ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ไทยประหารครั้งแรกในรอบ 9 ปี-อียูระบุ ‘ก้าวถอยหลัง’-นายกฯ ย้ำยังต้องมี และ “ประกาศใหม่องค์การอนามัยโลก ข้ามเพศไม่ใช่ป่วยจิต แต่ติดเกมเป็น”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ไทยประหารครั้งแรกในรอบ 9 ปี-อียูระบุ ‘ก้าวถอยหลัง’-นายกฯ ย้ำยังต้องมี และ “ประกาศใหม่องค์การอนามัยโลก ข้ามเพศไม่ใช่ป่วยจิต แต่ติดเกมเป็น”

23 มิถุนายน 2018


ไทยประหารในรอบ 9 ปี-อียูระบุ “ก้าวถอยหลัง”-นายกฯ ย้ำยังต้องมี

ที่มาภาพ : เว็บไซต์เนชั่นทีวี (http://www.nationtv.tv/main/content/378634123/)

วันที่ 18 มิ.ย. 2561 กรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่า ได้มีการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลแก่นักโทษชายรายหนึ่งด้วยการประหารชีวิตโดยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546

ทั้งนี้ คำตัดสินประหารชีวิตมาจากการคดีที่นักโทษคนดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงเหยื่อ 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย โดยในขั้นตอนการพิจารณาคดีนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษายืน

การประหารดังกล่าว ทำให้ผู้แทนสหภาพยุโรป (European Union : EU) หรืออียู เผยแพร่แถลงการณ์ของโฆษกผู้แทนระดับสูงของอียู ระบุว่าในปี 2562 เมื่อครบรอบ 1 ทศวรรษนับจากการประหารครั้งสุดท้าย (พ.ศ. 2552) เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่พักการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการตามที่อียูคาดหวังไว้ การประหารครั้งนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ดังกล่าว อียูได้แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารในฐานะของการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมรวมทั้งไม่สามารถยับยั้งการกระทำผิดได้ และได้แสดงความคาดหวังไทยจะงดเว้นการใช้โทษประหารและยกเลิกไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน ทางด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี บอกว่าการประหารชีวิตไทยยังมีอยู่และเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และเป็นเรื่องที่มีมีอยู่ในกฏหมายและขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ที่บังคับใช้ในคดีร้ายแรง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข และเป็นบทเรียนสอนใจด้วย

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ได้มีผู้ออกมาแสดงตนว่าเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดคดีดังกล่าว และยืนยันว่านักโทษชายที่ถูกประหารไปนั้นไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงแต่อย่างใด

เรียบเรียงจาก

เว็บไซต์เนชั่นทีวี: ราชทัณฑ์ ฉีดยาพิษประหารนักโทษฆ่าชิงมือถือ นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 ตั้งแต่มีการฉีดสารพิษประหารชีวิต
เว็บไซต์เดลินิวส์: ‘อียู’ แขวะ ‘ไทย ‘ก้าวถอยหลัง จี้เลิกซะฉีดยาประหารนักโทษ
เว็บไซต์ช่องวัน: นายกฯ ย้ำ โทษประหาร ต้องมีไว้เตือนใจคนทำผิด
เว็บไซต์ไทยรัฐ: สะพัดสมอ้างเห็นเหตุการณ์ นักโทษประหารไม่ใช่คนร้าย!

ปิดบังทรัพย์สิน คุกชูวิทย์ 1 เดือนไม่รอลงอาญา

ที่มาภาพ : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://www.thebangkokinsight.com/18845)

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2561 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 13.00 น. “องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน” นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การรับหรือปฏิเสธ ในคดีหมายเลขดำ อม.26/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัย “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อายุ 56 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ผู้ถูกกล่าวหา ในความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34, 119 และขอให้สั่งห้ามผู้ถูกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกรณียื่นบัญชีหรือเอกสารประกอบอันเป็นเท็จนั้น สืบเนื่องจาก ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2554 และเมื่อพ้นตำแหน่ง ส.ส.1 ปี วันที่ 8 ธ.ค. 2557

โดยมีมูลอันควรเชื่อได้ว่า นายชูวิทย์มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินร่วมลงทุนภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท โดย ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา โดยวันนี้ ป.ป.ช. ผู้ร้อง เดินทางมาศาลตามกระบวนการ ส่วน “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหา เดินทางมาศาล เพียงคนเดียว ไม่มีทนายความ ทั้งนี้เมื่อถึงเวลานัด องค์คณะฯ ได้อ่าน และอธิบายคำร้องของ ป.ป.ช. ให้ “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหาฟังแล้ว

“นายชูวิทย์” แถลงขอให้การรับสารภาพ พร้อมแถลงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้เจตนาที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินซึ่งร่วมลงทุนกับภัตตาคาร จำนวน 150,000 บาท เนื่องจากมีทรัพย์สินจำนวนมากและได้รายงานอาคาร สถานที่ประกอบกิจการของภัตตาคารให้ ป.ป.ช. ทราบแล้ว ส่วนมูลค่าหุ้นร่วมลงทุนที่ไม่ได้รายงานนั้น คิดว่าผู้ที่ทำบันทึกทรัพย์ให้ตนคงจะตกหล่น ไม่ได้บันทึกรายการดังกล่าวไว้ ประกอบกับในปี 2546 ตนได้โอนหุ้นที่ร่วมทุนกับภัตตาคารดังกล่าวให้กับพนักงานสถานบริการไฮคลาสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 2 รายเป็นผู้ถือหุ้นแทน เนื่องจากการขอใบอนุญาตสถานประกอบการ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ใช้ชื่อตนเป็นผู้ประกอบการ ตนจึงให้บุคคลทั้งสองถือหุ้นแทน อีกทั้งหุ้นของภัตตาคารดังกล่าวไม่มีรายได้ จึงเข้าใจว่าไม่ต้องรายงานทรัพย์สินดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. และที่ผ่านมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองปี 2548 ก็ไม่เคยรายงานทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้นขอให้ศาลนำคำแถลงการรับสารภาพของตนประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษด้วย

ขณะที่ “องค์คณะทั้งเก้า” พิจารณาแล้วเห็นว่า “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ คดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานอีก จึงทำคำพิพากษาในวันนี้ได้ทันที โดย “องค์คณะ” พิเคราะห์คำร้อง , เอกสารประกอบคำร้อง และคำให้การผู้ถูกกล่าวแล้ว เห็นว่า “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินหนี้สิน และเอกสารอื่นของตนเอง กับของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แก่ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันเข้ารับตำแหน่ง , วันที่พ้นตำแหน่ง และวันที่พ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.32, 33 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว ย่อมทราบดีว่า ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินฯ ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด แต่ผู้ถูกกล่าวหายื่นรายการแสดงทรัพย์สิน โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนกับภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท โดยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่า ได้โอนหุ้นให้พนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ไปก่อนกำหนดการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน โดยกรณีดัวกล่าวขัดกับคำให้การของพนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ทั้ง 2 รายว่า พยานเป็นเพียงพนักงานของสถานประกอบการไฮคลาสฯ และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อยื่นเรื่องขอใบอนุญาตสถานประกอบการเท่านั้น

แต่ “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ดังนั้นพฤติการณ์จึงเชื่อว่า “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ถือหุ้นของภัตตาคารที่ร่วมลงทุน แต่มีเจตนาไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินหนี้สิน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อใช้ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่า “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ครั้งที่ 2 “องค์คณะ” จึงมติพิพากษาว่า “นายชูวิทย์” จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการ ป.ป.ช. ม.32, 33 ให้จำคุก 2 เดือน ตาม ม.119 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน แต่ผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 3220/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งรับโทษจำคุกเกิน 6 เดือน โดยไม่ใช่คดีประมาทหรือลหุโทษ และเพิ่งพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้

นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่ง ห้าม “นายชูวิทย์” ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 ด้วย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.34 วรรคสอง ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ญาติ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราว “นายชูวิทย์” ระหว่างอุทธรณ์ กระทั่งเวลา 15.00 น. เศษ “องค์คณะ” พิจารณาแล้ว คดีนี้”นายชูวิทย์” ผู้กล่าวหาให้การรับสารภาพ ขณะที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน คดีจึงไม่อาจรอการลงโทษได้ ดังนั้นองค์คณะฯ มีมติไม่ให้ปล่อยชั่วคราวเพราะจำเลยอาจหลบหนี ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงควบคุมตัว “นายชูวิทย์” ขึ้นรถเรือนจำ ไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “องค์คณะทั้ง 9 คน” ที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ประกอบด้วย 1. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา 2. นายประมวญ รักศีลธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3. นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 4. นายบุญไทย อิศราประทีปรัตน์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 5. นายชลิต กฐินนะสมิต ผู้พิพากษาศาลฎีกา 6. นายเสมอดาว เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้พิพากษาศาลฎีกา 7. นายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา 8. นางคำนวน เทียมสอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 9.น ายกีรติ กาญจนรินทร์ พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ศาลฎีกาไม่รับฟ้อง “กบฏ คสช.” – ป.ป.ช. ยกคำร้อง สลายชุมนุม 53

วันที่ 22 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า จากกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นโจทย์ฟ้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ล่าสุด ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฟ้องหลังพิเคราะห์ว่าการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นการกระทำความผิด แต่จำเลยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 คุ้มครอง

นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 21 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณากรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหลักฐานใหม่ต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ที่ ป.ป.ช. เคยยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดในการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยที่ประชุมมีมติยืนยันไม่รื้อฟื้นคดีสลายกลุ่ม นปช. ขึ้นมาพิจารณาใหม่

โดยเห็นว่า มติเดิมที่ ป.ป.ช. วินิจฉัยไปมีความถูกต้องแล้ว ส่วนหลักฐานใหม่ที่นายณัฐวุฒิยื่นเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. นั้น ป.ป.ช. จะส่งไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณารวมกับคดีในส่วนของนายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. เคยส่งกลับไปให้ดีเอสไอดำเนินการในส่วนเจ้าหน้าที่

จำคุก 2 เดือน “หมอเปรม” จับผู้สื่อข่าวแก้ผ้า

ที่มาภาพ : เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://dailynews.co.th/crime/650495)

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ที่ศาลจังหวัดพล อ.พล จ.ขอนแก่น ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่สื่อมวลชน จ.ขอนแก่น 5 คน เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จำเลยที่ 1 และ ร.ต. บัวทอง โลขันธ์ อดีตเลขานุการนายกรัศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จำเลยที่ 2 ในข้อกล่าวหากระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัน จากกรณีการจับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ประจำศูนย์จังหวัดขอนแก่นแก้ผ้า ภายในห้องปฎิบัติราชการนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขณะเข้าไปสอบถามข่าวที่ปรากฏในสื่อโซเชียล กรณีที่ นพ.เปรมศักดิ์ นั่งคู่กับหญิงสาววัยรุ่นคล้ายกำลังเข้าพิธีแต่งงาน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ นพ.เปรมศักดิ์ เดินทางมาพร้อมกับ ร.ต. บัวทอง และทนายความ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าศาลก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อแต่อย่างใด ขณะเดียวกันในห้องพิจารณาคดีจำเลยทั้งสอง มีสีหน้าเคร่งเครียด เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้นำสืบด้วยความมั่นใจ ว่าจะชนะคดีนี้ได้ จนกระทั่งศาลออกนั่นบังลังก์อ่านคำพิพากษา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และโจทก์ร่วมมีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เชื่อว่าให้การไปตามความจริง ส่วนพยานของจำเลยล้วนแล้วแต่เป็นลูกน้องของจำเลย ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง มีน้ำหนักน้อย เชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดจริง พิพากษาจำคุก 2 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยเคยเป็น ส.ส. มาก่อน เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงไม่ให้รอการลงโทษ

ต่อมาฝ่ายทนายจำเลย ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินของ นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อขอประกันตัวต่อศาล โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีได้โดยตีราคาประกันคนละ 120,000 บาท ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์กับพวกได้เดินหลบสื่อมวลชนออกไปทางด้านหลังของอาคารศาล 

ด้านนายก่อสิทธิ์ กองโฉม ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจากคดีนี้ กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาล ในฐานะที่ตนเป็นสื่อคนหนึ่ง ไม่อยากให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับสื่อหรือใครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวรู้จักกับหมอเปรมมานานแล้ว ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองหมอเปรมอีกและได้ให้อภัยในสิ่งที่เขากระทำลงไป แต่ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ประกาศใหม่องค์การอนามัยโลก ข้ามเพศไม่ใช่ป่วยจิต แต่ติดเกมเป็น

วันที่ 19 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพิ่งประกาศแก้ไขคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุดที่เรียกว่า ICD-11 ว่า การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต โดยการที่เพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ได้ถูกลบออกหมวด “ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม” และย้ายไปอยู่ในหมวด ‘กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ’ แทน

WHO อธิบายว่า “การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด” ถูกย้ายออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม เพราะมีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่าไม่ใช่อาการทางจิตเวช ซึ่งการระบุว่าคนข้ามเพศเป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพจะเป็นการตีตราคนข้ามเพศอย่างร้ายแรง

ทว่า ในคู่มือฉบับเดียวกันนี้ เว็บไซต์บล็อกนันรายงานว่า มีการระบุถึงอาการติดเกมว่าเป็นความผิดปกติทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่งด้วย

อนึ่ง WHO ได้ให้คำจำกัดความของอาการติดเกมไว้ดังนี้

รูปแบบพฤติกรรมการเล่น “เกมดิจิทัล” หรือ “วิดีโอเกม” ที่เกิดการด้อยความสามารถในการควบคุมการเล่น, โดยค่อยๆ ให้ความสำคัญต่อการเล่นเกมเหนือกว่าการทำกิจกรรมอย่างอื่น จนถึงระดับที่ว่าการเล่นเกมกลายเป็นเรื่องที่มีลำดับชั้นสำคัญกว่าเรื่องราวอื่นใดและกิจวัตรทั้งหมด, และมีรูปแบบพฤติกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่องทั้งยังยกระดับความรุนแรงของรูปแบบเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเกิดผลกระทบในทางลบตามมาจากรูปแบบพฤติกรรมดังกล่าว โดยรูปแบบพฤติกรรมที่ว่านี้ส่งผลเสียอย่างมีนัยสำคัญต่อบุคลิกลักษณะเฉพาะบุคคล, ครอบครัว, สังคม, การศึกษา, การประกอบอาชีพ หรือการทำกิจกรรมและความสามารถด้านอื่น รูปแบบพฤติกรรมการเล่นเกมนี้อาจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยเกิดซ้ำ พฤติกรรมการเล่นเกมและอาการบ่งชี้อื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องปรากฏให้เห็นนานไม่น้อยกว่า 12 เดือน จึงจะถือว่าเป็นอาการติดเกม อย่างไรก็ตามระยะเวลาดังกล่าวอาจน้อยกว่านั้นได้หากอาการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดปรากฏให้เห็นและมีอาการที่แสดงออกมาอย่างรุนแรง