ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำลดตอผุดในมาเลเซีย

น้ำลดตอผุดในมาเลเซีย

23 พฤษภาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

นาย Najib Razak อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่มาภาพ :http://2.bp.blogspot.com/-Tb6WUfa07oY/VZ0-vJcV7hI/AAAAAAABozI/DHdtgNl7XrE/s1600/najib-WSJ.jpg

การเมืองมาเลเซียพลิกล็อก ล้มคว่ำนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก เพราะสหพรรคตรงข้ามรัฐบาลรวมกันได้ ส.ส. จากการเลือกตั้งจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งคือ 111 ในจำนวน 222 คนแล้วอย่างแน่นอน ถ้าใครคิดว่าการเมืองไทยก็อาจมีโอกาสอย่างเดียวกันได้ กรุณาอ่านข้อมูลอันเลวร้ายสุดประกอบตัวนายนาจิบเพื่อการพิจารณา

ขอนำเนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้เมื่อ 2 ปี กว่ามาแล้วมาปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจว่าเหตุใดคนมาเลเซียจึงรับนายนาจิบไม่ได้เลยเพราะการคอร์รัปชัน เรื่องชู้สาว ฆาตกรรม และการลุแก่อำนาจ

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ลงข่าวเมื่อกลางปี 2558 ว่ามีเงินไหลจากกองทุนที่มีชื่อว่า 1MDB (1Malaysia Development Berhad) จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี

กองทุน 1MDB ตั้งโดยนายนาจิบในปี 2008 โดยใช้เงินรัฐบาลเมื่อตอนเขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการลงทุนในตะวันออกกลาง หลังจากตั้งไม่นานก็ก่อหนี้มูลค่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อผิดพลาดในการซื้อทรัพย์สินในด้านพลังงานและอสังหาริมทรัพย์

กองทุน 1MDB อื้อฉาวในหลายเรื่องเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนในลักษณะซื้อทรัพย์สินจากเพื่อนเศรษฐีที่คุ้นเคยผู้บริหารกองทุนในราคาแพงแต่เวลาขายกลับขายราคาถูกจนหนี้ท่วมกองทุน นอกจากนี้ยังยักย้ายถ่ายเทเงินแบบซ่อนเงื่อนเข้าบัญชีนายนาจิบ

อื้อฉาวเรื่องเงินทองไม่พอ คดีเก่าที่ค้างคาใจคนมานานก็เริ่มมีการขุดขึ้นมาเพื่อเล่นงานนายนาจิบ เรื่องก็มีอยู่ว่า ในปลายปี ค.ศ. 2006 มีล่ามแสนสวยชาวมองโกเลียถูกฆ่าอย่างทารุณ และเมื่อพิสูจน์ศพก็พบว่าเธอกำลังท้องอยู่ ตำรวจถูกแรงกดดันให้เหยียบเบรกในคดีฆาตกรรมนี้ถึงแม้จะรู้ตัวฆาตกรแล้วก็ตามที

ในกลางปี 2007 เมื่อคดีถึงศาลมีคำให้การพาดพิงว่ารองนายกรัฐมนตรีนาจิบเกี่ยวพันกับคดีฆาตกรรมนี้ และมีรูปถ่ายกับเธอที่มีชื่อว่า Altantuya Shaariibuu อย่างไรก็ดี มีความพยายามของฝ่ายรัฐที่จะลากคดีให้ยาวขึ้น ยิ่งสาวก็ยิ่งนำไปสู่หลายคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ ประชาชนข้องใจว่าเมื่อรองนายกนาจิบปฏิเสธการเกี่ยวพันแต่เหตุใดจึงไม่ยอมให้การในศาล ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการกล่าวหาอีกว่าภรรยาของเขาอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เธอถูกฆ่าอีกด้วย

มีข่าวลือหลายกระแสตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่หนักสุดคือการเขียน Blog ของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ว่าสมควรรื้อฟื้นคดีฆาตกรรมนี้ขึ้นมาว่าจริงๆ แล้วใครเป็นคนสั่งฆ่า ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเผยของอดีตนายตำรวจที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกที่ซิดนีย์หลังจากศาลมาเลเซียสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอร่วมกับเพื่อนตำรวจอีกคนในคดีนี้ ซึ่งทั้งสองเป็นอดีตบอร์ดี้การ์ดของนายนาจิบ เขาบอกว่ามีนายใหญ่สั่งให้เขาฆ่าโดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เขาสารภาพว่าร่วมกับเพื่อนใช้ปืนยิงศีรษะ 2 นัด และระเบิดร่างซ้ำอีกครั้ง มิไยที่เธอจะคุกเข่าขอชีวิตว่ากำลังท้องอยู่ก็ตาม

คำกล่าวหาก็คือเธอถูกฆ่าปิดปากเพราะกลัวว่าจะไปเปิดเผยเรื่องการรับ “เงินทอน” ของผู้ใหญ่และขอส่วนแบ่งจากการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จากฝรั่งเศสและสเปนมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงที่นายนาจิบเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แค่นั้นยังไม่พอ อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ยังวิจารณ์การซื้อเครื่องบินเจ็ทเพิ่มเติมอีกว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเพราะมีเพียงพอแล้ว

ถึงแม้หลักฐานคอร์รัปชันของนายนาจิบมาจากสื่อตะวันตกที่มีชื่อเสียงอย่าง The Wall Street Journal อย่างน่าเชื่อถือ แต่นายนาจิบและพวกก็ไม่สะทกสะท้าน พร้อมกับใช้อำนาจขู่เข็ญสื่อต่างประเทศและในประเทศ และตั้งเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการซึ่งเป็นพรรคพวกของตนขึ้นมา “ฟอกตัว” นอกจากนี้ยังออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อปิดปากผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับคอร์รัปชันและฆาตกรรม การลุแก่อำนาจขนานใหญ่ พร้อมทั้งการแชเชือนในการอธิบายว่าเงินในบัญชีของเขาจำนวนมากมายมาจากไหน (การอ้างว่าเจ้าชายซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ให้นั้นไม่มีใครเชื่อ) จนสร้างความเอือมระอาให้แก่ประชาชนมาเลเซียผู้รู้ทันเป็นอย่างมาก

ลูกพี่เก่าคือ ดร.มหาเธร์ ผู้ได้เลือกเขาเป็นทายาทรับไม่ได้ จึงกัดฟันออกมาต่อสู้ในวัยเกือบ 93 ปี โดยจับมือกับฝ่ายค้านซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนมายาวนานเพื่อโค่นล้มนายนาจิบและก็ประสบผลสำเร็จ

เมื่อน้ำลดตอก็ต้องผุดเป็นธรรมดา จากคำแถลงของ ดร.มหาเธร์ นายนาจิบจะโดนดำเนินคดีต่างๆ อย่างแน่นอน ขณะนี้ก็โดนห้ามเดินทางออกนอกประเทศเพราะกลัวหนีแล้ว จากนี้ไปเรื่องราวคงเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

ความเลวร้ายที่นายนาจิบได้กระทำไว้เป็นสาเหตุสำคัญของความพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน ผู้นำประเทศจะเป็นไปถึงเพียงนี้ได้ต้อง “ใจกล้า-หน้าทน-กล้าผจญความเครียด”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง”กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 22 พ.ค. 2561