ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > SET THSI Index (1) : นับถอยหลังตลาดหลักทรัพย์เตรียมคิกออฟ “ดัชนีความยั่งยืน” ครั้งแรกของไทย 2 กค.นี้

SET THSI Index (1) : นับถอยหลังตลาดหลักทรัพย์เตรียมคิกออฟ “ดัชนีความยั่งยืน” ครั้งแรกของไทย 2 กค.นี้

15 มิถุนายน 2018


ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ที่จะถึง อาจจะเรียกได้ว่านับเป็นปรากฎการณ์สำคัญสำหรับตลาดทุนไทยและแวดวงธุรกิจที่ยั่งยืน เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดตัวดัชนีใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ดัชนีความยั่งยืน” อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า “SET THSI Index” ในการแสดงดัชนีระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน ที่มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มี “ดัชนีความยั่งยืน” อย่างเป็นทางการที่จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน (benchmark) ของหุ้นที่นอกจากจะมีผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมและการมีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance:ESG) ซึ่งดัชนีเหล่านี้นอกจากจะใช้สำหรับดูความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของ “หุ้นที่ยั่งยืน” แล้วการได้รับการคัดเลือกอยู่ในดัชนีของบริษัทยังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการดำเนินงานด้าน ESG และการบริหารจัดการองค์กรตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ที่ผ่านมาการเปรียบเทียบข้อมูล “หุ้นที่ยั่งยืน” และการยอมรับผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่มักใช้ดัชนีความยั่งยืนที่จัดทำโดย กลุ่มผู้จัดทำดัชนีชั้นนำ (Index Provider) อาทิ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)  FTSE4Good Index  ฯลฯ ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศไทยหลายแห่งอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดังกล่าว หรือใช้ข้อมูลจาก “รายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน”  Thailand Sustainability Investment  (THSI)  ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีมาตั้งแต่ปี 2558

คิกออฟ ดัชนีความยั่งยืน SET THSI  Index

ดัชนีความยั่งยืน SET THSI  Index จึงเป็นอีกก้าวของการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย แม้ว่าจะออกตัวช้ากว่าหลายตลาดฯในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง โตเกียว มาเลเซีย ฯลฯ ที่ต่างมีดัชนีความยั่งยืนไปแล้วก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นดัชนีที่ดำเนินการโดยกลุ่มผู้จัดทำดัชนีชั้นนำหรือการจัดทำดัชนีความยั่งยืนเอง เช่น FTSE4Good Bursa Malaysia Index ของมาเลเซีย , Hang Seng Corporate Sustainability Index ของฮ่องกง,  KRX ESG Leader Index ของเกาหลีใต้  S&P/TOPIX 150 ESG Index ในโตเกียว ฯลฯ

แต่การเกิดขึ้นของ ดัชนีความยั่งยืน ในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ยังถือว่าเร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้หากพิจารณาจากความพร้อมของตลาดฯ ทั้งฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่สามารถมีมาตรฐานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในระดับสากลที่ยังคงมีช่องว่างระหว่างบริษัทที่มีได้รับการยอมรับในระดับโลกด้านความยั่งยืนในระดับโลกสะท้อนจากบริษัทที่สามารถได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน DJSI จำนวน 17 บริษัท ในปี 2560 และยังมีช่องว่างอีกมากระหว่างบริษัทชั้นนำและบริษัททั่วไป กระทั่งจำนวนของกองทุนหรือผู้ที่สนใจลงทุนตามแนวทาง “การลงทุนที่ยั่งยืน” ที่แม้ปัจจุบัน เริ่มมี กองทุนรวมธรรมาภิบาล ที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมาภิบาล กองทุนรวมคนไทยใจดีของ ธนาคารกรุงเทพ ที่เลือกลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญกับ ESG และเรื่องคอรัปชั่น ฯลฯ แต่การเติบโตของเรื่องนี้ในไทยอาจจะยังไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืนในระดับโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยขยายตัวจาก 6.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 สู่ 68.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการประเมิน “หุ้นที่ยั่งยืน” ตามรายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน THSI จำนวน 65 แห่งในปี 2560 ทั้งใน SET 58 บริษัท และ MAI  7 บริษัท คิดเป็นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวม 9.10 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 52.85%ของตลาด โดยอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนนี้อยู่ที่ 3.63% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม 3.44%(ณ 10 ตุลาคม 2560)

การประกาศ รายชื่อบริษัทที่จะได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน“ดัชนีความยั่งยืน SET THSI Index” ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 และการใช้ดัชนีใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 นี้ จึงอาจจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาของการบริหารจัดการองค์การตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน เรื่องนี้อาจจะช่วยให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างยั่งยืน (Social Responsible Investment) ในไทย โดยดัชนีความยั่งยืน SET THSI Index ไม่เพียงจะเป็น Benchmark Index ที่จะช่วยเรื่อการลงทุน แต่ยังจะเป็นดัชนีอ้างอิงในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น กองทุนรวมที่อ้างอิงหุ้นที่ยั่งยืน (Exchange Trade Fund :ETF) ฯลฯ

อย่างไรก็ตามนอกจากผลที่เกิดขึ้นในอนาคตจากการเปิดตัวดัชนีใหม่ สิ่งที่น่าจับตาเช่นกันคือ บริษัทจดทะเบียนแห่งใดจะได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืน SET THSI Index บ้าง เพราะแม้จะใช้ฐานข้อมูลรายชื่อจาก “รายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน THSI” แต่ยังมีเกณฑ์การพิจารณาอีกหลายส่วนกำกับ

เกณฑ์การคัดเลือกใน SET THSI Index

จากข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำดัชนีความยั่งยืน SET THIS Index ครั้งแรกของตลาดทุนไทย” ที่จัดทำโดยฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เมื่อไม่นานมานี้ระบุถึงเกณฑ์ที่จะใช้ในการคัดเลือกหุ้นเป็นสมาชิก SET THSI Index  จะมาจากเกณฑ์ 5 ด้าน ได้แก่ 1. สถานะ ต้องเป็นบริษัทที่อยู่ใน “รายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน” (Thailand Sustainablity Investment : THSI  ) ในปีที่ผ่านมาโดยเป็นบริษัทใน SET เท่านั้น โดยสาเหตุที่ไม่รวมบริษัทใน MAI เนื่องจากดัชนีดังกล่าวถือเป็นดัชนีใน SET Index Series  (ดูรายละเอียดเกณฑ์การคัดเลือก SET THSI Index ที่นี่)

2.การซื้อขาย ต้องมีการซื้อขายใน SET มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 3.ขนาด ขนาดของบริษัท ต้องมี Market Cap ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยดูเฉลี่ยต่อวันย้อนหลังเป็นเวลา 3 เดือน 4.การกระจายหุ้น ในการกระจายหุ้นของบริษัท ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนที่ชำระแล้ว และ 5.ปริมาณการซื้อขาย มีปริมาณซื้อขาย โดยมีจำนวนหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในแต่ละเดือนตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไปของจำวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน หรือไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของระยะเวลาซื้อขายของบริษัท

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะมีการทบทวนรายชื่อหุ้นในดัชนีความยั่งยืน SET THSI  Index เป็นประจำทุก 6 เดือนในเดือนมกราคมและกรกฎาคม โดยหากเกิดกรณีที่บริษัทเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ถูกคัดออกจากรายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ก็จะนำหุ้นนั้นออกจากดัชนีความยั่งยืน  SET THSI  Index ด้วย

นี่จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการเดินหน้าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่น่าจับตา

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความยั่งยืนใหม่ของไทยเพิ่มเติมใน จับตา SET THSI Index ตอนที่ 2