ThaiPublica > เกาะกระแส > PIER เปิดงานวิจัย “ความไม่แน่นอนทางการเมือง” กระทบจีดีพี 0.4-0.8% – ชี้หลังรัฐประหาร ความไม่แน่นอนอยู่ที่ “กติกาการเมืองใหม่”

PIER เปิดงานวิจัย “ความไม่แน่นอนทางการเมือง” กระทบจีดีพี 0.4-0.8% – ชี้หลังรัฐประหาร ความไม่แน่นอนอยู่ที่ “กติกาการเมืองใหม่”

27 สิงหาคม 2018


ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม (กลาง) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ. ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ (ซ้าย) อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIER ได้จัดงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 8/2561 โดยมี ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย”

ทั้งนี้ ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญว่า ที่ผ่านมาความไม่แน่นอนทางการเมืองมักจะเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจากมิติใดและอย่างไร โดยเฉพาะในระยะหลังที่ประเทศไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเดิมงานวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวมักจะใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน แต่มักจะประสบปัญหาว่าไม่สามารถทำได้บ่อยครั้งและมีความถี่ไม่มาก ขณะที่ต่อมามีงานวิจัยที่เริ่มหาทางวัดความไม่แน่นอนด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงหัวข้อต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการเมือง เช่น ความไม่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ

ข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำขึ้นมาใช้คือ “ข่าว” ที่สื่อมวลชนรายงาน ซึ่งสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ดี เนื่องจากหากประเด็นทางการเมืองหรือเศรษฐกิจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือมีความไม่แน่นอนอยู่ ย่อมมีโอกาสที่สื่อมวลชนจะติดตามรายงานข่าวมากขึ้นและต่อเนื่อง แต่หากประเด็นดังกล่าวได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เช่น กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การรายงานข่าวย่อมจะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งงานวิจัยนี้จะใช้ข้อมูลในลักษณะนี้เป็นหลัก

ทั้งนี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนำมาจากระบบจัดการข้อมูลข่าวของบริษัท Infoquest ซึ่งมีบริการแยกออกเป็นสองระบบ คือ ไอคิวนิวส์คลิป (iQNewsClip) เป็นบริการข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ในประเทศ และ นิวส์เซ็นเตอร์ (NewsCenter) ที่มีข้อมูลไม่เพียงเฉพาะจากหนังสือพิมพ์แต่รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบข่าวในไอคิวนิวส์คลิป แม้มีข้อมูลข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ที่มีความสมบูรณ์ แต่สามารถสืบค้นย้อนหลังกลับไปถึงแค่เดือนมิถุนายน 2006 งานวิจัยนี้จึงเน้นเฉพาะในส่วนของข่าวหน้าหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นประเด็นข่าวสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จากหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน คมชัดลึก และข่าวสด โดยข้อมูลรายเดือนจะใช้ฐานข้อมูลของไอคิวนิวส์คลิปที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2549 จนถึง 31 ธันวาคม 2559 หรือประมาณ 10 ปี

ขณะที่การพัฒนาดัชนีให้ครอบคลุมมากถึง 15 งานวิจัยใช้ระบบสืบค้นของนิวส์เซ็นเตอร์ ที่มีข้อมูลย้อนหลังกลับไปได้กว่า 20 ปี แต่ข้อมูลจำนวนบทความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 2543 ดังนั้น งานวิจัยจึงใช้ข้อมูลเว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์รวมทั้งจากหนังสือพิมพ์ในระบบนิวส์เซ็นเตอร์ ที่มีข้อมูลเนื้อหาข่าวเพียงพอกลับไปถึงปี 2540 และเนื่องจากข้อมูลเนื้อหาข่าวมีปริมาณที่แตกต่างกันในช่วง 15 ปีค่อนข้างมาก งานวิจัยจึงจัดทำข้อมูลออกมาเป็นรายไตรมาสแทนรายเดือน ระหว่างไตรมาสที่ 1 ปี 2540 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 รวมทั้งสิ้นเกือบ 20 ปี ครอบคลุมนายกรัฐมนตรีถึง 9 คน

สำหรับการสร้าง “ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย” หรือ Political Uncertainty Index: PUI โดยงานวิจัยได้การกำหนดกลุ่มคำสำคัญ (keywords) ที่แสดงถึงความไม่แน่นอนหรือความขัดแย้งทางการเมืองจากการอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งสรุปได้ 5 หมวดหมู่

  1. ความขัดแย้งที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แก่คำว่า “ชุมนุม” และ “ขัดแย้ง”
  2. การใช้มาตรการเพื่อดูแลหรือยับยั้งปัญหาความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ได้แก่คำว่า “กฎอัยการศึก” และ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”
  3. ความไม่แน่นอนทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ได้แก่คำว่า “ไทย” และ “ยุบสภา” หรือ “เลือกตั้ง”
  4. ความไม่แน่นอนทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง ได้แก่คำว่า “รัฐประหาร” และ “ปฏิวัติ”
  5. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบ กติกา และโครงสร้างทางการเมือง ได้แก่คำว่า “การเมือง” และ “ปฎิรูป” หรือ “รัฐธรรมนูญ (รธน.)” “ยกร่าง” และ “แก้ไข”

หลังจากนั้น จะนับจำนวนบทความข่าวที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์รายวันในแต่ละเดือนที่มีคำสำคัญดังกล่าวทียบกับจำนวนข่าวด้าน “การเมือง” ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ก่อนจะปรับปรุงข้อมูลตามวิธีการทางสถิติและสร้างเป็นดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในท้ายที่สุด อนึ่ง ภายหลังการจัดทำงานวิจัยได้นำดัชนีไปเปรียบเทียบกับเครื่องชี้ระดับธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Indicators) ในหัวข้อที่ 2 เสถียรภาพทางเมืองและการปลอดความรุนแรง (Political stability and absence of violence) ที่จัดทำโดยธนาคารโลกและพบว่ามีความสัมพันธ์กัน (correlation) ค่อนข้างสูง และสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ค่อนข้างดี

ชี้หลังรัฐประหาร ความไม่แน่นอนอยู่ที่ “กติกา”

ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติทางการเมือง 3 ครั้งสำคัญในช่วงดังกล่าว ได้แก่ ช่วงของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประกาศยุบสภา แม้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งและประกาศเลือกตั้งใหม่ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการชุมนุมภายนอกสภาที่ต้องการขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งต่อมาเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน

ครั้งที่สองเกิดขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่ม นปช. จนนำไปสู่มาตรการสลายการชุมนุม การปะทะกันระหว่างทางการและผู้ชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2010

ครั้งที่สาม ซึ่งจะเห็นได้ระดับความไม่แน่นอนเพิ่มสูงกว่าในสองครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เกิดการชุมนุมกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก และได้ทำปฏิบัติการณ์ปิดสถานที่ใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2014 การชุมนุมดังกล่าวได้เป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ หากแยกดัชนีย่อยออกเป็นสองด้าน คือ 1) ด้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข่าวภายนอกระบบรัฐสภา เช่น การชุมนุมประท้วง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน/กฎอัยการศึก หรือการปฏิวัติรัฐประหาร และ 2) ด้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในระบบรัฐสภา เช่น การเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมือง พบว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นภายนอกและภายในระบบรัฐสภามีความสัมพันธ์กันอย่างมากในช่วงปี 2006-2014 ซึ่งในช่วงก่อนปี 2006 ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีไม่ชัดเจน ขณะที่ภายหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2014 พบว่าความสัมพันธ์ของความไม่แน่นอนภายนอกสภาและภายในสภาวิ่งในทิศทางที่สวนทางกัน ซึ่งจะเห็นว่าความไม่แน่นอนด้านเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงได้ลดลงมากที่สุด ขณะที่ความไม่แน่นอนทางด้านการเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมืองยังคงอยู่ในระดับที่สูง

สุดท้ายในภาพรวม เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์กันระหว่างดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองรวม และความไม่แน่นแต่ละประเภท พบว่า ความไม่แน่นอนด้านการเลือกตั้งและด้านการปฏิรูปการเมืองมีความสัมพันธ์กับดัชนีรวมมากที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมืองไทย 2006-2016 ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งที่มาจากการชุมนุมประท้วงกลับสัมพันธ์กับดัชนีความไม่แน่นอนโดยรวมมากที่สุด

โดยหากพิจารณา “สัดส่วน” ของความไม่แน่นอนแต่ละประเภทใน “ดัชนีรวม” จะพบว่าด้านที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาหรือการเลือกตั้งมีสัดส่วนที่สูงมากในช่วงตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2006 และถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มาหลักของความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา องค์ประกอบของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้านการประท้วง การออกมาตรการจัดการการประท้วง และข่าวด้านการปฏิวัติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ทยอยลดลงภายหลังการรัฐประหารในปี 2014 ขณะที่บทความข่าวด้านการปฎิรูปการเมืองในปลายปี 2016 มีสัดส่วนถึงประมาณครึ่งหนึ่งของบทความข่าวความไม่แน่นอนการเมืองทั้งหมด

ความไม่แน่นอนฉุดเศรษฐกิจทุกระยะ

ด้าน รศ. ดร.ยุทธนา กล่าวว่า จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายกรณี ยกเว้นความไม่แน่นอนด้านชุมนุมขัดแย้ง และความไม่แน่นอนด้านปฏิรูปการเมือง ที่ผลไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่ในแง่ความผันผวนพบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางด้านการปฏิรูปการเมืองกลับทำให้ความผันผวนทางเศรษฐกิจลดลง ต่างจากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

สุดท้าย หากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตตามศักยภาพของระดับผลผลิต พบว่า ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาพรวม และในดัชนีย่อย มีผลเชิงลบต่ออัตราการเติบโตของระดับผลผลิตตามศักยภาพของไทยในเกือบทุกกรณี ยกเว้นเพียงผลของความไม่แน่นอนด้านการชุมนุมขัดแย้งที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมแยกตามรายสาขาการผลิต พบว่า การโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และการบริการขนส่ง เป็น 3 สาขาที่มีการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวมที่ชัดเจน

หากเจาะลึกลงไปถึงประเภทของตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคนอกเหนือไปจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ได้แก่ การลงทุนและการบริโภค พบข้อมูลดังนี้

  1. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มาจากการชุมนุมขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนปรับตัวหดลง 1.8% (-1.8%) ในขณะที่การตอบสนองต่อความขัดแย้งด้านการปฏิรูปการเมืองส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.5% (-1.5%) และกินระยะเวลาค่อนข้างยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านอื่นๆ (กฎอัยการศึก, ปฎิวัติ และเลือกตั้ง) มีผลในขนาดที่น้อยกว่า ขณะที่ “ความผันผวนของการลงทุน” จะขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองด้านการชุมนุมขัดแย้งและการปฏิรูปการเมืองถึง 17-18%
  2. การตอบสนองของการบริโภคต่อความไม่แน่นอนทางเมือง พบว่ารุนแรงน้อยกว่าผลต่อการลงทุนภาคเอกชน โดยผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของระดับความขัดแย้งจากการชุมนุมและด้านการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.3% (-0.3%) โดยผลกระทบจะมีผลต่อเนื่องประมาณ 2-4 ไตรมาสก่อนที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงหลัง 1 ปี

ทั้งนี้ หากแยกการบริโภคภาคเอกชนเป็นสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน พบว่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวม -1.3% และ -0.4% ตามลำดับ และหากแยกเป็นความไม่แน่นอนแต่ละด้านพบว่า การบริโภคสินค้าคงทนมีการตอบสนองในระดับที่สูงต่อการเพิ่มขึ้นในความไม่แน่นอนทางการเมืองในทุกๆ ด้าน โดยด้านที่มีผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ ด้านปฎิรูปการเมือง ลดลง -1.3%, ด้านการเลือกตั้ง ลดลง -1.2% และด้านชุมนุมขัดแย้ง ลดลง -1.0% ตามลำดับ ในขณะที่ผลที่มีต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนมีขนาดการตอบสนองที่ต่ำกว่าในกรณีสินค้าคงทน แต่ก็ยังมีความชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการบริโภคภาคเอกชนรวม โดยผลจากความไม่แน่นอนทางเมืองในด้านการชุมนุมขัดแย้งเป็นด้านที่มีขนาดการปรับตัวของการบริโภคสินค้าไม่คงทนลดลงมากที่สุดที่ 0.4%

“ประท้วง-ปฏิวัติ” กระทบส่งออก

สำหรับการตอบสนองของการส่งออกสินค้าและบริการ การนำสินค้าและบริการ ต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวม  แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนของการส่งออกสินค้าและบริการโดยมีการปรับตัวลดลง -1.3% ในช่วงเวลา 3 ไตรมาส ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการ มีการปรับตัวลดลงในช่วงเวลา 3 ไตรมาสคล้ายคลึงกับการส่งออก แต่ขนาดการตอบสนองจะสูงกว่าคือมีการปรับตัวลดลง -2.0%

นอกจากนี้ หากแยกประเภทความไม่นอนทางการเมือง พบว่าการส่งออกสินค้าและบริการมีการตอบสนองต่อความขัดแย้งนอกสภาที่สูงกว่าปัญหาความขัดแย้งในกลไกรัฐสภาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในด้านการชุมนุมขัดแย้ง และการปฎิวัติรัฐประหาร ที่มีการปรับตัวลดลง -1.2% ในขณะที่ความขัดแย้งด้านการปฎิรูปการเมืองและด้านการเลือกตั้งมีการปรับตัวลดลง -0.4 ถึง -0.6% และเช่นเดียวกันในการนำเข้า ที่ได้รับผลกระทบใกล้เคียงกับในกรณีการส่งออก คือ ผลกระทบที่รุนแรงจะเกิดในกรณีของการเพิ่มขึ้นของระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านการชุมนุมขัดแย้งและการปฎิวัติรัฐประหารซึ่งปรับตัวลดลง -2.0% และ -2.1% ตามลำดับ

“ประท้วง” กระทบตลาดหุ้นหด 0.5%

สุดท้าย ในแง่ของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าความไม่แน่นอนทางเมืองในระยะสั้นจะมีนัยสำคัญเฉพาะความแน่นอนด้านความขัดแย้งจากการชุมนุมเท่านั้น โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -0.5% ส่วนผลของความไม่แน่นอนทางการเมืองประเภทอื่นๆ แม้ว่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับในด้านการชุมนุมขัดแย้ง แต่มีขนาดการตอบสนองที่ต่ำกว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ขณะที่ผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีนัยสำคัญในเกือบทุกด้านของความไม่แน่นอนทางการเมือง และมีขนาดผลกระทบที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาพรวม และความไม่แน่นอนด้านการเลือกตั้งไม่ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม