับพนักงานนำจ่าย, การขยายเครือข่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงภารกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะการสนับสนุนชุมชนและผลผลิตทางการเกษตร

นางสมรยังมองเชื่อมโยงไปถึงไปรษณีย์เหนือจินตนาการในยุคหน้าว่า อาจจะเป็นการขนส่งโดยอากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน”, รถขนส่งไปรษณีย์ที่ขับได้เอง, การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เข้ามาบริหารจัดการด้านศูนย์ไปรษณีย์และการนำจ่าย รวมถึงบริการที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตออฟทิง (Internet of Thing: IoT)  พร้อมย้ำถึงประเด็นนี้ว่า เป็นความท้าทายที่เริ่มเห็นเค้าลาง และนับวันจะชัดขึ้นในอนาคตอันใกล้

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ต้อง “ปรับตัว” สู้คู่แข่งให้ได้

นางสมรยังเล่าว่า เมื่อครั้งที่ไปรษณีย์ไทยแยกออกมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ใครๆ ก็บอกว่าไปรษณีย์ไทยจะอยู่ได้อย่างไร เพราะคนไม่ส่งจดหมายแล้ว แถมยังมีอีเมลเข้ามาแทนที่ ยิ่งทุกวันนี้มีทั้งไลน์  เฟซบุ๊ก และช่องทางการสื่อสารมากมาย แต่ไปรษณีย์ก็มีการปรับตัวและพัฒนามาโดยตลอด เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้

“ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปีนี้ 2561 ไปรษณีย์ไทยไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว มีกำไรพอที่จะเลี้ยงตัวเอง และพัฒนากิจการของเราให้ก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ ขณะเดียวกันยังนำกำไรที่ได้ถึง 40% ส่งให้รัฐ และยังเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 20% ทำตามกฎหมายทุกเรื่อง เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้”

นางสมรกล่าวถึงเป้าหมายภาพรวมการเติบโตปี 2561 โดยระบุว่าน่าจะมีกำไรประมาณ 4,400 ล้านบาท  โดยจะพยายามพัฒนาคุณภาพบริการและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะปัจจุบันมีคู่แข่งจำนวนมาก แต่ก็อยากให้คนไทยใช้บริการไปรษณีย์ไทย

“ความได้เปรียบของบริษัทส่งของเอกชนคือความคล่องตัว ขณะที่ไปรษณีย์ไทยมีกฎระเบียบ เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้การขยับตัวแต่ละครั้ง แต่ละอย่าง อาจจะสู้เอกชนไม่ได้  แต่หากคนไทยเข้าใจหรือสนับสนุนคนไทยด้วยกัน ก็อยากให้ใช้บริการไปรษณีย์ไทย”

“และสิ่งหนึ่งที่ชาวไปรษณีย์ไทยทุกคนยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย คือความผูกพันใกล้ชิดกับคนไทย ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ไม่มีองค์กรใดเสมอเหมือน” นางสมรกล่าวอย่างภูมิใจ

กระนั้นก็ตาม นางสมรชี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจในโลกเสรีที่ต้องมีการแข่งขัน  ซึ่งไปรษณีย์ไทยได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด แต่สิ่งที่ไปรษณีย์ไทยทำได้รายเดียวมาตลอดคือการทำตราไปรษณียากร หรือ “แสตมป์” เพราะแสตมป์คือตัวแทนของประเทศ

“ไปรษณีย์ไทยแข่งขันมาโดยตลอด เพราะการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับตัวเองยังไง พัฒนาตัวเองยังไงให้สู่กับคู่แข่งให้ได้  ที่ผ่านมาคู่แข่งอาจจะยังไม่ค่อยเข้ามาเท่าไหร่ เพราะการส่งของยังน้อย”

“แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น การค้าขายออยไลน์มีมากขึ้น คนก็เห็นโอกาสตรงนี้ ทำให้เห็นบริษัทต่างๆ เข้ามามากมาย ทั้งบริษัทในประเทศและบริษัทข้ามชาติ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องสู้ เพราะเราเป็นไปรษณีย์ของชาติ”

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทยหรือธุรกิจใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่กิจการที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่กิจการที่ทำกำไรมากที่สุด หรือเป็นเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือปลาเร็วกินปลาช้า  วันนี้ไม่ใช่แล้ว  คนที่จะอยู่ได้ยืนยาว ได้นานที่สุด และเจริญเติบโตต่อไปได้ก็คือคนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้”

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัว คนต้องปรับ องค์กรต้องปรับ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับ  เพียงแต่เราจะปรับได้เร็วหรือช้า ก็เป็นเรื่องของข้อจำกัด แต่เราพยายามเต็มที่ มันทำให้เราอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ และเราคิดว่าจะปรับตัวตลอดไป เพื่ออยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด ต้องมีไปรษณีย์ไทยอยู่ในประเทศไทย” นางสมรกล่าว

อนึ่ง นิทรรศการ “135 ปี การไปรษณีย์ไทย …ก้าวมาไกล ยังใกล้กัน”  เปิดให้เข้าชมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2561 ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-19.00 น.