ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > ตลาดทุน สร้างธุรกิจเป็นสถาบัน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ตลาดทุน สร้างธุรกิจเป็นสถาบัน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

10 มีนาคม 2018


เงินทุนมีความสำคัญต่อกิจการอย่างมาก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นให้อยู่รอด และเจริญเติบโตได้ ในช่วงแรกเงินทุนมักมาจาก “ทุน” ของผู้ก่อตั้ง ของครอบครัว เครือญาติ หรือเพื่อนฝูง ต่อมาเมื่อธุรกิจเริ่มเจริญเติบโตขึ้น การใช้ทุนของเจ้าของอาจไม่เพียงพอ หรือมีความไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาในมุมโครงสร้างทางการเงิน จึงจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายกิจการหรือต่อยอดธุรกิจที่ทำอยู่

ธนาคารพาณิชย์นับเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของธุรกิจไทยมายาวนาน แต่การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เองก็มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวงเงินสินเชื่อ เรื่องสัดส่วนทางการเงินต่าง ๆ เช่น สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของผู้กู้ยืม การต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กระบวนการกลั่นกรองและระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อ เงื่อนไขการกู้ยืมต่าง ๆ รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาระต่อผู้กู้ยืม การพึ่งพาเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพียงแหล่งเดียวจึงเป็นความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ กิจการควรพิจารณาการแสวงหาเงินทุนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม

ตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการระดมเงินทุนของกิจการ เพราะสามารถระดมเงินทุนได้หลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับรูปแบบและสภาพของธุรกิจ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งเงินทุนเพียงแห่งเดียวแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสมดุลของโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมกับกิจการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ และช่วยในการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจที่บริหารงานแบบครอบครัว ไปสู่ธุรกิจที่มีความเป็นสถาบัน และมีมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาช่วยบริหารงาน เอื้อต่อการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

บทบาทของตลาดทุน

ตลาดทุนหมายถึง สถานที่ที่รวบรวม จัดสรร ควบคุมการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและอรรถประโยชน์สูงสุด ซึ่งทรัพยากรในที่นี้ คือ ทุน เพราะทุนเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีจำกัด

การรวบรวม คือ รวบรวมให้เพียงพอจากแหล่งที่ถูกต้อง ในต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ แล้วนำไปให้คนที่ต้องการจะใช้และควรใช้ เพราะทุนมีจำกัดและมีต้นทุน ฉะนั้นจึงควรให้เฉพาะแก่คนที่เหมาะสม นอกจากนี้จะต้องมีระบบติดตามการใช้ทุนเหล่านั้นเพื่อให้มั่นใจว่าการใช้ทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านทางระบบการควบคุมภายใน กลไกบรรษัทภิบาลที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนกลไกการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ละเว้นในสาระสำคัญ และทันต่อเวลา

เศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยตลาดการเงิน (Financial Market) ที่ประกอบด้วย ตลาดเงิน (Money Market ) และตลาดทุน (Capital Market) รูปแบบการระดมทุนในตลาดเงินได้แก่ เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น ส่วนตลาดทุนยังแบ่งย่อยอีกตามประเภทของตราสาร ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่าตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ ตลาดทุนจึงไม่ได้หมายถึงตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว

ตลาดทุนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ดังจะเห็นจากประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศในยุโรป มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตลาดทุนเป็นหลัก โดยขนาดของตลาดทุนจะใหญ่กว่า GDP ราว 3-4 เท่า เช่น ในสหรัฐอเมริกา สินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ตลาดทุนที่รวมตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มีมูลค่ารวมกันสูงถึงกว่า 66 ล้านล้านดอลลาร์

หรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มี GDP มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ แต่มีมูลค่าตลาดทุน 9 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3 เท่า สำหรับประเทศจีนที่ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีขนาดของ GDP อยู่ที่ประมาณ 11 ล้านล้านดอลลาร์ และมูลค่าตลาดทุนสูงถึง 16-17 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ตลาดทุนไทยอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต มูลค่าตลาด (หุ้น และตราสารหนี้) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ GDP ของเราอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์

ข้อดีของการระดมทุนผ่านตลาดทุน

• ตัดตัวกลาง
ตลาดทุนเติบโตขึ้นได้ เนื่องจากเจ้าของกิจการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินแหล่งทุนโดยตรงกับคนที่เป็นเจ้าของเงิน โดยไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลางคือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการกู้ยืมหลายประการดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และมูลค่าที่ให้ยืมลดลง จนเป็นอุปสรรคของการระดมเงินทุนมาขยายกิจการ

การระดมทุนในตลาดทุนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของทุนหรือหนี้ เพราะปริมาณเงินในตลาดทุนมีมากกกว่าธนาคาร ตัวกลางในระบบตลาดทุนเป็นตัวกลางคนละประเภทกับธนาคาร เนื่องจากเป็นตัวกลางทางอ้อมช่วยประสานงานติดต่อ ดูแลเรื่องการให้และเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial advisor) หรือผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Underwriter) เป็นต้น

• โครงสร้างเงินทุนสมดุล
ต้นทุนการระดมทุนในตลาดทุนแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการระดมทุน สภาวการณ์ของตลาดทุนในแต่ละช่วง รวมถึงรูปแบบของการระดมทุน เช่น การออกและเสนอขายหุ้น หรือตราสารหนี้ ซึ่งต้นทุนการระดมทุนดังกล่าวไม่ได้ถูกกว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคารเสมอไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละแหล่งเงินทุน ประเภทของธุรกิจ ความแข็งแรงของบริษัทที่ต้องการระดมทุน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ทุนที่ระดมได้จากตลาดทุนถือเป็นทุนที่มีเสถียรภาพ ทำให้โครงสร้างเงินทุนมีความสมดุลระหว่างทุนกับหนี้ การใช้เพียงทุนหรือหนี้อย่างเดียวจะสร้างความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป จึงควรพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมของการใช้ทุนและการมีหนี้เพื่อขยายกิจการ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการระดมทุนด้วยตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเราอยู่ในสภาวะที่มีสภาพคล่องล้นตลาด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นโอกาสที่ธุรกิจต่าง ๆ สามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้เป็นจำนวนมาก ในต้นทุนและเงื่อนไขที่ดีกว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคาร

• หลากรูปแบบ
ตลาดทุนเป็นตัวช่วยของธุรกิจในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ แต่ก็ควรพิจารณารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพของธุรกิจ ฐานะทางการเงิน ต้นทุน ที่สำคัญคือวัตถุประสงค์ในการระดมทุนรวมถึงสภาวะตลาดทุนในขณะนั้น รูปแบบการระดมทุนที่เรารู้จักกันทั่วไป เช่น การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO)คือ การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (Bond Issuance) ซึ่งในรายละเอียดก็จะมีประเภทของตราสารที่มีความแตกต่างกันออกไปอีกเป็นจำนวนมาก การเลือกระดมทุนจึงควรพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ

ประโยชน์ของ IPO

• เข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาว เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้การจัดการทางการเงินและโครงสร้างทางการเงินมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อกิจการมีฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น ความสามารถในการขยายธุรกิจและความเชื่อมั่นย่อมสูงขึ้น โดยทั่วไป เมื่อกิจการมีส่วนของทุนเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำลง จะมีผลให้อันดับความน่าเชื่อ (Credit Rating) ดี ซึ่งจะเป็นผลให้สามารถระดมเงินด้วยการออกตราสารหนี้ในต้นทุนที่ถูกลง หรืออาจกู้ยืมเงินในระยะยาวได้มากขึ้น ต่างจากการกู้ธนาคารที่บางครั้งอาจมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการกู้ยืม

• เสริมสร้างภาพพจน์ที่ดีและความเชื่อมั่นให้กับกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านอื่นนอกเหนือจากประโยชน์ในเรื่องการเงิน เนื่องจากการจะเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการได้รับการยอมรับจากนักลงทุนในตลาดทุน มาตรฐานเหล่านี้ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลที่มีคุณภาพ มีความถูกต้อง ครบถ้วนและไม่บิดเบือนในสาระสำคัญ มีงบการเงินที่มีมาตรฐานและมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ ไม่มีบัญชีสองเล่ม ไม่มีการเลี่ยงภาษี มีระบบควบคุมภายในที่ดีที่ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ให้อำนาจบริหารงานกับคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกิจการเอง หรือกิจการกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหาร สำหรับบางกิจการต้องมีระบบการตรวจนับสินค้าคงเหลือสินค้าคงคลังที่ชัดเจน ซึ่งการมีคุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ย่อมเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า

• มีระบบการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) มีระบบควบคุมและตรวจสอบอำนาจการตัดสินใจที่ชัดเจน เนื่องจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้น การตัดสินใจทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของกิจการและผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก มีระบบการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance ) มีกรรมการอิสระ มีกรรมการตรวจสอบ รวมถึงกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ คอยให้ความเห็นและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ความขัดแย้งของผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญมาก การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการยักยอกถ่ายเทผลประโยชน์ออกจากกิจการเพราะมีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบทางการเงินแยกต่างหาก และระบุความรับผิดชอบแต่ละลำดับชั้นอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

• เสริมสร้างความภักดีต่อองค์กรให้กับพนักงาน มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานและบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น การเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีความพร้อมเรื่องเครื่องมือทางการเงิน สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจและดึงดูดให้คนเหล่านั้นมาทำงานด้วยได้ เครื่องมือเหล่านี้ เช่น ESOP (Employee Stock Ownership Program) คือ การให้สิทธิผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด หรือ EJIP (Employee Joint Investment Program) คือ โครงการที่ให้ผู้บริหารหรือพนักงานร่วมลงทุนในหุ้นของบริษัท ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัท เนื่องจากมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จของบริษัทด้วย

• มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน ธุรกิจครอบครัวหลายรายมองข้ามประเด็นนี้ และอาจเริ่มเกิดปัญหาขึ้นเมื่อลูกหลานรุ่นหลังไม่ต้องการสานต่อกิจการของครอบครัว การเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นการสร้างธุรกิจให้เป็นสถาบัน สร้างระบบในการบริหารงาน มีมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหาร ไม่ต้องเป็นภาระของคนในครอบครัวในการบริหารงานด้วยตนเอง โดยสมาชิกในครอบครัวสามารถมีบทบาทเป็นกรรมการที่ช่วยกำหนดนโยบาย หรือเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ข้อดีของการมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถเข้ามาบริหารงานคือ การทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ นับเป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มิควรมองข้าม

• ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้มีโอกาสรับรู้ประโยชน์ทางการเงิน (Value Realization) จากหุ้นที่ถือ การเป็นบริษัทจดทะเบียนทำให้หุ้นของบริษัทมีสภาพคล่อง มีราคาตลาดชัดเจน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถขายหุ้นได้ทุกเมื่อหากมีความต้องการใช้เงิน นอกจากนั้น การเป็นบริษัทจดทะเบียนยังมีประโยชน์สำหรับหลายครอบครัวที่เป็นธุรกิจแบบกงสี สามารถนำหุ้นมาใช้ในการแบ่งสมบัติกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าใช้การประมาณกันว่าใครควรได้สมบัติชิ้นไหน หรือธุรกิจอะไร ซึ่งประเมินมูลค่าได้ยากหากไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน

แนวทางเตรียมตัว

การระดมทุนจากตลาดทุน รวมถึงการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนมีกระบวนการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการเพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของการเป็นบริษัทจดทะเบียน และตามความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดทุน ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีรายละเอียดและใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สามารถสรุปแนวทางการเตรียมตัวเบื้องต้นได้ดังนี้

• ปรับการจัดการบริหารงานให้เป็นระบบ ธุรกิจครอบครัวมักจะบริหารงานแบบรวมศูนย์ สมาชิกหนึ่งคนทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น รับผิดชอบทั้งการเงินและการตลาด แต่การเป็นบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถทำได้ ธุรกิจครอบครัวอาจต้องหาบุคลากรที่เหมาะสมในแต่ละด้าน และนำระบบเข้ามาใช้ในกิจการ รวมถึงมีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ (Check and Balance Mechanism)

• จัดโครงสร้างของธุรกิจ จัดโครงสร้างของธุรกิจในกลุ่มที่มีอยู่ให้เหมาะสม กำหนดขอบเขตธุรกิจแต่ละหน่วยให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกิจการในกลุ่มจำนวนมากมีความซับซ้อนของโครงสร้างอาจต้องใช้เวลานานในการจัด ปัจจัยที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะค่าภาษีที่อาจจะเกิดจากการจัดโครงสร้าง

• จัดระบบบัญชี ส่วนใหญ่ธุรกิจครอบครัวมักมีการบริหารภาษี หรือมีสองบัญชี การเป็นบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับระบบบัญชีให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีผู้ตรวจสอบบัญชีทีที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.

• กิจการต้องมีผลประกอบการที่ดี มีตัวเลขผลการดำเนินการย้อนหลังและตัวเลขทางการเงินอื่น ๆ เช่น ฐานทุน เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และที่สำคัญต้องแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีในอนาคต

ข้อพึงตระหนัก

• การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างยิ่ง บางครั้งธุรกิจครอบครัวใช้วิธีการจำ เช่น จำลูกค้าได้ จำคู่ค้าได้ แต่การเป็นบริษัทจดทะเบียนใช้วิธีการจำไม่ได้ ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ พร้อมเปิดเผยได้ และมีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา เพราะนักลงทุนต้องการรู้ข้อมูลของบริษัท และที่สำคัญการเปิดเผยข้อมูลต้องมีความโปร่งใส ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีการบิดเบือนในสาระสำคัญ

• ผู้บริหารต้องปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กฏหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติผู้บริหาร กฎหมายหลักทรัพย์ กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ เช่น กฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลภายในเพื่อการซื้อขาย (Insider Information) เพราะการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสรู้ข้อมูลก่อนนักลงทุน การห้ามซื้อขายหุ้นก่อนประกาศผลการดำเนินงาน หรือหากคณะกรรมการและฝ่ายจัดการมีการซื้อขายหุ้นต้องรายงานให้สาธารณชนทราบตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น

• ต้องมีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจการให้เติบโต เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนำกิจการเข้าจดทะเบียนแล้วตั้งใจที่จะใช้เงินที่ได้มาขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น มูลค่าหุ้นจะสะท้อนผลประกอบการที่ดี แต่ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจ เพียงต้องการเงินจากมูลค่าหุ้นไปใช้ด้านอื่น จะได้รับบทเรียนจากนักลงทุนด้วยการไม่ลงทุนในหุ้นนั้นอีกต่อไป เพราะการลงทุนในตลาดทุนมีระบบที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ว่าบริษัทนำเงินไปใช้อย่างไร

• ต้องปรับ Mindset ความเป็นเจ้าของ เพราะเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดไปแล้ว ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ก่อตั้งจะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่เป็นของผู้ถือหุ้นทุกคน เจ้าของเดิมเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหาร นอกจากนั้น ในการดำเนินงานจะต้องมีกรรมการอิสระและคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น กรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีประโยชน์แน่นอนสำหรับกิจการที่ตั้งใจเข้ามาระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน แต่แนวทางการดำเนินธุรกิจจะแตกต่างจากการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว เนื่องจากมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยที่คาดหวังผลประโยชน์จากการให้เงินทุนไปขยายกิจการ ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและมีการเตรียมการให้พร้อมที่สุดเพื่อให้การระดมทุนเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ซีรีย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร