ThaiPublica > คอลัมน์ > “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (1) ว่าด้วย “สมาร์ทซิตี้” กับสถานการณ์ของกรุงเทพฯ

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (1) ว่าด้วย “สมาร์ทซิตี้” กับสถานการณ์ของกรุงเทพฯ

11 มิถุนายน 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ทุกวันนี้ไปที่ไหนก็หนีไม่พ้นคำศัพท์ฮอตฮิตต่างๆ ที่มีส่วนผสมของ ‘เทคโนโลยี’ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ตั้งแต่ ฟินเทค บิ๊กดาต้า เอไอ ไอซีโอ บล็อกเชน ดิจิทัลอีโคโนมี ไทยแลนด์ 4.0 สมาร์ทซิตี้ ฯลฯ

ผู้เขียนมองปรากฎการณ์ที่อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘อาการเห่อเทคโนโลยีรอบใหม่’ ในไทยแล้วก็เห็นว่ามีหลายกรณีที่น่าตื่นเต้นและชวนติดตาม โดยเฉพาะที่เป็นความพยายามจากฐานราก (bottoms-up) ของประชาชน ‘พลเมืองตื่นตัว’ (engaged citizens) หลายกลุ่มที่ลุกขึ้นมาใช้เทคโนโลยีปลายนิ้วที่ตัวเองเข้าถึงได้ ทำอะไรใหม่ๆ ที่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอยากให้คุณภาพชีวิตของเพื่อนพลเมืองดีขึ้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มในไทยอีกหลายเรื่องก็ดูน่าเป็นกังวล โดยเฉพาะบางโครงการที่ทำแบบสั่งการจาก ‘บนลงล่าง’ (top-down) ของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือรัฐบาลเผด็จการทหาร

วันนี้มาประเดิมด้วยตัวอย่างเรื่อง “สมาร์ทซิตี้” (smart city) กัน

คำว่า “สมาร์ทซิตี้” ไม่ต่างจากคำฮิตใหม่หมาดอื่นๆ ตรงที่มันยังไม่มีนิยามชัดเจนตายตัว เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความหลากหลายของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องบิ๊กดาต้า เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ข้อมูลจากเซ็นเซอร์นานาชนิด สมาร์ทกริด (smart grid) โอเพ่นดาต้า ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่พยายามสำรวจดู ผู้เขียนเห็นว่านิยามที่แตกต่างหลากหลายเหล่านั้นทั้งหมดแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ซึ่งผู้เขียนจะขนานนามว่า “มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี” (technology-oriented mindset) กับ “มโนทัศน์เน้นคน” (people-oriented mindset)

แนวคิด "Smart City in a Box" ในมาเลเซีย
แนวคิด “Smart City in a Box” ในมาเลเซีย

นิยาม “สมาร์ทซิตี้” สองมโนทัศน์หรือสองสำนักนี้แตกต่างกันอย่างไร?

ตัวอย่างนิยามที่ผู้เขียนมองว่าสะท้อน “มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี” จากวิกิพีเดีย:

“สมาร์ทซิตี้ หมายถึง บริเวณใดบริเวณหนึ่งในเมืองที่ใช้เซนเซอร์เก็บรวบรวมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด เพื่อส่งข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการสินทรัพย์และทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลเหล่านี้มีตั้งแต่ข้อมูลที่รวบรวมจากพลเมือง อุปกรณ์ต่างๆ และสินทรัพย์ นำไปประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อติดตามและบริหารจัดการระบบการจราจรและการขนส่ง โรงไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบการจัดการของเสีย การบังคับใช้กฎหมาย ระบบสารสนเทศ โรงเรียน ห้องสมุด โรงพยาบาล และบริการสาธารณะอื่นๆ”

ในนิยามนี้ “ประสิทธิภาพ” คือเป้าหมายหลักของสมาร์ทซิตี้ ในเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยรวมถูกคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านใด สมาร์ทซิตี้ในนิยามประเภทนึ้พูดง่ายๆ จึงหมายถึงเมืองที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ยิ่งไฮเทคเท่าไรยิ่ง ‘ดี’ เท่านั้น

แล้วนิยาม “สมาร์ทซิตี้” ที่สะท้อน “มโนทัศน์เน้นคน” เป็นอย่างไร? หน้าเดียวกันของวิกิพีเดียก็ให้ตัวอย่างของมโนทัศน์แนวนี้ไว้เช่นกัน โดยอ้างอิงจากหนังสือเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้เล่มแรกๆ ที่ได้รับความนิยม เขียนโดย มาร์ค ดีคิน (Mark Deakin) ร่วมกับ ฮูซัม อัลแวร์ (Husam Alwear) ออกปี ค.ศ. 2013

ในหนังสือเล่มนี้ ดีคินกับอัลแวร์นิยาม “สมาร์ทซิตี้” ว่า หมายถึง “เมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด [หมายถึงพลเมืองที่อาศัยในเมือง] และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนในกระบวนการ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ในแง่นี้ สมาร์ทซิตี้จึงมิได้มีความหมายเฉพาะเมืองที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หากแต่เป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ในทางที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น”

ผู้เขียนเห็นว่านิยามนี้สะท้อน “มโนทัศน์เน้นคน” เพราะระบุชัดว่า การใช้เทคโนโลยีจะต้อง “ตอบสนองต่อความต้องการ” และ “สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น” มิฉะนั้นก็ไม่ใช่ “สมาร์ทซิตี้” ที่แท้จริง

พูดอีกอย่างคือ ต่อให้เมืองมีเทคโนโลยีไฮเทค บิ๊กดาต้า เซนเซอร์ ฯลฯ แต่ถ้าคุณภาพชีวิตของคนในเมืองไม่เปลี่ยนแปลง หรือมีเพียงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และคนรวยไม่กี่คนได้ประโยชน์ โครงการนั้นก็ไม่ใช่ “สมาร์ทซิตี้” ในนิยามแนวนี้

การจะพัฒนา “สมาร์ทซิตี้” จึงต้องเริ่มต้นจากการเลือกว่า เราชอบนิยามแนว “มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี” หรือ “มโนทัศน์เน้นคน” มากกว่ากัน

และก็เป็นไปได้ที่ผู้ดำเนินนโยบายจะ ‘เลือก’ นิยามใดนิยามหนึ่งโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวว่าเลือกอะไร แต่ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่น

ผู้เขียนเชื่อว่า มีเพียง “มโนทัศน์เน้นคน” เท่านั้น ที่จะเอื้อให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ยั่งยืน และสร้างประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง – เพราะเราจะมีเทคโนโลยีไฮโซหรือไฮเทคมากแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ ถ้าหากมันไม่ตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง

ก่อนที่จะไปดูความสำเร็จของโครงการสมาร์ทซิตี้ในต่างแดน (ซึ่งผู้เขียนจะเสนอว่า มันสำเร็จไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี แต่เพราะวางอยู่บนรากฐานของ “มโนทัศน์เน้นคน” ที่หนักแน่น) ลองมาดูสถานการณ์ปัจจุบันของกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับโครงการที่ใช้คำว่า “สมาร์ทซิตี้” ในกรุงเทพฯ

ใครๆ ก็รู้ว่ากรุงเทพฯ ติดอันดับโลกเรื่องรถติดมหาวินาศ แต่นอกจากประเด็นนี้ เมืองหลวงของเรายังติดอันดับโลกอีกหลายเรื่อง อาทิ การเป็น “เมืองโตเดี่ยว” (primate city หมายถึงเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ ที่ใหญ่กว่าเมืองที่มีประชากรอันดับสองมาก) อันดับต้นๆ ในโลก อันสะท้อนผลพวงจากการพัฒนาแบบ ‘กระจุกตัว’ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ที่ยังไม่อาจกระจายความเจริญไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ดีเพียงพอ ความเป็นเมืองโตเดี่ยวสุดขั้วของกรุงเทพฯ แปลว่ามันเป็นศูนย์รวมของโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุน ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่กรุงเทพฯ จะมีสัดส่วนประชากรแฝงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2558 กทม. เคยให้ข่าวว่า ทั้งเมืองมีประชากรราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ที่มีทะเบียนบ้านราว 5.6 ล้านคน

นั่นหมายความว่าอีกเกือบเท่าตัว หรือ 4.4 ล้านคน เป็นประชากรแฝง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจาก ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา มากถึง 1 ล้านคน

ในด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกรุงเทพฯ ติดอันดับท๊อปเทนของโลกในแง่รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) วัดจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยต่อหัวประชากร โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปักกิ่ง อภิมหาเมืองหลวงของจีน และรอยเท้าคาร์บอนของกรุงเทพฯ สูงกว่ามหานครระดับโลกอย่างลอนดอน และนิวยอร์ก ซึ่งประชากรมีรายได้ต่อหัวมากกว่ากันหลายเท่า นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวต่อตารางเมตรต่ำเตี้ยติดอันดับโลกเช่นกัน (ซึ่งจะต่ำกว่านี้อีก ถ้าไม่นับพื้นที่สีเขียวแบบ ‘ปลอมๆ’ อย่างเช่นต้นไม้และพุ่มไม้แคระแกร็นน่าสงสารตามเกาะกลางถนน ซึ่งถูกนับรวมอยู่ในสถิติของทางการไทย), ผลิตขยะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในห้าของขยะทั้งประเทศในแต่ละปี

กรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และใกล้เคียงกับปักกิ่ง ที่มาภาพ: http://www.hopesandfears.com/hopes/city/city_index/216917-city-index-carbon-emissions
กรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และใกล้เคียงกับปักกิ่ง ที่มาภาพ: http://www.hopesandfears.com/hopes/city/city_index/216917-city-index-carbon-emissions

มิพักต้องนับว่า ค่าครองชีพในเมืองถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคนกรุงเทพฯ จำนวนมากวันนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันชื่ออะไร เพราะได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ชาวกรุงเทพฯ ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอะไรด้วย

คำถามต่อไปคือ โครงการ “สมาร์ทซิตี้” ในกรุงเทพฯ ใช้มโนทัศน์แบบไหน น่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ดังสรุปโดยสังเขปข้างต้นของกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ และเมืองอื่นทั้งไทยและเทศเมืองไหนมี “สมาร์ทซิตี้” ที่น่าสนใจบ้าง?

โปรดติดตามตอนต่อไป.