ThaiPublica > คนในข่าว > “สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม” นำ APM ที่ปรึกษาทางการเงินไทยรายแรก เชื่อมตลาดทุนไทย-CLMV รับ AEC

“สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม” นำ APM ที่ปรึกษาทางการเงินไทยรายแรก เชื่อมตลาดทุนไทย-CLMV รับ AEC

26 กุมภาพันธ์ 2018


นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด

“สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม” ผู้ก่อตั้ง บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (Asset Pro Management) หรือ APM ได้นำ APM เข้าสู่เส้นทางการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่บทบาทโดดเด่นมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจในตลาดทุน CLMV กลุ่มสมาชิกย่อยของอาเซียนที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SME) ทั่วประเทศไทย ด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไทยได้ร่วม 30 บริษัทนับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินของไทย มีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมตลาดทุน CLMV กับตลาดทุนไทย ในยุคที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) กำลังเติบโต เดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา ได้รับการแต่งตั้งจาก Phnom Penh SEZ Plc (PPSEZ) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (Cambodia Stock Exchange: CSX) ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สำหรับการระดมทุนแบบ Secondary Listing ในตลาดทุนไทย หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าไปให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินให้กับธุรกิจใน สปป.ลาว จนสามารถนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวไปแล้ว 3 ราย

APM ยังให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินในการออกตราสารทางการเงิน การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ และด้านอื่นๆ กับอีกนับหลายสิบบริษัท

“APM วางเป้าหมายที่จะทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางพัฒนาองค์กรธุรกิจโดยใช้หลักการทางการเงินแก่ SME ในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากตลาดทุนอย่างเต็มที่สำหรับการขยายกิจการ รวมทั้งใช้โอกาสการรวมตัวเป็น AEC สร้างความก้าวหน้าให้กับธุรกิจ”

สมภพ ศักดิ์พันธิ์พนม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ เล่าวิธีคิดและประสบการณ์ที่ทำให้ APM เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายแรกของไทยมีบทบาทโดดเด่นในตลาดทุน CLMV และได้รับความยอมรับความไว้วางใจจากภาครัฐและภาคธุรกิจ CLMV ในการให้สัมภาษณ์นานกว่า 2 ชั่วโมง กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

สมภพเล่าให้ฟังว่า ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอีก 5 คน จัดตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินกับลูกค้าองค์กรธุรกิจตั้งแต่ปี และความสำเร็จจากการเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน ปี 2540 ส่งผลให้ APM เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาทางด้านการเงินอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2541

ต่อมาปี 2549 บริษัท APM ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ส่งผลให้ขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่กิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพให้ระดมทุนในตลาดทุนด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย APM สามารถส่งลูกค้ารายแรก SME ให้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2551

โอกาสของ APM เปิดกว้างขึ้นไปอีกในปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ได้ริเริ่มโครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด ขึ้น ส่งผลให้ขยายบริการไปสู่ SME ทั่วประเทศได้มากขึ้น ตั้งแต่ปี 2552 ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนไปแล้ว 30 บริษัทคิดเป็นมูลค่าตลาด (market cap) สูงถึง 312,988.26 ล้านบาท ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561

“จากการนำ SME ภายใต้โครงการหุ้นใหม่ หนึ่งความภูมิใจจังหวัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ APM มีประสบการณ์และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จนยกระดับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในระดับภูมิภาคที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้ SME ในกลุ่มประเทศ CLMV ระดมทุนในตลาดทุนให้มากขึ้น”

สมภพจำกัดบทบาทของ APM ไว้ตรงที่ปรึกษาทางการเงินเท่านั้น ไม่ขยายออกไปสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Underwriter) แต่เลือกใช้วิธีการสร้างพันธมิตรในไทยและ CLMV ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจครบวงจร

ใช้ “Workshop”ลุย CLMV

การขยายธุรกิจเข้าไปใน CLMV เริ่มขึ้นในปี 2010 เมื่อ APM ขณะนั้นเป็นบริษัทที่ปรึกษาการเงินรายเล็กมุ่งให้บริการ SME ต่างจังหวัดเข้าตลาด mai ได้ตอบรับคำเชิญจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็นวิทยากรร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่อีก 3 รายในงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ Workshop ที่ได้จัดขึ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์ลาวซึ่งมีทั้งตัวแทนภาครัฐและภาคธุรกิจจากลาวเข้าร่วม

APM ได้รับมอบหมายให้บรรยายในหัวข้อตลาดทุน เป็นหัวข้อที่ได้นำประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ SME ไทย มาแบ่งปันให้กับผู้เข้าร่วมงานที่มาจากลาว และงานนี้ทำให้เห็นถึงโอกาสที่จะเข้าไปในตลาดทุน CLMV เพราะตลาดทุนในประเทศเหล่านี้เพิ่งจัดตั้ง เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ความต้องการเงินทุนยังมีอีกมาก หลังจากงานสัมมนาจึงได้มีการติดตามความเห็น ความสนใจเกี่ยวกับตลาดทุนของผู้ร่วมงาน

ต่อมาสมภพได้เสนอต่อผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ลาว ขอจัดโปรแกรมเสริมสร้างความรู้ด้านตลาดทุนให้ผู้ประกอบการในลาว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวตลาดทุนและการระดมทุนจากตลาดทุน โดยจัดต่อเนื่องได้ถึง 5 รุ่น รวมผู้เข้าร่วม 200 คน และยังได้จัดให้มีการเดินทางมาดูงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย แต่ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ลาวจึงเชิญชวน APM ให้ไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน

สมภพได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็มลาว จำกัด หรือ APM (LAO) Securities Company Limited ขึ้นในปี 2013 และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์ลาว (SECO) ได้ออกใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงินให้ APMLAO ในปีเดียวกัน ก็ได้และเริ่มบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำบริษัทลาวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว (LSX) ในปี 2014 รายแรกคือ Petroleum Trading Lao Public Company ต่อมาในปี 2015 นำบริษัท Souvanny Home Center Public Company เข้าจดทะเบียน และในปี 2016 ได้ยื่นไฟลิ่ง บริษัท Phousy Construction and Development Public Company แต่เข้าจดทะเบียนได้ในปี 2017 และล่าสุดปี 2018 นี้ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอีกหนึ่งบริษัทของลาว

บริษัท พูสีก่อสร้างและพัฒนา มหาชน (Phousy Construction and Development Public Company) เข้าซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560

“ขณะนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวมี 6 บริษัท แต่ครึ่งหนึ่งของที่บริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เป็นผลงานของเราเพราะดูแลตั้งแต่การจัดทำงบการเงิน โครงสร้างการเงิน”

ในปี 2017 ได้จัดตั้ง บริษัท เอพีเอ็ม ลาว ลีสซิ่ง จำกัด หรือ APM (LAO) Leasing เป็นธุรกิจลีสซิ่งและประกันภัย เพื่อต่อยอดธุรกิจในสายตลาดเงินและตลาดทุน พร้อมศึกษาโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นลาว

ย่ำทั่วลาว-พม่า-กัมพูชา สร้างความเข้าใจ เข้าถึงลูกค้า

การเข้าไปทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินใน CLMV ของ APM มีความแตกต่างตรงที่ สมภพเน้นวิธีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง เพื่อสำรวจลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ รวมทั้งการทำความรู้จักกับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ โดยในลาวนั้นได้เดินทางครบทุกแขวงและบางแขวงได้ลงพื้นที่หลายรอบ ขณะที่กัมพูชาได้เดินทางเกือบครบทั้ง 24 จังหวัดแล้ว ทั้งหมดเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงมากที่สุด ทั้งภูมิประเทศและสภาพธุรกิจ นำมาประกอบการวางแผนธุรกิจรายประเทศได้

สมภพบอกว่า การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเป็นสิ่งทำมาตลอด โดยในลาวนั้นได้ลงพื้นที่ 18 แขวงนาน 4 ปีเพื่อเก็บข้อมูล เดินทางด้วยรถยนต์เมื่อพบกิจการใดที่มีศักยภาพก็ถ่ายรูปเก็บ จากนั้นใช้วิธีส่งข้อมูล APM และข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ พร้อมเชิญเข้าร่วมงานเสวนาเกี่ยวกับตลาดทุนทางไปรษณีย์ไปให้ นอกจากการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลแล้ว ยังเดินทางเพื่อจัดงานเสวนาเกี่ยวกับตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการในลาวตามพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

สมภพมองว่า ในกลุ่ม CLMV มี 2 ประเทศที่มีศักยภาพ คือ ลาวและกัมพูชา แม้ลาวมีข้อดีตรงที่ภาษาโดยพื้นฐานสื่อสารกันง่าย แต่บุคลิกหรือลักษณะนิสัยของนักธุรกิจไม่เน้นการรุกมาก ต่างจากเอกชนกัมพูชาที่ทำธุรกิจแบบเชิงรุกค่อนข้างมาก กัมพูชาจึงเป็นประเทศที่ที่มีศักยภาพด้านตลาดทุนมากกว่าทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ มีโอกาสที่จะผลักดันกิจการกัมพูชาเข้าตลาดหลักทรัพย์ในกระดาน Growth Board และการออกตราสารหนี้ได้สูงกว่าลาวที่ยังมีข้อจำกัดในเชิงแนวนโยบายบางเรื่อง อีกทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจไม่ได้ทำธุรกิจแบบเชิงรุกเท่ากับกัมพูชา

สมภพกล่าวว่า ในด้านตราสารทุนนั้นกัมพูชามีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 5 แห่งในพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม รองรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก นิคมอุตสาหกรรมนี้ มีศักยภาพที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนด้านตราสารหนี้ ก.ล.ต. ของกัมพูชาอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนได้

กัมพูชายังได้เปรียบลาวตรงที่ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีพื้นที่ที่มีทีศักยภาพหลายจังหวัด เช่น เมืองหลวง พนมเปญ เมืองท่องเที่ยว เสียมเรียบ สีหนุ ปอยเปต รวมประมาณ 6-7 จังหวัดจากทั้งหมด 24 จังหวัด ขณะที่ลาวพื้นที่ 70-80% เป็นภูเขาที่ราบสูงการเดินทางค่อนข้างลำบาก มีการเดินทางใน 5 แขวงเท่านั้นที่สะดวก ได้แก่ แขวงที่ติดกับไทยทางเหนือ คือ หลวงพระบาง โดยผ่านเข้าจังหวัดน่านของไทย แขวงที่สองนคร หววง เวียงจันทน์ เดินทางเข้าจากหนองคาย แขวงที่สาม คำม่วน เข้าทางนครพนม แขวงที่สี่ สะหวันนะเขตติดกับมุกดาหาร และแขวงที่ 5 จำปาสัก เข้าทางอุบลราชธานี

ส่วนเวียดนามเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากถึง 92 ล้านคน การเติบโตทางเศรษฐกิจดีมาก และมีตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ ฮานอยและโฮจิมินห์ มีบริษัทจดทะเบียนรวมกันถึง 700 บริษัท จึงเชื่อว่ามีโอกาสเช่นกัน แต่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลพร้อมกับพบปะนักธุรกิจก่อน ซึ่งในกลางเดือนมีนาคมนี้ สมภพก็จะเดินทางไปพบปะกับผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฮานอยตามคำเชิญ

ทางด้านเมียนมา สมภพเล่าว่า เป็นเป้าหมายที่สองของ APM หลังจากที่เข้าไปในลาวได้ โดยใน 5 ปีก่อนได้เดินทางไปครบ 7 มณฑล รวมทั้งยังได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ แต่เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เปิดเสรีเต็มที่ โดยให้ใบอนุญาตเพียง 4 ใบ และเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจเต็มรูปแบบ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ APM ที่ต้องการเพียงใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงินอย่างเดียว อีกทั้งต้องชำระทุนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้แผนของ APM ในเมียนมาชะลอออกไป

สมภพคาดว่า อย่างน้อยต้องรออีก 3 ปีกว่าจะเริ่มเข้าไปในเมียนมาอย่างจริงจัง เพราะเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน กฎกติกายังไม่ชัดเจน โอกาสในระยะสั้นจึงยังไม่เห็น กฎเกณฑ์อาจจะต้องปรับเปลี่ยนอีกหลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัทจดทะเบียนรายที่ 5 ที่เพิ่งซื้อขายไปไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาเข้าจดทะเบียนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO เป็นรายแรกของประเทศ แต่ 4 บริษัทที่เข้าจดทะเบียนไปก่อนหน้า เป็นการขายหุ้น OTC นอกจากนี้ยังไม่เปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุน อนุญาตให้เฉพาะนักลงทุนท้องถิ่น กฎเกณฑ์ต้องใช้เวลาในการผ่อนคลาย

กลยุทธ์คลุกวงใน ดึง SME จดทะเบียน หนุนออกหุ้นกู้

สมภพกล่าวว่า APM อาจจะเป็นเอกชนไทยรายเดียวที่ใช้วิธีลงพื้นที่เก็บข้อมูลในแต่ละประเทศ รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ศึกษากฎระเบียบทั้ง 4 ประเทศ เพื่อให้รู้ว่าศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจอยู่ตรงไหน

“การที่เราเป็นที่ปรึกษาทางการเงินใน CLMV หากไม่รู้จักไปคลุก ทำความรู้จักเข้าใจ CLMV เราจะไม่รู้ว่า ประเทศไหนควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ตลอดเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา เราย่ำใน CLMV รวมทั้งรับฟังความเห็นของนักลงทุนในสิงคโปร์และฮ่องกง เราตกผลึกแล้วกลุ่มประเทศ CLMV ที่จะวางนโยบายขยายธุรกิจ ลำดับแรกคือ กัมพูชา”

โดยที่โอกาสทางธุรกิจในตลาดทุนในกัมพูชามีสูงกว่าประเทศอื่น แผนธุรกิจระยะ 3-5 ปีของ APM จึงมุ่งไปที่การให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อระดมทุนแบบ Secondary Listing ในกัมพูชาเป็นลำดับแรก ในช่วงที่ลาวกฎเกณฑ์ Secondary Listing ยังไม่เปิดกว้าง ส่วนเวียดนามหากสนใจเรื่องนี้ APM ก็พร้อมที่จะไปให้คำปรึกษาควบคู่กับการเตรียมบุคลากรไว้รองรับ ส่วนเมียนมาจัดเป็นลำดับสุดท้าย

“CLMV ของ APM คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา ในอีก 3-5 ปี แต่ก็ไม่ได้ทิ้งไปเสียทีเดียว ในระยะเวลานี้จะกลับไปศึกษาเป็นระยะๆ รวมถึงการหารือร่วมกับ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์เมียนมา”

สมภพเปิดเผยว่า APM ได้จดทะเบียนจัดตั้ง APM Cambodia พร้อมยื่นขอใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต.กัมพูชาแล้ว คาดว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อรองรับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับธุรกิจ SME กัมพูชา เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การขยายธุรกิจไปกัมพูชา เป็นผลจาก APM ร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. จัดโปรแกรมเสริมความรู้เกี่ยวกับตลาดทุน ชื่อว่า Excellence Program ให้กับธุรกิจกัมพูชา จำนวน 150 ราย และจะคัดเลือก 50 รายมาฟูมฟักเพื่อเข้าจดทะเบียนในกระดาน Growth Board โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเข้าตลาดให้ได้ 5 รายในปีหน้า ที่เหลือจะทยอยผลักดันให้เข้าตลาดในปีต่อๆ ไป โครงการนี้ดำเนินงานคล้ายกับโครงการหุ้นใหม่ หนึ่งความภูมิใจจังหวัดของไทย

“สำนักงาน ก.ล.ต. กัมพูชา เห็นว่าเราซึ่งมีประสบการณ์ในการนำ SME ไทยเข้าตลาด mai มาก่อน น่าจะผลักดันเรื่องนี้ได้ จึงร่วมกันทำ Excellence Program เพื่อส่งเสริม SME เข้ากระดาน Growth Board ที่ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ APM ยื่นขอใบอนุญาตที่ปรึกษาการเงิน คาดว่าในไตรมาส 1 น่าจะได้ใบอนุญาตซึ่งจะทำให้ APM เป็นบริษัทไทยรายแรกที่จะได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาการเงินในกัมพูชา ภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. กัมพูชา”

สมภพเปิดเผยว่า ด้วยใบอนุญาตที่ได้และประกอบกับ APM กัมพูชามีผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเป็นนักธุรกิจเป้าหมายทางธุรกิจของ APM อย่างแรก คือต้องการผลักดัน SME กัมพูชา ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา โดย SME รายแรกที่น่าจะเข้าตลาดได้คือ Park Café ผู้ประกอบการร้านอาหารในกัมพูชาที่ คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งในปลายปี 2018 หรือต้นปี 2019

เป้าหมายที่สอง คือ ผลักดันการระดมทุนด้วยตราสารหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพราะตลาดหลักทรัพย์ก็จัดตั้งมา 6 ปี ต้องการให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาระดมทุนด้วยหุ้นกู้ APM ได้เสนอแนวคิดต่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไปว่า ตลาดทุนไทยน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของกัมพูชา โดยระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ในไทย ขนาด 50-100 ล้านเหรียญ ซึ่งเหมาะสมกับกิจการกัมพูชาเพื่อขยายกิจการ

APM กัมพูชาจะทำงานร่วมพันธมิตร ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์กัมพูชา โดยคาดว่าในปีหน้าน่าจะเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทกัมพูชาในตลาดทุนไทยได้ 1-2 ราย

ถ้าผลักดัน IPO และการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนกัมพูชาได้ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในกัมพูชาเห็นความสำคัญของตลาดทุนไทยว่าเป็นศูนย์กลางตลาดทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Mekhong Sub-Region) และทำให้มองเห็นโอกาสการระดมทุนมากขึ้น

“ถ้าเปรียบตลาดทุนเป็น capital market wave ตลาดทุนไทยอยู่ตรงกลาง CLMV เป็นคลื่นด้านนอก จีดีพี CLMV ที่เติบโต ทำให้เกิดคลื่น equities หรือการออกหุ้นเป็นคลื่นชั้นแรก แต่หากมีการออกหุ้นกู้ตราสารหนี้ คลื่นก็จะแรงขึ้น ตลาดทุนไทยก็จะขยายตัวขึ้น ตลาดทุนในลุ่มแม่น้ำโขงก็จะดี แต่ไม่ใช่ตอนนี้เป็นอีก 3-5 ปีข้างหน้าและได้คลื่นเศรษฐกิจที่ส่งผลความมั่งคั่ง”

ดันกัมพูชาต้นแบบ ระดมทุน Secondary Listing

อีกมิติหนึ่งในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกัมพูชา คือ ออกหุ้นเพิ่มทุนแล้วมาจดทะเบียนในประเทศไทย แบบ Secondary Listing ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา APM ได้รับการแต่งตั้งจาก PPSEZ บริษัทจดทะเบียนรายที่ 5 ของตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สำหรับการระดมทุนแบบ Secondary Listing ในตลาดทุนไทย โดย APM ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปลายปี 2018 หรือต้นปี 2019 เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่บริษัทจดทะเบียนอื่นในกัมพูชา หรือในตลาดอื่นของกลุ่ม CLMV และดึงความสนใจที่จะเข้ามาระดมทุนในรูปแบบเดียวกันในตลาดทุนไทย

“PPSEZ ก็จะเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการน่าจะเห็นว่าเป็นโอกาสหนึ่งในการจดทะเบียนสองประเทศ และเป็นเหตุผลดีที่ทำให้หุ้นมีสภาพคล่อง ผลดีอีกข้อหนึ่งคือทำให้นักลงทุนไทยหรือสถาบันต่างประเทศที่อยู่ในไทย ก็มีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี หุ้นรัฐวิสาหกิจของกัมพูชาที่อนาคตอาจจะมาจดทะเบียนในไทย รวมทั้งยังสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิด CLMVT คือรวมไทยด้วย เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตลาดทุนอาเซียนและมีผลดีต่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2020 ด้วย”

การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ PPSEZ ยังช่วยให้ APM มีโอกาสผลักดันบริษัทในกัมพูชาระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์อีก 4-5 ราย ในรูป Secondary Listing ซึ่งตั้งเป้าไว้เป็นรัฐวิสาหกิจกัมพูชา 1-2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ Sihanoukville Autonomous Port Plc (PAS) รัฐวิสาหกิจกัมพูชา ดำเนินธุรกิจท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดสีหนุ

สมภพนำคณะผู้บริหารเยี่ยมชม PPSEZ ที่พนมเปญ โดยมีคุณหญิงอกญา ลิม ชิว โฮ(ที่ 2 จากซ้าย) ประธานบริษัทต้อนรับ

ขณะนี้ APM ซึ่งได้ทำหน้าที่ Co-Arranger ให้กับ PAS ในช่วงที่เสนอขายหุ้น IPO ได้เข้าไปจัดโปรแกรมเสริมความรู้ด้านตลาดทุนให้กับผู้บริหารของ PAS ซึ่งหาก PAS เข้าใจถึงเครื่องมือการทางเงินอย่างดี

ก็อาจจะมีโอกาสที่ APM ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อระดมทุนแบบ Secondary Listing เพิ่มอีก 1 ราย หรืออาจจะมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางเงินในการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ และหากการออกหุ้นกู้ประสบความสำเร็จก็อาจจะนำไปสู่การจดทะเบียนแบบ Secondary Listing เพราะ PAS เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 5 บริษัทจดทะเบียนของกัมพูชาที่มีศักยภาพในการระดมทุน

หากการระดมทุนแบบ Secondary Listing ของ PPSEZ ประสบความสำเร็จหรือ PAS ออกหุ้นกู้ได้ ก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเอกชนในกัมพูชาหรือรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดเริ่มเห็นว่า ไม่ต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่สามารถระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ได้ เพราะสำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้ทำได้ก็ยิ่งจะเปิดโอกาสให้ APM นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะมีส่วนทำให้กลุ่มประเทศ CLMV เกิดความตื่นตัวและเห็นถึงความสำคัญของตลาดทุนไทยต่อการระดมทุน

จัดหลักสูตรเสริมความรู้ มุ่งความยั่งยืนยื่น-ความไว้วางใจ

สมภพเล่าต่อว่าการทำธุรกิจไม่ได้มุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาการเงินเพียงด้านเดียว แต่สิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือ การกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจที่ APM ให้บริการนั้นเกิดความคิดไปพร้อมๆ กันด้วย และส่งเสริมให้ศึกษาทำความเข้าใจตลาดทุนให้มากขึ้น โดย APM มีหน่วยงาน Financial & Capital Market Institute @ Bangkok รับผิดชอบ Educational Program หลักสูตรเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการใน CLMV โดยเฉพาะ เป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้น ด้านการเงินและการจัดการ ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“เราถือว่าการให้การศึกษามีความยั่งยืนที่สุด และทำให้ได้รับความไว้วางใจ การให้การศึกษาจะติดตัวเขาไปตลอด และการจัดโปรแกรมทั้งหลายได้ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่มีคุณสมบัติหรือสถานะแตกต่างกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรายอมเหนื่อยกับการเดินทางเข้าไปให้ความรู้ และการจัดโปรแกรมแบบนี้ต้องใช้บุคลากรและเงินจำนวนไม่น้อย แต่เราถือว่าเป็นการลงทุน”

การเสริมความรู้ด้านตลาดทุนยังช่วยยกระดับความเข้าใจผู้บริหารองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ของประเทศเหล่านี้เกี่ยวกับตลาดทุนมากขึ้น เพราะตลาดทุนในประเทศเหล่านี้จัดตั้งมาไม่นาน ประสบการณ์จากการทำงานด้านตลาดทุนจึงมีน้อย และเมื่อความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียง สิ่งที่จะตามมา คือ โอกาสเกิดขึ้น หากความรู้ความเข้าใจต่างกันมาก โอกาสจะไม่เกิด และความไว้วางใจจะไม่มี การเสริมความรู้จึงจำเป็น

“หลักสูตรเหล่านี้ยังออกแบบพื้นฐานการถอดบทเรียนจากประเทศไทยที่ APM สะสมมา ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ในตลาดทุนไทยมากว่า 30 กว่าปี ถ้าไม่ทำโอกาสในตลาดทุนใน CLMV ก็ไม่เกิด

งานสัมมนาให้ความรู้ตลาดทุนแก่ SME ในแขวงเชียงขวางที่ APM Lao จัดขึ้น

โปรแกรมการเสริมความรู้ในแต่ละประเทศออกแบบไม่เหมือนกัน เช่น ในลาว มีหลักสูตรเตรียมความพร้อมของกิจการก่อนที่จะเข้าจดทะเบียน สำหรับกลุ่มธุรกิจที่สนใจจะเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักสูตรการจัด Credit Rating ของตราสารหนี้ หลักสูตรการวางระบบควบคุมภายใน (Internal Control) ที่ได้รับความร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาทางบัญชีชั้นนำของโลก แต่ในกัมพูชาที่เพิ่งเริ่มนั้นได้เพิ่มโปรแกรมในด้านบริหารจัดการ เชื่อมโยงกับการเงิน การใช้เครืองมือทางการเงิน

หลักสูตรเสริมสร้างความรู้จะมีการปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ สิ่งที่ยังขาด การเปลี่ยนแปลงกติกาของภาครัฐ ซึ่ง APM เองต้องศึกษาตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้ออกแบบหลักสูตรได้ ยังเพิ่มโอกาสให้ APM เก็บข้อมูลของประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจ

โดยหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นล่าสุดคือ LAO Professional Investment Banking Program (La-PIB) โดย APMLAO Securities Co., Ltd. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว และมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว จัดขึ้นทุกปี และในหลักสูตรนี้มีกิจกรรม Study Tour ณ ประเทศไทย นำผู้อบรมเข้าเยี่ยมชมกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น

การจัดโปรแกรมให้ความรู้ APM ทำมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี เริ่มที่ประเทศไทยก่อน จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหารหลายราย เป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันการศึกษาในไทย ส่วนโปรแกรมเสริมความรู้ในลาวทำมาแล้ว 7 ปี ในเมียนมาทำมาเมื่อ 5 ปีก่อน ในกัมพูชาเพิ่งจัดให้กับ PAS เป็นรายแรก โดยจัด Executive Training ให้กับคณะกรรมการจำนวน 10 คนของ PAS ที่จังหวัดสีหนุวิลล์ ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้รู้จักการใช้เครื่องมือทางการเงิน ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และจะเสริมหลักสูตร Logistic Management ให้ด้วย

นอกจากนี้ APM ได้แนะนำให้รู้จักงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) และงานประชาสัมพันธ์ (PR) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เกิดการเรียนรู้ และยังส่งผลให้การเจรจาหารือร่วมกันมีความราบรื่น เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า APM เอาประโยชน์อย่างเดียว แต่เป็นประโยชน์แก่บริษัทเช่นกัน และในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าเมื่อ ตลาดหลักทรัพย์เหล่านี้โตขึ้น การขยายธุรกิจของ APM ไปสู่บริการทางการเงินอื่น เช่น ลีสซิ่ง ประกันภัย จะมีโอกาสมากขึ้น

สร้างคนเตรียมความพร้อม ยึดมั่นรักษาความลับลูกค้า

ปัจจุบันสมภพทำหน้าที่ประธาน บริษัท APM ที่ไม่เพียงวางนโยบายธุรกิจแต่ยังลงไปคลุกในระดับปฏิบัติงาน โดยยังเดินทางไปทั่วประเทศและประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนกลุ่ม CLMV ทุกสัปดาห์โดยเฉลี่ยจะอยู่ไทยประมาณ อาทิตย์ละ 2 วัน

การเดินทางไป CLMV นอกจากเพื่อประชุมติดตามกับทีมงานเอพีเอ็มในแต่ละประเทศแล้ว ยังเป็นการติดตามลูกค้าว่ามีการดำเนินการตามที่วางแนวทาง ตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่ เช่น การปิดงบการเงินประจำปีภายในเวลาที่กำหนด

สมภพกล่าวว่า การทำงานใน CLMV ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงหรือการได้รับคำแนะนำหรือการบอกต่อเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบุคลากรด้วยตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงไปจนถึงระดับปฏิบัติการและ ความพร้อมทางการเงิน

นอกจากนี้ สมภพได้ประกาศนโยบายโยกย้ายบุคลากรใน CLMV ให้ทำงานข้ามประเทศ เพื่อเรียนรู้กฎเกณฑ์ กติกาตลาดทุนแต่ละประเทศ ซึ่งจะเริ่มที่โยกบุคลากรในลาว มาทำงานที่กัมพูชา เพื่อให้เรียนรู้เรื่อง Secondary Listing เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อที่เมื่อลาวเปิดกว้างและมีกติกาด้านนี้ชัดเจน APM ที่ลาวก็สามาถเดินหน้า เรื่อง Secondary Listing ในลาวได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

“เรากระโดดข้ามไปไกลมาก เพราะจะดึงบุคลากรลาวที่มีความรู้ มาเรียนรู้ Secondary Listing ในกัมพูชา หากลาวมีกติกาเรื่องนี้เมื่อไร APM ก็จะมีบุคลากรที่มีความพร้อมทำงานด้านนี้ทันที ขณะเดียวกันบุคลากรลาวที่มความรู้เรื่อง IPO มาก่อนก็จะได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรกัมพูชา หากมีธุรกิจกัมพูชาสนใจ IPO ก็จะสามารถทำงานตอบสนองได้ทันที”

การส่งไปทำงานข้ามประเทศภายในกลุ่มกำหนดแนวทางให้ไปครั้งละ 2 คน เพื่อให้มีเพื่อนสร้างความอุ่นใจแล้ว ยังป้องกันความเสี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงาน กรณีที่คนใดคนหนึ่งลางานหรือลาออก เพราะอีกคนที่เหลือก็สามารถทำงานแทนกันได้ทันที งานไม่สะดุด

“เราไม่ปล่อยให้ใครทำงานคนเดียว เป็นแนวทางการทำงานของเรา ที่ไม่ต้องการให้บุคลากรคนใดคนหนึ่งทำงานเป็นอยู่คนเดียว แต่คนอื่นไม่รู้เรื่องเลย คนคนเดียวทำงานไม่ได้ เพราะเราเป็นองค์กรที่ต้องตอบโจทย์บุคคลภายนอกว่า คนที่รู้ไม่ได้มีแค่คนเดียว และเป็นแนวการสร้างคนของเรา”

APM มีนโยบายที่ชัดเจนมอบทุนการศึกษาให้บุคลากรใน CLMV ซึ่งที่ลาวให้ทุนตั้งแต่เริ่มเข้าไปทำธุรกิจ ขณะนี้ทีมงานในลาวกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศไทย และกำลังจะให้ทุนรายอื่นเพื่อเรียนด้านการเงินบัญชีเพิ่มเติม โดยบริษัทจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วย ซึ่งเวลาไปเรียนก็ให้ไปครั้งละ 2 คนเช่นกัน เหตุผลก็เหมือนกันการส่งไปทำงานข้ามประเทศ คือป้องกันกรณีคนใดคนหนึ่งขาดงานอีกคนยังทำงานได้

“การให้ทุนการศึกษาของบริษัทไม่มีเงื่อนไขต้องมาใช้ทุน เราต้องการให้บุคลากรมีความภักดีกับองค์กร โดยสมัครใจ ไม่บังคับให้อยู่ทำงาน แต่ให้อยู่ด้วยใจ การให้คนทำงานด้วย ไม่สามารถบังคับกันได้ เราในฐานะผู้บริหารต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนอยากทำงานด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจแล้วบังคับให้อยู่ทำงาน เราต้องมีหน้าที่คิดเรื่องแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ระยะยาว ธุรกิจไปไม่ได้ เพราะ Asset คือ คน คนออกไป 1 คนความลับออกไปมหาศาล”

สมภพกล่าวย้ำว่า APM ให้ความสำคัญกับการรักษาความลับอย่างมาก ดังนั้นการรับคนเข้ามาทำงานก็ต้องมีการคัดเลือก โดยมีการสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ พร้อมเชิญผู้ปกครองมาคุย และให้ผู้ปกครองเซ็นค้ำประกันการทำงาน เพราะงานของ APM ต้องเก็บข้อมูลให้เป็นความลับ เป็นมาตรการกำกับดูแลบุคลากรให้อยู่ในกติกา เชิงจรรยาบรรณของวิชาชีพ

สมภพปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่า APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพียงอย่างเดียว และยังไม่มีเอกชนรายใดได้ใบอนุญาตแบบนี้ จึงเลือกที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพราะการมีเครือข่ายพันธมิตรมีความสำคัญต่อธุรกิจในโลกปัจจุบัน ทั้งการก่อตั้งบริษัทในลาวและกัมพูชา ไปจนถึงการให้บริการ

โดยทั้ง APM ลาวและกัมพูชามีนักธุรกิจใหญ่ในแต่ละประเทศร่วมถือหุ้นด้วย เพราะเห็นโอกาสในตลาดทุนและต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนา ส่วนการให้บริการลูกค้ามีบริษัทหลักทรัพย์แต่ละประเทศใน CLMV เป็นพันธมิตร เพราเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่ทำมานาน

“เราเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมา 50 บริษัท บางปีให้บริการได้ 6 บริษัทเท่ากับบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ทำมา 6-7 ปี เพระไทยมีการจัดตั้งตลาดทุนมานาน ความเข้าใจความเชี่ยวชาญจึงมีมากกว่า ตลาดทุนเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศเหล่านี้ต้องศึกษาอีกมาก”