ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปี คสช. เศรษฐกิจดีแต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี!

4 ปี คสช. เศรษฐกิจดีแต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี!

23 สิงหาคม 2018


ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ผ่านมาครบรอบ 16 ไตรมาส หรือ 4 ปีพอดีสำหรับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งถ้าหากอยู่ในระบอบประชาธิปไตยโดยปกติก็นับเป็นห้วงเวลาที่จะต้องเข้าสู่ “เทศกาลเลือกตั้ง” อีกครั้ง และมักจะนำมาสู่การตรวจการบ้านผลงานของรัฐบาลชุดก่อน ก่อนจะตัดสินใจเลือกตั้งใหม่เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศใหม่อีกครั้ง โดย “เศรษฐกิจ” มักเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญคะแนนความนิยมของรัฐบาล

สำหรับรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จะเห็นได้จากข้อมูลแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาลเรียกได้ว่าเศรษฐกิจยังค่อนข้างซบเซา ทั้งจากปัญหาภายในที่มีความขัดแย้งทางการเมืองติดต่อกันหลายปี และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อการค้าโลกและภาคส่งออกของไทย ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังต่างๆ ทั้งมาตรการภาษีและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของการส่งออกที่ไม่มีท่าทีจะขยายตัวมากขึ้น ทำให้สำนักเศรษฐกิจทุกแห่งต่างปรับประมาณการเศรษฐกิจลงต่อเนื่องทุกไตรมาสติดต่อกันเกือบทุกไตรมาส

ขณะที่ในช่วง 2 ปีหลังพบว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตขยายตัวกลับมาที่ระดับ 4.5% นำโดยภาคต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่กลับมาขยายตัวและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายการคลังก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้สำนักเศรษฐกิจหลายแห่งปรับประมาณการขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกหลายคนกลับไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีเท่าไหร่นัก และนำมาสู่คำถามว่าจีดีพีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีหลังไปอยู่ที่ไหน?

ภาครัฐอัดฉีด ดันจีดีพีโต

เริ่มต้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเจาะลึกไปยังมูลค่าของจีดีพีที่แท้จริงปรับฤดูกาล (seasonally adjusted real GDP) ที่ผลิตได้ในแต่ละไตรมาส แทนที่จะอ้างอิงอัตราการเติบโตระหว่างช่วงเวลาของเศรษฐกิจตามปกติ เพื่อให้เห็นถึงผลงานทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละไตรมาสที่แท้จริง โดยช่วงก่อนที่รัฐบาล คสช. จะเข้ามา เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีผลผลิตเฉลี่ยไตรมาสละ 2.29 ล้านล้านบาท ต่อมาในปีแรกและปีที่ 2 ของการบริหารงานจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยไตรมาสละ 2.34 ล้านล้านบาท และ 2.42 ล้านล้านบาท ก่อนที่ต่อมาใน 2 ปีหลังจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเป็นเฉลี่ย 2.5 ล้านล้านบาทต่อไตรมาส และ 2.61 ล้านล้านบาทต่อไตรมาส ตามลำดับ หรือก็คือจีดีพีต่อไตรมาสในรัฐบาล คสช. ได้เพิ่มขึ้นมา 346,976 ล้านบาท

หากเจาะลึกลงไปดูในรายละเอียดของจีดีพีจะพบว่า การเติบโตของจีดีพีในช่วง 2 ปีหลังเกิดจากการขยายตัวของ “ภาคส่งออกสินค้าและบริการ” และ “การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ” เป็นหลัก โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยไตรมาสละ 1.78 ล้านล้านบาทในช่วงก่อนการบริหารของรัฐบาล คสช. เป็นเฉลี่ยไตรมาสละ 1.82 ล้านล้านบาทในปีแรก และ 1.86 ล้านล้านบาทในปีที่ 2 ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีที่ 3 และ ปีที่ 4 ที่ 1.91 ล้านล้านบาทและ  2.04 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าเข้ามาบริหารที่เฉลี่ยไตรมาสละ 473,843 ล้านบาท เป็น 494,507 ล้านบาท, 538,329 ล้านบาท, 543,350 ล้านบาท และ 548,690 ล้านบาทในปีที่ 1-4 ตามลำดับ

ขณะที่ “การลงทุนของเอกชน” ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตในระยะยาวกลับหดตัว และแม้ว่าจะส่งสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น แต่เพิ่งกลับมาแตะระดับการลงทุนในช่วงก่อนหน้ารัฐบาล คสช. ได้ โดยในช่วงก่อนการบริหารงานการลงทุนของเอกชนเฉลี่ยไตรมาสละ 450,096 ล้านบาท ก่อนที่จะหดตัวในช่วงปีแรกและปีที่ 2 เป็น 448,380 ล้านบาท และ 441,632 ล้านบาท และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 443,271 ล้านบาท และ  455,948 ล้านบาทตามลำดับ และสุดท้าย “การบริโภคของเอกชน” ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับจีดีพี

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ แม้ว่าการส่งออกของประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีหลัง แต่หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสุทธิที่หักการนำเข้าจะพบว่าเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยไตรมาสละ 112,121 ล้านบาทในช่วงก่อนเข้ามาบริหารงาน ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีแรกเป็น 183,659 ล้านบาท และ 262,677 ล้านบาท ตามลำดับ ก่อนจะเริ่มทรงตัวที่ระดับนี้ในระยะ 2 ปีหลังที่ 255,259 ล้านบาท และ 257,600 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าแม้ว่าการส่งออกของประเทศจะเติบโตอย่างรวดเร็วแต่รายได้ส่วนหนึ่งถูกนำกลับออกไป โดยเฉพาะจากการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับการลงทุนของเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา และทำให้การส่งผ่านของเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้มีมากนัก

การจ้างงานลดลง แม้ทิศทางดีขึ้น

นอกจากนี้ หากหันไปดูการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนจะพบว่าลดลงจากเฉลี่ยแต่ละไตรมาสที่ 38.5 ล้านคนในช่วงก่อนหน้าการเข้ามาบริหารของรัฐบาลของกำลังแรงงานทั้งหมด ลดลงต่อเนื่องเหลือเฉลี่ย 38 ล้านคน, 37.9 ล้านคน, 37.7 ล้านคน และ 37.5 ล้านคน ในปีที่ 1-4 ตามลำดับ โดยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นจากประมาณ 0.8% เป็น 0.82%, 0.94%, 1.09% และ 1.16% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ไตรมาสหลังแนวโน้มดังกล่าวมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง

หากดูที่การจ้างงานในภาคเกษตรจะพบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณว่าจะเพิ่มขึ้น โดยลดลงจากเฉลี่ยไตรมาสละ 12.4 ล้านคนในปีแรกเป็น 12 ล้านคนในแต่ละไตรมาสของช่วงปีสุดท้าย ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร แม้ว่าใน 3 ปีแรกจะส่งสัญญาณดีขึ้นจากเฉลี่ยไตรมาสละ 25.6 ล้านคน เป็น 25.8 ในปีที่ 3 แต่ในปีที่ 4 กลับลดลงเหลือเพียง 25.5 เท่านั้น

ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยเพิ่มเล็กน้อย

นอกจากการจ้างงานจะลดลงแล้ว หากดูที่ค่าจ้างของแรงงานในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักถึงกำลังการบริโภคและส่งผลต่อโดยตรงต่อ “ความรู้สึก” ของประชาชนถึงภาวะเศรษฐกิจภายใต้การบริหารงานของ คสช. พบว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนขยับขึ้นช้าๆ จาก 13,385 บาทต่อเดือนในปีแรก เป็น 13,630, 13,700 และ 13,839 บาทต่อเดือนในปีที่ 2-4 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1% เท่านั้น

หากแยกดูจะพบอีกว่า รายได้ของเกษตรกรแทบไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยในปีแรกของการบริหารของรัฐบาล คสช. มีรายได้เฉลี่ย 5,721 บาทต่อเดือน ต่อมาลดลงเป็น 5,651 บาทต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีที่ 3-4 ที่ 5,693 บาทต่อเดือน และ 5,730 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยในปีแรกมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 14,178 บาทต่อเดือน ก่อนจะเพิ่มเป็น 14,430 บาทต่อเดือน, 14,537 บาทต่อเดือน และ 14,758 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 600 กว่าบาทต่อเดือน

ภาระหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มต่อเนื่องสวนทางจีดีพี

สำหรับภาระหนี้ของประเทศพบว่าหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10.3 ล้านล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2557 เป็น 10.9 ล้านล้านบาท, 11.4 ล้านล้านบาท และ 11.8 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558-2561 และล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2561 ได้ปรับขึ้นไปแตะระดับ 12.2 ล้านล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับจีดีพีของประเทศจะพบว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงอย่างมากจากสูงสุดที่ทะลุ 80% ในช่วงปี 2558 ลดลงเหลือ 77.7% ในไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งบอกได้ว่าเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจีดีพีเป็นหลัก โดยที่มูลหนี้ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.97 ล้านล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2557 เป็น 6.18 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐที่อัดฉีดลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าหากเทียบสัดส่วนกับจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับ 37-39% แต่ในระยะหลังก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านภาวะการเงินของระบบเศรษฐกิจไทยจะพบว่าในช่วงปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ได้ลดการปล่อยสินเชื่อลดค่อยข้างมากจาก 97% ต่อจีดีพี เหลือเพียง 93% ต่อจีดีพี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัวมากนักในช่วงดังกล่าว ก่อนที่ภายหลังจะเริ่มทยอยกลับมาดีขึ้นทั้งการปล่อยสินเชื่อและหนี้เสียที่ชะลอตัวลง แม้ว่าตัวมูลหนี้จะยังคงเพิ่มเล็กน้อย

โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่า แม้จีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการอัดฉีดของภาครัฐเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศไปกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยในระยะหลังเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกและการลงทุนของเอกชนที่เพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ในแง่การส่งผ่านลงไปยังภาคเศรษฐกิจจริงกลับเห็นไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานหรือการจ้างงาน สอดคล้องกับการก่อหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับเติบโตของจีดีพี ส่งผลให้แม้การบริโภคของเอกชนจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนหรือไม่ และต้องติดตามผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไปในวาระที่ 2 หาก