ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.จัดพิมพ์ – ออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ เฉลิมพระเกียรติ “พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี”

ธปท.จัดพิมพ์ – ออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ เฉลิมพระเกียรติ “พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี”

8 มีนาคม 2018


ที่มาภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าธปท.ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่(แบบ 17) ทุกชนิดราคาเพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยได้รับพระราชทานวันออกใช้ธนบัตร ดังนี้

  1. ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ออกใช้ในวันจักรี 6 เมษายน 2561
  2. ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 กรกฎาคม 2561

ด้านหน้าของธนบัตร ได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา

ด้านหลังธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยธนบัตรแบบ 17 นี้ มีขนาดและโทนสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16

อนึ่ง ธนบัตรแบบ 17 นี้ ยังคงเน้นความสวยงาม รักษาเอกลักษณ์ไทย โดยมีแนวคิดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย

รายละเอียดการออกแบบธนบัตรแต่ละชนิดราคามีดังนี้

  • ชนิดราคา 20 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี คู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง

ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 2 เป็นภาพจากบทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในด้านวรรณคดีและพระราชกรณียกิจที่ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยหลายสาขาให้เจริญรุ่งเรือง

  • ชนิดราคา 50 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 3 ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เจริญก้าวหน้าจนมีรายได้เข้าแผ่นดินเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 4 เป็นภาพหอชัชวาลเวียงชัย พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ที่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และการวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในแบอารยประเทศ

  • ชนิดราคา 100 บาท แสดงพระบรสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศยังผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชได้สืบมา รวมทั้งได้ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง

ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระระกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 เป็นภาพทรงฝึกกองเสือป่าที่ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีขึ้นในหมู่ราษฎรรวมทั้งเป็นกองกำลังสำรองในการป้องกันประเทศ

  • ชนิดราคา 500 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ให้แก่ปวงชนชาวไทย

ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 เป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็ง เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ให้คนไทยทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกกลมเกลียว

  • ชนิดราคา 1000 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีภาพประกอบแสดงถึงพระราชกรณียกิจ

ในรัชกาลที่ 9 ทรงรับดอกบัวจากราษฎรสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุทิศพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดรัชสมัย

ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 10 เป็นภาพขณะทอดพระเนตรแผนที่ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎร บริเวณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จังหวัดนราธิวาส เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบรรเทาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสะท้อนถึงการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงพสกนิกรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์จวบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ยังคงลักษณะสำคัญของธนบัตรไทยไว้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ปรับปรุงใหม่ในบางส่วนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

• แถบสีโลหะ ปรากฏที่ด้านหน้าของธนบัตร และในชนิดราคา 100 บาท ภายในแถบสีมีการเคลื่อนไหว

• หมวดอักษรโรมันและเลขหมายอารบิก ปรับวางตามแนวตั้ง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรแบบใหม่นี้ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ดร.วิรไท กล่าวย้ำว่าธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ทุกแบบยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขณะที่การผลิตต่อไปจะผลิตเพียงธนบัตรแบบใหม่เป็นหลัก ส่วนธนบัตรแบบที่ 16 ยังคงมีบางส่วนที่ผลิตมาแล้วและจะทยอยออกหมุนเวียนในระบบต่อไป