ปาฐกถาวาระ 45 ปี 14 ตุลาคม หัวข้อ “ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในวัยเยาว์ทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ทางมูลนิธิ 14 ตุลา ไว้ใจให้ผมกล่าวปาฐกถาเรื่อง “ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” ทั้งที่ผมมีประสบการณ์ในหัวข้อนี้แค่ “ครึ่งเดียว” เพราะ 30 กว่าปีบนเส้นทางอาชีพ ผมมีโอกาสคลุกคลีในงานด้านเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ในเรื่องการเมืองแล้วนับว่ายัง “ละอ่อน” อยู่มากเทียบไม่ได้กับหลายท่านในที่นี้
เมื่อได้รับการทาบทาม ผมพยายามศึกษาปาฐกถาของท่านอื่นที่เคยมาพูดบนเวทีแห่งนี้ซึ่งล้วนเป็น “ผู้คร่ำหวอด” ในวงการทั้งสิ้น แต่ละท่านได้ให้มุมมองที่ลุ่มลึก ชวนให้ขบคิดถึงความเป็นไปของบ้านเมืองในมิติต่างๆ จนผมอดกังวลไม่ได้ว่า การบ้านที่จะส่งในวันนี้จะทำได้สมความคาดหวังของผู้ฟังหรือไม่? แต่ก็ขอให้เบาใจได้ว่า ผู้พูดตั้งใจว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองด้วยความห่วงใย
เวลาผ่านไปไวมาก แทบไม่น่าเชื่อว่า ปีนี้เป็นปีที่ 45 ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน รวมพลังเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ และได้สร้าง “ต้นกล้า” และขยาย “หน่ออ่อน” ของมวลชนผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตยจำนวนมาก
มองย้อนกลับไป ผมยังจำภาพที่พวกเราหลายคนในที่นี่ออกมาเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ด้วยความหวังที่อยากเห็นบ้านเมืองก้าวไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางสายฝน ตามด้วยแดดที่ตากเนื้อตัวจนแห้ง และหลับไปพร้อมกับความอ่อนเพลีย จนถึงรุ่งเช้าที่ตื่นมาพบกับการปิดล้อมของตำรวจบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยข้างหน้านี้ เพราะเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า “ถ้าได้รับรัฐธรรมนูญ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย แล้วปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข”
ในวันนี้ ผมขอร่วมแสดงความเห็นใน 4 ส่วน คือ
- ส่วนแรก ความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ
- ส่วนที่สอง พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
- ส่วนที่สาม ประชาธิปไตยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
- ส่วนที่สี่ การขับเคลื่อนประชาธิปไตยทางการเมืองพร้อมเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม
1. ความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ
หัวข้อ ‘ประชาธิปไตย และ ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย’ ที่กำลังจะกล่าวในวันนี้ประกอบด้วย 2 เรื่อง ที่ผูกโยงกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่ง ดร.ลิขิต ธีรเวคิน เคยกล่าวไว้ว่า ‘การเมืองและเศรษฐกิจมีปฏิสัมพันธ์ไขว้ไปไขว้มา (Intertwine) อย่างแยกกันไม่ออก’ กล่าวคือ การเมืองอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็อาจมีผลกระทบย้อนมาที่การเมืองได้เช่นกัน จึงต้องวิเคราะห์คู่กันเสมอภายใต้บริบทสังคมที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างกรณีการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย ขณะที่พม่าหลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มีปัญหาภายใน ทำให้รัฐบาลทหารยึดอำนาจและปิดประเทศหลายสิบปี
สถานการณ์การเมืองมีผลกระทบต่อพลวัตการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างเห็นได้ชัด ถ้าดูตัวเลขย้อนไปในช่วงปี 2500 พม่าเคยเป็นประเทศที่เจริญและร่ำรวยในระดับต้นของอาเซียน ปัจจุบันตกมาท้ายตาราง ขณะที่ไทย เดิมยากจน ฐานะอยู่ลำดับท้ายๆ ปัจจุบันพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง
ประเทศเกาหลีเหนือและใต้ที่เคยมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน เมื่อแยกเป็น 2 ประเทศ ภายใต้ระบอบการเมืองที่ต่างกัน ทำให้ผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองต่างกันอย่างสุดขั้ว
ในทางกลับกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ เช่น
เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นตัวอย่างที่ผลจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าทำให้มี “ชนชั้นกลาง” ที่สนใจปัญหาสังคมและการเมืองมากขึ้น และช่วงนั้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจน สร้างความไม่พอใจจนนำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการเปิดกว้างทางการเมือง ซึ่งคล้ายกับ กรณี Arab Spring ในตะวันออกกลาง โดยปัจจัยที่เป็นตัวเร่งสำคัญ คือ ชนชั้นกลางที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความต้องการเสรีภาพมากขึ้น หรือแม้แต่ประเทศจีน ที่คาดกันในวงกว้างว่า การขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว จะเป็นความท้าทายสำคัญต่อระบอบการปกครองในปัจจุบัน
หลายท่านในที่นี้ อาจเคยอ่านหรือเคยได้ยินชื่อหนังสือเรื่อง “Why nations fail” ของ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT และ James Robinson นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งเป็นการผนวกองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและการเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมบางประเทศถึงเจริญในขณะที่บางประเทศล้มเหลว
ข้อสรุปสำคัญคือ ประเทศจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพียงใดขึ้นกับคุณภาพของ ‘สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ’ หรือ “กลไกภาครัฐ” และ “กลไกตลาด” ได้รับใช้หรือดูแลประชาชนส่วนใหญ่เพียงใด และที่สำคัญ การพัฒนาจะยั่งยืนเพียงใดขึ้นกับว่า ระบบสถาบันทั้งสองด้านเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน (Inclusive Institution) กล่าวคือ
กฎหมายและกติกาของประเทศจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และต้องสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนและคิดค้นนวัตกรรม อีกทั้งต้องสร้างความมั่นใจว่า สิ่งที่พวกเขาทำจะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องจัดสรรให้โอกาสแก่ประชาชนในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
คำถามสำคัญคือ ‘สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ’ ของไทยดูแลประชาชนและเปิดโอกาสให้พวกเค้ามีส่วนร่วมเหมาะสมเพียงใด?
2. พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
2.1 ภาพรวมพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา
ย้อนดูภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจในรอบ 45 ปี ผมคิดว่า ปี 2516 ไม่เพียงเป็นปีที่สร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ แต่เป็นปีที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย โดยเป็นปีแรกที่มีการกำหนด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในปีเดียวกันนี้ มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งเดียวของไทยที่อยู่ในระดับ World Scale และจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ Eastern Seaboard จนสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง
ในช่วงปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 9 การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนจากต่างประเทศมีมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ใช่ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างราบรื่นตลอดทาง การเปิดเสรีทางการเงินเป็นชนวนนำมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 บทเรียนอันเจ็บปวดครั้งนั้น ทำให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และภาคเอกชนดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
ในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวเกือบ 10 เท่า ฐานเศรษฐกิจกว้างขึ้น ไทยได้เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลกหลายชนิด ภาคเอกชนไทยจำนวนไม่น้อยสามารถไป “ปักธง” ในต่างประเทศได้ และสินค้า Made in Thailand หลายชนิดได้รับความนิยมติดอันดับโลก คนไทยโดยรวมมีมาตรฐานการดำรงชีวิตสูงขึ้น มีสุขอนามัยดีขึ้น เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น เศรษฐกิจมหภาคโดยรวมมีความมั่นคงและเป็นจุดแข็งของประเทศ
2.2 ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ความสำเร็จเหล่านี้ ในด้านหนึ่งทำให้พวกเราพอใจได้ว่า ประเทศไทยเดินหน้ามาไกลพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าพิจารณาโดยไม่เข้าข้างตนเองมากนัก ก็คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งผมขอขยายความสักเล็กน้อย
ส่วนแรกคือ ความท้าทายจากบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม
ผมคิดว่าพวกเราคงรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา จนอดรู้สึกไม่ได้ว่า “โลกที่เราอยู่ไม่เหมือนเดิม” ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย
- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ ด้านหนึ่งทำให้ธุรกิจและงานหลายประเภทหายไป บริษัท McKinsey ประเมินว่า ช่วงปี ค.ศ.2016-2030 แรงงานประมาณ 15% หรือ 400 ล้านคนทั่วโลกจะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ (automation) อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดธุรกิจและมีอาชีพใหม่ๆ ที่เมื่อก่อนเราไม่เคยได้ยิน อาทิ Data scientist, Talent acquisition specialist นอกจากนี้ รูปแบบในการทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยใน 10 ปีข้างหน้า คาดว่า คนอเมริกามากกว่าครึ่งจะเลือกทำงานเป็น Freelance แทนงานประจำตาม office
- การเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองโลก นับตั้งแต่สงครามเย็นจบลง คาดกันว่าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะทยอยย้ายมาที่เอเชีย โดยภายในปี ค.ศ.2030 คาดว่า ขนาดเศรษฐกิจของจีนและอินเดียรวมกันจะประมาณ 1 ใน 4 ของโลก และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อทิศทางการค้าโลก สหรัฐอเมริกาที่เคยสนับสนุนการค้าเสรี กลับตั้งกำแพงภาษีกีดกันการนำเข้า จนบรรยากาศการค้าโลกอึมครึม และสร้างความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลก
- แนวการพัฒนาเศรษฐกิจที่สนับสนุนกระบวนการ Globalization ทำให้ตลาดการค้า การลงทุนและตลาดการเงินระหว่างประเทศ มีความเชื่อมโยงและซับซ้อนขึ้น การรับ-ส่งผลกระทบระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เหมือนเราอยู่ในที่แออัดย่อมติดเชื้อหวัดได้ง่าย และ ในอีกด้าน Globalization ก็ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าภายใต้การเติบโตในภาพรวมที่ดูดี ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิด Brexit และการชนะเลือกตั้งของนักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมในหลายประเทศ
- มาตรฐานในสินค้าและบริการทั่วโลกที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลด้าน สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ถ้าจะให้สรุป ผมคิดว่าความท้าทายส่วนแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญในระยะต่อไป คือ บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม โลกที่การเปลี่ยนแปลงจะเร็วกว่า speed เดิมที่เราคุ้นชินมาก เป็นโลกที่ซับซ้อน ผันผวน และยากที่จะคาดเดาอนาคตได้ชัดเจน
ส่วนที่สองคือ ความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ
หลายปีมานี้ อาการของประเทศไทยเหมือนกับ “ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง” ที่รัฐบาลพยายามจ่ายยาหลายขนานแต่อาการกลับไม่ตอบสนอง สาเหตุมาจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้าน ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเห็นว่า ต้อง “เร่ง” แก้ไขเพราะเหมือน “ระเบิดเวลา” พร้อมจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อ มีอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ตัวเลขและผลการศึกษาหลายหน่วยงานชี้ว่า ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก เชื่อหรือไม่ครับว่า
- คนไทย 10% หรือ ประมาณ 7 ล้านคน มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน
- คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า
- คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่โฉนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10% และ
- เด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครอง ไม่มีเวลาหรือเงินไม่พอส่งลูกเรียน ทั้งที่เด็กมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าใคร ตัวอย่างนี้สะท้อน“ทุนชีวิต” ที่คนไทยมีไม่เท่ากัน
ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณอย่างหยาบๆ ที่เน้นแค่ GDP โตปีละมากๆ โดยไม่ดูคุณภาพ อีกด้านหนึ่ง “การค้าเสรี” ที่ไร้กติกา ที่แต่ละคนมี “ทุน” และ “โอกาส” ไม่เท่ากัน ทำให้การพัฒนาออกมาในลักษณะ “เศรษฐกิจยิ่งโต ผู้มีทุนมากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ” คล้ายกับ “ถนนการค้า” ที่ขาดกฎจราจร สุดท้ายพื้นผิวถนนถูกยึดครองโดยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่คอยเบียดรถขนาดเล็กหรือมอเตอร์ไซค์ให้ต้องวิ่งตามไหล่ทาง โดยพาหนะเหล่านี้พร้อมจะตก “ขอบ” ถนนได้ตลอดเวลา
ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ถือเป็นต้นตอสำคัญของความขัดแย้งในโลกและในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมาประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการ “ปะทะ” กันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในทุกระดับ
ทิศทางสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น การพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค เพื่อไม่ให้การพัฒนากระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ในระดับชุมชน ก็ต้องเพิ่มความเข้มแข็งในมิติต่างๆ ระดับบุคคลก็ต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แรงงานยากจน และคนระดับฐานรากเพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้
ที่ผ่านมาเราพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายโอกาส แต่เป็นการเน้นผลที่เกิดขึ้นซึ่งเป็น “ปลายเหตุ” ขณะที่การทำให้เกิด “ความเสมอภาคทางการศึกษา” เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ “ต้นเหตุ” ซึ่ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้น ก็ด้วยความหวังว่าจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยลดปัญหานี้
เรื่องที่สอง คือ ปัญหาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง
ช่วงทศวรรษก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 9 ต่อปี แต่ในช่วงเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตวนเวียนอยู่ในระดับ 4% สะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงชัดเจน ขณะที่คู่แข่งในภูมิภาคพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่เร่งพัฒนา เป็นไปได้ว่าไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับใครได้
มองในอนาคตก็ยิ่งท้าทาย เพราะไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สภาพัฒน์ฯ ชี้ว่า ภายในปี 2583 หรือ ค.ศ.2040 1 ใน 3 คนไทยจะมีอายุมากกว่า 60 และธนาคารโลกประเมินว่า ค่ากลาง (median) ของอายุคนไทยจะเพิ่มจาก 38 เป็น 49 ปี ซึ่งหมายความว่า ฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง ขณะที่ประเทศในภูมิภาคประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ในเชิงเศรษฐกิจจึงเปรียบเหมือนเอาคนแก่ไปสู้แรงกับคนหนุ่มสาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และที่น่าเป็นห่วงคือ โอกาสที่คนไทยจะ “แก่ก่อนรวย” หรือ “จนตอนแก่” มีมาก นั่นหมายความว่า ภาระของคนวัยหนุ่มสาวจะมีมากขึ้น และกว่าพวกเขาจะลืมตาอ้าปากได้ต้องใช้เวลานานขึ้น
ทางออกเดียว คือ คนไทย ธุรกิจไทย ภาครัฐไทย ต้องเก่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งในวันนี้และวันหน้า ซึ่งแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเห็นว่าอาจช่วยแก้ไขมีหลายแนวทาง
หนึ่ง การมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราเก่ง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ยานยนต์ การค้า SMEs Hospitality รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มี potential ในอนาคตและจะต่อยอดอุตสาหกรรมอื่น เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ
สอง การขยายตลาดให้กว้างขึ้น ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศกลุ่ม CLMVT มีขนาดตลาด 230 ล้านคน และถ้ารวมบังกลาเทศอีก 160 ล้านคน จะทำให้ตลาดมีขนาดถึง 400 ล้านคน ซึ่งประเทศกลุ่มนี้โตปีละ 6-8%
สาม การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผลักดันไทยให้เป็น Innovation Hub และ Startup Nation โดยต้องส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม และ
สี่ การปรับนโยบายด้านการศึกษาและแรงงาน Disruptive Technology ที่จะทำให้ลักษณะงานเปลี่ยน การฝึกฝนและพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ หรือ reskilling จะสำคัญมากในอนาคต หลายประเทศมหาวิทยาลัยเริ่มปรับบทบาทเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต” กล่าวคือ ศิษย์เก่าสามารถกลับมาเรียนฟรีเพื่อเพิ่มทักษะได้ตลอดเวลาชีวิต
นอกจากนี้ ในอนาคตที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายแรงงานจะสำคัญมากขึ้น ดังที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ‘นโยบายแรงงานจะไม่ใช่แค่นโยบายด้านสังคม แต่จะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ’ การที่คนไทยวัยแรงงานจะน้อยลง ทางออกหนึ่ง คือการพึ่งแรงงานจากต่างชาติ ดังกรณีญี่ปุ่นยังต้องเปิดพื้นที่ให้แรงงานต่างด้าวเข้าไปเป็นฟันเฟืองที่เติมเต็มกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือสิงคโปร์ก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการชักชวนคนจากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ ผมคิดว่า ไทยเองคงต้องทบทวนทิศทางของนโยบายนี้เช่นกัน
เรื่องที่สามคือ กลไกและบทบาทภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากในอดีตมาก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง “สถาบันด้านเศรษฐกิจ” หลายส่วนที่เคยออกแบบไว้ในอดีต อาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ ให้สอดคล้องกับจังหวะ “การเดินหน้าของประเทศ” มองไปข้างหน้า สถาบันทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นสถาบันที่มีชีวิต ที่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันยิ่งจะเปลี่ยนเร็วขึ้น
การปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐมีความสำคัญมากเพราะ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศ หรือ Eco system ที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาได้เต็มศักยภาพ โดยทิศทางที่สำคัญมี 4 ด้าน
มิติที่หนึ่ง การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในหลายด้าน แต่อำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอยู่มาก ซึ่งทำให้การแก้ปัญหามักมีสูตรเดียว ยากที่จะตอบโจทย์ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันได้อย่างตรงจุด เช่น เรื่องการศึกษา ถ้าเราไม่สามารถใช้กลไกชุมชนที่รู้ข้อมูล และรู้ความต้องการของชุมชน เข้ามามีส่วนในกระบวนการแก้ปัญหา ก็ยากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ เป็นต้น ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ และการทำเช่นนี้จะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน
มิติที่สอง ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะมองไปข้างหน้าที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ขณะที่บางธุรกิจก็จะหายไป ภาครัฐจำเป็นต้องปรับกติกาที่จะเอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วคล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องลุกได้เร็ว
เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศอินเดียมีการปรับปรุงขั้นตอนตามกฎหมายล้มละลายให้สั้นลงจากประมาณ 4 ปีให้ลดลงเหลือ 9 เดือน ก็สะท้อนความพยายามเรื่องนี้
ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “กฎหมายได้ชื่อว่าเป็นโครงสร้างการจัดสรรผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของสังคม ดังนั้น จะไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ จะไม่มีการปฏิรูปสังคม ถ้าไม่มีการปฏิรูปกฎหมายสังคม จะไม่มีการปฏิรูปการเมือง ถ้าไม่มีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการเมือง และ วิธีการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่ตรงจุดที่สุดคือ ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนโดยไม่จำเป็น”
นอกจากนี้ การบริหารทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ หรือทางพิเศษต่างๆ จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มิฉะนั้น จะเป็น “การเสียโอกาสด้านการพัฒนา” ของประเทศ และเป็น “ต้นทุนที่แพงขึ้น” ของประชาชนทุกคน ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น ลดการผูกขาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการ
มิติที่สาม ความโปร่งใส ในบริบทโลกที่กติกาและมาตรฐานสากลเข้มงวดขึ้น บทบาทของภาครัฐจำเป็นต้องโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนได้ด้วย
มิติที่สี่ การสร้างความร่วมมือ ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาหรือโจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น ภาครัฐต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งใน
- ระหว่างส่วนราชการ ที่การทำงานยังแยกส่วนระหว่างหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ปัญหาในหลายเรื่องติดขัดไม่คืบหน้าเป็นคอขวด มีข้อท้วงติงจากประชาชนบ่อยๆ และเพื่อแก้ปัญหานี้เรามักจะได้ยินคำว่า one-stop service ซึ่งเป็นตัวสะท้อนอาการที่เกิดขึ้นและหลังๆ จะได้ยินการใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตันอยู่บ่อยๆ
- ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของภาคเอกชนทั้งในด้าน เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และระบบงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เช่น การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยยังมีน้อย ซึ่งจะช่วยลดภาระของงบประมาณของภาครัฐด้วย
- ระหว่างประเทศ พวกเราคงยอมรับว่า ปัญหาหลายอย่างในปัจจุบันเกินขอบเขตที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การใช้โอกาสจากโลกที่ไม่มีพรมแดน แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการผนึกกำลังเพื่อช่วยกันตอบโจทย์ร่วมที่ยากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ การช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในภารกิจกู้ภัยในถ้ำที่ยากที่สุดในโลก แต่ด้วยการผนึกกำลังของผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์และทักษะ ทั้งในและต่างประเทศ ก็ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้อย่างเหลือเชื่อ และปฏิบัติการครั้งนี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของโลก