ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 (2) – สำรวจแบงก์ไทยอยู่ตรงไหนบนเส้นทางการธนาคารที่ยั่งยืน

Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 (2) – สำรวจแบงก์ไทยอยู่ตรงไหนบนเส้นทางการธนาคารที่ยั่งยืน

1 สิงหาคม 2018


เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 เพื่อสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (sustainable banking)” โดยยึดหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งมีบทบาทในการส่งต่อแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปยังภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น โดยเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมผลักดันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ ภายในงานนอกจากมีหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และการเปิดตัวโครงการสำคัญ ทั้ง “การให้บริการบัญชีเงินฝากเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน” และ “โครงการระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Donation แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคสถาบันการเงิน หน่วยงานทางการ และภาคประชาชน ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีการจัดแสดงผลงานการดำเนินการด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยสถาบันการเงินไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าพาสำรวจบูธต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ว่าแต่ละแห่งมอง “ความยั่งยืน” กันอย่างไร? และอยู่ตรงไหนของเส้นทางการธนาคารที่ยั่งยืน และช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินอะไรไปบ้างแล้ว

ธ.กรุงเทพ “เพื่อนคู่คิดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เริ่มต้นจากธนาคารกรุงเทพ บูธของธนาคารกรุงเทพนำเสนอแนวคิด “เพื่อนคู่คิด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะธนาคารยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่สนับสนุนลูกค้า พันธมิตรธุรกิจ และพนักงาน ให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังและมีความมั่นคงทางการเงินสำหรับอนาคต ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีคุณภาพในฐานะธนาคารที่มีความมั่นคงในระดับสากลและเป็นองค์กรชั้นสำของภูมิภาคเอเชีย

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อแก่โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กของสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนสินเชื่อร่วมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ธนาคารได้รับรางวัลยกย่องจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและสื่อมวลชนระดับนานาชาติหลายองค์กร

ธนาคารสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อร่วมกันสร้างเสริมสังคมที่มีความมั่นคงเข้มแข็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของความผาสุกและสวัสดิภาพที่ยั่งยืนของคนในสังคม ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ “ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” (CONNEXT ED) ที่ธนาคารสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน 207 โรง ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นอย่างดีในปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังออกผลิตภัณฑ์ บัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม แรบบิท ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยธนาคารบริจาคค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี และบริจาคเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.2 ของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้

นอกเหนือจากการเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านการสนับสนุนภาคธุรกิจต่างๆ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นบทบาทหลักของธนาคาร อันจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม

ดร.วิรไท สันติประภพ (ที่ 2 จากขวา) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงเทพ โดยมี นายชาติศิริ โสภณพนิช (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางรัชนี นพเมือง (ซ้ายสุด) รองผู้จัดการใหญ่ ให้การต้อนรับ

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงมุ่งเน้นการช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและมีความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไปในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการที่ธนาคารให้ความสำคัญและเป็นพื้นฐานสำหรับกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ regionalization หรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค urbanization หรือการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และ digitalization หรือการเข้าสู่ยุคดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการค้าขายระหว่างประเทศ การลงทุน และการเดินทางของประชากรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และประเทศใกล้เคียง โดยธนาคารให้การสนับสนุนลูกค้าที่กำลังขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอาเซียนด้วยเครือข่ายต่างประเทศของธนาคารที่ครอบคลุมและมีความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดในประเทศที่สาขาเหล่านั้นตั้งอยู่เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน การเติบโตของเมืองสำคัญๆ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นและมีความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น บริการด้านการลงทุน การบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น

กรุงไทยเน้นยั่งยืน 3 มิติ

ด้านธนาคารกรุงไทย ภายในบูธนำเสนอข้อมูลความยั่งยืนผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้แบ่งแนวทางไปสู่ความยั่งยืนอยู่ 3 มิติ คือ มิติเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารได้พัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ระบบพร้อมเพย์ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องรูดบัตร มีการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งช่วยเรื่องการอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายและประกอบธุรกิจแก่ประชาชน และบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มที่เปราะบางของสังคม นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Krungthai Young Enterprise เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ โดยในปี 2560 ก็มีทีม Inno Waste Startup ที่นำเสนอนวัตกรรมแปรรูปเศษอาหารให้เป็นดินที่มีคุณภาพในการทำการเกษตร หรือทีม Fresh Water Shrimp Farm Ecosystem ที่สร้างระบบนิเวศน์น้ำสำหรับเกษตรกรกุ้งแบบธรรมชาติ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงไทย โดยมีนายผยง ศรีวณิช (ที่ 3 จากขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส (ที่ 2 จากขวา) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้การต้อนรับ

มิติสังคม ธนาคารมุ่งเน้นการดูแลพนักงานด้วยความเป็นธรรม เช่น ปรับระบบประเมินแบบเน้นผลงาน (performance driven organization) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของพนักงานให้ยืดหยุ่นและสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “เก่งงาน เก่งคน เก่งเทคโนโลยี” ผ่านการพัฒนาทักษะ 3 ด้าน คือ core, technical และ management competency และในปี 2560 ธนาคารได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านบรรษัทภิบาล ปี 2560-2564 ภายใต้โครงการกรุงไทยคุณธรรมที่เน้นย้ำนโยบายการไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ หรือ zero tolerance และสุดท้าย ในด้านการพัฒนาสังคม ธนาคารได้ต่อยอดดำเนินโครงการ “กรุงไทย สานฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน” ด้วยการทำงานร่วมกับกิจการเพื่อสังคมอย่าง learn education ที่นำระบบ e-Learning มาพัฒนาการเรียนการสอนแก่เด็กประถม 5-6 ของโรงเรียนสานฝันฯ 11 แห่ง

และมิติสิ่งแวดล้อม มีโครงการ KTB Think Green+ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน ใช้อย่างรู้คุณค่า และยั่งยืน ทั้งในอาคารสำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารยังได้เปลี่ยนหลอดไฟ LED ที่สำนักงานใหญ่ทั้ง 2 สาขา เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟภายในอาคาร และเข้าร่วมโครงการปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อนร่วมกับองค์กร WWF และอีกกว่า 7,000 เมืองทั่วโลก นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับระบบงานหลายส่วนให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อลดการใช้กระดาษด้วย

กสิกรไทยโชว์ “กรีนดีเอ็นเอ” ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ธนาคารกสิกรไทย ได้แสดงหลักปรัชญากรีนดีเอ็นเอที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจบรรทัดฐานของหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม จนเป็นดีเอ็นเอขององค์กร ทำให้ธนาคารเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนอันนำมาซึ่งการสร้างคุณค่าร่วมแก่สังคมและประเทศชาติให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายบัณฑูร ล่ำซำ (ขวา) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ในบูธธนาคารกสิกรไทย

รวมทั้งยังได้แสดงผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การปล่อยสินเชื่อแก่โครงการพลังงานหมุนเวียนกว่า 16,051 ล้านบาท คิดเป็นพลังงาน 3,547 เมกะวัตต์ หรือปล่อยสินเชื่อโครงการประหยัดพลังงานกว่า 655.77 ล้านบาท ซึ่งทำให้ในปี 2560 ที่สามารถลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8% จากปี 2555 และคาดว่าจะลดได้ถึง 20% ในปี 2563 หรือในแง่การพัฒนาสิทธิมนุษยชนมีให้ทุนการศึกษาแกเยาวชนในจังหวัดน่าน มีการฝึกอบรมพนักงานเฉลี่ย 52.5 ขั่วโมงต่อปีต่อคน หรือในการปฏิบัติงานไม่มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นเลย เป็นต้น

ไทยพาณิชย์ปักธง “ธนาคารน่าชื่นชมที่สุด”

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ บูธของธนาคารได้ถอดแบบมาจากรายงานความยั่งยืนประจำปี 2560 ที่สะท้อนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการสร้างรากฐานความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ผ่านการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อผลักดันให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายของภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่ประชาชนทุกระดับ

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายของธนาคารไม่ใช่เรื่องของการมีรายได้สูงสุด หรือมาร์เก็ต แคปปิตอลสูงสุด แต่เป็นการปักธงที่จะเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” (The Most Admired Bank) ทั้งรูปแบบที่มีขีดความสามารถและการเป็นองค์กรที่มีความสมดุลแม้ว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา หรือกฎกติกา กฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกที่มีความผันผวน องค์กรธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉงและแข็งแรงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ด้วยความเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะช่วยส่งเสริมให้ธนาคารประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ธนาคารจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานของธนาคารในทุกมิติ ทั้งการตัดสินใจเชิงนโยบาย การกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การบริหารจัดการความเสี่ยงควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กร และปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนกระตุ้นและส่งเสริมให้พนักงานนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติงานทุกขั้นตอน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของธนาคารให้สอดคล้องกับคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดและหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความเป็นองค์กรที่ยั่งยืนในที่สุด

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีนาย เกรียง วงศ์หนองเตย (ที่ 2 จากขวา) รองผู้จัดการใหญ่ และนางศิริบรรจง อุทโยภาศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 2 จากซ้าย)ให้การต้อนรับ

โดยริเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ธนาคารได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ด้วยการผสานแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคารเพื่อมุ่งสู่การเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” อีกทั้งได้ริเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กร (SCB Transformation) ซึ่งเป็นการปรับยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ของธนาคาร โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงรากฐานขององค์กร (foundation transformation) ร่วมกับการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจ (business transformation) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถโดยรวมของธนาคาร เพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่างและสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

ภายในบูธยังได้ติดตั้งแท็บเล็ตเพื่อให้ผู้เข้าชมบูธได้ค้นหาข้อมูลความยั่งยืนในด้านที่ต้องการผ่านระบบออนไลน์ได้พร้อมกับมีการรับฝากเหรียญผ่านตู้รับแลกเหรียญอีกด้วย

กรุงศรีติดอันดับESG หุ้นยั่งยืน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้แบ่งมิติความยั่งยืนออกเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด โดย ณ สิ้นปี 2560 ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 13,388 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับพลังงานน้ำ 53.36% มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร โดยเริ่มจัดทำรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในปี 2561

มิติด้านสังคม ธนาคารมีการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ โดยมุ่งยกระดับประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการทางการเงินและการพัฒนาความรู้ทางการเงินที่จะสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น สินเชื่อกรุงศรีไมโครและนาโนไฟแนนซ์ ผ่านบริษัทเงินติดล้อ และ Hattha Kaksekar Limited (HKL) ที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โครงการสินเชื่อวัยชิลล์ วีลแชร์ ที่ครอบคุลมการผ่อนค่างวดรถยนต์ร่วมกับค่างวดเก้าอี้รถเข็นด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ และสุดท้ายธนาคารก็ยังให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่างๆ พ่อค้าแม่ค้า พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “กรุงศรีรอบรู้เรื่องเงิน” ภายใต้แนวคิด “เรื่องเงิน เรียนง่าย”

ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงศรี โดยมีนายโรหิท คันนา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร (ซ้าย) นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ขวา) ให้การต้อนรับ

มิติด้านหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมและปลูกฝังให้บุคลากรทุกระดับยึดมั่นในการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยพนักงานทุกคนจะต้องรับการฝึกอบรมในหลักสูตรการป้องกันการฟอกเงิน อาชญากรรมทางการเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หลักสูตรปรัชญาและสำนักในการปฏิบัติงาน และหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี ธนาคารยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” 2 ปีต่อเนื่องกันโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนติดอันดับ ESG 100

ทีเอ็มบีเดินหน้า 4 หลัก

ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี นำเสนอกรอบการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านองค์กร ทีเอ็มบีจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโปร่งใสจริงใจในการให้บริการไม่มีดอกจัน ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน ด้วยสินเชื่อสีเขียวหรือกรีนเลนดิ้ง (green lending) ขณะเดียวกัน ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ได้ออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,850 ล้านบาท อายุ 7 ปีเมื่อเร็วๆ นี้

ด้านภาคธุรกิจ ธนาคารมีส่วนร่วมสำคัญ เช่น เป็นธนาคารหลักของสมาคมธนาคารไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่นิสิต นักศึกษา และดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่บุคลากรของกองทัพ รวมทั้งส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้งานง่ายและสะดวก

ด้านสังคม ทีเอ็มบีดำเนินการพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืนกว่า 100 ชุมชนทั่วประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนผ่านกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ตลอดจนพัฒนาเว็บไซต์ปันบุญเพื่อร่วมโครงการ e-Donation ของประเทศ บริจาคเงินเพื่อองค์กรการกุศลได้ง่ายและสะดวก พร้อมลดหย่อนภาษีอัตโนมัติ

นายปิติ ตัณฑเกษม (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริการธนาคารทหารไทย (จำกัด) มหาชน ให้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคาร ต่อ ดร.วิรไท สันติประภพ (ขวา) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนชาตเน้นสังคม-สิ่งแวดล้อม-ธรรมาภิบาล

ธนาคารธนชาตยึดการดําเนินงานที่คํานึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 3 ด้านหลัก คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลในการดําเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาและเติมเต็ม ร่วมไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอยางยั่งยืน โดยภายในบูธนำเสนอความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) ผ่านโครงการ “Rethink” เป็นโครงการที่ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 เพราะเห็นถึงความสําคัญในการให้ความรู้และปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดํารงชีวิตเพื่อความมั่นคงทางการเงินและความสุขที่ยั่งยืน นําเสนอภายใต้สโลแกน “คิดใหม่ ใช้เงินเป็น เห็นความสุข” ซึ่งแนวคิดนี้ได้พัฒนามาจากแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สําหรับปี 2560 ได้สร้างเนื้อหาเกร็ดความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงินที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน เผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการในหลายรูปแบบ ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อปลูกฝังเรื่องวินัยการออมและการบริหารจัดการทางการเงิน ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายในทุกช่วงวัย

ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเยี่ยมชมบูธธนาคารธนชาต โดยมีนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ (ที่ 2 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้การต้อนรับร่วมกับคณะผู้บริหาร

เกียรตินาคินป้อนความรู้การเงินสู่สังคม

ธนาคารเกียรตินาคิน บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินกับสังคมอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของบูธจึงเป็นการถ่ายทอดผลงานที่เป็นรูปธรรมตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา เช่น การที่ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินของธนาคารประกอบกับฐานข้อมูลองค์ความรู้จากทางตลาดหลักทรัพย์ จัดอบรมให้กับหน่วยงาน องค์กรธุรกิจ และการศึกษา เพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่สามารถขยายผลไปสู่คนรอบข้าง อีกทั้งการออกนวัตกรรม KK Magic Mirror กระจกวิเศษที่ช่วยให้การเงินเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ซึ่งถือเป็นการให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินผ่านจอ LED แบบ Interactive ครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นการใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคารในแบบที่เป็นธรรมชาติ (Human Interaction)

นอกจากนี้ ธนาคารได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ประจำปี 2560 หรือ Thailand Sustainability Investment 2017 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกจากหน่วยงานอีเอสจีเรตติ้งของสถาบันไทยพัฒน์ ให้อยู่ในรายชื่อ ESG 100 ประจำปี 2561 ด้วยผลการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในทั้งสองรายชื่อต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4

ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเยี่ยมชมบูธธนาคารเกียรตินาคิน โดยมีนางฐิตินันท์ วัธนเวคิน (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการ ให้การต้อนรับ

ออมสินมุ่งสร้างองค์กรยั่งยืน

ธนาคารออมสินมุ่งสร้างองค์กรที่มีความยั่งยืน โดยในปี 2560 ได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติมาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์และประกอบในคู่มือการนำองค์กรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ออมสินสร้างโลกสีชมพู” ผ่านยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 3 ด้าน คือ ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม และเน้นการเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่มีธรรมาภิบาลควบคู่ไปกับบทบาทการเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน

ออมเศรษฐกิจ คือ การทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้มีหนี้นอกระบบ และผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยหลัก 3 สร้าง คือ สร้างอาชีพ/สร้างความรู้ สร้างรายได้/สร้างตลาด และสร้างประวัติทางการเงิน

ออมสังคม คือการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสต่างๆ เด็ก สตรี ผู้สูงวัย ผู้มีรายได้น้อยในสังคมไทย

ออมสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อม

ธนาคารได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ช่องทางการเข้าถึง ให้สอดคล้องกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าฐานราก และสนับสนุนนโยบายรัฐ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ รวมทั้งได้ปรับวิธีการประเมินสินเชื่อให้สอดคล้องกับบริบทของลูกค้าทุกกลุ่ม และจัดให้มีการให้ความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ให้แก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล/องค์กรได้อย่างเหมาะสม เพิ่มการรับรู้และโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน อันจะช่วยลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบและลดความเหลื่อมล้ำได้ ตัวอย่างเช่น โครงการธนาคารโรงเรียนและโครงการ Financial Literacy ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทางการเงินกับกลุ่มลูกค้าฐานรากองค์กรชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ผ่านหลักสูตรที่แตกต่างตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเยี่ยมชมบูธธนาคารออมสิน