ThaiPublica > เกาะกระแส > รมว.อุตสาหกรรม มั่นใจ กม.อีอีซี ดึง “จีน-ญี่ปุ่น” ลงทุน ทะลุเป้า 3 แสนล้านบาท – พร้อมดูแล “สิ่งแวดล้อม-ชุมชน” ผ่านกองทุน

รมว.อุตสาหกรรม มั่นใจ กม.อีอีซี ดึง “จีน-ญี่ปุ่น” ลงทุน ทะลุเป้า 3 แสนล้านบาท – พร้อมดูแล “สิ่งแวดล้อม-ชุมชน” ผ่านกองทุน

9 กุมภาพันธ์ 2018


แถลงข่าวร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ว่าหลังจากนี้ต้องรอ สนช. ส่งเรื่องกลับมาที่คณะรัฐมนตรีประมาณ 7 วัน เพื่อทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไปมีแผนงานเร่งด่วนสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่

    1) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายตามกฎหมายภายใน 60 วัน
    2) ขับเคลื่อนโครงการในปีนี้ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา, โครงการสนามบินอู่ตะเภา, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการท่าเรือมาบตพุด และโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ตามความร่วมมือของการบินไทยและบริษัทแอร์บัส ซึ่งคาดว่าจะได้ TOR ภายในปีนี้และแล้วเสร็จทุกโครงการภายใน 5 ปี
    3) จัดทำแผนแม่บทในมิติต่างๆ ให้แล้วเสร็จ
    4) เตรียมแผนงานนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน (Roadshow) ทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายและเลือกบริษัทเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพเท่านั้น ซึ่งจะนำเสนอทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561

“เมื่อวานมีการหารือกันนานพอสมควร 9 ชั่วโมงครึ่ง ทาง สนช. กรุณาซักถามให้มีความเข้าใจตรงกันในบางจุดและให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีก เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าวันนี้ขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาอีอีซีได้บรรลุแล้ว ทำให้เรามีความพร้อมยิ่งขึ้นเมื่อผนวกกับแผนการลงทุนในปีนี้ โครงสร้างพื้นฐานหลักที่จะเริ่มลงทุนในปีนี้ ผมเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุนที่สอบถามกันเสมอ ทั้งประชาชนในพื้นที่ที่มีกฎหมายอีอีซีเป็นหลักประกัน เพราะมีมาตราที่ชี้ชัดว่าต้องดำเนินการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ หากมีผลกระทบต้องดูแลเยียวยา มีหมวดที่ให้ตั้งเรื่องกองทุนดูแลอีอีซี ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอมีคุณภาพ การศึกษา การสาธารณสุข แน่นอนต้องเพียงพอ ดังนั้น กฎหมายอีอีซีจะช่วยสร้างความมั่นใจทุกภาคส่วน ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวต่อไปว่า โครงการอีอีซีมิได้มีเป้าหมายสร้างแต่อุตสาหกรรม แต่จะเป็นการสร้างฐานความเจริญใหม่ ถึงมีการพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ การศึกษา สาธารณสุข  นำไปสู่การสร้างเมืองใหม่ ประโยชน์จะตกอยู่กับคนในพื้นที่ อุตสาหกรรมก็สร้างโอกาสสร้างงานตามฐานเดิมที่มีต่อไปได้ และในระยะยาวรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะเชื่อมโยงประโยชน์กับทั่วประเทศไทย เช่น โครงการระเบียงผลไม้ที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี หรือการเป็นศูนย์กลางผลไม้จากภาคอื่นๆ อย่างภาคใต้ ดังนั้น โครงการอีอีซีไม่ได้สร้างเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพื่อคนไทย

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เต็มศักยภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น พร้อมทั้งมีการบริหารพื้นที่แบบองค์รวม มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยง เป็นเมืองทันสมัย และมีบริการภาครัฐเบ็ดเสร็จครบวงจร

“เราดูแล้วว่าพอมีกฎหมายออกมาคิดว่าการลงทุนจะเยอะ เพราะว่าญี่ปุ่นที่รออยู่ เป็นนักลงทุนใหม่จะมา นักลงทุนจีนซึ่งยังไม่เข้ามา กำลังรอกฎหมายให้เสร็จอยู่ก็จะมาอีก คาดว่าจะลงทุนมากกว่าปีที่แล้ว ที่ 300,000 ล้านบาท และสุดท้ายขอย้ำว่าการลงทุนไม่ใช่ของต่างชาติ ที่ลงทุนเป็นของคนไทย เรากำลังเปิดรับเท่าเทียมกับต่างชาติ” นายคณิศกล่าว

นอกจากนี้ เราพยายามจะดูแลเอสเอ็มอีเข้ามาเชื่อมโยงกับโครงสร้างใหญ่ของประเทศ สิทธิประโยชน์ใดหรือความช่วยเหลือใดที่สามารถให้ได้ภายใต้ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม เราจะพยายามทำเต็มที่ ตนขอเรียนว่ากฎหมายนี้สำหรับคนไทยไม่ใช่นักลงทุนต่างชาติ

สำหรับรายละเอียดร่างกฎหมายจะมี 1) การกำหนดขอบเขตพื้นที่ มีความชัดเจน ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และหากจะเพิ่มเติมพื้นที่จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและขยายได้เฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออก

2) โครงสร้างบริหาร จะมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ 28 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธาน

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยรัฐมนตรี 14 คน เป็นกรรมการ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

ข้าราชการประจำ 3 คน เป็นกรรมการ ได้แก่ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ

ภาคเอกชน 3 คน เป็นกรรมการ ได้แก่ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาครไทย

ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ และเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคจะวันออก เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่ การบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  เลขาธิการจะเป็นจ้างในลักษณะสัญญากำหนดระยะเวลาและกำหนดดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงานอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี, สำนักงานถูกจัดวางไว้ให้เป็นองค์กรที่พึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน และต้องรายงานการทำงานต่อคณะกรรมการนโยบายฯอย่างน้อยทุก 3 เดือน และรายงานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาทุกปี

3) การวางแผนพัฒนาทั้ง 3 จังหวัดให้เชื่อมโยงกันโดยไม่เกี่ยวกับเขตการปกครอง จะคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ยึดหลักคุ้มครอง เคารพ เยียวยา ความสัมพันธ์ชุมชนและสุขภาวะชุมชน และสร้างความรับรู้และรับฟังความคิดเห็น

4) อำนาจมอบหมายหน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ ให้คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถขอความเห็นชอบมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีได้ เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

5) อำนาจในการจัดหาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพัฒนาตามความจำเป็น ให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดหลักเกณฑ์ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่มีการถมทะเลในร่างพระราชบัญญัติ

6) กลไกเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการหลักโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในการอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน โดยต้องเป็นโครงการสำคัญโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเท่านั้น ในกรณีที่เชื่อมโยงไปนอกเขตต้องขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีผู้รักษากฎหมาย และต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่กฎหมายนั้นๆ กำหนด อนึ่ง หากหลักเกณฑ์เดิมไม่เหมาะสม คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยแจ้งให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายให้ความเห็นและประกาศในราชกิจานุเบกษา

7) กลไกการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่หมดทั้ง 3 จังหวัด รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ให้สิทธิเจ้าของที่ดินสามารถขอให้ที่ดินเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ โดยประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผ่านการเจรจาและเยียวยาแล้ว ร่วมกันยื่นคำขอด้วย

8) การใช้สิทธิประโยชน์ ตามเกณฑ์ที่กำหนด

9) ให้มีกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและชุมชน สนับสนุนการศึกษาการศึกษา ทุนการศึกษา และเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะขอสนับสนุนจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ซ้าย) และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ขวา)

ทั้งนี้ นายคณิศ กล่าวถึงประเด็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการที่มีความกังวลว่าอาจจะมากเกินไปว่า ด้วยรูปแบบงานจึงไม่สามารถออกแบบอย่างชัดเจนได้มาก อย่างไรก็ตาม เลขาธิการต้องใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นกรรมการเป็นโดยตำแหน่งถึง 9 กระทรวง หรือ 2 ใน 3 ของคณะรัฐมนตรีแล้ว และในบางเรื่องมีระเบียบต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ดังนั้น ในทางปฏิบัติการทำหน้าที่ของเลขาธิการเปรียบเสมือนต้องของความเห็นชอบในหลักเกณฑ์และหลักการกับคณะรัฐมนตรีอยู่แล้วและไม่ได้มีอำนาจโดยตำแหน่งแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเหมือนกับกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) นายอุตตม กล่าวว่าการระบุในกฎหมายแบบนี้ได้สร้างความมั่นใจที่มากขึ้นว่าจะต้องดูแลอย่างเข้มงวด เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก และเมื่อประกอบกับการตื่นตัวของสังคม รวมทั้งการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน การตั้งสถาบันการศึกษา ยิ่งสร้างการตรวจสอบจากภาคประชาชนและมาตรฐานสากล ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่นายคณิศกล่าวว่า จากการออกแบบโครงการอีอีซีมิได้มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่สร้างมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า นอกจากนี้ การประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ประกาศไปยังพื้นที่เดิมที่อยู่ภายใต้กรอบการประะเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วและไม่น่าจะไปกระทบชุมชนรอบข้างเพิ่มเติม และในทางปฏิบัติสำนักงานอีอีซีได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ไม่เข้าข่ายต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอด้วย ขณะที่กลไกทางกฎหมายได้มีการกำหนดมาตรฐานให้ดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมทั้งให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลในกรณีที่มีผลกระทบและต้องได้รับการเยียวยา หรือต้องใช้ในการพัฒนาชุมชน ส่วนในอนาคตมีแนวทางที่จะหารือกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Industrial Development Organization) หรือ UNIDO ให้มาตั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข

ทั้งนี้ทางสำนักงานอีอีซีได้จัดช่องทางเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .… และเปิดรับฟังความเห็นและเปิดรับคำถาม ทาง www.eeco.or.th โทรศัพท์ 02-033-8000 หรือ คุณทัศนีย์ โทร. 086-082-7938 อีเมล [email protected] และ คุณธีรภัทร 089-134-3455 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 และจะทำการเผยแพร่ประมวลคำถาม-คำตอบ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561