ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “สุริชัย หวันแก้ว” วิเคราะห์ SDGs ไทยใน “เขาวงกตการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”

“สุริชัย หวันแก้ว” วิเคราะห์ SDGs ไทยใน “เขาวงกตการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”

3 มีนาคม 2018


ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว

ในฐานะเป็นหนึ่งในนักวิชาการทางสังคม ที่ติดตามคลื่นความเคลื่อนไหวของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปร่วมลงนามและมีฉันทามติร่วมกับอีก 193 ประเทศ ในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายใหม่ของการพัฒนา ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และให้ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนของ SDGs ที่ผ่านมาและมองถึงสิ่งที่ควรเป็นในอนาคต ในการบรรยายหัวข้อ “เขาวงกตแห่งความไม่ยั่งยืน กับเครือข่ายประชาสังคมเพื่ออนาคต”

ในเวที “เครือข่ายประชาสังคมกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนภาคประชาชน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาที่ ห้องประชุม 703 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)โดยความร่วมมือของ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย  โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเทศไทยเหมือนอยู่ใน “เขาวงกตการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

 ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ปัญหาของการปฏิบัติการ SDGs ในประเทศไทยขณะนี้มีภาวะที่ขาดการบูรณาการด้านกลไก ด้านความคิดและด้านปฏิบัติการ รวมทั้งมีภาวะขัดแย้งและสวนทางกันในด้านนโยบาย เช่น มีการตกลงกันว่าต้องใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ แต่ก็ยังมีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงดุลยภาพด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีภาวะขาดการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดนโยบายระดับสูงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมีการพูดถึงยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0  ศาสตร์พระราชา หรือไทยนิยม ซึ่งมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไปว่าจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

“ภาวะสวนทางและขัดแย้งทางนโยบายระยะสั้นกับเป้าหมายระยะยาวของความยั่งยืนแบบนี้ ยังเป็นโจทย์ที่ยังท้าทายอยู่ และด้วยสถานการณ์เช่นนี้ประเทศไทยจึงเหมือนอยู่ในเขาวงกตของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน นั่นคือหาทางออกไม่ได้”ศาสตราจารย์ สุริชัย กล่าว

อุปสรรคที่ขัดขวาง

ศาสตราจารย์สุริชัย ชี้ให้ว่าอุปสรรคที่ขัดขวางทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนยังไม่บรรลุสู่เป้าหมาย คือ “อุปสรรคด้านการเมืองและราชการ” และ “อุปสรรคด้านความคิดอ่านทางวิชาการ” ทั้งนี้ อุปสรรคด้านการเมืองและราชการ มีหลากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น มีแรงบีบคั้นจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการเน้นเป้าหมายระยะสั้น เช่น ต้องทำเป็นตัวเลขการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะได้ผลทันใจแต่กลับสร้างปัญหาในระยะยาว

ถัดมาคือประเด็นทำเพื่อมุ่งตอบสนองสื่อเป็นหลัก เพียงต้องการให้เป็นข่าว เพราะเรื่องสาระในระยะยาว ขายไม่ได้ ซึ่งสื่อในที่นี้รวมถึงโซเชียลมีเดียวด้วย ประเด็นต่อมาคือบริหารจัดการตามสายงาน ทำงานแบบ silo มากเกินไป เน้น SDGs เป็นแท่งๆ มุ่งตอบสนองตัวชี้วัดที่นับได้และเฉพาะส่วน ไม่สนใจมิติที่เชื่อมโยงระหว่างกัน

ถัดมาคือการทำงานแบบกลไกราชการเดิมๆเป็นตัวตั้ง top down และมีบรรยากาศการทำงานที่ค่อนข้างเกรงและกลัว ซึ่งไม่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อจะปฏิรูปตนเองของทุกฝ่าย โดยเฉพาะระบบราชการโดยรวม รวมทั้งประเด็นเรื่องความไม่สอดคล้องทางนโยบาย

ส่วนอุปสรรคด้านความคิดอ่านทางวิชาการ ซึ่งมองสะท้อนจากโจทย์โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอ.เทพา จงสงขลา และ จ.กระบี่ พบว่า วิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอต่อโลกสังคมและโลกวัฒนธรรม, นักสังคมศาสตร์และนักมนุษย์ศาสตร์ขาดความเข้าใจต่อโลกทางชีวภาพและโลกทางกายภาพ

ขณะเดียวกันยังพบอุปสรรคเรื่องการบูรณาการระบบที่หลากหลาย เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการคิดแบบย่อส่วน ลดทอนความซับซ้อน คิดแบบเหมารวม ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความคิดของคนในพื้นที่หรือที่คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีระบบความรู้ที่ครอบงำการตัดสินใจนโยบาย ที่มีลักษณะเน้นภาพใหญ่ top down และคับแคบ ไม่เปิดใจ ซึ่งในบริบทเหล่านี้ น่าสนใจว่าจะมีวิธีเปิดใจ “การเรียนรู้” ร่วมกันได้อย่างไร

 “การเรียนรู้” พลังขับเคลื่อนสู่อนาคต

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว

ศาสตราจารย์สุริชัย กล่าวว่า ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตมีหลากหลายความคิด บางคนคิดว่าต้องขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ บางคนคิดว่าขับเคลื่อนโดยตลาด/ธุรกิจเป็นตัวนำ หรือคิดว่าขับเคลื่อนโดยรัฐเป็นตัวนำ หรือแม้แต่ขับเคลื่อนโดยประชาชนเป็นตัวนำ แต่ในส่วนภาคประชาสังคม ภาคพลเมือง ภาคประชาชน กลับถูกพูดถึงในเชิงเป็นหางเครื่อง หรือเป็นตัวประกอบมากกว่าจะคิดว่ามีบทบาทสำคัญ

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญ รัฐก็สำคัญ ตลาดหรือธุรกิจก็สำคัญ ภาคชุมชนพลเมืองก็สำคัญ แต่ประเด็นคือประเทศจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันจากส่วนต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งส่วนสำคัญคือการ “สร้างการเรียนรู้” แล้วทำให้บทบาทภาคสังคม ภาคชุมชน มีความสำคัญมากขึ้น เป็นสะพานเชื่อมในการเรียนรู้จากทุกฝ่าย และเรียนรู้จากชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆด้วย

ที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจของประเทศไทยในการก้าวสู่อนาคต ค่อนข้างเน้นบทบาทความเข้าใจในภาพใหญ่ แต่ขาดความเข้าใจต่อพื้นที่ ต่อท้องถิ่น รวมถึงยังขาดความเชื่อมั่นหรือขาดความชื่นชมยินดีต่อบทบาทของตัวละครใหม่ๆ เช่น คนหนุ่มสาวหรือผู้หญิงในท้องถิ่น และมักจะสนใจไปที่เรื่องเดิมๆ เช่น มิติการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ

“แต่การสนใจบทบาทเหล่านี้ได้แยกส่วนกับการเชื่อมโยงระหว่างการเมืองกับการพัฒนา การเมืองกับชีวิตท้องถิ่น การเมืองกับความมั่นคงของชีวิตคนในระดับฐานราก ซึ่งในบริบทเหล่านี้อาจต้องยอมรับโจทย์ว่า การตัดสินใจเรื่องของอนาคต จะไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำแต่ฝ่ายเดียว หรือไม่ใช่โจทย์ของยอดพีระมิดทางอำนาจฝ่ายเดียว แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ผู้รับรู้ต่อปัญหาความเดือดร้อน ความเป็นไปของอนาคตมีทุกระดับ โดยเฉพาะภาคส่วนที่เคยถูกละเลยมองข้าม ยุคสมัยแห่งการผลักภาระความเสี่ยงให้คนอื่น ควรจะจบสิ้นได้แล้ว”

 บทบาทภาคประชาสังคม : การพัฒนาออกจากกับดักแห่งความไม่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์สุริชัย ยังมองว่า ภาคประชาสังคมน่าจะเป็นส่วนสำคัญในสร้างการเรียนรู้เพื่อก้าวออกไปจากกับดักของความไม่ยั่งยืน แม้หลายคนในสังคมไทยจะมองถึงภาคประชาสังคมว่าเป็นเอ็นจีโอ ซึ่งบางครั้งถูกพูดถึงในด้านลบ แต่ภาคประชาสังคมก็เป็นภาคส่วนที่ทำงานกับชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงคนที่ทำงานในฐานะพลเมือง เป็นภาคส่วนที่สำคัญมากขึ้นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

“ผมคิดว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ โดยเฉพาะพื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เรียนรู้ในระดับพื้นที่ได้เอง โดยที่ไม่ต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงจากข้างบน ตรงนี้คือสิ่งที่ภาคประชาสังคมจะมีส่วนอย่างมากขึ้นในปฏิบัติการที่เป็นจริง อาจจะรวมไปถึงการช่วยให้มหาวิทยาลัยปรับตัวในการที่จะออกจากกับดักความไม่ยั่งยืน ไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันต่อไปได้”

นอกจากนี้ การสร้างภาคีร่วมกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน น่าจะมีบทบาทต่อการทำงานของภาคประชาสังคมที่จะไปสู่อนาคตร่วมกันได้มากขึ้น และท้าทายการสร้างความเข้มแข็งร่วมกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ภาคประชาสังคมกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์อนาคตในภูมิภาค ซึ่งในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน  ซึ่งบทบาทภาคประชาสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน น่าจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก