ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชูไทยศูนย์กลาง “กลุ่มดาวจรัสแสง” แห่งเอเชีย – โอกาสอยู่ตรงหน้าแล้ว จะคว้าหรือไม่?

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชูไทยศูนย์กลาง “กลุ่มดาวจรัสแสง” แห่งเอเชีย – โอกาสอยู่ตรงหน้าแล้ว จะคว้าหรือไม่?

29 สิงหาคม 2018


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จัดงาน “Thailand Focus 2018: The Future is Now” โดยช่วงเช้า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand Strategic Plan and Reform: แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย” รายละเอียดดังนี้

“ย้อนไปเมื่อปี 2004 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมเองในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ผลักดันในตลาดหลักทรัพย์ให้จัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้นักลงทุนจากทั่วโลกได้ตระหนักและรับรู้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสภาพการลงทุนของประเทศภายหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997”

นับแต่จัดงาน Thailand Focus ครั้งที่ 1 จนถึงวันนี้ผ่านมา 14 ปีแล้ว แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนัก แต่ประเทศไทยก็ได้เผชิญกับความท้าทายนานาประการ ทั้งจากภายนอกประเทศและสถานการณ์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลัง ที่ไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคมและความผันผวนทางการเมืองจนกระทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่บ้านเมืองขาดเสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจถดถอย ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขณะนั้นเพียง 0.9% เท่านั้น ในช่วงเวลานั้น แม้จะดูเหมือนว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ของประเทศ แต่รัฐบาลได้เปลี่ยนช่วงเวลานั้นให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ทางด้านเศรษฐกิจนั้นด้วยความสนับสนุนจากท่านนายกรัฐมนตรี ผมและคณะทำงานทางด้านเศรษฐกิจได้ประกาศภารกิจสำคัญอยู่ 2 ประการ

 4 ปีเศรษฐกิจฟื้นฟูกลับมาโดยสมบูรณ์

อันแรกการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว อันที่ 2 คือเร่งปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขัน ในความสมดุล และสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตข้างหน้า จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมา 3 ปีแล้วภารกิจแรกได้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ขยายตัวโดยลำดับอย่างมีเสถียรภาพต่อเนื่องจาก 0.9% ในปี 2014 เพิ่มเป็น 2.9% 3.2% และ 3.9% โดยลำดับตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และไต่สู่ระดับ 4.8% ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนการเติบโตที่มั่นคงมีเสถียรภาพและคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยทั้งปีในระดับที่สูงกว่าทุกตัวเลขที่เคยประมาณการ

ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้มีการประเมินตัวเลขทั้งจากสถาบันใประเทศและต่างประเทศ แต่ทุกปีสถาบันทั้งหลายต้องเปลี่ยนตัวเลขตลอดเวลา เพราะว่ารัฐบาลทำงานหนัก ต้องการทำให้ดีที่สุด ต้องการทำให้การเติบโตนั้นมีความมั่นคง มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพเต็มที่ และปีนี้ผมเชื่อว่าทั้งปีโดยเฉลี่ยก็จะต้องปรับประมาณการกันอีก เพราะว่าเราจะทำให้ตัวเลขเข้มแข็ง เพราะความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทั้งแบงก์ชาติและอื่นๆโดยลำดับ

ที่สำคัญคือว่าดัชนีทุกตัวทางเศรษฐกิจนั้นดีขึ้น สะท้อนความเข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมที่สูงเป็นประวัติการณ์ การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นกว่า 10% และมีแนวโน้มโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการเติบโตทั้งปีที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8% แต่จริงๆแล้วช่วงหลังการเติบโตไม่ได้เป็นเพราะการส่งออกเลย แต่เป็นเพราะว่าความเชื่อมั่นที่มันเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนกล้าบริโภค รัฐบาลลงทุน เอกชนกล้าลงทุน สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น การลงทุนขยายตัวต่อเนื่องโดยที่มูลค่าการลงทุนที่ขอส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จาก 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 เป็น 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว

“ผมคงจะไม่กล่าวอะไรมากไปกว่านี้ในเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการเติบโตภายในระดับเงินเฟ้อที่ 1% โดยเฉลี่ย เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความเข้มแข็งของแบงก์ชาติที่ช่วยดูแล ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพียงประมาณ 40% เท่านั้น ฉะนั้นผมถึงกล้ากล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวโดยสมบูรณ์ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขปัญหาในอนาคตข้างหน้าคือเรื่องของความไม่เท่าเทียบหรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและทุกคนต้องช่วยกัน”

ไทยศูนย์กลาง “กลุ่มดาวจรัสแสง” แห่งเอเชีย

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า “ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่นั้นไม่ใช่จุดประสงค์ใหญ่ ภารกิจที่สำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้การเติบโตมีความสมดุลและยั่งยืนต่อไป ซึ่งหมายถึงการปฏิรูป ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าโอกาสกำลังเป็นของประเทศไทย และประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นสู่จุดที่สูงขึ้น ดีขึ้นกว่านี้ เพียงแต่เราต้องมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการขับเคลื่อน ในการปฏิรูป ที่จะแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นข้อจำกัดและสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า”

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

มีปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการที่จะทำให้ผมมั่นใจว่าโอกาสกำลังเป็นของประเทศไทย และเราจะสามารถใช้โอกาสนี้ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

ประการแรกคือแรงสนับสนุนจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังทำให้อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุภูมิภาค CLMVT กำลังเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนของเอเชีย ให้วงเวลาที่เศรษฐกิจในยุโรปอยู่ในช่วงถดถอย และสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญกับนโยบาย “American First” เอเชียกำลังกลายเป็นกลจักรสำคัญและความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกที่ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ ด้วยระดับการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด

และไม่เพียงแต่ชาติขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีในกลุ่มของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT ที่กำลังเป็นดาวจรัสแสงแห่งภูมิภาค ด้วยอัตราการเติบโต 6-8% โดยเฉลี่ยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มประเทศนี้ไม่ได้เป็นเพียงตลาดสำคัญ ด้วยจำนวนประชาชนกว่า 200 ล้านคน แต่ยังเป็นแหล่งแรงงานและห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

ยิ่งไปกว่านั้นในห้วงที่จีนกำลังขับเคลื่อนนโยบาย “Belt and Road” ที่มุ่งลงใต้ผ่านไทยสู่ทะเลจีนใต้ และญี่ปุ่นกำลังเป็นผู้นำในการผลักดัน กรอบความร่วมมือ The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และแนวคิด Indo-Pacific Partnership ที่กำลังขับเคลื่อนโดยสหรัฐอเมริกา อินเดีย และญี่ปุ่น และที่กำลังจะเห็นผลในไม่ช้าคือเขตความร่วมมือเศรษฐกิจ RCEP อันประกอบไปด้วย ASEAN+ 6 ที่ครอบคลุมประชาชนเกือบครึ่งโลก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ในปลายปีนี้ และในทุกแนวคิดอาเซียนและ CLMVT ล้วนอยู่ที่ใจกลางทั้งสิ้น และในอนาคตการสร้างการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างชาติใน CLMVT และ ASEAN กำลังเป็นภารกิจร่วม ก็ยิ่งทำให้ภูมิภาคแถบนี้เป็นจุดศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอนาคตเลยทีเดียว

และหากเราเน้นไปที่ CLMVT การประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS ) เมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำทั้ง 5 ชาติได้ร่วมกันประกาศแผนแม่บท Master Plan ร่วมของ ACMECS แปลว่าอะไร? แปลว่าทั้ง 5 ชาติจะร่วมกันพัฒนาบน 3 เสาหลัก เสาหลักแรกคือ การเชื่อมโยงไร้รอยต่อระหว่างประเทศทั้ง 5 ทั้งคมนาคมและอื่นๆ เสาที่ 2 คือให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การพลังงาน เหล่านี้ และเสาหลักสุดท้ายก็คือเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน

ฉะนั้นนี่เป็นครั้งแรกทีเดียวที่การทำอะไรล่วงหน้าจะมีการหารือกัน แต่ไหนแต่ไรมาในอดีตแต่ละประเทศต่างคิด ต่างทำ ในขณะที่ชาติใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย หรืออื่นๆ เวลาจะเข้ามาช่วยเหลือ เขาจะช่วยเหลือผ่านกลไกของตัวเอง เช่นญี่ปุ่นมีโครงการแม่โขง GMS จีนมีแม่โขงล้านช้าง แต่ละคนต่างไป แต่ละคนต่างทำ แต่เมื่อเรามีแผนแม่บทนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่แต่ละชาติที่จะมาเกาะเกี่ยวและทำงานเป็นชิ้นเป็นอันไปในเส้นทาเดียวกัน

“แล้วสิ่งเหล่านี้แปลว่าอะไรสำหรับไทย แปลว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงกลางรับอาสาที่จะเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงให้ ล่าสุดผมได้ประชุมกับนายหวัง หย่ง (王勇) มุขมนตรีแห่งรัฐของประเทศจีน เมื่อ 2 วันที่แล้ว ท่านรับหลักการทันทีว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่มีแผนแม่บทอันนี้ แล้วจีนยินดีที่จะหารือโดยไทยได้กล่าวว่าเราจะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่าง ACMECS กับโครงการแม่โขงล้านช้างของจีน”

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า”สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ แน่นอนที่สุดประเทศไทยอยู่ตรงกลาง จึงเป็นศูนย์กลางโดยธรรมชาติของมันเองที่จะช่วยเกื้อกูลให้ประเทศเพื่อนบ้านก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน อันนี้เป็นหลักการของท่านนายกรัฐมนตรี คือการก้าวไปข้างหน้าโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราแข็งแรงไปด้วยกัน ก้าวหน้าไปด้วยกัน ฉะนั้นด้วยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของธุรกิจใหญ่ๆที่มาในประเทศไทย ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อในประเทศไทย แต่เป็นการลงทุนเพื่อเข้าสู่ประเทศไทยและเข้าสู่อีก 4 ประเทศรอบประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์อย่างเช่นหัวเว่ย เจดีดอทคอม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็แล้วแต่ ขอให้เอ่ยชื่อมาเถอะ ทุกประเทศเหล่านั้น ล้วนใช้ไทยเป็นหลักและกระจายไปใน CLMVT และใน ASEAN อันนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย”

แต่ถึงแม้ว่าโอกาสจะเห็นอยู่ข้างหน้า แต่เราจะสามารถใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดเป็นจริงได้หรือไม่อยู่ที่ตัวเราเอง นั้นคือเราต้องรู้จักทำตัวเราเองให้เข้มแข็ง ให้ดีที่สุด เพื่อว่าไทยจะได้เป็นจุดศูนย์กลางที่ต้องการได้ ผมมั่นใจว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรากำลังดำเนินมา 2 ปีกว่านี้จะสามารถไม่เพียงแต่ซ่อมแซมประเทศ แต่เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไทย อันประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ที่จะขอเอ่ยถึงสั้นๆ ที่เรากำลังเร่งขับเคลื่อนขณะนี้

3 ยุทธศาสตร์หลัก – คว้าโอกาสตรงหน้า

ยุทธศาสตร์แรกคือการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยหยุดมานานแล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ปี เราอาศัยบุญเก่ามาโดยตลอด โครงการใหญ่ล่าสุดที่เราทำนั้นคือ Eastern Seaboard เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่เมื่อ 2 ปีมานี้เราขับเคลื่อนการลงทุนอย่างเต็มที่ ท่านคงจะเริ่มเห็นแล้วว่ารถไฟฟ้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยหลัง BTS เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขณะนี้เรามีรถไฟฟ้ามากกว่า 10 เส้นทาง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โครงการเหล่านี้หลายโครงการเกิดแล้ว บางอันผ่านคณะรัฐมนตรี หรือกำลังอยู่ระหว่างประกวดราคา รถไฟความเร็วสูงไทยจีนได้มาถึงจุดเริ่มก่อสร้างในไม่ช้า รถไฟรางคู่กำลังอยู่ในช่วงกำลังก่อสร้างหรือประมูล โครงการพัฒนาท่าเรือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินที่ระยอง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นโครงการที่รัฐบาลเร่งผลักดันทั้งสิ้น

“ผมขอกล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ การที่เราเป็นประเทศที่ถูกกล่าวว่าเรามีระดับรายได้ปานกลาง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่ำมานานแล้ว เราเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วเราก็ก้าวมาสู่การผลิตอุตสาหกรรม แต่สินค้าอุตสาหกรรมของเรานั้น มูลค่าต่ำมากๆ นี่เป็นปัญหาที่เราเห็นตลอดเวลา แต่ในช่วง 2 ปีเศษมานี้ เป้าหมายได้ถูกกำหนดแล้ว เราก็ได้ทุ่มเทตัวเองขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ การยกระดับมูลค่าผลผลิตในภาคการผลิต การสร้างนวัตกรรม ในอุตสาหรรมเดิมที่มีอยู่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นโยบายการปฏิรูปเกษตรและอุตสาหกรรมเน้นที่การสร้างวิทยาการนวัตกรรมเหล่านี้ ที่สำคัญสุดคือว่าเราได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่เราคิดว่าสามารถสร้างขึ้นมาได้ และแข่งขันกับเขาได้”

ทั้งหมดนี้เราได้สร้างโครงการหนึ่งขึ้นมารองรับการสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ โครงการนั้นคืออีอีซี โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่มูลค่าสูงมากๆ ผมจะไม่กล่าวว่าเท่าไหร่ แต่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ เราจัดตั้งไว้ใน 3 จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เรามีโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 จังหวัดไปสู่อู่ตะเภา เรามีโครงการพัฒานาสนามบินใหม่ เรามีโครงการพัฒนาท่าเรือทั้งแหลมฉบัง ทั้งมาบตาพุด ระยะที่ 3  เรามีโครงการรถไฟรางคู่ เรามีโครงการสร้างเมืองการบิน เหล่านี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่เราต้องการให้เป็น Transhiftment port เพื่อเกื้อกูล CLMVT โดยส่วนร่วมทั้งเข้าสู่ภูมิภาคหรือออกไปสู่โลก

มูลค่าการลงทุนนั้นค่อนข้างมาก ในช่วง 5 ปีแรกเกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ถามว่าแหล่งเงินทุนมาจากไหน? อันแรกงบประมาณแผ่นดิน สองการร่วมมือกับเอกชน PPP สามออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราจะเริ่มจำหน่ายหน่วยลงทุนเหล่านี้ในประมาณตุลาคม ทั้ง 3 แหล่งนี้จะทำให้เราสามารถรักษาสมดุลทางการเงินของไทยได้เป็นอย่างดี นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเรามั่นใจว่าหนี้ต่อจีดีพีของรัฐบาลจะอยู่ในช่วง 40-50% ซึ่งเราถือว่าต่ำมากๆ เทียบกับบางประเทศที่ไปถึง 100% เราเป็นประเทศที่อนุรักษ์นิยม อดีตสอนเราไว้ว่าการทำอะไรเกิดตัว ถ้าไม่ระวังเกิดปัญหาตามทีหลังที่ไม่ได้คาดหวัง

“ผมอยากจะเรียนนักลงทุนในห้องนี้ว่าถ้าดูจากดัชนีเศรษฐกิจของไทย เราเคยผ่านวิกฤตเมื่อปี 1997 เราผ่านวิกฤตในปี 2008 ที่สหรัฐอเมริกา และเราก็เกิดภาวะผันผวนทางการเมืองในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ท่านสังเกตหรือไม่ว่าในปี 1997 ธุรกิจของเราพังหมด หนี้สินล้นพ้นตัวเกือบหมด บริษัทใหญ่ๆที่นั่งในที่นี้เจ๊งหมด แต่เมื่อเราผ่านมันมา ประสบการณ์มันทำให้เราเข้มแข็ง พอมาปี 2008 เมืองไทยกระทบน้อยมาก เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของเราเข้มแข็งมากเหลือเกิน การเงินเข้มแข็งมากจนกระทั้งไม่สะเทือนเลย แล้วพอมาสู่ภาวะที่ถดถอยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน บริษัทเหล่านี้ไม่กระเทือนทั้งสิ้น เพราะเขาเตรียมพร้อมอย่างดี เขารู้ว่าควรทำอะไร ฉะนั้นอยากให้เป็นอุทาหรณ์ที่อยากให้ท่านเชื่อมั่นในบริษัทที่อยู่ตลาดของเราว่าเรานั้นไม่ใช่บริษัทเกิดใหม่ แต่เราผ่านมา ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร”

จากวิกฤตเป็นโอกาส – ลั่นจะไม่ให้เสียเวลาเปล่า

ในประการที่ 3 ผมคงไม่กล่าวยาวนัก นั้นคือยุทธศาสตร์เรื่องดิจิทัล ประเทศที่ไม่ก้าวสู่ดิจิทัล ในไม่นานนักถ้าเป็นฟุตบอลเขาเรียกว่าตกชั้นไปสู่อีกระดับหนึ่งแน่นอน เพราะว่าดิจิทัลเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง เปลี่ยนภูมิทัศน์ของการแข่งขัน เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในภาครัฐและเอกชน และเรากำลังอาศัยมิตรประเทศของเราช่วยเราอยู่ในการ Tranform จากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล ภาครัฐบาลเป็นครั้งแรกที่เรามี e-Government และในอนาคตข้างหน้าเราจะก้าวไปอย่างสมบูรณ์แบบ

สิ่งเหล่านี้นั้นบวกกับความพยายมาลดทอนอุปสรรคของการลงทุน ประเทศไทยได้รับการยกระดับไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับอะไรก็แล้วแต่ ความสามารถในการแข่งขันโดย IMD เราได้รับการยกระดับขึ้นมา Ease of Doing Business ของธนาคารโลกเราปรับทีเดียว 20 อันดับ และล่าสุดเราได้รับการยกระดับเรื่องโลจิสติกส์ 13 อันดับ จะไม่ยกได้อย่างไร ถ้าไม่ยกแปลว่าคนจัดอันดับมีปัญหาแล้ว เพราะใน 2 ปีเราลงทุนไปเท่าไหร่ ขับเคลื่อไปเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้มันเป็นข้อเท็จจริงในตัวมันเอง

เมื่อภาคเศรษฐกิจจริงมีการขับเคลื่อนมีการปฏิรูป แน่นอนที่สุดสิ่งที่ควบคู่ไปด้วยกันคือภาคการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทุนของประเทศ ตลาดทุนเป็นสิ่งที่คู่กันกับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถ้าผมจำไม่ผิดตั้งมาแล้ว 40 ปี ตั้งแต่มีไม่กี่บริษัทจนเดี๋ยวนี้มีบริษัทที่เข้มแข็งจำนวนมาก ถ้าเราย้อนกลับไปดูก่อนหน้านี้ 4-5 ปี ตลาดทุนของไทยซบเซามาก บ้านเมืองสมัยนั้นสับสนวุ่นวาย ดัชนีอยู่เพียงระดับ 1400 โดยเฉลี่ย แต่ตอนนี้อยู่ที่ 1700 โดยเฉลี่ย มูลค่าตลาดกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 116% ของจีดีพีไทย เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือมูลค่าตลาดที่โตขึ้นมาเพียงแค่ไม่กี่ปี ถ้าเราหันกลับไปดูที่จีดีพี 4 ปีของรัฐบาลนี้ขับเคลื่อนประเทศ จีดีพีไทยมูลค่าเพิ่มมา 2 ล้านล้านบาท

นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อย่างที่ผมเรียนท่านทั้งหลายว่าเราใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมจะไม่ให้เสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้แน่นอน ผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองนายกรัฐมนตรีหลังวิกฤตเวลาไปบรรยายในสมาคมใดๆก็แล้วแต่ ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ เพราะเรารู้ว่าศักยภาพประเทศกำลังเสื่อมถอย แต่ว่าการเมืองที่ผ่านมาในอดีตมันไม่ได้เอื้อเลยให้เราทำสิ่งซึ่งสำหรับระยะยาว แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงซึ่งทุกอย่างมีเสถียรภาพ เราสามารถปักหมุด เราสามารถปักหลัก และสร้างสิ่งที่เป็นพื้นฐานในอนาคตข้างหน้า และผมเชื่อเลยว่าสิ่งที่วางพื้นฐานไว้ ในอนาคตข้างหน้าจะตอบสนองเราได้ดีทีเดียว

“ผมจะไม่กล่าวรายละเอียดต่อไป แต่อยากสรุปประเด็นแบบนี้ตลาดทุนของไทยเป็นตลาดที่มีประสบการณ์สูง บริษัทที่อยู่ในตลาดนี้ไม่ได้ลงทุนเฉพาะในไทยแต่ลงทุนทั้งใน CLMVT และไปสู่ทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญคือภูมิรัฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน แต่มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆและส่งผลที่รุนแรงมากต่ออนาคตของไทย”

ดูโครงการ EEC แม้มันพึ่งเกิดมาเพียง 2 ปีครึ่ง แต่ภายในระยะเวลานั้น การลงทุนจากต่างประเทศมาประมาณ 670,000 ล้านบาท ที่สำคัญที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้วรัฐมนตรีเซโกะจากญี่ปุ่นนำขบวนนักลงทุนมา 500 คนมาประชุมร่วมกับเราและไปที่อีอีซี นี่คือสาเหตุที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีจำนวนมากทีเดียว อย่างต่ำๆ 7,000 รายที่อยู่ที่อีอีซี และไม่กี่วันที่ผ่านมามุขมนตรีแห่งรัฐของจีนได้มาร่วมประชุมกับเรา และนำคณะนักลงทุนจีนมา 600 คน มีทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจมีอยู่ประมาณ 108 แห่ง และในจำนวนนั้นมีถึง 32 แห่งอยู่ใน Fortune 500 และที่มาส่วนใหญ่เป็นระดับประธานบริษัททั้งสิ้น ถ้าประเทศไทยไม่มีศักยภาพจริง ไม่มีอนาคตจริงจะมาอย่างนี้หรือ

ที่สำคัญกว่านั้น ท่านมุขมนตรีหวัง หย่งได้นำคณะไปเยี่ยมชมด้วยตัวเอง ไปดูท่าเรือ ไปดูสนามบิน ไปดูแหล่งลงทุนของอีอีซี และเดินทางกลับไปด้วยคำมั่นสัญญาว่าให้เราเลือกเลยว่าอยากได้อะไร แล้วเชื้อเชิญเขามาอีกที ซึ่งผมจะกลับไปเยี่ยมท่านในเดือนตุลาคม สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นคือว่าในช่วงที่ภูมิรัฐศาสตร์กำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลง ตลาดทุนก็กำลังพัฒนาไปด้วยและเมื่อตลาดทุนตามการพัฒนาประเทศ ก็หมายความว่าผู้ที่ลงทุนในตลาดทุนก็สามารถเติบโตไปพร้อมๆกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ตรงนี้ที่บอกว่าโอกาสกำลังมา บริษัทเอกชนที่มีโครงการลงทุนในสิ่งต่างๆเหล่านี้ ย่อมเปิดโอกาสให้กับการลงทุนเป็นอย่างดี

“ที่ขึ้นว่า The Future is Now หมายความว่าอนาคตนั้นมันอยู่ที่การลงทุนในขณะนี้ แล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ในอนาคตท่านกำลังเชื่อมโยงให้ตลาดจากต่างประเทศ เรากำลังเจรจาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ การเชื่อมโยงมีบริษัทจาก CLMVT มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่เราเจรจาในขณะนี้ เพราะในที่สุดแล้วเราต้องการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นตลาดทุนแห่งภูมิภาค ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเลย ถ้าเราทำต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ผมจะไม่เสียเวลาไปมากกว่านี้ ผมไม่ทราบว่าคนแปลจะแปลทันหรือไม่ เพราะผมพูดนอกบททั้งนั้นแหละ”