1721955
สมัยที่เจเรมี สก็อตต์ สมัครเข้าเรียนด้านการออกแบบแฟชัน เขาถูกมหาลัยชื่อดังตอกกลับมาว่า “เรารับเข้าเรียนไม่ได้ เพราะคุณขาดความออริจินอล…ไร้ความสามารถทางศิลปะ และไม่มีความคิดสร้างสรรค์”
อีกหลายปีต่อมาตอนเขามาเป็นดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ดัง บรรดานักวิจารณ์ตามนิตยสารชั้นนำ ก็จั่วหัวตัวใหญ่จวกเขาเละว่า “รองเท้าสตึย่ำบนรันเวย์” “ของรสนิยมต่ำเพื่อความเป็นคนรสนิยมต่ำ” “ไร้ความเป็นแฟชั่น” “แฟชั่นบ้าบอชวนขนลุก” “เขาใช้ภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อปมาทำเสื้อผ้าแสนทุเรศ จับวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มมากลายเป็นกระแส” “แฟชั่นของเขาเต็มไปด้วยตัวการ์ตูนหน้าตาพิลึก” ฯลฯ
แม้เจเรมี สก็อตต์ จะเดบิวต์ผลงานมาตั้งแต่ปลายยุค 90s แต่ชื่อของเขากลายเป็นกระแสในวงกว้างทั้งรักทั้งชังในอีกสิบกว่าปีต่อมา เมื่อปี 2008 ด้วยรองเท้ารุ่น JS Wings กับรุ่น JS Bears ของแบรนด์ยอดฮิต adidas Originals ที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึงไม่นึกว่ารองเท้ามีปีกเทอะทะ หรือแบบมีหัวรูปหมีแบ๊วใสจนไม่น่าจะมีใครกล้าซื้อมาใส่ แต่มันกลับฉีกกฎทุกวงการแฟชั่น เมื่อใครต่อใครต่างแห่แหนเสาะหามาครอบครอง จนปัจจุบันถึงกับถูกปั่นราคาขึ้นไปอีก 4-5 เท่า หรือแม้แต่บรรดานักร้องตัวแม่อย่าง นิกกี มินาจ, มาดอนนา, เลดีกากา, เคที เพอร์รี ต่างตบเท้าเลือกใช้งานดีไซน์ของสก็อตต์ ไม่เว้นแม้แต่เคป๊อปอีกฝั่งทวีปอย่าง วันเดอร์เกิร์ล, ทูเอนีวัน (2NE1) และบิ๊กแบง ฯลฯ กระทั่งผลงานของเขาไปเตะตาเข้าอย่างจัง เมื่อเจ้าของแบรนด์ดังจากมิลานอย่าง Moschino ต้องการสก็อตต์มาสานต่อกุมบังเหียนเทรนด์แฟชันทั้งหมด นับตั้งแต่ซีซัน FW 2014
จากจุดนี้เองทำให้ วลาด ยูดิน ผู้กำกับเชื้อสายรัสเซีย หยิบช่วงชีวิตที่ฮิตฮอตสุดๆ ของสก็อตต์มาทำเป็นสารคดี Jeremy Scott: The People’s Designer (2015) ที่ตัวสก็อตต์บอกว่า “ด้วยความสัตย์จริงเลยนะ ตอนวลาดถามว่าจะถ่ายทำหนังผลงานของฉัน ฉันคิดว่า ต๊าย! ผลงานของฉันน่ะถูกถ่ายทำมาตลอดอยู่แล้วย่ะ คือไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยสำหรับฉันที่มีกล้องคอยล้อมจ่อจ้องอยู่ตลอดๆ แต่ฉันไม่เคยรู้เลยว่า เขากำลังจะทำหนังเกี่ยวกับตัวฉันในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เรื่องของฉันในฐานะที่เป็นนักออกแบบ มันเลยค่อนข้างช็อกและรู้สึกเซอร์เรียลนิดๆ ตอนเห็นตัวเองบนจอใหญ่”
ขณะที่ยูดินให้ความเห็นระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ว่า “สิ่งที่โคตรประหลาดใจยิ่งคือ ผมไม่นึกเลยว่าสก็อตต์จะเป็นคนสงบเสงี่ยมเจี๋ยมเจี้ยมได้ขนาดนี้ และผมไม่รู้มาก่อนว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ณ ที่ที่เขาจากมา ผมเชื่อว่าคนทั้งโลกเคยเห็นเขาจากรันเวย์ ไม่ว่าจะมิลาน ปารีส หรือนิวยอร์ก แต่ไม่มีใครเคยกลับไปเห็นรากเหง้าของเขาแน่ๆ มันมีค่ามากสำหรับผมเพราะไม่เคยมีใครได้รับโอกาสนี้ ที่จะได้เห็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขา มีใครบ้างล่ะจะเคยเห็นว่าผู้สร้างแฟชั่นอันยิ่งใหญ่ กลับไปยังฟาร์มบ้านนาที่ซึ่งเขาทำท่าเคี้ยวเอื้องกับวัว วิ่งไล่เตะตะโกนใส่พวกมันลั่นทุ่ง ล้วนเป็นโมเมนต์สุดพิเศษ”
ดังนั้น แทนที่ยูดินจะถ่ายทอดสารคดีเรื่องนี้แบบฮิปๆ ตัดต่อฉึบฉับ เปิดฉากบนรันเวย์สุดอลังการ หนังกลับเปิดเรื่องอ้อยอิ่งย้อนกลับไปบ้านทุ่งที่สก็อตต์เติบโตมา แล้วค่อยๆ ละเลียดให้เห็นว่าเขาต้องผ่านมากี่สมรภูมิ หรืออะไรที่ทำให้สก็อตต์กลายเป็นผู้สร้างแฟชั่นอย่างทุกวันนี้
“มุมมองแฟชันในสไตล์เจเรมีมีแต่ความสนุก มันสนุกล้วนๆ เลย เจเรมีเป็นเด็กหนุ่มที่มีจินตนาการสุดล้ำ” – เอแซป ร็อกกี นักร้องดัง, “เจเรมีชอบเล่นกับวัฒนธรรมป๊อปในแนวทางล้ำๆ พวกสัญลักษณ์อีโมจิสื่อสารกับคนในวัยเดียวกันหรือเด็กกว่า” – เคที เพอร์รี, “เขาเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้นำสตรีทแฟชั่นบ้านๆ มาสู่วงการแฟชั่นที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากันเลย” – แม็ททิว เมซูร์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์แบรนด์ Jeremy Scott
“ผมเจอคนมากมายบ่นว่าไม่มีทางใส่ชุดพิลึกๆ แบบนี้ได้หรอก แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่คลั่งใคล้เสื้อผ้าของเจเรมีกันนะ เจเรมี สก็อตต์ เปลี่ยนชีวิตผม ผมโตมาจากย่านสลัมเสื่อมโทรม ที่นั่นไม่มีชายแท้คนไหนสนใจไฮแฟชั่น ตอนผมอายุ 18-19 แล้วคุยกับเพื่อนถึงผลงานของสก็อตต์ ‘เชี่ยยย อย่างเจ๋งเลยว่ะ เดี๋ยวนี้เขาติดปีกให้รองเท้าสนีกเกอร์กันแล้วเว้ยเฮ้ย เก๋มากเลยใช่ป่ะ’ สี่ปีต่อมาผู้คนทั้งย่านฮาร์เลมใส่แต่ผลงานของสก็อตต์ทั้งนั้น ขนาดพ่อค้ายายังใส่ผ้าใบที่เขาออกแบบ ไอ้ที่มีหัวเท็ดดี้แบร์แปะอยู่บนปีกน่ะ” เอแซป ร็อกกี ให้ความเห็นเพิ่ม ขณะที่ เดิร์ก โซนแบร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายครีเอทีฟของ adidas Original เสริมว่า “เขาทำลายกำแพงกั้นของกฎเก่าๆ ปีกกลายเป็นของพิเศษและเป็นที่ยอมรับ โดยเหยื่อแฟชันทั้งหลาย ไปจนถึงผู้ชายที่มีรสนิยมแฟชันแบบพื้นๆ ทั่วไป”
จากคำยืนยันเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แฟชันของสก็อตต์ไม่ใช่ทำมาเพื่ออวดไอเดียเฉิดฉายบนรันเวย์เท่านั้น แต่มันครองตลาดทั้งสตรีทแฟชั่นข้างถนนไปจนถึงกลุ่มคนคลั่งแฟชั่นหรูแพงระดับไฮเอนด์ ชนิดที่ถ้าคนไม่บูชาคลั่งใคล้หัวปักหัวปำก็จะส่ายหน้ายี้กันไปข้าง
หนังพาไปเห็นขวบปีแรกของสก็อตต์ที่ถูกจับพลัดมาออกแบบให้ Moschino แบรนด์หรูแพงเก่าแก่กว่าสามสิบปีของนาย ฟรังโก มอสกีโน (อดีตนักออกแบบลายผ้าของ Versace) ที่มักให้ความรู้สึกสนุกสุดหรรษา ด้วยโชว์แหกคอกเหมือนพาเหรดเสื้อผ้า หรือละครสัตว์บันลือโลก มากกว่าการย่ำเดินรันเวย์แบบเดิมที่ใครๆ เขาก็ทำกัน แต่น่าเสียดายที่แบรนด์นี้หมดสนุกลง นับตั้งแต่นายมอสกีโนเสียชีวิตลงด้วยภาวะเอดส์ มาตั้งแต่ปี 1994 ทู่ซื้อยืนหยัดมาเนือยๆ จนอีก 20 ปีต่อมาถึงเพิ่งเจอ สก็อตต์ ที่ Moschino น่าจะฝากผีฝากไข้มาช่วยปั๊มลมหายใจต่อได้
จึงนับเป็นความกดดันใหญ่หลวง ที่หนุ่มบ้านนาอย่างสก็อตต์ต้องแบกรับหน้าที่คงความเป็นแบรนด์สุดสตรองของ Moschino แล้ว ยังต้องทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นด้วย แถมยังมีแบรนด์ Jeremy Scott ที่ยังต้องคงตัวตนอยู่ได้ในแบบที่ต่างจาก Moschino
“ผมได้ไอเดียตอนอยู่แอลเอ ขับรถไปเห็นร้านแมคโดนัลด์ แล้วก็คิดว่าสอง M นี้มีบางอย่างน่าหยิบมาเล่น แมคโดนัลด์ มอสกีโน แฟชันก็เหมือนฟาสต์ฟู้ด ว่าแล้วก็ควานหาปากกามาร่างภาพบนรถนั่นเลย พยายามเอาไอเดียออกมาจากหัวให้มากที่สุด” คือไอเดียที่สก็อตต์สาธยายให้นักข่าวฟังถึงผลงานชวนตะลึงด้วยกระเป๋าลายถุงมันฝรั่ง กระเป๋าสะพายทรงกระป๋องน้ำ ทรงกล่องแฮปปี้มีล ผ้าลายข้าวโพดคั่ว ลายกัมมี่แบร์ ลายเนยแข็งเยอะๆ ราวกับรั่วมาจากฟ้า “มันจะเป็นชุดที่แย่งซีนเด่นสุดๆ ในปาร์ตี้ด้วยสิ่งของที่ถูกเมิน บางอย่างที่แสนจะสามัญธรรมดา เต็มไปด้วยของอร่อยที่ทำให้ผู้คนกังวลอย่างไขมัน ไขมันทรานส์ ที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา สนุกไปกับมัน เพราะอาหารขยะเพลิดเพลินกว่าอาหารเพื่อสุขภาพอันน่าเบื่อ รวมถึงไอเดียแบบขยะๆ อย่างแพ็กเกจกล่องเบอร์เกอร์ ซองมันฝรั่ง ของสวยๆ ที่ทำให้อาหารน่ากิน แต่ถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว ผมชอบฟอร์มของมัน เอามาทำให้งามยังไงบนรันเวย์” ไอเดียอยู่ครบทั้งแสนสนุกแบบ Moschino และแหกคอกสไตล์เจเรมี สก็อตต์ ที่ยกระดับขยะให้กลายเป็นศิลปะ
ขณะเดียวกัน เขาได้ทำเสื้อผ้ามีคุณค่าด้วยการตีความค่านิยมของสังคม และแน่นอนว่านอกจากคนดูจะได้เห็นปฏิกิริยาของคนรอบข้างว่าตื่นเต้นและหลงใหลงานของเขาอย่างไร ยังได้เห็นอีกข้างด้วยว่านักวิจารณ์เกลียดผลงานของเขาเข้าไส้ขนาดไหน
“แฟชั่นอยู่ในทุกสิ่งที่เราทำ ในทุกสิ่งที่เราไป ทุกเว็บไซต์ที่เราเข้า นิตยสารทุกเล่ม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และอยู่ในทุกการตัดสินใจ เพราะมันคือจุดสูงสุดในการแสดงความเป็นตัวตน ว่าคุณเป็นคนแบบเผ่าพันธุ์ไหน มันล้ำไปกว่าแค่เป็นสิ่งสวมใส่บนร่างกาย แต่มันคือวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและยิ่งใหญ่ของหนทางที่เราเลือก”
ช่วงท้ายของหนัง ในบ้านนาเก่าเขรอะ ขยะทะลัก ระหว่างเล่าความทรงจำให้ฟัง สก็อตต์ดึงเศษผ้าปูโต๊ะที่เขาจำได้ว่ามันถูกเย็บด้วยฝีมือยายของเขาเอง ที่ด้วยความจนจึงเอาเศษผ้าเหลือใช้ มาต่อเป็นผ้าม่านบ้าง ผ้ากันเปื้อน ผ้าห่มบ้าง เป็นลายพิมพ์พื้นๆ อย่างดอกไม้ ขนมปังกรอบ เศษผ้าต่อที่แสนจะไม่เข้ากันเลย แต่มันคือสมบัติล้ำค่าของเด็กชายเจเรมี สก็อตต์