ThaiPublica > คอลัมน์ > แก้คันใจ “ประชาธิปไตย”

แก้คันใจ “ประชาธิปไตย”

23 มีนาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

นายอานันท์ ปันยารชุน ที่มาภาพ: http://optimise.kiatnakinphatra.com/cover_story_11.php

ไม่มีการบรรยาย ข้อเขียน หรือบทสัมภาษณ์ครั้งใดเลยของคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่ผู้รับสารไม่ได้ข้อคิด คำตอบ และแรงกระตุ้นปลุกเร้าที่เป็นประโยชน์ บทสัมภาษณ์หนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เช่นกัน มีอะไรให้คิดอย่างน่าสนใจจนผู้เขียนต้องขอนำบางตอนมาสื่อสารต่อ

นิตยสาร Optimise ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ฉบับที่ 11 ประจำเดือนมกราคม 2018 ได้เกริ่นหัวข้อการสัมภาษณ์คุณอานันท์ ปันยารชุน ไว้ว่า “Opening a Dialogue อานันท์ ปันยารชุน กับการสร้างสะพานแห่งความเข้าใจเพื่อก้าวพ้นการแบ่งแยก”

เนื้อหาสำคัญที่สุดของบทสัมภาษณ์คือเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ตอบคำถามส่วนหนึ่งของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่งุนงงว่าเหตุใดตนเองจึงไม่ “บ้าคลั่ง” ประชาธิปไตยกันดังที่เคยเป็น

“…ที่ผมมองเห็นแน่ชัดคือความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตยแบบ Liberal Democracy เพราะมาตรฐานของข่าว มาตรฐานของการให้ข้อมูลตกต่ำไปเยอะ อย่างที่นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้ว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด’ เรารู้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อย่างที่ผมเคยพูดที่กรุงบรัสเซลส์ ประชาธิปไตยมี 7 เสา ซึ่งใน 7 เสา การเลือกตั้งเป็นเพียงเสาเดียว แต่อีก 6 เสาเป็นเรื่องของขันติธรรมทางการเมือง การปกครองโดยหลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอำนาจ และภาคประชาสังคม ซึ่งแต่ละสังคมก็ย่อมมีเส้นทางวิวัฒนาการในเรื่องเหล่านี้เป็นของตัวเอง…..

…อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่สำคัญของประชาธิปไตยคือต้องมี ‘well-informed public’ ตอนหลังไปแปลกันว่าต้องมีการศึกษา แต่จริงๆ คือ หนึ่ง คนต้องมีความสนใจในเรื่องกระบวนการ ในเรื่องการเมือง สอง คือ คนต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ถูกต้อง และทันการ แต่ปัจจุบันสิ่งนี้ไม่มี ในอเมริกาไม่มีแล้ว ในอังกฤษก็ไม่มีแล้ว เช่น เรื่อง Brexit ก็เป็นการพิสูจน์ว่าทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ให้อยู่ในอียู กับฝ่ายให้ออกพูดปดทั้งสองฝ่าย เชื่อใน fake news พอเป็นอย่างนี้ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ได้สร้างศรัทธาให้คนทั่วไป มีแต่ทำให้เห็นความเหลวแหลกและจุดบกพร่องของระบบ นับวันคนก็เลยยิ่งมองเห็นความดีงามในระบอบ Authoritarian (อำนาจนิยม) อย่างของนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ในสิงคโปร์

…แน่นอน ในหลักการประชาธิปไตยก็ยังคงเป็นระบอบการปกครองที่ ‘the least bad’ แต่เนื่องจากประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง พอสิ่งเหล่านี้หลุดไปประชาธิปไตยก็เสื่อม ตรงกันข้ามการปกครองแบบใช้อำนาจ ถึงไม่ฟังเสียงประชาชนเท่าไหร่ ถ้าสามารถทำให้คนพอใจได้ ก็กลายเป็นของดีแล้ว อย่างคนสิงคโปร์เขาก็พอใจในสิ่งที่ ลี กวนยู และคนที่ตามมาทำ ดังนั้นเขาไม่ต้องตัดสินใจว่าเขาจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือเปล่า มันจึงเกิด ‘ประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์’ ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเกิด ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ขึ้นมา แต่ความต่างคือพอบอกว่าประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์นี่เรารู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะเขามีพิมพ์เขียว เขาปกครองมา 40-50 ปีแล้ว แต่พอบอกประชาธิปไตยแบบไทยๆ เราก็ เออ—แบบไหนล่ะ…

…สิ่งที่ควรมองคือ หนึ่ง รัฐบาลสามารถให้บริการขั้นพื้นฐานได้หรือเปล่า เราชอบพูดกันว่าคนไทยแตกกันเป็นความคิดแบบเหลือง-แดง ไม่เลย ความแตกต่างของเราไม่ได้เป็นความแตกต่างด้าน ideology หรืออุดมการณ์ทางการเมือง คนไทยโชคดีคือไม่เป็น fanatic ไม่คลั่งศาสนา ไม่คลั่งอุดมการณ์ เชื้อชาติ การเมือง ปัญหามีอยู่แค่ว่าคุณตกลงกันได้ไหมว่าความยุติธรรมทางสังคมอยู่ที่ไหน คุณมีมาตรการอย่างไรที่จะให้เกิดความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา คุณจะทำอย่างไรเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ในเมื่อ 5% ของคนไทยครอบครองความมั่งคั่งกว่า 90% ของประเทศ หรือในเมื่อประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมากที่สุด รองจากรัสเซียและอินเดีย คุณจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าสังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น

…ประเด็นเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นเหลือง-เป็นแดง ไม่เกี่ยวเลย ปัญหาคือประชาชนเขามีพอกินพอใช้ไหม เขามีบ้านอยู่ไหม เขามีเสื้อผ้าไหม มีการรักษาพยาบาลไหม อย่างเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องถือเป็นโครงการที่ดี อาจจะมีปัญหาเรื่องการบริหาร เรื่องงบประมาณอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายเป็นโครงการที่ดี เป็น universal health scheme ที่มีผลสำเร็จ สิ่งนี้ไม่มีความคิดแตกต่างกันระหว่างเหลืองกับแดง สิ่งที่เราต้องทำจึงมีแค่การปรับปรุงความคิดและขัดเกลาให้มันดีขึ้น

…นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องดูคือมีการกดขี่ราษฎรในทางใดทางหนึ่งหรือเปล่า เช่น การไม่ให้พูด ไม่ให้ออกความคิดเห็นนี่มันเกินไปหรือเปล่า พูดง่ายๆ คือ หลักการประชาธิปไตยบางอย่างต้องเก็บไว้ ต้องพยายามส่งเสริม ผมไม่ใช่นักคลั่งประชาธิปไตย ผมก็รู้ว่าประชาธิปไตยมีจุดอ่อน แต่ผมว่าเราต้องยึดหลักการบางอย่างของประชาธิปไตยไว้ โดยผมไม่ใช่คนประเภททุกอย่างต้อง 100% บางอย่าง 70% ผมก็พอใจได้ เพราะทุกประเทศต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ปัญหาคือ 80 ปี ของเราไม่ค่อยมีการเปลี่ยนผ่าน 80 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย แต่ถามว่าเมืองไทยเป็น dictator (เผด็จการ) ไหม ผมก็บอกได้เลยว่าทหารไทยไม่ใช่ dictator ทหารไทยอาจจะมีเรื่องของการบริหารไม่เก่ง หรือเรื่องของคอร์รัปชันอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่ dictator ที่คอยลักคนหายไป เอาไปทำทารุณกรรม หรือปกครองกดขี่ประชาชนจนเกิดความกลัวเกรงอย่างแสนสาหัส

…ตัวผมเองก็มีหลักการคือ เราออกความเห็นได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด การพูดการเขียนแบบ hate speech หรือเสรีภาพแบบอเมริกา ขอประทานโทษนะ สังคมจะล่มจมในที่สุด เพราะเสรีภาพมากเกินไป เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขต โดยไม่มีความรับผิดชอบ เวลานี้ถ้าคุณอยู่ในอเมริกา น่าเป็นห่วงว่าอีก 40 ปีจะเป็นอย่างไร ในทางตรงกันข้าม เมืองไทยเป็นเมืองที่ประเสริฐ น่าอยู่ ผมไม่เคยหมดหวัง…

…ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ทนต่อความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นสังคมที่ไม่ค่อยอยากฟังความเห็นที่แตกต่าง และก็ไม่พร้อมที่จะคุยกันในเรื่องความแตกต่างทางความเห็น ทุกสิ่งอย่างจะเป็นขาวเป็นดำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก มีฉันกับเขา มันก็ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยแบบติดต่อ คุยแบบต่อเนื่อง คุยให้เป็น dialogue เรียกได้ว่าเรามีแต่ conversation เรามีแต่ debate มีแต่การเถียงกันเพื่อเอาชนะ

…ผมไม่แน่ใจคำว่า dialogue มีในภาษาไทยหรือเปล่าคือ dialogue อาจจะมีข้อยุติหรือไม่ต้องมีข้อยุติก็ได้ มันเป็น on-going process เป็นกระบวนการต่อเนื่อง มันไม่ได้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่มันมีขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้ที่ดีขึ้น…..”

อาจมีคนไม่เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น แต่ต้องไม่ลืมว่ามันกลั่นมาจากประสบการณ์ของบุรุษในวัย 85 ปี ผู้เฉียบคมท่านนี้ ผู้ผ่านการเป็นทูตมาหลายประเทศ ทำงานภาคเอกชน เป็นนายกรัฐมนตรีมาสองสมัย ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างสูง และเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลที่ผู้คนนับถือกันอย่างกว้างขวาง ใครที่เห็นด้วยก็สมควรนำไปพิจารณาใคร่ครวญให้สมกับการเป็นผู้ได้ยิน มิใช่ได้ฟังแต่เพียงอย่างเดียว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 20 มี.ค. 2561