ThaiPublica > เกาะกระแส > การสร้างสายสัมพันธ์…ก้าวแรกการขยายธุรกิจใน สปป.ลาว เครือข่ายไหนต้องเชื่อมร้อย

การสร้างสายสัมพันธ์…ก้าวแรกการขยายธุรกิจใน สปป.ลาว เครือข่ายไหนต้องเชื่อมร้อย

2 มีนาคม 2018


ที่มาภาพ : http://www.exim.go.th/eximenews/enews_february2018/enews_february2018_travellog.html

คอลัมน์ “เรื่องเล่าระหว่างทาง” ของ EXIM E-NEWS ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จ่อชื่อเรื่องว่า “สร้างสายสัมพันธ์…ก้าวแรกการขยายธุรกิจใน สปป.ลาว” เป็นเรื่องเก็บตกจากการลงพื้นที่ว่า สปป.ลาว เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทยทั้งจากการที่มีพรมแดนติดกัน ภาษาและวัฒนธรรมมีความคล้ายคลึงกับไทยมากที่สุดในบรรดาประเทศ CLMV ทำให้นักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะ SMEs ที่สนใจจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ มักนึกถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เป็นลำดับต้นๆ

แม้มีความใกล้ชิดเป็นมิตรประเทศกันมาช้านาน แต่การเริ่มต้นเข้าไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ลงทุน กฎระเบียบสำคัญ คู่ค้า/ผู้นำเข้า และอื่นๆ ซึ่งมักเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการหน้าใหม่ แนวทางการแก้ปัญหานอกเหนือไปจากการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้ว อีกหนึ่งทางออกของเรื่องนี้ คือ การสร้างสายสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า คอนเนกชัน เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่สดใหม่และเป็นข้อมูลภาคปฏิบัติจริงพร้อมกับต่อยอดสู่โอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้ นอกเหนือจากแหล่งข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทยและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่ทุกท่านสามารถเข้าไปติดต่อได้อยู่แล้ว การมีโอกาสได้พบปะกับหน่วยงาน/สมาคมสำคัญทั้งของไทยและ สปป.ลาว นับว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีอันจะช่วยเป็นสะพานเชื่อมความสำเร็จให้แก่นักธุรกิจไทย

โดยขอเริ่มจากภาคเอกชนสำคัญฝั่งไทย คือ สภาธุรกิจไทย-ลาว (Thailand-Laos Business Council: TLBC) ซึ่งสมาชิกเป็นกลุ่มนักธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว จึงมีประสบการณ์และสายสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของ สปป.ลาว จากการพบปะพูดคุยกัน ทำให้ทราบว่า TLBC อยู่ระหว่างจัดทำสมุดรายชื่อ (Directory) ผู้ประกอบการไทยใน สปป.ลาว และผู้ประกอบการ สปป.ลาว เพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นสำหรับใช้ในการติดต่อและดำเนินธุรกิจระหว่างสองประเทศ หากแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์และเป็นทางลัดในการเริ่มต้นรู้จักกับคู่ค้า/ผู้ประกอบการใน สปป.ลาว

ในส่วนภาคเอกชนของ สปป.ลาว ประตูแรกที่อยากแนะนำให้เข้าไปทำความรู้จัก คือ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (Lao National Chamber of Commerce and Industry: LNCCI) ซึ่งเป็นศูนย์รวมกลุ่มนักธุรกิจเอกชนที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ครอบคลุม 20 กลุ่มธุรกิจสำคัญ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ใน 13 แขวงทั่วประเทศ ด้วยลักษณะที่เป็นประเทศขนาดเล็กและประชากรมีจำนวนไม่มาก ทำให้นักธุรกิจ สปป.ลาว หนึ่งรายมักดำเนินกิจการหลากหลายประเภท ดังนั้น การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับ LNCCI ที่มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย จึงเป็นอีกหนึ่งทางด่วนในการเข้าถึงคู่ค้า หรือ Partner ที่มีศักยภาพใน สปป.ลาว

นอกจาก LNCCI แล้วยังมีองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญทางธุรกิจของ สปป.ลาว แต่อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก คือ สมาคมนักธุรกิจหนุ่มแห่งชาติลาว (Young Entrepreneurs Association of Laos: YEAL) เป็นเครือข่ายกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี และสมาคมนักธุรกิจแม่หญิงลาว (The Lao Business Women Association: LBWA) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายนักธุรกิจหญิงที่มีบทบาทในแวดวงธุรกิจ ซึ่งเรามักเห็นไม่บ่อยนักในประเทศอื่น สะท้อนถึงการให้เกียรติและให้ความสำคัญกับสตรีของ สปป.ลาว โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 YEAL และ LBWA รวมทั้ง LNCCI เป็นตัวแทนภาคเอกชนของ สปป.ลาว เข้าร่วมพบปะหารือกับคณะผู้แทนฝั่งไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่นำโดยรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันและมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เกี่ยวกับการสนับสนุน SMEs ร่วมกันอีกด้วย

และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือกลุ่มนักธุรกิจ YEN-D สปป.ลาว เครือข่ายนักธุรกิจเลือดใหม่ที่ผ่านการอบรมโครงการ YEN-D (Young Entrepreneur Network Development Program) จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทย โดยเครือข่าย YEN-D สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจหลากหลายทั้งโรงแรม สปา ร้านอาหาร ก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร

จากที่ได้พูดคุยกันสัมผัสได้ว่าผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเปิดกว้าง กระตือรือร้น และสนใจในการหาลู่ทางพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งชอบทำความรู้จักพบปะผู้คนใหม่ๆ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครือข่ายดังกล่าวมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ระหว่างผลักดันให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการ SMEs ใน สปป.ลาว ทำให้กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มที่นักธุรกิจไทยต้องไม่พลาดเข้าไปทำความรู้จัก

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังอยากแนะนำให้ทำความรู้จักกับเจ้าแขวงในพื้นที่แขวงที่สนใจจะไปลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งเจ้าแขวงเปรียบเสมือนเจ้าบ้านของแขวง การทำความรู้จักกับเจ้าบ้านจะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและต่อยอดสู่การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจอื่นๆ ต่อไป โดยการทำความรู้จักเจ้าแขวงอาจต้องไปร่วมกับคณะของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนในโอกาสที่มีการประชุม หารือ หรือสัมมนาระหว่างกัน

จากการเดินทางไปเยือน สปป.ลาว และได้พบปะพูดคุยกับหน่วยงานทั้งของไทยและ สปป.ลาว สิ่งที่พูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ โอกาสของธุรกิจไทยใน สปป.ลาว ยังมีอยู่ ทั้งในด้านการค้าที่สินค้าไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก โดยแบรนด์สินค้าที่ติดตลาดและได้รับความนิยมในตลาดไทยก็มักจะทำตลาดได้ดีใน สปป.ลาว ตามไปด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ธุรกิจพลังงานและการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ แม้ว่าการทำธุรกิจของนักธุรกิจหน้าใหม่ยังมีปัญหา/อุปสรรคอยู่บางประการ แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชนไทยมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยอย่างเต็มที่

หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด