ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ยกระดับ “บริหารความเสี่ยง” สถาบันการเงิน คุมกรรมการอิสระ ทบทวนคุณสมบัติ พร้อมทำ Action Plan รับมือ

ธปท.ยกระดับ “บริหารความเสี่ยง” สถาบันการเงิน คุมกรรมการอิสระ ทบทวนคุณสมบัติ พร้อมทำ Action Plan รับมือ

22 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าธปท.กำลังจะออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินให้มีความรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีการเงินในปัจจุบัน จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยฉบับแรกเป็นหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน มีรายละเอียดใน 3 ประเด็น

    1) การยกระดับคุณสมบัติและความเหมาะสมของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เช่น กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของกรรมการอิสระจากเดิมที่ไม่ได้กำหนด เป็นดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 9 ปี โดยหากครบกำหนดทุก 9 ปีจะต้องเว้นวรรคจากตำแหน่ง 2 ปีก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้, เพิ่มกระบวนการทบทวนคุณสมบัติของกรรมการสถาบันการเงินให้มีการประกาศให้ชัดเจน รวมทั้งต้องนำประวัติการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงินมาพิจารณาด้วย, กำหนดให้ต้องทบทวนคุณสมบัติของผู้จัดการสถาบันการเงินทุก 4 ปี คือทุกครั้งที่ครบวาระ แต่สามารถพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งต่อได้หากมีความเหมาะสม

    2) ปรับโครงสร้างคณะกรรมการด้านความเสี่ยงให้มีความอิสระมากขึ้น กำหนดให้ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร, ต้องสนับสนุนการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง รวมทั้งให้ช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสในด้านต่างๆ

    3) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถูกเปรียบเทียบปรับจากการทำผิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

“ภายหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กรรมการด้านเทคโนโลยีก็จะเริ่มใช้ในปี 2562 ส่วนเรื่องกรรมการอิสระจะเริ่มใช้ในปี 2565 เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลาในการหาตัวกรรมการที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้บริหารอยู่ รวมไปถึงกรรมการท่านเก่าๆก็ยังมีวาระอยู่ แต่ยังยืนยันว่าระบบสถาบันการเงินไทยยังคงเข้มแข็ง แต่มาตรการเหล่านี้เป็นการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นในช่วงที่ธนาคารยังมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” นางฤชุกร กล่าว

ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าสำหรับฉบับที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการยกระดับการจัดการและบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ปัญหา (Recovery Plan) ซึ่งเป็นเหมือนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ธนาคารพาณิชย์เตรียมเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงิน โดยจะต้องกำหนดให้ครอบคลุมความเสี่ยงในมิติต่างๆตามมาตรฐานสากล เช่นเงินกองทุน สภาพคล่อง คุณภาพสินทรัพย์ ภัยไซเบอร์ เป็นต้น โดยแต่ละธนาคารจะมีแผนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะและความเสี่ยงของธุรกิจ โดยภายหลังจากที่มีแผนแล้วจะต้องมีการสื่อสารและซักซ้อมการปฏิบัติการกันภายใน

“ถามว่าซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์กำกับดูแลขอ.ธปท.หรือไม่ แผนนี้เป็นมุมมองของการบริหารความเสี่ยงที่ธปท.อยากส่งเสริมให้ธนาคารมีวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน ผู้บริหารต้องร่วมกันคิด อย่างเช่นเงินกองทุนธปท.ก็มีเกณฑ์อยู่ แต่แผนของธนาคารก็จะเหมือนเป็นการดูแลว่าพอระดับเงินกองทุนหากลดลงไปถึงจุดหนึ่ง แต่ยังไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะต้องทำอะไรบ้าง ให้ธนาคารกลับมามีความเข้มแข็งเหมือนเดิม ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีจุดนั้นไม่เหมือนกัน แต่ในกรณีที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของธปท.เมื่อไรจะผิดกฎแล้วต้องไปสู่ช่วงแก้ไข นอกจากนี้ แผนนี้ที่ส่งมาที่ธปท.ก็จะช่วยให้มีการสื่อสารกันได้ระหว่างผู้กำกับและธนาคารว่ามีส่วนไหนที่มองว่ามากน้อยเกินไปอย่างไร” นายสมบูรณ์ กล่าว

นางฤชุกร กล่าวต่อไปว่าแผนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้องค์กรเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและมีความพร้อมที่จะดำเนินการทั้งองค์กร ต่างจากเดิมที่อาจจะมีเพียงผู้บริหารที่สนใจมิติการบริหารความเสี่ยง ส่วนการกำกับดูแลของธปท. เช่นการทำ Stress Test ก็ยังทำเป็นปกติต่อเนื่องเหมือนเดิม ขณะที่เรื่องการสร้างต้นทุนแก่สถาบันการเงินหรือไม่ ต้องดูในหลายมิติและหาความสมดุลของทั้งด้านระบบสถาบันการเงิน ประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค และความยั่งยืนของธุรกิจสถาบันกาเงิน ซึ่งหลายครั้งมาตรการก็เป็นการช่วงลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินด้วย