หยุด

3 มิถุนายน 2012


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ว่ากันว่าตำแหน่งฟังคอนเสิร์ตที่ดีนั้นน่าจะอยู่ประมาณแถวที่สามจากด้านหน้า ให้บังเอิญแถวที่ว่าเป็นที่นั่งในเครื่องบินชั้นประหยัดของผมจากกรุงเทพไปลอนดอน เพียงแต่สิ่งที่ได้ชมกลับไม่ใช่การบรรเลงเพลงซิมโฟนี หากทว่าเป็นความพยายามยื้อยุดชีวิตหญิงชราคนหนึ่งซึ่งเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เหตุการณ์ทั้งหมดจบลงด้วยโศกนาฏกรรมหลังหญิงชราจากไปอย่างสงบ

แรกเริ่มทุกอย่างดูปกติ จนกระทั่งแอร์โฮสเตสเริ่มวิ่งวุ่นกับการหากระดาษมาซับเลือดจำนวนมาก ซึ่งทะลักออกมาจากการปั๊มหัวใจหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าหญิงชราจะยังไม่ตอบสนองใดๆ

ผู้โดยสารแถวแรกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ที่เดินทางพร้อมกับเด็กเล็กถูกขอร้องให้ย้ายที่นั่งชั่วคราวเพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ป่วย บางคนยอมจากไปด้วยดีเพราะเข้าใจสถานการณ์ บางคนมีแววตาหงุดหงิดเพราะต้องปลุกลูกน้อยที่กำลังหลับใหลมากอดไว้เพื่อให้ได้หลับต่อ

ชีวิตหนึ่งกำลังหลับสบายในอ้อมกอดพ่อ

อีกชีวิตหนึ่งกำลังจะหลุดลอยสู่อ้อมกอดของพระเจ้า

ท่ามกลางความสับสน ดูเหมือนจะมีผู้โดยสารที่มีความรู้ด้านการแพทย์พยายามเข้าไปช่วยเหลือ สถานการณ์ผ่านไปร่วมชั่วโมงจนกัปตันประกาศว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน แม้ว่าเครื่องจะบินเลยจากอินเดียมาได้สักพักแล้ว แต่กัปตันจำเป็นต้องหันหัวกลับไปลงจอดที่มุมไบ อันเป็นสนามบินที่อยู่ใกล้ที่สุด

ความวุ่นวายยังคงดำเนินต่อไปอย่างเงียบๆ จนในที่สุดชายชราผมขาวที่ถูกเชิญตัวให้ไปนั่งชั้นธุรกิจเดินกลับมายังจุดเกิดเหตุ สักพักเสียงร้องไห้ของเขาก็ดังขึ้นจนได้ยินไปหลายแถว

เครื่องยนต์ทำงานเสียงดัง

หากแต่ผู้โดยสารเงียบเสียง

เครื่องบินยังคงมุ่งไปข้างหน้า

ทว่าบางชีวิตหยุดลง

ในระหว่างที่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจกำลังคิดงาน ผู้โดยสารชั้นหนึ่งกำลังหลับสบาย ผู้โดยสารหญิงชราในชั้นประหยัดคนหนึ่งได้ลาจากโลกนี้ไปอย่างเงียบๆ

กระทั่งชื่อเสียงเรียงนามหรือสัญชาติของเธอ เราเองก็ไม่มีโอกาสได้รู้จัก เราพบกันสั้นๆ มีระยะห่างเพียงแค่เก้าอี้สามแถว เราเดินทางร่วมกันข้ามวัน แต่เรากลับไม่เคยรู้จักกันเลย

จากการลงจอดเพื่อรักษาพยาบาล เมื่อมีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจสนามบินมุมไบต้องขึ้นมาสอบปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์และชันสูตรศพอยู่พักใหญ่ ก่อนจะมีการลำเลียงร่างของหญิงชราออกไปทางประตูหน้า เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เครื่องบินล่าช้าไปหลายชั่วโมง และไม่ทันเวลาต่อเครื่องจากโดฮาเพื่อไปลอนดอน ผู้โดยสารจำนวนมากจึงต้องปักหลักรอเครื่องต่อไปในสนามบินจนรุ่งเช้า

จากกรุงเทพไปลอนดอนรอบนี้ ผมใช้เวลาเดินทางร่วม 24 ชั่วโมงกว่าจะเข้าที่พัก ในโลกสมัยใหม่จัดว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก แต่เมื่อเทียบกับยุคคุณสอ เสถบุตร ซึ่งต้องใช้เวลาในเรือแรมเดือนกว่าจะถึงลอนดอน หนึ่งวันช่างเป็นเวลาที่สั้นนัก

ในโลกที่หมุนเร็ว เวลาแค่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็อาจถือว่านานเกินไป ด้วยทุกคนล้วนมีภารกิจ ณ ที่หมาย จะมีก็แต่ความตายเท่านั้นกระมังที่ทำให้ผู้คนทุกชนชั้นหยุดได้ แม้แต่กฎการบินก็ยังบังคับให้คนทั้งเครื่องต้องร่วมชะตากรรมด้วยการลงจอดชั่วคราวที่มุมไบ

ความตายไม่อนุญาตให้ใคร ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นไหนบินต่อไป ทั้งหมดถูกกฎการบินบังคับให้หยุดเดินทางพร้อมกัน จึงไม่ใช่แต่ผู้ตายเท่านั้นที่หยุด แม้แต่ผู้ที่ยังมีชีวิตก็ถูกบังคับให้ต้องหยุดพร้อมกับผู้ตาย ด้วยทุกชีวิตมนุษย์ล้วนมีความหมาย เมื่อเป็นเรื่องความเป็นความตายของมนุษย์ ทุกคนจึงถูกบังคับให้ต้องหยุด อย่างน้อยก็เพื่อยื้อยุดชีวิตมนุษย์คนหนึ่งไว้

นี่คือกติกาบนเครื่องบิน

กลับลงมายังพื้นดิน ใช่หรือไม่ว่าชาวแอฟริกานับล้านกำลังจะตายเพราะความอดอยาก ชาวซีเรียอีกนับไม่ถ้วนกำลังจะตายเพราะสงครามกลางเมือง เหมือนเช่นที่ชาวอิรักและอัฟกานิสถานได้ตายไปแล้ว ชาวทิเบตตายไปร่วม 30 จากการเผาตัวประท้วงรัฐบาลจีน ส่วนชาวจีนเองก็ตายไปนับไม่ถ้วนในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

โลกสามารถออกกฎให้เครื่องบินทั้งลำหยุดเพื่อรักษาชีวิตคนหนึ่งคนได้ หากแต่โลกไม่อาจหากติกาเพื่อหยุดการเข่นฆ่าและรักษาชีวิตคนหลายล้านคนได้

โลกศรีวิไลก็แต่เฉพาะในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจเท่านั้น ส่วนโลกจริงๆ เบื้องล่างยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งแข่งขัน ทันทีที่เครื่องจอด ทุกคนรีบลุกออกจากที่นั่งมุ่งไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่ตอนขามาก็แทบอยากจะถึงที่นั่งให้เร็วที่สุด มีน้อยคนมากที่จะหยุดให้ผู้โดยสารอื่นลงก่อน ทั้งๆ ที่เมื่อไปถึงสายพานลำเลียงกระเป๋า เรากับเขาก็ต้องลุ้นเอาในเวลาเท่าๆ กัน

ความเร่งรีบถูกฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของคนเมืองใหญ่ แม้แต่บันไดเลื่อนที่ว่าเร็วในลอนดอน ก็ยังต้องเปิดช่องทางซ้ายไว้ให้แซง แม้แต่ไฟแดงคนข้าม ก็ยังมีคนผลีผลามฝ่าไปจนรถเมล์ชนตายมาแล้วก็มาก แม้แต่ทางเดินงดงามในสวน ก็เห็นแต่คนง่วนอยู่กับงาน จนไม่อาจเห็นดอกไม้บานในยามคิมหันต์

หลายเดือนก่อนในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks ผมมีโอกาสสนทนากับอาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์สุวรรณาเป็นผู้แปลหนังสือ In Praise of Shadows ของจุนิชิโร ทานิซากิ ปัญญาชนคนสำคัญของญี่ปุ่นออกมาเป็นภาษาไทยในชื่อ “เยิรเงาสลัว” และล่าสุดเพิ่งมีผลงานแปลและเขียนบทนำ The Analects of Confucius หรือ “คัมภีร์หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา” ออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงามยิ่ง นี่น่าจะเป็นงานของขงจื่อที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยมีมาในภาคภาษาไทย และเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของสำนักพิมพ์

อาจารย์สุวรรณาซึ่งเชี่ยวชาญปรัชญาตะวันออกได้บอกกับผมว่า “คนจีนยุคใหม่นั้นกำลังสูญเสียวิธีหาความสุขวิธีอื่นๆ ไปจนกระทั่งเหลือความสุขจากเงินเพียงอย่างเดียว” ความสุขอันเรียบง่าย เช่นการชมดอกไม้ท่ามกลางแสงจันทร์ในคืนเพ็ญ คนยุคใหม่ก็อาจเห็นเป็นสิ่งไร้ค่า ทานิซากิจึงต้องเขียนหนังสือออกมาเพื่อสรรเสริญความสลัวของแสงในบ้านญี่ปุ่นในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า และกลายเป็นหนังสือคลาสสิกนับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าแสงไฟในย่านกินซ่าจะจ้านัก

ความสุขง่ายๆ ในบ้านญี่ปุ่นที่มิได้ประดับตกแต่งมากมายให้เกินงามกลับประทับใจผู้มาเยือนจากทั่วโลก ในพิธีชงชาไม่ได้มีการประดับประดาด้วยดอกไม้ช่อใหญ่ หากแต่งดงามได้ด้วยดอกไม้เพียงดอกเดียว พิธีชงชาทำให้เราต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมด เพื่อจดจ่อกับชาหนึ่งถ้วย หรือว่ากันให้ถึงที่สุด

ชงชาหนึ่งถ้วย

เพื่อช่วยให้กลับมา

หยุด

อยู่กับใจตนเอง

นี่ไม่เรียกว่าลึกล้ำได้อย่างไร

กลับมาเมืองไทย ผมหาซื้อชาธรรมดามานั่งชงดื่มช้าๆ ในยามเช้า ก่อนเริ่มกิจการงานทั้งหลาย นั่งนิ่งๆ รอน้ำเดือด จิบชาร้อนๆ ผ่อนคลาย สะสางความคิดอ่านทั้งหลายแล้วจึงเริ่มพลิกหนังสือพิมพ์อ่านทีละหน้า

หนึ่งเดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิการเมืองค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเหมือนน้ำในกา หลายคนบ่นว่าเราหยุดอยู่บางสนามบินนานเกินไป การเมืองไทยจึงไม่สามารถเคลื่อนต่อไปข้างหน้า บางคนก็บ่นว่าเพราะกัปตันที่ถูกจี้เครื่องบินไม่ยอมหยุด แถมปลุกระดมผู้โดยสารให้ต่อต้านเจ้าของสายการบิน ผู้โดยสารชั้นประหยัดจึงออกมาซัดกับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ส่วนผู้โดยสารชั้นธุรกิจได้แต่นั่งทำตาปริบๆ คิดหาทางออกให้ชีวิต ในวันที่เครื่องบินตกหลุมอากาศและกัปตันประกาศให้รัดเข็มขัดอยู่กับที่

ชั้นหนึ่งนั้นจ่ายแพง ได้ขึ้นเครื่องก่อน นอนก็นอนเหยียดสบาย จะกินอาหารเมื่อใดก็เรียกได้ ไม่ได้ถูกแสงไฟปลุกให้ขึ้นมากินเหมือนผู้โดยสารชั้นประหยัด ส่วนชั้นประหยัดนั่งยัดกันมานานๆ ก็ต้องแสดงสิทธิบ้าง ไม่ใช่จะอ้างว่าจ่ายแพงกว่าอยู่ท่าเดียว จะขึ้นจะลงจะจอดจะเลี้ยวก็ควรจะแจ้งผู้โดยสาร มิใช่หักหาญเปลี่ยนเส้นทางโดยไม่บอกใคร

ตกหลุมอากาศกันมาแทบเป็นแทบตาย แต่จู่ๆ กัปตันคนเก่าที่ถูกจี้ก็บอกผู้โดยสารให้ทำตัวดีๆ เดี๋ยวกัปตันคนนี้จะบินต่อเอง ไม่ต้องเกรงใจ เพราะดูเหมือนจะคุยกันได้กับเจ้าของสายการบินแล้ว ฟังเพลินๆ ก็ดูดี แต่ให้บังเอิญเครื่องบินลำนี้มีคนตาย ตามกฎหมายบังคับให้ต้องจัดการกับผู้ตายก่อน ไม่ว่าชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ หรือชั้นประหยัด จำเป็นต้องนั่งรัดเข็มขัดเพื่อเตรียมลงจอด

ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา เครื่องบินลำนี้เห็นทีจะบินต่อไปได้ยาก เพราะนอกจากผู้โดยสารชั้นประหยัดจะต้องนั่งมองหน้ากันไปมาอย่างอึดอัด เวลาก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ แม้จะไม่ใช่ชั้นประหยัด กลิ่นแห่งมรณะย่อมปกคลุมไปถึง กระทั่งชั้นหนึ่ง หรืออาจถึงห้องกัปตัน ที่สำคัญสายการบินนี้ได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนมาร่วม 80 ปี และมีสหภาพที่เติบกล้า จะบินต่อไปข้างหน้าโดยไม่บอกกล่าวผู้ถือหุ้น ก็ดูจะวุ่นตอนเปลี่ยนเครื่อง

นี่คือความยากของสังคมไทย ที่เยิรเงาสลัวในวันที่ควรจะโปร่งใส

นี่คือความยากของสังคมไทย ในวันที่ควรหยุด ก่อนจะเดินทางต่อไปสนามบินหน้า

นี่คือความยากของจังหวะและเวลา

ว่าเมื่อใดควรเดินหน้า

และเมื่อใดควรหยุด

หมายเหตุ เรียบเรียงจากปาฐกถาในงานครบรอบ 1 ปี TCIJ และแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 7 ปีเว็บไซต์ประชาไท