
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี เปิดตัวศูนย์วิเคราะห์วิจัย Customer Insights by TMB Analytics เผยผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย ส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้ สาเหตุจากชีวิตเน้นไลฟ์สไตล์ รวดเร็ว ติดโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น แถมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำพวกสุรา บุหรี่ในสัดส่วนสูง และยังออมผิดที่ผิดทาง ป้องกันความเสี่ยงระดับต่ำ
ศึกษาพฤติกรรมคนไทย-สร้างความรู้ทางการเงิน
นายรูว์ ไฮซ์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ทีเอ็มบี กล่าวว่าศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานภายในของทีเอ็มบีที่จับมือทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์มุมมองใหม่ๆ โดยมีหน่วยงานหลัก 2 ทีม คือ ทีม TMB Analytics และ ทีม Customer Experience & Insights นับเป็นการผนึกกำลังความแข็งแกร่งด้านองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการวิจัยพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า ประกอบกับการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพกับศูนย์วิเคราะห์วิจัยจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง ไอเอ็นจี เพื่อการเก็บข้อมูลที่ได้กว้างมากพอที่จะนำมาศึกษาได้โดยละเอียด เพื่อให้ผลออกมาได้แม่นยำ
เราวางแผนไว้ว่าจะทำการเผยแพร่ออกมาปีละ 2 ครั้ง โดยนำข้อมูลจากภายในและเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์วิเคราะห์วิจัยจากต่างประเทศ เช่น ไอเอ็นจี เพราะการเก็บรวมรวมข้อมูลและนำมาศึกษาวิเคราะห์นั้นเราต้องอาศัยการเก็บข้อมูลที่ได้กว้างมากพอที่จะนำมาศึกษาได้โดยละเอียดเพื่อให้ผลออกมาได้แม่นยำที่สุด
“เหตุผลที่ทีเอ็มบีลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าการจะสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีแก่คนไทย เราจะต้องมีข้อมูลมีสถิติที่ดี รวมทั้งร่วมมือกับสื่อมวลชนในการสร้างความตระหนักรู้ เป็นที่มาของการจัดช่วงนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารในรูปแบบที่ง่ายกับความเข้าใจและนำไปใช้ได้เลย”

เจาะลึกพฤติกรรมจับจ่ายก่อนออม-มองโลกในแง่ดี
นางสาวนันทพร ตั้งเจริญศิริ หัวหน้าทีม Customer Experience & Insights ทีเอ็มบี กล่าวว่าจากการสำรวจคนไทยทั่วประเทศ 18-54 ปี พบว่า 34% คิดว่าหากเลิกทำงานจะมีเงินเหลือใช้ไม่มากกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กองทุนประกันสังคมจะชดเชยการขาดรายได้จากการว่างงาน และมีถึง 21% ที่มีเงินใช้น้อยกว่า 1 เดือน
ขณะที่เรื่องวินัยการออมก็พบว่ามีเพียง 38% ที่ออมก่อนใช้และแยกบัญชีการออมชัดเจน และมีถึง 49% ที่เลือกใช้ก่อนออม โดยออมในบัญชีเดียวกับบัญชีการใช้จ่าย และอีก 13% มีเงินไม่พอใช้จ่าย นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการออมเกิดขึ้นกลับพบว่ามีเพียง 35% ที่ออมอย่างเป็นระบบเท่ากันทุกเดือน และมีเพียง 42% ที่พยายามออมทุกเดือนแต่มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกไปถึงทัศนคติของการออมพบว่า 21% ไม่คิดเรื่องวางแผนการออมเพื่อเกษียณ แต่ 40% กลับมั่นใจว่าออมพอใช้ เพราะเริ่มออมเงินไว้บ้างแล้วแม้จะยังไม่มาก
นอกจาก วินัยและทัศนคติการออม การสำรวจยังเห็นพฤติกรรมของคนไทยอีกหลายประการ เช่น คนไทยมีพฤติกรรม “ซื้อก่อน เดี๋ยวก็ได้ใช้” โดย 65% เคยซื้อของตอนลดราคามาเก็บทิ้งไว้โดยที่ตอนนี้ยังไม่เคยใช้, 56% ซื้อเพื่อตามกระแสแม้จะไม่จำเป็น, 31% ถึงจะประหยัดแต่หากลดราคาก็จะซื้อ และ 21% ถึงราคาไม่เป็นมิตรแต่ถ้าชอบก็ยอมซื้อ สุดท้ายเมื่อมีเงินออมไม่พอและมีทัศนคติไม่ออมก่อนใช้และพร้อมจับจ่ายตามกระแสและความต้องการ ส่งผลให้เห็นพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตที่ 50% ไม่สามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวน และอีก 44% เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย
สวนทาง Big Data – คนไทยออมไม่เคยพอ เหตุวางเงินผิดที่
ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ให้รายละเอียดถึงผลการศึกษาพฤติกรรมการทางการเงินของคนไทยจากข้อมูลการใช้จ่ายของคนไทยกว่า 35 ล้านคนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ในด้านเงินออมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมพอใช้ไม่ถึง 6 เดือนจากฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน เราแบ่งคนที่มีเงินออมเหลือจากการใช้จ่ายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมีเงินออมไม่พอ มีสัดส่วนถึง 80% ซึ่งเป็นกลุ่มที่เงินออมเหลือไม่พอใช้จ่ายไปอีก 6 เดือน ขณะที่กลุ่มที่มีเงินออมพอสำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปมีสัดส่วนเพียง 20% (อ้างอิงตัวเลข 6 เดือนจากการจ่ายเงินชดเชยของประกันสังคมกรณีว่างงาน)
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลงไปในหลายมิติพบว่าปัญหาการออมเงินไม่ขึ้นอยู่กับทั้งระดับรายได้ พื้นที่ที่ประกอบอาชีพ และประสบการณ์ทำงาน หรืออายุ กล่าวคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างไรมักจะออมไม่พอ โดยเริ่มจากมิติรวย-จนพบว่า 70% ของผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มมีเงินออมไม่พอ แต่น้อยกว่ากลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนที่มีสัดส่วน 80% ที่ออมไม่พอ
ในมิติของการประกอบอาชีพพบว่ากลุ่มพนักงานเอกชนและจ้างงานอิสระมีสัดส่วนที่ออมไม่พอ 89% และ 78% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% ขณะที่เจ้าของกิจการมีสัดส่วนเพียง 62% ขณะที่การอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน พบว่าในต่างจังหวัดมีสัดส่วนของคนออมไม่พอ 79% น้อยกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีสัดส่วน 80% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง สุดท้าย ในมิติอายุพบว่ากลุ่มวัยเริ่มทำงาน (Gen Y) มีสัดส่วนที่ออมไม่พอ 84% สูงกว่ากลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า (Gen X) ที่มีสัดส่วน 80% ซึ่งสะท้อนว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ต่างยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเงินออมไม่พอ
ในมุมของการใช้จ่าย พบว่าคนไทยมีรายจ่ายกันสูงถึง 76.2% ของรายได้ทั้งหมด มีเงินออม 20.4% แบ่งเป็นเงินฝากที่มีสภาพคล่อง 2.04% และเงินลงทุน 18% และใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง 3.4% ทั้งนี้ ในกลุ่มคนที่มีเงินออมพอจะพบว่ามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่ 64% และมีเงินออมสูงถึง 33% ของรายได้ โดนเป็นเงินฝากที่มีสภาพคล่อง 3% และเงินลงทุน 30% ขณะที่กลุ่มคนที่ออมไม่พอกลับมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 82% และมีเงินออมเพียง 14% แบ่งเป็นเงินฝาก 1% และเงินลงทุน 13% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมีเงินออมพอหรือไม่พอ ต่างมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นค่อนข้างสูงโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอ โดยจากข้อมูล คนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 28,265 บาทต่อเดือน เป็นการใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น สินค้าในชีวิตประจำวัน อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว ค่าเดินทาง 20,840 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 74% ของค่าใช้จ่าย ขณะที่อีก 7,425 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น 26% เป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น แบ่งเป็นค่ารับประทานอาหารนอกบ้าน 6,021 บาท ค่าสุรา 530 บาท ค่าบุหรี่ 235 บาท หวย 433 บาท
ทั้งนี้ ในกลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอกลับพบว่ามีพฤติกรรมที่บริโภคสุราและบุหรี่มากกว่าคนที่ออมเงินพอค่อนข้างมาก โดยกลุ่มที่มีเงินออมพอจะใช้จ่ายส่วนนี้เพียง 19% ของค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น ขณะที่กลุ่มที่มีเงินออมไม่พอกลับใช้จ่ายสูงถึง 40% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยจากการสำรวจก็พบทัศนคติเกี่ยวกับหวยอีกว่า 54% เสี่ยงโชคเพราะคิดว่าถ้าถูกขึ้นมาก็ยังคุ้มค่า ขณะที่อีก 56% คิดว่าจะมีสิทธิรวยจากการถูกหวย
“ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยเกิดจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงวิถีชีวิตแบบเห่อกินเที่ยว Social มาก่อน ออมทีหลัง เช่น คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ Social Media สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และจากการวิเคราะห์การค้นหาในกูเกิล หรือ Google Trends พบว่าคนไทยค้นหาคำว่าลงรูปในอินสตราแกรมเติบโตเฉลี่ยปีละ 78% ตั้งแต่ปี 2547 หรือมีการค้นหารีวิวที่เที่ยว เที่ยวญี่ปุ่น เที่ยวทะเลเติบโตเฉลี่ยปีละ 14% หรือค้นหาคำเกี่ยวกับมิชลินและร้านอาหารเติบโตปีละ 34% หรือมีการค้นหาคำว่ากิน เที่ยว เติบโตเฉลี่ยปีละ 98% อย่างไรก็ตาม คนไทยค้นหาคำว่าการออมเงิน ลงทุน ลดลง เฉลี่ยปีละ 0.5%” นายนริศกล่าว
นอกจากนี้ ไม่ว่าคนที่ออมพอหรือออมไม่พอต่างออมผิดที่กัน โดยผลการวิเคราะห์พบว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของทั้งกลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอกับกลุ่มคนที่มีเงินออมพอ จะกระจุกอยู่ที่เงินฝากธนาคารกว่า 80% และเกินครึ่งเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉลี่ยสัดส่วนของเงินฝากจะต่ำกว่า 50% สะท้อนว่ามีคนอีกกลุ่มที่ธนาคารอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจที่จะให้ความรู้และให้บริการทางการเงินที่เพียงพอ โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล ไม่ได้เกิดจากการขาดช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั้งจากแอปพลิเคชันหรือสาขา
นายนริศกล่าวต่อว่า แม้ว่าในอนาคตคาดว่าเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พร้อมและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่อีกด้านสำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ธนาคารก็ต้องฝึกฝนพนักงานสาขาให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และเห็นภาพรวมเป้าหมายของการออมอย่างรอบด้านด้วย
คนไทยส่วนใหญ่เผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งในแง่อุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากโรคร้าย แต่กลับป้องกันความเสี่ยงในระดับต่ำ ประเทศไทยมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุสูงเป็นที่ 13 ของโลกและมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี แต่ทั้งกลุ่มที่เงินออมพอและกลุ่มที่มีเงินออมไม่พอมีการทำประกันประกันไว้ไม่ถึง 10% ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนเบี้ยประกันต่อรายได้รวม (Insurance Penetration) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศพัฒนาแล้ว