ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2018 #1: 3 ยักษ์ กับการปรับตัวในบริบทแบบ “ไทยๆ”

Thailand SDGs Forum 2018 #1: 3 ยักษ์ กับการปรับตัวในบริบทแบบ “ไทยๆ”

27 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาย่อย เทรนด์แนวโน้มด้านความยั่งยืนปี 2561 และกรณีศึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกกับ “วิธีการ” ของธุรกิจ โดยนำกรอบแนวคิดตามกรอบการพัฒนาที่ยังยืนแห่งสหประชาชาติมาปรับใช้ในบริบทสังคมไทย โดยนางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ รองประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และนายสงบ อูลุง รองประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ต่อจากตอนที่แล้ว

จากตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการปรับตัว รับเทรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารสุขภาพ พลังงานสะอาด หรือการพยายามลดมลภาวะ ภายใต้บริบทไทย มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบไทย ความท้าทายแบบไทย เทสโก้ เชลล์ และอินเตอร์เฟซ ร่วมไขคำตอบถึงความท้าทายในการบรรลุ SDGs และโอกาสทางธุรกิจ

การปรับตัวภายใต้ความท้าทายแบบ “ไทยๆ”

สลิลลา: แน่นอนว่า มีความท้าทายในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ในเมืองไทยและในเมืองนอกตอนนี้ หลายๆ ครั้งที่เราพยายามจะปรับก็พบว่าวัสดุที่จะทำไม่มีในเมืองไทย และเรื่องที่สอง เวลาเราทำงานเราจะมองว่าเราช่วยเรื่องต้นทางแล้วปลายทางไปไหน ยกตัวอย่างเรื่องขยะอาหารของเราที่เราพูดเป็นประจำสม่ำเสมอ เราช่วยลดการทิ้ง ซึ่งก็ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการทิ้งขยะจากคนที่จำเป็นต้องทิ้ง

“เข้าใจว่าปัจจุบันยังไม่มีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพในเมืองไทย เพราะฉะนั้น เราอยากจะทำงานกับภาครัฐต่อไปอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ครบทุกด้านจริงๆ ในการบริหารเรื่องการดูแลด้านความยั่งยืน คือ เอกชนดำเนินการในส่วนของเราได้ ภาครัฐก็จะต้องช่วยผลักดันด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อให้สำฤทธิ์ผลได้เร็วขึ้นและครบวงจร”

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

อรรถ: สำหรับความท้าทายด้านพลังงานนั้นมีมาก วันนี้ความสับสนของประชาชนด้านพลังงานนั้นมีความไม่ถูกต้องเยอะ จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า พลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรม (energy intensity) ที่ถูกต้องคืออะไรสำหรับบ้านเรา

ความท้าทายที่เราเห็นได้ชัดคือความคุ้นเคยกับสิ่งเก่าๆ เราวันนี้มันถึงเวลาที่เราจะต้องวางฟุตพรินต์ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก การที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะต้องมีจิ๊กซอว์ จะต้องมีให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม ทางภาครัฐเองก็จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ซึ่งวันนี้ถ้าเกิดเราได้ยินจากท่านรัฐมนตรีกอบศักดิ์ว่า สำหรับข้าราชการและตัวท่านไม่เคยเป็นคนรวยแล้วจะไปสอนให้คนรวยได้อย่างไร

บทบาทภาครัฐที่เรามองอยู่ก็เริ่มเปลี่ยนว่าคงจะต้องมาทำความเข้าใจว่าการที่จะทำให้เกิดความสมดุลความถูกต้อง เกิดสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศนั้นจะต้องมีอะไรบ้าง และทางภาครัฐจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitate) ผู้ประกอบการเองก็ต้องเปลี่ยนว่าเรานั้นจะทำธุรกิจโดยที่แสวงหาผลกำไรอย่างเดียวนั้นไม่ได้ อย่างที่ผมเรียนเราว่าผมกับเชลล์นั้นมีความเชื่อที่ว่าทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกันหมด สังคมอยู่ไม่ได้เราอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น เรื่องของการที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักต่างๆ (key stakeholder) นั้นเป็นปัจจัยสำคัญ

แต่สุดท้ายเราคงต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลที่แท้จริงว่า ที่จริงแล้วถ่านหินที่ว่าไม่ดีนั้นจริงหรือ เรามีความจำเป็นหรือไม่ถ้าพลังงานบ้านเราต้องการที่จะมีความมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืน เราคงจะอยู่อะไรอย่างเดียวไม่ได้เพราะพลังงานจะต้องเป็นส่วนผสมที่เหมาะสม ที่ดี และจะต้องตอบโจทย์ประเทศชาติว่าเราทำแล้วประเทศชาติสามารถที่จะมีพลังงานที่สะอาด มีพลังงานที่แข่งขันได้ และมีพลังงานอย่างพอเพียงที่จะตอบความต้องการของเราในอนาคตที่เกิดขึ้น นั่นก็คือความท้าทายที่เรามองเห็นอยู่

สงบ: สำหรับอินเตอร์เฟซ เรามองว่าความท้าทายในการที่จะนำคอนเซปต์ SDGs จากระดับโลกลงมาสู่ท้องที่ ท้องถิ่น ในมุมมองของตน ในระดับปฏิบัติงานหรือระดับรากนั้นไม่ยากที่จะให้เขาทำ เพราะคนไทยนั้นเป็นคนที่ยอมรับในสิ่งใหม่ๆ และเข้าใจอะไรได้ง่าย เพียงแต่ขาดผู้นำที่จะนำพาเขาไป

“เพราะฉะนั้น ถ้าอินเตอร์เฟซเองไม่ได้มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มีใจรัก และมีคอมมิตเมนต์จริงๆ ที่จะขับเคลื่อนการที่จัดทำจริงๆ ไม่ว่าในประเทศไทยหรืออเมริกาก็ยากที่จะเกิดขึ้น ผมกลับมองว่าอุปสรรคกลับอยู่ที่ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน ไปจนถึงรัฐบาล ผมคิดว่าผู้นำนั้นถ้าเราสามารถที่จะเปลี่ยนความคิดของเขาบอกว่าอย่ามองว่าอันนี้ยากเกินไป อันนี้ทำไม่ได้ อันนี้ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ อันนี้แหละคืออุปสรรคที่ผมมองว่าเป็นอะไรที่ใหญ่ที่สุด”

 3 ยักษ์ แนะ เริ่มจุดเล็ก-ปรับความคิด-เรียนรู้จากผู้สำเร็จ

สลิลลา: ในเรื่องของความยั่งยืน หากเรามองทั้งในมุมของบริษัทที่ต้องยั่งยืน และโลกก็ยั่งยืนด้วยก็คือว่าอยากจะให้บริษัททุกแห่งมองว่าตัวเองมีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มที่จากตัวเองก่อน เรากำลังพูดเรื่องความยั่งยืนไม่ได้พูดเรื่องการสร้างภาพ CSR เรากำลังพูดเรื่องว่าเรามานั่งวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเราในวันนี้ดีหรือไม่ดีต่อโลกอย่างไรบ้าง เราก็เริ่มจากจุดเล็กๆ เลย ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องไปทำข้อมูลหรือเปล่า 12 ข้อช่างมันไปก่อน เอาเป็นว่าอะไรที่มันไม่ดีต่อโลกต่อสังคมและชุมชนก็ลดตรงนั้นแล้วทำให้มันดีขึ้น เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วมันก็จะใหญ่ อยากจะฝากตรงนี้ไว้ว่าอย่าไปทำอะไรที่มันยากเกินไป

นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ รองประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

อรรถ: วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปรับตัว ความคิดของเราต้องเปลี่ยน จะต้องทำองค์กรให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ผมพยายามเตือนที่ทำงานตลอดเวลาว่าความสำเร็จของเราในอดีตไม่ได้บอกหรือยืนยันว่าเราจะมีความสำเร็จในอนาคตของเราจากนี้และต่อไป เพราะว่าการทำธุรกิจวันนี้มันมีความกดดันและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

“ใครจะไปเชื่อว่าวันหนึ่งที่เชลล์ขายน้ำมันแล้วก็ต้องบอกว่าไม่มีน้ำมันแล้วต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า ใครจะไปเชื่อว่าวันหนึ่งธนาคารที่ยิ่งใหญ่วันนี้เกิดการสั่นคลอน เราทำธุรกิจวันนี้ในสังคมอย่าว่าแต่ธุรกิจเลยตัวเราเองก็เหมือนกัน AI จะมา อะไรก็จะเข้ามากระทบเราหมด เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจะต้องทำอย่างไรที่จะต้องดูว่าการเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้น ตัวเราเองก็ต้องรีบไปพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”

โดยส่วนตัวมีความเชื่อเรื่องการเศรษฐกิจพอเพียง เราทำอะไรวันนี้ต้องรู้จริง ไม่ใช่ทำไปตามแต่ที่ว่าอยากจะทำโดยที่เราไม่รู้จริง รู้จริงทำอะไรพอประมาณไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำสเกลเล็ก สเกลใหญ่ก็สามารถทำได้ แต่ว่าพอประมาณด้วย และสุดท้ายต้องมีแผนสำรอง หากไม่เป็นไปตามแพลนเอ ก็มีแพลนบีออกมา เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะสำเร็จได้

“แต่สิ่งที่สำคัญที่ผมคิดว่าสำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจก็คือเรื่องความมีจริยธรรมของธุรกิจ วันนี้มีความสำเร็จจากความมีจริยธรรมของธุรกิจของเราที่เราจะทำจริงๆ อะไรที่ไม่ดีอะไรที่อันตราย ผิดกฎหมาย ผิดต่อจรรยาบรรณ ผิดต่อผู้บริโภค ก็จะไม่ทำ และข้อสุดท้ายคือเราจะต้องทำตัวเองให้เป็น life long self learning คือพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่จะเข้ามาประกอบกับ SDGs ต่างๆ ที่จะทำให้เราอยู่ได้ในสังคมในโลกปัจจุบันที่เป็นธุรกิจอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป”

สงบ: อยากจะแนะนำว่าในอเมริกาเวลาเขาจะทำอะไรเขาใช้การวิจัยและพัฒนา หรือ R&D  ส่วนเมืองจีนถ้าเขาอยากโตเขาทำอย่างไรคือใช้การทำซ้ำและพัฒนา หรือ C&D (copy and development) ฉะนั้น ทางที่เร็วที่สุดคือเรียนรู้จากองค์กรที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งอินเตอร์เฟซก็ยินดีหากองค์กรไหนเข้ามาเยี่ยมชมบริษัท เพราะว่านั่นเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ของเรา lead industry to  the world คือให้เป็นผู้นำและพาพวกเราไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น วิถีทางที่ง่ายที่สุดสำหรับผมในตอนนี้ก็คือเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ

จากความเห็นทั้งหมด โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ต้องเริ่มก่อนคือ การกลับมาดูกันภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป้าประสงค์ ความโปร่งใส การสร้างคุณค่า หรือการปลูกจิตสำนึก (DNA) ดั้งเดิมที่ตั้งธุรกิจของขึ้นมาว่า ผู้นำในองค์กรแต่ละองค์กรมีทิศทางเกี่ยวกับเรื่องของความยั่งยืนคืออะไร เป็นส่วนที่ต้องทำชัดก่อนที่จะเริ่มออกตัว

ต่อมาคือ การพิจารณาผลกระทบก่อนว่าในแต่ละวันธุรกิจที่ดำเนินการอยู่นั้นมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรบ้าง ฝ่ายไหนบ้าง และมีประเด็นต่างๆ ที่องค์กรจะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อย่างไรบ้าง และที่ขาดไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นองค์กรในระดับโลก หรือระดับประเทศ ซึ่งในระดับประเทศพนักงานนั้นเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาใช้ หากมีความเข้าใจตรงกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ดังที่มีการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ KPI นี่คือการให้รางวัลของ และเป็นการพัฒนาร่วมกันด้วย โดยไม่ได้เป็นแค่เป้าหมายลอยๆ

นายสงบ อูลุง รองประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย)

และสิ่งสำคัญคือ ธุรกิจไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือในระดับโลกก็ตาม จะต้องหาพันธมิตรหรือว่าคนที่มีหลักการคล้ายกันในการที่จะร่วมเดินทางไปหาเป้าหมายเดียวกันแล้วร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันหรือความท้าทายจากภายนอกเราต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางเรื่องฟังแล้วอาจดูไม่เกี่ยวกับธุรกิจของเรา แต่ในปัจจุบันทุกๆ เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ จึงต้องคอยจับตาดูทิศทางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเดินเข้ามากระทบกับธุรกิจของเรา ทั้งการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานที่ยกสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความยั่งยืน

ดังนั้นแล้ว ถ้าทำได้อย่างที่เข้าใจ ใช้เวลากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทย ก็จะพบประเด็นใหม่ๆ เมื่อจับประเด็นแล้วลองลงมือทำ ลองเรียนรู้ ที่สำคัญอย่าลืมสื่อสารไม่ว่าจะสื่อสารภายในกลับไปที่บริษัทแม่ ว่าประเทศไทยของเรามีลักษณะเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงมุ่งไปในการแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนเรื่องนี้ และสื่อสารไปถึงบุคคลภายนอกหรือสาธารณะด้วย เขาจะได้ทราบว่าธุรกิจของเราทำอะไร เดินทางต่อไปอย่างไร เพื่อที่จะมาเป็นส่วนร่วมในการที่จะทำงานร่วมกัน